‘บิ๊กตู่’ ปลุกรวมไทยสร้างชาติ ตั้งเป้า 100 เสียง จริง หรือเพียงความฝัน?

ภาวะหุ้นของพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ดูคึกคัก มีราคากลับมาดีดตัวในแดนบวกอีกครั้ง

เมื่อ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประกาศความชัดเจนทางการเมืองด้วยตัวเองเมื่อวันที่ 23 ธันวาคมที่ผ่านมาว่า พร้อมรับเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค รทสช. ที่มี “เสี่ยตุ๋ย” พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ที่สวมหมวกอีกใบเป็นหัวหน้าพรรค รทสช. และ “ขิง” เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ นั่งเป็นเลขาธิการพรรค รทสช. เตรียมความพร้อมทั้งโครงสร้างพรรคและขุนพล ที่พร้อมจะเดินต่อไปกับ พล.อ.ประยุทธ์

ความชัดเจนของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ประกาศไปต่อกับพรรค รทสช. เหตุผลหลักที่เจ้าตัวระบุไว้ว่า พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่เคยสนับสนุนเจ้าตัวเป็นแคนดิเดตนายกฯ เมื่อปี 2562 เลือกที่จะประกาศสนับสนุน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรค พปชร. เป็นแคนดิเดตนายกฯ คนที่ 30 ในการเลือกตั้งครั้งหน้า อีกทั้งยังมีเหตุผลในการกลับมาสานงานต่อให้เสร็จสิ้นในรัฐบาลหน้าด้วย

ความชัดเจนของ พล.อ.ประยุทธ์ นอกจากจะสร้างความคึกคักให้กับกองเชียร์ในกลุ่มอนุรักษนิยมแล้ว ยังช่วยนักเลือกตั้งอย่าง ส.ส. อดีต ส.ส. รวมถึงว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ที่หวังจะเกาะกระแส หรือ “เรตติ้ง” ส่วนตัวของ พล.อ.ประยุทธ์ กล้าที่จะเปิดหน้าตัดสินใจทางการเมืองได้ชัดเจนขึ้น

เรตติ้งและความนิยมของพรรค รทสช. เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญหลังจาก พล.อ.ประยุทธ์เปิดตัวชัดเจน ชี้วัดจากผลการสำรวจของ “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เรื่อง “การสำรวจคะแนนนิยมทางการเมือง รายไตรมาส ครั้งที่ 4/2565” ระหว่างวันที่ 17-22 ธันวาคมที่ผ่านมา

โดยบุคคลที่ประชาชนจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีในวันนี้ ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ พุ่งขึ้นมาเป็นอันดับสอง มีคะแนนนิยมอยู่ที่ 14.05% เป็นรองอันดับหนึ่งคือ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ที่ได้ 34%

ส่วนพรรคการเมืองที่ประชาชนจะสนับสนุนในวันนี้ พรรค รทสช.มีความนิยมเพิ่มขึ้นมาในอันดับสี่ อยู่ที่ 6.95% เป็นรองอันดับหนึ่งอย่างพรรคเพื่อไทยที่ได้ 42.95% อันดับสอง พรรคก้าวไกล ที่ได้ 16.60% และอันดับสาม 8.30% ที่ยังไม่สนับสนุนพรรคการเมืองใด

เรตติ้งของพรรค รทสช. และ พล.อ.ประยุทธ์ ตามผลโพลอาจทำให้กองเชียร์และบรรดาผู้สมัคร ส.ส.พอมีรอยยิ้มและความหวังในการเดินต่อไป

เพราะอีก 3 เดือนนับจากนี้ จนถึงวันที่ 23 มีนาคม 2566 ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ครบวาระ ยังพอมีเวลาจัดทัพ ปรับกลยุทธ์ เพื่อเพิ่มเรตติ้งให้ทั้งตัว พล.อ.ประยุทธ์ และพรรค รทสช.สูงขึ้นในการสู้ศึกเลือกตั้งครั้งหน้า ภายใต้กติกา บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ หารด้วย 100 แบ่งเป็น ส.ส.เขต 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน

ปัจจัยชี้ขาดผลแพ้-ชนะเลือกตั้ง คือ ส.ส.แบบเขต ที่มีถึง 400 ที่นั่ง กระจายทั่วทุกภาค

โดยผู้ชนะ ส.ส.เขต คือผู้ที่ได้คะแนนในอันดับที่ 1 ส่วนผู้ที่ได้อันดับที่ 2 ลงมา จะไม่สามารถนำคะแนนไปคำนวณให้พรรคได้เหมือนกับการเลือกตั้งแบบบัตรใบเดียว เพราะทุกคะแนนตกน้ำหมด เพราะการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ จะคิดจากคะแนนที่แต่ละพรรคได้รับผ่านบัตรเลือกตั้งอีกใบ

ความหวังและเป้าหมายของพรรค รทสช. คือ เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า ผ่านเสียงสะท้อนของ “เอกนัฏ” เลขาธิการพรรค รทสช. ที่ระบุว่า

เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ชัดเจนจะมีคนไหลเข้ามาจำนวนหนึ่ง และตามข่าวที่มีการพูดกันว่าจะมี ส.ส.เข้ามาร่วมประมาณ 40 คน คิดว่าไม่ได้คลาดเคลื่อนมาก แต่อาจจะมากขึ้นก็ได้

อีกทั้งยังมีบิ๊กเนมที่ไม่ได้เป็น ส.ส. เช่น นายก อบจ. หรือนักการเมืองท้องถิ่นที่มีแสงในตัวในจังหวัดต่างๆ มีโอกาสดีกว่า ส.ส.ปัจจุบันเสียอีก มีจำนวนเกิน 100 คน ขณะนี้พรรคมีผู้สมัครที่สู้ได้ในทุกภาค

ส่วนที่มีคนเคยถามว่าจะได้ ส.ส.เกิน 25 เสียงหรือไม่ ยืนยันว่าเกินแน่นอน เพราะจากผลสำรวจแค่ภาคเดียวก็เกินแล้ว ในใจหากได้แตะ 100 คน ก็เป็นเรื่องดี จะเป็นพรรคที่ใหญ่ที่สุด จะได้มีกำลังผลักดันสิ่งที่บอกประชาชนไว้ และสิ่งสำคัญกว่าการเป็นพรรคใหญ่ คือ มาแล้วต้องทำประโยชน์ให้ประเทศ เป็นสถาบันการเมือง ไม่ใช่พรรคเฉพาะกิจ

ส่วนการปรับทัพ วางกลยุทธ์ของพรรค รทสช. เพื่อให้เป้าหมายได้ 100 ส.ส. กลายเป็นความจริงนั้นเป็นการบ้านข้อใหญ่ที่แกนนำและคีย์แมนของพรรค รทสช.ต้องไปทำการบ้านและถอดบทเรียนกันเอง

เพราะเรตติ้งของทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ และพรรค รทสช.ที่ดีขึ้น แต่ในการเลือกตั้งตัวเลขที่ว่าดี ต้องดีให้พอที่จะชนะเลือกตั้ง ได้มาเป็นเสียงของ ส.ส.

ยิ่งหากดูจากปัจจัยทั้งตัวแคนดิเดตนายกฯ แกนนำพรรค นโยบายพรรค และผู้สมัคร ส.ส.เท่าที่จับต้องได้ในทางการเมืองถือว่ายังไม่ “ปัง”

เนื่องจากผู้สมัคร ส.ส.ของพรรค นอกจากจะเป็น ส.ส.ปัจจุบัน ที่ได้กระแส “บิ๊กตู่” เมื่อปี 2562 ช่วยให้ชนะเลือกตั้งมานั้น ส่วนใหญ่มาจากการตกปลาในบ่อเพื่อน ทั้งจากพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในกลุ่มของ ส.ส.ภาคใต้ และ กทม. รวมทั้ง ส.ส.จากพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในโซนภาคใต้

ซึ่งล้วนเป็นขั้วและฐานเสียงของพรรคร่วมรัฐบาลเดียวกัน การดึง-ดูด ส.ส.จากพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อหวังมาเพิ่มจำนวนให้พรรค รทสช.มีขนาดใหญ่ขึ้น คือได้ถึง 100 เสียง

ในภาพรวมก็ไม่ทำให้เสียงของพรรคร่วมรัฐบาลเดิมได้มากขึ้นกว่าเดิม เพราะเป็นการดึงเสียงจากฝั่งเดียวกัน อีกทั้งยังไม่สามารถฟันธงล่วงหน้าได้ว่า ส.ส.ที่ย้ายตาม พล.อ.ประยุทธ์มานั้น ในการเลือกตั้งครั้งหน้าจะชนะได้เป็น ส.ส.อีกหรือไม่

ยิ่งจุดอ่อนที่ติดตัว พล.อ.ประยุทธ์มาแบบปฏิเสธไม่ได้ คือการนั่งเป็นนายกฯ ยาวกว่า 8 ปี ที่พิสูจน์ผลงานการบริหารประเทศตามที่ได้เห็นกันว่าได้เพียงเท่านี้ ในทางการเมืองถือว่าหน้าช้ำ ต้องต่อสู้กับกระแสของคนที่เกิดอาการเบื่อ อยากจะเปลี่ยนแปลงผ่านการเลือกตั้งครั้งหน้าด้วย

(Photo by Handout / ROYAL THAI GOVERNMENT / AFP)

ปัจจัยและยุทธศาสตร์สำคัญในการเดินหน้าชนะเลือกตั้งและเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลของพรรค รทสช.นั้น คือต้องตัดคะแนน และดึงเสียง ส.ส.จากขั้วการเมืองฝ่ายค้าน อย่างพรรคเพื่อไทย (พท.) ที่มีฐานเสียงเข้มแข็งในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมี 132 ที่นั่ง ภาคเหนือมี 39 ที่นั่ง และภาคกลางมี 122 ที่นั่ง ซึ่งตัวเลขที่นั่ง ส.ส.ของทั้ง 3 ภาคดังกล่าวรวมแล้วมีถึง 293 เสียง หรือ 73% ของจำนวน ส.ส.เขต 400 เสียง

เป้าหมายได้ ส.ส. 100 เสียงของพรรค รทสช. เพื่อหวังเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลครั้งหน้า ในความเป็นจริงจึงถือเป็นเรื่องที่ “เป็นไปได้ยาก” นอกเสียจากจะมีจุดเปลี่ยนที่มีนัยยะสำคัญช่วยเรตติ้งของ “พล.อ.ประยุทธ์” และพรรค รทสช.พุ่งได้มากกว่านี้

บทสรุปสุดท้ายพรรค รทสช.จะได้เสียงตามเป้า เกินเป้า หรือพลาดเป้า คณิตศาสตร์การเมือง อย่างผลการเลือกตั้งจะเป็นตัวชี้วัดชัดเจนที่สุด ว่าจะได้ “ไปต่อ” หรือ “จอดป้าย”