หยุดเรียกการโปรยทานประชานิยม | คำ ผกา

คำ ผกา
(Photo by Handout / ROYAL THAI GOVERNMENT / AFP)

ว่ากันว่า เป็นธรรมเนียมที่นักข่าวสายทำเนียบจะตั้งฉายาให้รัฐบาล นายกฯ และ รมต. เมื่อใกล้ๆ จะสิ้นปี เพื่อสะท้อนความรู้สึกของนักข่าวสายทำเนียบในฐานะของกลุ่มคนที่ใกล้ชิดกับคนเหล่านี้มากที่สุด “เห็น” และ “ได้ยิน” ท่วงท่า อากัปกิริยา ภาษาพูด ทัศนคติของพวกเขาในระยะใกล้กว่าใคร

ซึ่งปีนี้ฉายาของรัฐบาลคือ “หน้ากากคนดี” ที่ล้อไปกับการระบาดของโควิด-19 ที่ทุกคนต้อง “ใส่หน้ากาก”

ส่วนฉายานายกฯ คือ “แปดเปื้อน” ที่ล้อไปกับการดำรงตำแหน่งนายกฯ ยาวนานเกิน 8 ปี อันเป็นข้อกังขาว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุด (ที่ตนเองมีส่วนในกำเนิดของมัน) หรือไม่?

ส่วนฉายาที่ฉันชอบที่สุดสำหรับปีนี้คือฉายาของ สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯ ที่ดูแลด้านเศรษฐกิจ รองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจ และ รมว.พลังงาน อันเป็น รมต.ที่ประยุทธ์ จันทร์โอชา เลือกมาเองกับมือ

ฉายาที่เขาได้รับคือ “power blank” ที่ฟังแล้วก็ เอ่อ… blank จริงๆ ช่างเป็น รมว.ที่ว่างเปล่า เปล่าชนิดที่ว่าเปล่าดาย เหมือนอยู่ในตำแหน่งฆ่าเวลา ซื้อเวลา ยื้อเวลาไปวันๆ อย่างปราศจากความละอายต่อประชาชนเจ้าของประเทศ และผู้เสียภาษี

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การตั้งฉายารัฐบาลครั้งนี้กลับไปเผ็ดร้อนอีกเหมือนเมื่อครั้งเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง หลังจากที่ดูเหมือนว่าในยุคประยุทธ์ และ คสช.เรืองอำนาจนั้น ดูนักข่าวสายทำเนียบจะค่อนข้างทะนุถนอมไม่เอ่ยให้สะเทือนใจ

แต่ครั้งนี้รุนแรงจนประยุทธ์ฉุน เพราะไม่คิดว่าบรรดานักข่าวจะกล้า “หือ” และน่าจะเป็นตัวชี้วัดภาวะ “ขาลง” ของประยุทธ์และพวก

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ฉันติดใจไม่ใช่เรื่องภาวะขาลงและขาลอยของประยุทธ์และพวก

แต่ฉันติดใจการอธิบายเหตุผลของนักข่าว ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง “หน้ากากคนดี” หรือ “แปดเปื้อน” ที่หนึ่งในเหตุผลคือการใช้นโยบาย “ประชานิยม” ที่ดูเหมือนจะเป็นความหมายที่คลาดเคลื่อน

 

หากฉันเข้าใจไม่ผิด ดูเหมือนนักข่าวจะใช้คำว่า “ประชานิยม” ในความหมายว่า การพูดหรือการโฆษณา หรือมาตรการอะไรบางอย่างที่เกิดขึ้นเพื่อให้ประชาชนเกิดความ “นิยม” ในตัวพรรคการเมืองหรือนักการเมืองคนนั้นๆ แต่สุดท้ายกลับไม่ทำจริง ไม่มีความจริงใจ

และถ้าใช้คำว่าประชานิยมในความหมายนี้จริงๆ ก็ต้องว่าเป็นการใช้โดยผิดความหมายอย่างยิ่ง

ที่สำคัญก่อนหน้านี้สื่อไทยก็ใช้คำว่านโยบายประชานิยม แบบผิดๆ มาแล้ว ในช่วงรัฐบาลไทยรักไทย ของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ที่โดนใจ “คนรากหญ้า” ไม่ว่าจะเป็น สามสิบบาทรักษาทุกโรค กองทุนหมู่บ้าน บ้านเอื้ออาทร นโยบายให้คนขับแท็กซี่มีรถแท็กซี่เป็นของตัวเอง นโยบายโอท็อป ฯลฯ

โดยบรรดาชนชั้นนำ อีลีต ปัญญาชน และสื่อมวลชนทั้งหลายประณามว่านี่เป็นการทำนโยบาย “ประชานิยม” เอาใจคนรากหญ้า เป็นการ “ซื้อเสียง” โดยใช้งบประมาณแผ่นดิน หวังจูงใจคนจนให้เลือกทักษิณเป็นนายกฯ ตลอดไป

ส่วนประชาชนเห็นแก่เงิน เห็นแก่ผลประโยชน์ระยะสั้นจึงถูกซื้อและเป็นเครื่องมือขึ้นครองอำนาจของทักษิณ นักการเมืองที่เข้ามาโกง เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ให้แก่ตนเอง พวกพ้องและเครือข่าย ปลายทางเราจะมีเผด็จการรัฐสภา

โอ้ว ทักษิณ และนโยบายประชาชนคือภัยคุกคามประชาประชาธิปไตย เราต้องรีบกำจัดทักษิณออกไป ไม่อย่างนั้นประเทศต้องถูกเขมือบโดยทักษิณ และตระกูลชินวัตร เป็นแน่แท้

และอย่างไม่น่าเชื่อที่บรรดาคนมีการศึกษาทั้งหลายต่างซื้อคำอธิบายนี้ โดยไม่มีใครลุกขึ้นมาตั้งคำถามเลยว่าประชานิยมแปลว่าอะไรกันแน่?

และนโยบายไทยรักไทยเป็นประชานิยมหรือไม่?

และหากว่าเป็นมันก่อให้เกิดเผด็จการรัฐสภาจริงหรือ?

สุดท้ายไม่มีใครนึกสงสัยในตัวเองเลยว่ากำลังดูถูกสิทธิในการเลือก “ผู้แทนฯ” ของเพื่อนร่วมชาติด้วยการเหมารวมว่า “ถูกซื้อ” อารมณ์ คนอื่นโง่หมด กูฉลาดอยู่คนเดียว

 

คําว่า “ประชานิยม” มาจากคำว่า populism เป็นอุดมการณ์ทางการเมือง (เวลาพูดว่าอุดมการณ์ทางการเมือง เช่น nationalism แปลว่า ชาตินิยม เป็นต้น) ป๊อปปูลิซึ่ม หรือประชานิยม แปลได้ตรงไปตรงมาว่า อุดมการณ์ทางการเมืองที่ศูนย์กลางอยู่ที่ “ประชาชน” จึงเป็นคำว่า “ประชานิยม” ไง

คำว่าเอาประชาชนเป็นที่ตั้ง เอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง พูดแค่นี้ก็เข้าใจได้ทันทีว่า มันคืออุดมการณ์ทางการเมืองที่อยู่ตรงกันข้ามกับการเอา “ชนชั้นนำ” เป็นศูนย์กลาง เมื่อพูดว่า “ประชานิยม” สิ่งที่ตามมาคือขบวนการ anti-establishment หรือการต่อต้านชนชั้นนำที่ลงหลักปักฐานอำนาจจนมั่นคงยากจะสั่นคลอนหรือโค่นล้มโดยง่าย

มิติที่ซับซ้อนจนก่อให้เกิดความสับสนในการทำความเข้าใจ “ประชานิยม” มีตั้งแต่เรานิยามว่าใครเป็นประชาชน หรือใครคือชนชั้นนำผู้มีอำนาจ หรือแม้แต่ในหมู่ประชาชนด้วยกันก็ย่อมมีความแตกต่างกันชนชั้น ชาติพันธุ์ ศาสนา และอื่นๆ อีก

ยิ่งในสังคมไทยที่คำว่า “ประชาชน” เป็นคำที่ความหมายหลวมมาก และหลวมในเชิงที่เราไม่ค่อยแน่ใจว่า ความแตกต่างของคำว่า ไพร่ ราษฎร และประชาชน นั้นต่างกันที่ตรงไหน

 

ถ้าจะเข้าใจคำว่า “ประชานิยม” ในบริบทของไทย ฉันมักจะเริ่มต้นที่คอนเส็ปต์ของคำว่า ชาตินิยม หรือ nationalism ก่อนเสมอ (ซึ่งถกเถียงได้) ประวัติศาสตร์ว่าด้วย “ชาตินิยม” ของไทยนั้นคือการช่วงชิงกันระหว่าง ชาตินิยมราชการ หรือ official nationalism กับชาตินิยมมวลชน หรือ popular nationalism

ชาตินิยมสองแบบนี้แตกต่างกันอย่างไร? อธิบายแบบหยาบที่สุดคือ

ชาตินิยมแบบราชการคือการสร้างชาติโดยอำนาจรัฐ สำหรับประเทศไทยช่วงสมัยของชาตินิยมราชการ หรือ official nationalism คือสมัยรัชกาลที่ 6 ที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ปกครองประเทศในขณะนั้นเป็นผู้กำหนดว่า “ชาติ” คืออะไร ประเทศคืออะไร ใครคือ “คนไทย” ใครไม่ใช่คนไทย ความรักชาติคืออะไร ทำอะไรจึงได้ชื่อว่ารักชาติ และทำอะไรจึงได้ชื่อว่าขายชาติ หรือทรยศต่อชาติ

ชาตินิยมนี้จึงถูกกำหนดนิยามมาโดยปราศจากข้อโต้เถียงใดๆ ทั้งสิ้น เป็นนิยามของชาติ ประเทศ ประชาชน สำเร็จรูปจากผู้มีอำนาจสูงสุดลงสู่สังคม

ชาตินิยมมวลชนในประเทศไทยนั้นจะมีหรือไม่ ไม่แน่ใจ และยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่า การปฏิวัติสยาม 2475 นั้นเป็นชาตินิยมมวลชนหรือไม่? (แต่ที่แน่ๆ มันนำมาสู่การประกาศเอกราช ประกาศความเป็นไท และเป็น independent day ของคนไทยแน่ๆ เพราะก่อนหน้านั้นไม่มีใครได้เป็นเจ้าของประเทศและเป็นเจ้าของอำนาจกทางการเมืองที่จะปกครองตัวเองเลย)

หรือเป็นเพียงการก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองของกลุ่มสามัญชนไม่กี่คนโดยปราศจากการมีส่วนร่วมของ “มวลชน”

โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเราเปรียบเทียบกับขบวนการลุกฮือของประชาชนในสังคมอื่นๆ เพื่อต่อสู่กับอำนาจของผู้ปกครองระบอบอาณานิคม หรือการโค่นล้มเผด็จการ จนสถาปนาการปกครองระบอบประชาธิปไตย เฉลิมฉลองอำนาจของมวลชนในฐานะเจ้าของอำนาจทางการเมือง เจ้าของประเทศ

หรือบางข้อถกเถียงก็บอกว่า ก่อน 24 มิถุนายน 2475 มีการเคลื่อนตัวของสังคมไทยด้านสำนึกทางการเมืองมายาวนานพอสมควร จนทำให้การก่อการในวันที่ 24 มิถุนายน สำเร็จโดยละม่อม และได้รับการตอบรับสนับสนุนมากกว่าที่เราจะจินตนาการได้ เนื่องจากเราถูกล้างสมองให้เชื่อว่า การก่อการวันที่ 24 มิถุนายน นั้นเป็นเพียงความทะเยอทะยานของนักเรียนนอกไม่กี่คน และชาวสยามส่วนใหญ่ยังโง่และไม่รู้จักเลยว่ารัฐธรรมนูญคืออะไร ประชาธิปไตยคืออะไร (นิยายอย่างสี่แผ่นดิน เป็นตัวอย่างของการผลิตเรื่องเล่านี้และได้รับการเล่าซ้ำแล้วซ้ำอีกจนกลายเป็น “ความจริง” ที่ทรงพลังอย่างยิ่ง)

การช่วงชิงอำนาจระหว่างชนชั้นนำ กับมวลชน หลัง 2475 จบลงด้วยความพ่ายแพ้ของฝ่ายประชาธิปไตย และชนชั้นนำสถาปนาชาตินิยมชนิดใหม่ขึ้นมาหลัง 2500 ที่ธงชัย วินิจจะกูล เรียกว่าราชาชาตินิยม

 

ปูพื้นมาเช่นนี้ น่าจะทำให้พอเข้าใจว่า “ประชานิยม” นั้นสำคัญอย่างยิ่งต่อความแข็งแรงของประชาธิปไตย และหากชนชั้นนำต้องการรักษาอำนาจไว้กับเฉพาะกับพวกเขากลุ่มเล็กๆ สิ่งที่พวกเขาต้องบั่นทอนให้อ่อนแอลงอย่างที่สุดคือ “ประชานิยม”

ประชาธิปไตยมวลชนในประเทศไทยเหมือนจะได้เริ่มผลิใบก็เมื่ออุบัติเหตุทางการเมืองบางอย่าง (หรือการคาดการณ์ผิดของเครือข่ายชนชั้นนำเอง) เมื่อมีรัฐธรรมนูญปี 2540 ถ้าอ่านรัฐธรรมนูญปี 2540 ดีๆ จะเห็นว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ออกแบบบนความปรารถนาที่ต้องการ “ควบคุมนักเลือกตั้ง” บนข้อสมมุติฐานว่านักการเมืองมีความโกง ความเห็นแก่พวกพ้องเป็นสรณะ ดังนั้น เราต้องมีองค์กรอิสระเยอะๆ เพื่อมาควบคุมนักการเมืองอีกที

ความผิดพลาดของรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ชนชั้นนำและเหล่า “คนดี” ทั้งหลายไม่คาดคิดคือระบบเลือกตั้งที่ต้องการทำลายพรรคเล็ก (กำจัดงูเห่านักการเมืองชั่ว) และให้มีเพียงพรรคใหญ่สองพรรคสู้กัน (ณ วันนั้นใครๆ ก็คิดว่า ประชาธิปัตย์ต้องได้เป็นรัฐบาลกับเขาบ้างล่ะ ในฐานะพรรคการเมืองใหญ่ เก่าแก่ และนำดีที่สุด)

ทว่า สิ่งที่ไม่คาดฝันอันเกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญปี 2540 ดันเป็นสิ่งที่ชื่อว่า พรรคไทยรักไทยและ ทักษิณ ชินวัตร

 

ไทยรักไทยสมัยแรกยังไม่พอ ยังจะชนะการเลือกตั้งถล่มทลายในสมัยที่สองอีก พ่อเจ้าประคุณรุนช่อง ชนะการเลือกตั้งไม่พอ อีพรรคการเมืองบ้านี้มีแต่นโยบาย “ประชานิยม” เอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง ประชาชนลืมตาอ้าปาก มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี อยู่ๆ ก็เสียงดัง เงินทองเต็มไม้เต็มมือ เดี๋ยวออกรถกระบะ เดี๋ยวสร้างบ้าน เดี๋ยวขึ้นเครื่องบินเป็นว่าเล่น เพราะมีโลว์คอสต์แอร์ไลน์ ลูกเต้าเรียนหนังสือ ไหนจะปฏิรูประบบราชการ ชาวบ้านพวกนี้เริ่มข่มขู่ข้าราชการ ไม่หงอตัวลีบเหมือนเมื่อก่อน

นโนบาย “ประชานิยม” ของไทยรักไทย สั่นสะเทือน “โครงสร้าง” อย่างที่สุด โดยที่แม้แต่ทักษิณก็ไม่รู้ว่ามันจะสั่นสะเทือนถึงขนาดนั้น และแม้แต่ตัวเขาก็คิดว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างเสถียรภาพให้กับ establishment เสียด้วยซ้ำ

ถึงขนาดที่ในที่สุด ไทยรักไทยและทักษิณกลายเป็นขวากหนามของ “ชนชั้นนำทางอำนาจ” กลุ่มเดิม จนต้องถูกรัฐประหาร

 

และหากจะมีใครสงสัยว่า เอ๊ะ เขียนแบบนี้ทำราวกับว่าทักษิณเป็นฮีโร่ของขบวนการโค่นล้มนายทุน ศักดินา ทักษิณไม่ได้ “ซ้าย” เสียหน่อย แถมยังทุนนิยมจ๋า ก็ต้องบอกว่า “ประชานิยม” หรือ populism มีทุกเฉด ตั้งแต่ขวาจัดไปจนถึงซ้ายจัด ผู้นำขวัญใจมวลชนขวาจัดๆ จนถึงขั้นเป็นพวกสุดโต่งนิยมความรุนแรงกระทำย่ำยีผู้คิดต่าง เห็นต่าง บนการสนับสนุนของมวลชนก็เยอะ

และจากจุดนี้เองที่ปัญญาชนไทยจำนวนหนึ่งเลือกหยิบมาโจมตีไทยรักไทยและทักษิณโดยอ้างเรื่องเผด็จการรัฐสภา แล้วไปโยงกับคำพูดของทักษิณเรื่องยูเอ็นไม่ใช่พ่อ จนถึงเรื่องตากใบ กรือเซะ

เปรียบทักษิณกับผู้นำที่มีฐานเป็น “ประชานิยม” ขวาจัด แล้วเอาไปมั่วๆ กับเรื่องนโยบายประชานิยม จนเละตุ้มเป๊ะ และทำให้คำว่าประชานิยมกลายเป็น dirty word และถูกใช้โดยไม่รู้สี่รู้แปด เลื่อนเปื้อนไปหมด

เพราะฉะนั้น โปรดตั้งสติกันใหม่ว่าคำว่า “ประชานิยม” ไม่ใช่คำด่า

คำนี้มีความหมายในแง่บวก และยิ่งในบริบทของไทยที่อำนาจไม่เคยเป็นของประชาชน เรายิ่งต้องโหยหา “ประชานิยม”

และโปรดระลึกว่า การแจกเงินแบบโปรยทานของรัฐบาลบางรัฐบาลไม่ใช่ประชานิยม และไม่มีมีวันจะเป็นประชานิยมได้ เพราะประชานิยมมีหัวใจเป็นประชาชน ไม่ได้เห็นประชาชนเป็นเปรตของส่วนบุญ

เมื่อเป็นเช่นนี้ ฉันขอเรียกร้องให้พรรคการเมืองทั้งหลายกล้าใช้คำว่า “ประชานิยม” หาเสียงกันไปเลย เพื่อสังคมไทยจะเข้าใจความหมายของคำนี้อย่างถูกต้องยิ่งขึ้น