สายสัมพันธ์ใหม่ “เอสซีจี”

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

แบบแผนการบริหารเอสซีจี เชื่อว่ายังคงมีผู้สนใจติดตาม และถือเป็นกรณีศึกษาอยู่อย่างที่เคยเป็น

ปรากฏการณ์จับต้องได้ในช่วงที่ผ่านๆ มา โฟกัสไปที่โครงสร้างคณะกรรมการบริษัท สะท้อนให้เห็นมุมมองเชิงยุทธศาสตร์ธุรกิจ ด้วยมีการปรับเปลี่ยนไปจากเดิมพอสมควร

โดยเฉพาะเมื่อโฟกัสไปยังบริษัทแม่-ปูนซิเมนต์ไทย หรือเอสซีจี (SCG) แต่ชื่อย่อในตลาดหลักทรัพย์ฯ แตกต่างไปบ้าง (คือ SCC) บริษัทเอสซีจีแพคเกจจิ้ง (SCGP) เพิ่งเข้าตลาดหุ้นไปไม่นาน

และเอสซีจีเคมีคอลส์ (SCGC) กำลังเตรียมตัวเข้าตลาดหุ้น

 

ว่าเฉพาะบริษัทปูนซิเมนต์ไทย (ต่อมาเรียก เอสซีจี) มีโครงสร้างคณะกรรมการ เป็นแบบแผนสืบเนื่องกันมาช้านาน ว่ากันตั้งแต่ยุคพูนเพิ่ม ไกรฤกษ์ (ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ 2513-2530 และเลขาธิการพระราชวัง 2521-2530) เป็นประธานกรรมการ เมื่อ 4-5 ทศวรรษที่แล้ว ต่อมาถึงยุคสัญญา ธรรมศักดิ์ (นายกรัฐมนตรี 2516-2518) จนมาถึงยุคหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ เมื่อ ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา เป็นประธานกรรมการ (2541-2562)

แบบแผนที่ว่า โครงสร้างคณะกรรมการมักมีสัดส่วนสำคัญ มาจากผู้มีประสบการณ์กำกับนโยบายทางเศรษฐกิจ การเงินและการคลังของประเทศ กับสายสัมพันธ์ทางธุรกิจบางส่วน เฉพาะระบบธนาคาร โดยเฉพาะธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องในโครงสร้างผู้ถือหุ้น ส่วนกับธนาคารกสิกรไทย เป็นอีกช่วงยาวนานพอสมควร

กรณีธนาคารกสิกรไทย มีความสัมพันธ์มาตั้งแต่ยุคเปลี่ยนผ่าน จากทีมเดนมาร์ก มาสู่คนไทย ในยุคสงครามเวียดนาม มาพร้อมๆ กับความสัมพันธ์ทางธุรกิจระหว่างปูนซิเมนต์ไทยกับโลกตะวันตกที่มีมากขึ้น สัมพันธ์และเป็นไปตามบทบาทอันแข็งขันของธนาคารกสิกรไทย

ช่วงเวลานั้นโครงสร้างธุรกิจหลัก-อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ อยู่ในสภาวะการแข่งขันน้อยราย ขณะปูนซิเมนต์ไทยมีความเหนือกว่าคู่แข่งค่อนข้างมากในฐานะมาก่อน สามารถวางรากฐานทางการตลาดอย่างมั่นคง

ขณะเดียวกันเริ่มมีแผนการร่วมทุน ลงทุนบางระดับ ในธุรกิจเกี่ยวข้องและธุรกิจอื่น

 

โครงสร้างคณะกรรมการซึ่งมีบทบาทเอาการเอางานกว่าบริษัททั่วไป คงอยู่อย่างยาวนาน ตราบช่วงวัยกรรมการแต่คนละคนก็ว่าได้ แต่ก็มีบางกรณีที่น่าสนใจ สะท้อนสายสัมพันธ์ทางธุรกิจกับบริบทช่วงหนึ่ง บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ผู้นำเครือสหพัฒนฯ กลุ่มธุรกิจใหญ่ซึ่งมีความสัมพันธ์กับธุรกิจญี่ปุ่นมานาน และเป็นไปอย่างกว้างขวาง ตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อปูนซิเมนต์ไทยมีความสัมพันธ์กับธุรกิจญี่ปุ่นมากเป็นพิเศษในช่วงทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา

โดยเฉพาะการเข้าสู่ธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์และเครื่องไฟฟ้า บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ในฐานะ Japan Connection คนสำคัญในภาคธุรกิจ จึงถูกเชิญในการเข้ามาเป็นกรรมการบริษัทปูนซิเมนต์ไทยช่วงสั้นๆ และพ้นตำแหน่งไปคาบเกี่ยววิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจใหญ่

ในยุค ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้เข้ามาเป็นประธานกรรมการในช่วงวิกฤตการณ์ แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริษัทครั้งใหญ่ แต่เค้าโครงที่มาของกรรมการดูไม่แตกต่างจากยุคก่อนหน้านั้นนัก

การปรับโครงสร้างคณะกรรมการเอสซีจีครั้งล่าสุด เกิดขึ้นเมื่อ 3 ปีมานี้ ในจังหวะเดียวกับมีการเปลี่ยนแปลงนามผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุด

ถือว่าได้สิ้นสุดยุค ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา

 

โครงสร้างคงแบบแผนเดิมอย่างเคร่งครัด คือผู้แทนผุ้ถือหุ้นใหญ่ที่สุด คงมีจำนวนพอสมควร และดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ ขณะค่อยๆ ปรากฏภาพใหม่ คณะกรรมการผู้มีบทบาทมากขึ้นเป็นพิเศษ คือกลุ่มอดีตผู้บริหารเอสซีจี

“ชุมพล ณ ลำเลียง ผู้มีบทบาทในเอสซีจีอย่างยาวนาน ตั้งแต่เข้าร่วมงานครั้งแรกปี 2515 ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อเอสซีจีก้าวพ้นจากยุคบริหารโดยเดนมาร์ก (2456-2517) สู่คนไทย (2517-ปัจจุบัน) กล่าวขานกันว่า เขามีบทบาททุกช่วงทุกตอนในแผนการเติบโตอย่างโลดโผน ก่อนมาเป็นผู้จัดการใหญ่ (2536-2548) ในช่วงสำคัญอีกช่วงหนึ่งในประวัติศาสตร์เอสซีจี จากนั้นเขาดำรงตำแหน่งกรรมการเอสซีจีอย่างต่อเนื่อง เป็นกรรมการชุดปัจจุบันผู้อยู่ในตำแหน่งยาวนานที่สุดด้วย” อย่างที่ผมเคยว่าไว้ ในฐานะเวลานี้เขาคือกรรมการเอสซี ผู้อยู่ในตำแหน่งยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ (2535-ปัจจุบัน) ปัจจุบันมีตำแหน่งเป็นรองประธานคณะกรรมการ ซึ่งว่ากันว่าอีกเช่นกัน เป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญมาก

มีบุคคคลหนึ่งในประวัติศาสตร์เอสซีจียุคแรกๆ พอเทียบเคียง อ้างอิง “พระยามานวราชเสวี ดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัทปูนซิเมนต์ไทย เป็นเวลายาวนานถึง 28 ปี โดยเป็นประธานกรรมการนานถึง 22 ปี (2485-2507) อาจสรุปได้ว่า ท่ามกลางสถานการณ์หัวเลี้ยวหัวต่อและผันแปรมากที่สุด เขาเป็นสัญลักษณ์ของความต่อเนื่องและสมดุล” ผมเคยนำเสนอไว้เช่นกัน

พระยามานวราชเสวี ในฐานะนักกฎหมาย บุคคลผู้มีบทบาทต่อเนื่อง ทั้งทางการเมืองและราชสำนัก เมื่อเข้ามามีบทบาทในบริษัทบริษัทปูนซิเมนต์ไทย มีหลายช่วง ได้ไปดำรงตำแหน่งทางการเมืองไปด้วย โดยเฉพาะตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรต่อเนื่องหลายรัฐบาล เป็นเวลาถึง 11 ปี (2478-2489) ในช่วงท้ายพระยามานวราชเสวี ดำรงตำแหน่งองคมนตรี ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นรัชกาลที่ 9 อย่างต่อเนื่อง เป็นเวลาถึง 25 ปี (2492-2517)

โดยเปรียบเทียบแล้ว ชุมพล ณ ลำเลียง ถือว่าอยู่ในตำแหน่งกรรมการยาวนานกว่า ถึงปัจจุบัน 3 ทศวรรษแล้ว

หากเทียบเคียงเฉพาะกรรมการ ผู้เป็นอดีตผู้จัดการใหญ่แล้ว บุญมา วงศ์สวรรค์ (ผู้จัดการใหญ่/2517-2519) ดูจะมีบทบาทเป็นกรรมการยาวนานพอสมควร กว่าทศวรรษ ส่วนคนอื่นๆ อย่าง จรัส ชูโต (ผู้จัดการใหญ่ 2523-2527) และพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา (ผู้จัดการใหญ่ 2538-2536) เมื่อพ้นตำแหน่ง ได้เป็นกรรมการบริษัทช่วงสั้นๆ ในระยะคาบเกี่ยวเท่านั้น

 

นอกจากนี้ ในคณะกรรมการเอสซีจีชุดปัจจุบัน มีอดีตผู้จัดการใหญ่อีกคนอยู่ด้วย-กานต์ ตระกูลฮุน (ผู้จัดการใหญ่ 2548-2558) เป็นผู้บริหารคนถัดจากชุมพล ณ ลำเลียง คงดำรงตำแหน่งกรรมการเอสซีจีต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน จะว่าเป็นกรรมการชุดปัจจุบัน ผู้อยู่ในตำแหน่งนานรองมาจากชุมพล ณ ลำเลียง ก็ว่าได้ ว่ากันว่า กานต์ ตระกูลฮุน มีบทบาทในเอสซีจีอย่างต่อเนื่อง และดูจะเพิ่มขึ้น ขณะควบคู่ไปกับบทบาทในวงกว้างอย่างแข็งขัน ในฐานะกรรมการบริษัทสำคัญ โดยเฉพาะเครือธนาคารไทยพาณิชย์ (SCBX ปัจจุบัน) และเอไอเอส กับอินทัช โฮลดิ้ง ทั้งนี้ ยังรวมอีกหลายตำแหน่งในคณะกรรมการเกี่ยวข้องกับนโยบายทางเศรษฐกิจรัฐ

ที่น่าสนใจเพิ่มขึ้น มีอดีตผู้บริหารเอสซีจีอีกคน อยู่ในคณะกรรมการชุดปัจจุบันด้วย อย่างที่ผมเคยกล่าวไว้บ้าง

ชลณัฐ ณาณารณพ ในช่วงคาบเกี่ยว เขาดำรงตำแหน่งผู้นำกลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์เอสซีจี (2548-2562) กลุ่มธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดของเอสซีจี บทบาทดูจะกว้างขึ้นด้วยตามลำดับ โดยเฉพาะการก่อตั้งบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ (SBS) ในฐานะกรรมการตั้งแต่ต้น (ตั้งแต่ปี 2559) ต่อมาก้าวขึ้นเป็นรองผู้จัดการใหญ่เอสซีจี (2560-2562) ด้วย

เมื่อเกษียณในเอสซีจี (วัย 60 ปี) ชลณัฐ ณาณารณพ คงบทบาทต่อเนื่องไม่ขาดตอน โดยเข้ามาเป็นกรรมการเอสซีจีตั้งแต่ปี 2563

“…ชลณัฐ ณาณารณพ เป็นหนึ่งไม่กี่คนในเอสซีจียุคหลัง จากผู้บริหารก้าวสู่ตำแหน่งกรรมการ นับจากชุมพล ณ ลำเลียง (ผู้จัดหารใหญ่ 2536-2548) และกานต์ ตระกูลฮุน (ผู้จัดการใหญ่ 2548-2558) ทั้งนี้ ยังถือได้ว่าเป็นกรณีพิเศษ ชลณัฐ ญาณารณพ เป็นคนเดียวในประวัติศาสตร์เอสซีจียุคใหม่ ที่มาจากตำแหน่งรองผู้จัดการใหญ่”

ถ้าจะว่าในปัจจุบัน ทีมคณะกรรมการหลัก กับทีมคณะจัดการเอสซีจี เป็นทีมเดียวกัน เป็นโครงสร้างการบริหารธุรกิจ โดยมืออาชีพที่มีความต่อเนื่อง เป็นปึกแผ่นมากที่สุดในสังคมธุรกิจไทยก็คงได้

ในมิติที่กว้างขึ้น โครงสร้างคณะกรรมการเอสซีจีชุดปัจจุบัน มีทั้งการสืบทอดแบบแผนบางระดับในอดีต ขณะปรับเปลี่ยนให้เข้ากับบริบทใหม่ทางสังคมธุรกิจไทยอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนด้วย

ในปีหน้า จะขอว่าต่ออีกตอน •

 

วิรัตน์ แสงทองคำ | https://viratts.com