8 ปี แปดเปื้อน รสชาติแห่งเสรีภาพ ที่ “บิ๊กตู่” ไม่อยากรับประทาน

(Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP)

หากย้อนดูระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไทย ใครครองตำแหน่งเก้าอี้นายกฯ ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์

อันดับ 1 จอมพล ป.พิบูลสงคราม ช่วงทษวรรษก่อน 2500 ที่ดำรงตำแหน่งถึง 8 สมัย แบบไม่ต่อเนื่อง ระยะเวลารวมคือ 15 ปี 25 วัน อันดับ 2 คือ จอมพลถนอม กิตติขจร ดำรงตำแหน่งแบบไม่ต่อเนื่อง ระยะเวลารวม 9 ปี 205 วัน

อันดับ 3 คือ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ดำรงตำแหน่ง 3 สมัย แบบต่อเนื่อง ระยะเวลารวมการดำรงตำแหน่ง 8 ปี 154 วัน

และอันดับ 4 คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งต่อเนื่อง 2 สมัยแล้ว โดยสมัยที่ 2 ยังไม่สิ้นสุดวาระ แต่นับเวลาถึงปัจจุบัน (เดือนธันวาคม) พล.อ.ประยุทธ์ครองเก้าอี้มาแล้วมากกว่า 8 ปี 120 กว่าวัน

พูดให้เห็นภาพก็คือ หาก พล.อ.ประยุทธ์ดำรงตำแหน่งอีกแค่เดือนเดียว หรือพ้นจากเดือนมกราคม ปี 2566 อันดับของ พล.อ.ประยุทธ์ก็จะแซง พล.อ.เปรม ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ประเทศไทยเป็นอันดับที่ 3

และหากวัดกันที่นายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งต่อเนื่องยาวนานที่สุด แบบไม่มีเว้นวรรค พล.อ.ประยุทธ์จะกลายเป็นอันดับ 1 ทันที

 

ระยะเวลาดำรงตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ ยาวนานกว่านายกฯ ที่มาจากพลเรือนที่ยาวนานที่สุด คือ ชวน หลีกภัย ซึ่งอยู่ในตำแหน่ง 2 สมัยรวมกันแค่ 6 ปี และทักษิณ ชินวัตร ดำรงตำแหน่ง 2 สมัย รวมกันแค่ 5 ปีกว่าๆ เรียกได้ว่าทิ้งห่างนายกฯ พลเรือนขาดลอย

ก็ใช่สิ…พล.อ.ประยุทธ์ สมัยแรกก็มาจากการรัฐประหาร สมัยที่ 2 ก็ดำรงตำแหน่งภายใต้กลไกที่สืบทอดมาจากอำนาจในระบอบรัฐประหาร สภาพที่เป็นเช่นนี้ไม่แปลกอะไร

แต่ระยะเวลาการดำรงตำแหน่งยาวกว่าหรือสั้นกว่า ไม่ได้สะท้อนความชอบธรรมทางการเมือง ไม่ได้สะท้อนระดับของความนิยมทางการเมือง

สังเกตได้จากฉายาของรัฐบาล และฉายาของนายกรัฐมนตรี ที่มอบให้โดยสื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาล

สื่อมวลชนทำเนียบระบุว่า การตั้งฉายารัฐบาล และรัฐมนตรีประจำปี ของผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาล เป็นธรรมเนียมปฏิบัติสืบต่อกันมา เป็นการสะท้อนความคิดเห็นของสื่อมวลชนต่อการทำงานของรัฐบาล โดยปราศจากอคติ

แต่ธรรมเนียมปฏิบัตินี้จะยุติในปีนั้น หากรัฐบาลที่เข้ามาดำรงตำแหน่งไม่ใช่รัฐบาลเลือกตั้ง รัฐบาลประยุทธ์สมัยแรก จึงไม่เคยได้รับฉายาเช่นนี้

 

ปีนี้ผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบ ได้มีมติร่วมกันตั้งฉายารัฐบาล ว่า “หน้ากากคนดี” นัยยะความหมายว่าสร้างภาพจำตลอดว่าเป็นคนดี มีนโยบายทำเพื่อบ้านเมือง แต่ก็ถูกกังขา เช่น นโยบายกัญชา ที่อวดอ้างกันสุดท้ายก็ใช้ผิดวัตถุประสงค์ เรื่องแก้รัฐธรรมนูญไม่รู้ว่าแก้เพื่อประชาชนหรือเปล่า คนจึงสงสัยว่าภายใต้หน้ากากที่ประกาศว่าเป็นคนดีนั้น ดีจริงหรือ?

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ได้ฉายาว่า “แปดเปื้อน” จากปัญหาการตีความวาระดำรงตำแหน่งมา 8 ปี สั่นคลอนภาพลักษณ์ตัวเองอย่างหนัก แม้แต่ปัญญาชนฝ่ายอนุรักษนิยมบางคนยังรับไม่ได้ กับคนที่พูดอยู่ตลอดว่าไม่ยึดติดอำนาจ ไม่เอื้อผลประโยชน์พวกพ้อง เรื่องเทาๆ ที่ผุดขึ้นจำนวนมาก ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้ใสสะอาดผุดผ่องอีกต่อไป

เจ็บแสบไม่แพ้กันก็ฉายารัฐมนตรีต่างๆ เช่น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้รับฉายา “ลองนายกฯ” ช่วงปฏิบัติหน้าที่แทน พล.อ.ประยุทธ์

นายวิษณุ เครืองาม รับฉายา “เครื่องจักรซักล้าง” ฐานตอบสนองความต้องการทางกฎหมายให้รัฐบาลทุกช่องทาง ทำตัวเป็นเครื่องจักรทางกฎหมาย

ด้าน อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี ฉายา “ภูมิใจดูด พูดแล้วดอย” ปลดล็อกกัญชาเสร็จ แต่กฎหมายควบคุมกลับค้างเติ่งติดดอย ไปต่อไม่ได้ เกิดเป็นปัญหาสังคมบานปลาย เจ้าหน้าที่ปวดหัว นโยบายดูด สส.ก็เด่นไม่แพ้กัญชา

เจ็บกว่าคือ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ กับฉายา “ประกันไรได้” ที่ทุ่มเงินกับนโยบายประกันรายได้ ไม่โฟกัสงานอื่น ข้าวของขึ้นราคาไม่หยุด

เช่นเดียวกับ ดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกฯ และ รมว.ต่างประเทศ เจอฉายา “ลุ่มๆ ดอนๆ” จากผลงานการที่ไทยเป็นเจ้าภาพเอเปคและได้รับความสนใจจากทั่วโลกน้อยมาก เกิดการเปรียบเทียบกับรัฐบาลในอดีต มีเสียงบ่นทำงานในกระทรวงร่วมกับราชการ ก็ลุ่มๆ ดอนๆ ไม่เปิดกว้างรับฟัง เป็นภาพความตกยุค ล่าช้า ไม่ทันสมัย

สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯ และ รมว.พลังงาน เจอฉายา “Powerblank” รัฐมนตรีพลังงานหรือไม่มีพลังงานกันแน่ ล้วงเงินจากกระเป๋าเอกชนอย่างโรงกลั่นน้ำมันก็ไม่ได้ ไอเดียขายที่ต่างชาติก็โดนตีกลับ

ขณะที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กับฉายา “หน้าชัด หลังเบลอ” นิ่งสุดใน 3 ป. เวลาอยู่หน้าสาธารณะ แต่ข้างหลังเจอเกมเขย่าเก้าอี้แรงมาก ระดับทะลุ 10 ริกเตอร์

เจ็บจี๊ดไม่แพ้ใคร เห็นจะเป็นสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน อวย พล.อ.ประยุทธ์ขั้นสุดในทุกด้าน จนได้ฉายา รมต.แรงลิ้น ปิดท้ายด้วยชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดีอีเอส กับฉายา “วันทอง 2 ป.” วีรกรรม เช้ารีบมาส่งประยุทธ์ขึ้นเครื่อง ตกบ่ายรีบไปลงพื้นที่กับประวิตร ดูแล 2 ป. ไม่มีบกพร่อง โดยไม่รู้ลงท้ายจะไปอยู่กับใคร

เอาเป็นว่า รอบนี้สื่อทำเนียบจัดได้ว่าทวงคืนศักดิ์ศรีได้พอสมน้ำสมเนื้อขึ้น เรียกเสียงฮือฮาได้อย่างมาก โดยเฉพาะในโลกโซเชียล

 

หากย้อนกลับไปดู ปี 2562 ปีแรกที่รัฐบาลได้รับฉายา คือ “รัฐเชียงกง” ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ได้ฉายา “อิเหนาเมาหมัด” ปี 2563 ฉายารัฐบาล : VERY “กู้” ฉายา พล.อ.ประยุทธ์ : “ตู่ไม่รู้ล้ม” ปี 2564 ฉายารัฐบาล “ยื้อยุทธ์” ฉายา พล.อ.ประยุทธ์ : “ชำรุดยุทธ์โทรม”

จะเห็นว่าฉายารัฐบาลและ พล.อ.ประยุทธ์ในสายตาของสื่อทำเนียบ ดูเหมือนจะค่อยๆ ร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ มาพีกสุดช่วงปีที่ 4 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของการดำรงตำแหน่งก่อนเลือกตั้งใหญ่

ถามว่าสะท้อนจากอะไร ก็สะท้อนจากภาวะทางอารมณ์ และปฏิกิริยาของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ถึงกับหลุดด่าธรรมเนียมประเพณีดังกล่าวซึ่งทำกันมายาวนานว่า “ประเพณีบ้าๆ บอๆ”

ยิ่งถ้าได้เห็นจังหวะสัมภาษณ์ของสื่อมวลชนประจำทำเนียบ ยิงตรงคำถามไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ที่พยายามหนีขึ้นรถ ยิ่งพบอารมณ์แห่งความไม่พอใจ โบกไม้โบกมือปัด สีหน้าบึ้งตึงโกรธขั้นสุด

มีรายงานว่า ต่อมาวันเดียวกัน ในการประชุมสภากลาโหม พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงการตั้งฉายาของสื่อทำเนียบรัฐบาลว่า รัฐบาลหน้ากากคนดี และนายกฯ “แปดเปื้อน” ว่า “ตั้งอะไร ดิสเครดิตน่าดู” เพราะสิ่งที่ทำมา มันเป็นเกียรติยศ”

เป็นอีกครั้งที่ พล.อ.ประยุทธ์ได้สัมผัสรสชาติการถูกวิจารณ์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งคุณค่าสำคัญในสังคมประชาธิปไตย ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ยังเป็นผู้บัญชาการทหารบก เจอแบบนี้คงโกรธแค้นสื่อสายทหารอีกนาน แต่วันนี้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ และเพิ่งประกาศตัวจะลงสนามการเมืองเป็นแคนดิเดตนายกฯ พรรครวมไทยสร้างชาติ จากโกรธก็กลายเป็นงอนในตอนบ่าย แล้วก็ต้องฝืนยิ้มในที่สุดช่วงงานตอนเย็น

 

หลังฉายาประจำปีของรัฐบาลและนายกฯ เผยแพร่สู่สาธารณะ ฝ่ายค้านได้โอกาสขย่มซ้ำ

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ระบุว่า ขอบคุณพี่น้องสื่อมวลชน คำนี้โดนใจมาก เป็นฉายาที่เหมาะสม เรื่องหน้ากากคนดี หมายถึงสิ่งที่เห็น เสมือนเป็นคนดี แต่ที่เจอมา 8 ปี วิถีประชาธิปไตย ถูกทำลายอย่างย่อยยับ เรื่องของเศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ วิถีเชิงสังคม ถูกปิดกั้นโอกาส

แต่ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคก้าวไกล บอกว่ายังน้อยไป ตลอดเวลาที่ประยุทธ์เป็นนายกฯ ประชาชนต้องตกอยู่ในสถานการณ์มืดแปดด้านกับอนาคตของประเทศ การตั้งฉายาให้รัฐบาลและนายกรัฐมนตรีไม่ใช่สีสันทางการเมือง แต่เป็นการรวบยอดคำจำกัดความของการทำงานที่ผ่านมา จึงขอฝากไปยังรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีว่า กรุณาละอายใจต่อเสียงสะท้อนของสังคมบ้าง ไม่ว่าจากสื่อมวลชนหรือจากประชาชน ตลอด 8 ปี ต่อให้ไม่มีอคติ ก็เชื่อว่าหลายคนแทบนึกไม่ออกว่าผลงานของนายกฯ ที่ช่วยให้ชีวิตประชาชนดีขึ้นคืออะไร

ก็ยังเป็นข้อกังขาอยู่ ว่า ฉายา “แปดเปื้อน” นั้นอาจจะดูแสบๆ คันๆ แต่อันที่จริง ผู้ได้รับฉายาใสบริสุทธิ์แล้วเพิ่งมาเปื้อน หรือจริงๆ แปดเปื้อนมาตั้งแต่แรก เพราะคนจำนวนไม่น้อย เชื่อแบบนั้น

 

อย่างไรก็ตาม เกมการเมืองหลังจากนี้น่าจับตา หลัง พล.อ.ประยุทธ์ประกาศลุยการเมืองชัดเจน ดึงพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ มาเป็นเลขาฯ นายกฯ สร้างความคึกคักให้กับกลุ่มอนุรักษนิยมทันที ดูผลสำรวจนิด้าโพลล่าสุดเรตติ้งพุ่งมาเป็นอันดับ 2 รองจากแพทองธาร ชินวัตร

ท่าทีของแต่ละฝ่ายคงชัดเจนมากขึ้น เข้มข้นขึ้นมากนับจากนี้ การนั่งนายกฯ ต่ออีก 2 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ ดูเผินๆ เหมือนไม่ง่าย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเกิดขึ้นไม่ได้ การเมืองเป็นเรื่องการต่อรอง ดังที่เห็นแล้วในปี 2562 ทุกอย่างขึ้นกับเก้าอี้ ส.ส.

หากฝันของ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นจริงอยู่ต่ออีก 2 ปีได้สำเร็จ ก็จะทำลายสถิติจอมพลถนอม ขึ้นเป็นนายกฯ ที่มีระยะเวลาดำรงตำแหน่งนานอันดับ 2 ของประเทศ

แล้วก็อาจจะต้องเจอกับฉายาประจำปีต่ออีก 2 ครั้ง ซึ่งรับประกัน ฉายา “นายกฯ แปดเปื้อน” จะเบาไปเลย