‘จักรวาลมอนสเตอร์ไทย’ ที่มาพร้อมความตั้งใจเต็มเปี่ยม | รายงานพิเศษ

รายงานพิเศษ

 

‘จักรวาลมอนสเตอร์ไทย’

ที่มาพร้อมความตั้งใจเต็มเปี่ยม

 

“ขอคิดนอกกรอบเดิมๆ ค่ะ”

คือเหตุผลที่ผู้บริหารวัย 27 ปี กนกวรรณ วัชระ ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัท เนรมิตรหนัง ฟิล์ม จำกัด บอกถึงแนวคิดในการทำหนังของบริษัทน้องใหม่ในวงการภาพยนตร์ ซึ่งเพิ่งเปิดตัวมาได้ไม่นาน

และในช่วงเวลาปีกว่า ก็มีผลงานให้ดูแล้วถึง 4 เรื่อง เริ่มจาก ‘4 Kings’ อันโด่งดัง แล้วตามมาด้วย ‘Leio ไลโอโคตรแย้ยักษ์’, ‘THE WORLD OF KILLING PEOPLE’. ‘คืนหมีฆ่า’ และ ‘The One Hundred ๑๐๐ ร้อยขา’

ซึ่ง 2 ใน 4 คือ ‘Leio ไลโอโคตรแย้ยักษ์’ กับ ‘The One Hundred ๑๐๐ ร้อยขา’ เป็นผลงานในโปรเจ็กต์ใหญ่ ‘จักรวาลมอนสเตอร์ไทย’ ที่บริษัทตั้งใจนำเสนอ

“เป็นคนชอบดูหนังค่ะ” กนกวรรณซึ่งเรียนจบด้านการตลาด และทำงานตามสายงานนั้น ควบคู่ไปกับการเป็นนักลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ ก่อนจะ “จับพลัดจับผลู” ตามคำของเจ้าตัวมาทำงานนี้เล่า

“แล้วมีความรู้สึกว่า ทำไมเวลามีหนังเข้าโรง คนถึงฮือฮากับหนังฮอลลีวู้ด แต่น้อยมากที่จะตื่นเต้นกับหนังไทย เลยรู้สึกว่าถ้าเราสามารถทำหนังไทยให้ดูน่าตื่นเต้น แปลก แหวกแนวกว่าทางหนังเดิมๆ ที่เคยผ่านมา ผู้บริโภคหรือตลาดของภาพยนตร์มันจะกลับมาตื่นตัวอีกไหม หรือจะเปลี่ยนแปลงยังไง”

ทั้งๆ ที่รับรู้ผ่านการได้ยินมาตลอดว่าตลาดหนังไทยไม่ได้ง่าย และหลายรายก็ขาดทุน

“มีความรู้สึกว่าถ้าเราไม่ลองทำ ยังไงผลลัพธ์ก็คือศูนย์อยู่แล้ว แต่ถ้าเราได้ลอง มันอาจจะเป็นแค่ 1% หรืออาจจะมีเปอร์เซ็นต์ที่มากว่านี้ ในการที่จะพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลง หรือมีอะไรใหม่ๆ ให้กับผู้บริโภคมากขึ้น ก็เลยลองเสี่ยงดู”

โดยเป็นการลงทุนร่วมกับบริษัทไททัน แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด

ที่มาของโปรเจ็กต์จักรวาลมอนสเตอร์ไทยนั้น กนกวรรณเล่าว่า เริ่มมาจากความอยากหาแนวทางในการทำหนังรูปแบบใหม่ๆ คิดนอกกรอบเดิมๆ ของตลาดหนังไทยในเวลานั้น ซึ่ง “หนังสัตว์ประหลาดก็เป็นแนวแรกๆ ที่เรานึกถึง”

เหตุเพราะ “มันมีความเป็นสากล” สามารถสื่อสารกับผู้ชมชาวต่างประเทศได้ง่าย

“เวลาดูเขาจะเข้าใจได้ง่าย ว่าเกิดอะไรขึ้น สัตว์ประหลาดตัวนี้มีที่มาที่ไปยังไง แล้วก็รู้สึกว่าหนังสัตว์ประหลาดมันประสบความสำเร็จในต่างประเทศเยอะมาก”

“แล้วรู้สึกด้วยว่าหนังแนวนี้คนไทยเขาไม่ทำกัน เพราะมันน่าจะค่อนข้างยากในแง่ของเทคนิค ของทุนสร้างที่ค่อนข้างสูง และด้วยตลาดในไทยที่ขาดความเชื่อมั่นของหนังแนวนี้จากฝีมือคนไทยด้วยกัน”

สําหรับผลจากการทำ เธอก็ว่าถ้าพูดกันตามตรงผลตอบรับในบ้านเราก็ไม่ดีเท่าที่หวัง “แต่อย่างน้อยๆ ก็ยังมีคนเข้าชมและมีฟีดแบ็กกลับมา ทั้งที่ดีและไม่ดี ซึ่งเราจะเก็บมาพัฒนาในเรื่องต่อๆ ไป”

กนกวรรณบอกด้วยว่า สิ่งหนึ่งซึ่งต้องยอมรับคือ เนรมิตรหนัง ฟิล์มคงไม่สามารถทำหนังให้ถูกใจทุกคนได้ “แต่เราก็จะพยายามทำหนังที่ผู้บริโภครู้สึกว่าคุ้มค่าที่จะเดินเข้าไปซื้อตั๋ว”

ขณะที่ในส่วนต่างประเทศนั้น เธอบอกว่ากระแสตอบรับเป็นไปอย่างน่าพอใจ โดย ‘Leio ไลโอโคตรแย้ยักษ์’ ถูกซื้อไปฉายใน 33 ประเทศทั่วโลก ขณะเดียวกันก็ยังมีผู้ซื้อลิขสิทธิ์ไปสร้างภาพยนตร์รีเมก ขณะที่ ‘The One Hundred ๑๐๐ ร้อยขา’ ก็ทำการตกลงกับบริษัทที่จัดจำหน่ายหนังเอเชียที่สำคัญในอเมริกา และอีกบริษัทของจีน ที่จัดจำหน่ายหนังนำเข้าจากเอเชียไปเรียบร้อยแล้วเช่นกัน

“หนังสัตว์ประหลาดจริงๆ มันขายได้นะ อาจจะในไทยเองเสียมากกว่าที่พอรู้ว่าเป็นหนังสัตว์ประหลาด แล้วโปรดักชั่นไทยทำ ก็รู้สึกว่าคงไม่ถึงเท่าต่างประเทศ”

เพราะในส่วนผู้ชมต่างประเทศนั้น เธอบอกว่า “ทุกคนรู้สึกว้าวมาก กับการที่เราโชว์สัตว์ประหลาด ภาพซีจี แล้วเป็นภาพสว่าง เพราะส่วนใหญ่หนังแนวนี้จะเป็นภาพฉากมืดหน่อย”

“แล้วสัตว์ในไทยมีอยู่แล้ว อย่างไลโอ เราพัฒนามาจากตัวแย้ จากกะปอม ส่วนวัน ฮันเดรด ก็ได้แรงบันดาลใจจากตำนานสัตว์อย่าง ตะบองพลำ หรือตะขาบยักษ์ เราก็มีสัตว์อะไรหลายอย่างที่สามารถเอาไปต่อยอดเป็นสตอรี่ เรื่องราว”

ซึ่ง “อยากให้ทุกคนเปิดใจ”