อุษาวิถี (9) อุษาวิถีจากกระแสอินเดีย (ต่อ) | วรศักดิ์ มหัทธโนบล

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เงาตะวันออก | วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 

อุษาวิถี (9)

อุษาวิถีจากกระแสอินเดีย (ต่อ)

 

ภาพเช่นนี้หากไม่นับว่าเป็นส่วนหนึ่งในหลักคำสอนของศาสนาพุทธเองแล้ว สิ่งที่ไม่น่าจะคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงก็คือ ระเบียบแบบแผนที่พระศากยมุนีทรงใช้กับการปกครองหมู่สงฆ์ในขณะนั้น มีฐานที่ได้จากการปกครองแบบ “สาธารณรัฐ” ของกบิลพัสดุ์ไม่มากก็น้อย

สิ่งที่แตกต่างก็คือ เนื้อหา ซึ่งชุมชนทางศาสนา (พุทธ) ของพระองค์ดำเนินชีวิตในกรอบของเพศบรรพชิตอันมีข้อจำกัดมากมาย ผิดกับชุมชนกบิลพัสดุ์ ซึ่งเป็นเพศฆราวาสที่อิสระจากกรอบในการดำเนินชีวิตมากกว่า

ชุมชนสงฆ์ของศาสนาพุทธจึงเป็นสังคมอุดมคติอยู่ไม่น้อย

แต่กระนั้นสังคมอุดมคตินี้ก็ไม่อาจฝืนสังคมที่เป็นจริงในทางโลกได้อย่างปลอดภัย ความจริงก็คือว่า เมื่อศาสนาพุทธขยายตัวไปแล้ว เทวทัตซึ่งเป็นพระญาติของพระศากยมุนี และได้บวชเป็นภิกษุด้วยในขณะนั้น ได้เกิดข้อขัดแย้งกับพระศากยมุนีอย่างรุนแรง

และเป็นเหตุให้เทวทัตแยกตัวออกจากชุมชนสงฆ์พร้อมกับสาวกอีกจำนวนหนึ่ง และในเวลาต่อมา เทวทัตก็ได้เป็นที่ปรึกษาทางการเมืองให้แก่อชาตศัตรู โอรสของพระเจ้าพิมพิสาร จนเป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งในราชสำนักมคธขึ้นอย่างรุนแรง

ความขัดแย้งดังกล่าวได้นำไปสู่การรัฐประหารของอชาตศัตรูด้วยการยึดอำนาจจากพระเจ้าพิมพิสาร พร้อมกับจับกุมคุมขังและทรมานพระบิดาของตนจนสิ้นพระชนม์ไปในที่สุด

จากนั้น อชาตศัตรูจึงขึ้นครองราชย์ก่อนที่พระศากยมุนีจะปรินิพพาน 8 ปี

 

ความขัดแย้งทางการเมืองดังกล่าวแม้จะจบลงด้วยการสิ้นบารมีของเทวทัต และการหันเข้ามานับถือศาสนาพุทธของพระเจ้าอชาตศัตรูก็ตาม แต่สิ่งที่สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนก็คือ อิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ยังคงดำรงอยู่ได้

และภายหลังจากนั้นไปแล้ว การศึกสงครามระหว่างรัฐต่างๆ ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นระยะๆ รวมทั้งการศึกสงครามที่นำมาซึ่งการพังพินาศของกบิลพัสดุ์เช่นกัน

กล่าวคือ ภายหลังการอุบัติขึ้นของศาสนาพุทธไปแล้ว ฐานะของกบิลพัสดุ์กระเตื้องขึ้นเนื่องจากเป็นแหล่งกำเนิดของสิทธัตถะหรือพระศากยมุนี พระเจ้าปเสนทิหรือประเสนชิตกษัตริย์แห่งรัฐโกศลปรารถนาที่จะเป็นพระญาติทางสายโลหิตกับพระศากยมุนี จึงได้สู่ขอเจ้าหญิงของศากยวงศ์มาอภิเษกสมรส

แต่ด้วยเหตุที่ศากยวงศ์เกรงว่า “วงศ์” ของตนจะหม่นหมองสิ้นความบริสุทธิ์ พร้อมกับที่ไม่อาจปฏิเสธคำขอดังกล่าวได้เนื่องจากเป็นประเทศราชของรัฐโกศล

ศากยวงศ์จึงส่งธิดาที่เกิดจากนางทาสีปลอมเป็นเจ้าหญิงส่งถวายแก่พระเจ้าปเสนทิ

 

ภายหลังการอภิเษกสมรสผ่านไป โอรสก็ถือกำเนิดออกมา และมีนามว่า “วิฑูฑภะ” ครั้นเมื่อเจ้าชายเติบใหญ่ขึ้นมา ความลับในภูมิหลังก็ถูกเปิดเผย และได้กลายเป็นความขัดแย้งทางการเมืองขึ้นมา ระหว่างวิฑูฑภะ (โกศล) กับศากยวงศ์ (กบิลพัสดุ์)

โดยวิฑูฑภะได้กรีธาทัพหมายจะตีกบิลพัสดุ์ให้แหลกลาญ

แต่ความขัดแย้งนี้ไม่ได้ขยายตัวออกไปจนก่อความยุ่งยาก เพราะพระศากยมุนีทรงกล่าวเตือนสติและห้ามวิฑูฑภะเอาไว้ แต่หลังจากนั้นต่อมา วิฑูฑภะได้ร่วมกับขุนนางในฝ่ายตนก่อการรัฐประหารยึดอำนาจจากพระเจ้าปเสนทิได้สำเร็จพร้อมกับขึ้นครองราชย์สืบต่อมา

พระเจ้าวิฑูฑภะจึงได้กรีธาทัพเข้าโจมตีกบิลพัสดุ์เพื่อล้างแค้น แต่ก็ถูกพระศากยมุนีห้ามไว้โดยตลอด และเป็นเช่นนี้อยู่สามครั้งจนถึงครั้งที่สี่ การห้ามดังกล่าวก็ไม่เป็นผลอีกต่อไป

กองทัพของรัฐโกศลได้กรีธาเข้าทำลายกบิลพัสดุ์อย่างหนักหน่วงและรุนแรง กบิลพัสดุ์ถูกเผาเป็นจุณ เจ้าแห่งศากยวงศ์ถูกฆ่าด้วยจำนวนที่สูงถึง 77,000 องค์ ไม่เว้นแม้แต่ทารกที่กำลังดื่มนมจากมารดา

กบิลพัสดุ์ถึงกาลล่มสลายอย่างยากที่จะฟื้นได้อีกต่อไป ภายหลังจากนั้นไม่นาน พระศากยมุนีหรือพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เสด็จปรินิพพาน อันเป็นจุดเริ่มต้นของพุทธศักราชสืบแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

 

หากเอาการปรินิพพานของพระศากยมุนีเป็นจุดของการสิ้นสุดสมัยพุทธกาลแล้ว สิ่งที่เราพบเห็นถึงอินเดียวิถีในช่วงนี้ก็คือ ยุคปรัชญปัญญาในห้วงที่สังคมอินเดียตกต่ำเสื่อมถอยถึงที่สุดนั้น ศาสนาพราหมณ์ได้ถูกท้าทายทางการเมืองครั้งสำคัญ เมื่อมีหลักคำสอนที่ต่อต้านพิธีกรรมและระบบวรรณะ ซึ่งแฝงอยู่ในพฤติกรรมทางการเมืองในขณะนั้น

หลักคำสอนที่ต่อต้านศาสนาพราหมณ์นี้มาจากสองสำนักคิดใหญ่ คือ จากศาสนาพุทธ และศาสนาชิน หรือเชน หรือชินะ หรือไชน (Jainism)

หลักคำสอนหลังนี้ไม่ต่างจากศาสนาพุทธ แต่ที่รู้จักกันน้อยในสังคมโลกก็เพราะพระวรรธมานมหาวีระ ซึ่งเป็นผู้นำของศาสนานี้และมีวรรณะกษัตริย์เช่นเดียวกับพระศากยมุนีนั้น ได้กำหนดห้ามไม่ให้ศาสนาของตนเผยแผ่ออกนอกสังคมอินเดีย

 

สําหรับศาสนาพุทธแล้ว การต่อต้านศาสนาพราหมณ์ในประเด็นสำคัญดังกล่าวไม่ได้ตั้งอยู่บนฐานการอธิบายการเมืองใหม่โดยตรง หากแต่อยู่บนฐานของหลักคำสอนที่มุ่งให้มนุษย์เป็นอิสระอย่างแท้จริงด้วยการปล่อยวางทางโลก และให้ความสำคัญกับจิตวิญญาณที่ใฝ่ดี

บนฐานของหลักคำสอนนี้เอง ที่ได้ส่งผลสะเทือนต่อการเมืองในขณะนั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หลักคำสอนนี้แสดงผ่านพระธรรมที่มีรายละเอียดมากมายของพระศากยมุนีโดยตรง แต่ก็มีหลักธรรมพื้นฐานบางประการที่สำคัญต่อการปฏิบัติตนในชีวิตประจำวัน ที่เข้าใจง่ายและไม่สลับซับซ้อนอยู่ด้วย

ภายหลังจากพุทธกาลไปแล้ว ผลสะเทือนในหลักคำสอนของศาสนาพุทธยังคงดำรงอยู่ต่อมาอีกนานนับหลายร้อยปี ท่ามกลางวิกฤตการณ์การเปลี่ยนแปลงที่รายล้อมทั้งจากรากฐานปัญหาเดิมและจากปัญหาที่ถาโถมเข้ามาใหม่

ศาสนาพุทธจึงไม่เพียงยังคงเผชิญหน้ากับศาสนาพราหมณ์ต่อไปเท่านั้น หากกับศาสนาอิสลามก็เข้ามามีส่วนในการเปลี่ยนแปลงไม่น้อยเช่นกัน

 

ค.อินเดียวิถีหลังพุทธกาล

การก้าวขึ้นสู่อำนาจของพระเจ้าอชาตศัตรูก่อนพุทธปรินิพพานแปดปีนั้น แม้จะโน้มนำพระองค์ให้นับถือในศาสนาพุทธก็ตาม แต่กล่าวสำหรับสถานการณ์ภายนอกแล้ว กลับไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนัก

ความคิดของรัฐใหญ่ที่ทรงอิทธิพลที่หมายรวมอินเดียให้เป็นมหาอาณาจักรเดียวกัน ยังดำรงอยู่ไม่เสื่อมคลาย