‘ผีของเหม เวชกร’ ในฉากน้ำท่วมพระนคร 2485 | ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง

‘ผีของเหม เวชกร’ ในฉากน้ำท่วมพระนคร 2485 (1)

 

เรื่องสั้นแนวผีของเหม เวชกร (2446-2512) ศิลปิน ช่างเขียน และนักเขียนนามอุโฆษ ผู้เคยใช้ชีวิตในย่านฝั่งธนบุรีมายาวนาน เขามีผลงานเขียนเรื่องผีที่น่าขนพองสยองเกล้าจำนวนมาก

ในเรื่อง “เมื่อกรุงเทพฯ แช่น้ำ” อยู่ในชุด ผู้มาจากเมืองมืดนั้น เขาได้นำน้ำท่วมใหญ่พระนคร เมื่อ 2485 มาระบายเป็นฉากว่า “ถอยหลังไปสัก 20 กว่าปี ในสมัยกรุงเทพฯ แช่น้ำ จัดเป็นสมัยลำเค็ญของชาวไทยกรุงเทพฯ”

ไม่แต่เพียงเรื่องน่าขนหัวลุกเท่านั้น แต่ในเรื่องผีของเขายังให้เกร็ดข้อมูลประวัติศาสตร์ในยุคสมัยใหม่อันใกล้ที่น่าสนใจยิ่งด้วย

ผีครั้งน้ำท่วมถูกเหมวางเรื่องผ่านข้าราชการครูนักดื่มสามคน มักชอบร่ำสุราหลังเลิกงาน วันหนึ่ง “ครูคง” สมาชิกคนหนึ่งขาดงานไป สมาชิกที่เหลือยังคงดื่มกันในยามเย็นจนพลาดเรือลำสุดท้าย แต่เขาพบเพื่อนครูที่ขาดงานนั้นนั่งเรือมารับพวกเขาไปส่งบ้านด้วยความเป็นห่วง

เรือผีพาเขาทั้งสองคนหลงเข้าไปเขตกุโบของชาวมุสลิม และโกดังเก็บศพของวัดหิรัญรูจีวรวิหารย่านบ้านแขก

ความมืดและความน่าสะพรึงกลัวในครั้งนั้นสร้างความหวาดกลัวให้อย่างมาก เมื่อเรือมาส่งพวกเขาถึงบ้าน นายยอดก้มลงหยิบเงินเพื่อจ่ายค่าจ้างให้เรือจ้าง แต่เมื่อเงยหน้าขึ้นมา เรือจ้างหายไปแล้ว พร้อมข่าวว่า เพื่อนครูคนนั้นตายไปหลายวันแล้ว (เหม, 2547)

“ผู้มาจากเมืองมืด” ผลงานของเหม และฉากสี่แยกบ้านแขกในกระแสน้ำในเรื่องกรุงเทพฯ น้ำท่วม 2485

 

ฉากน้ำท่วมพระนคร 2485
ในเรื่องสั้นแนวผี

ครั้นเมื่อไทยยอมให้ญี่ปุ่นผ่านทัพและประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร ทำให้กองทัพสัมพันธมิตรเริ่มโจมตีพระนครทางอากาศในช่วงต้นปี 2485 เพื่อเป็นการข่มขวัญและทำลายสถานทางยุทธศาสตร์ มีการทิ้งระเบิดย่านเยาวราช สถานีหัวลำโพงและฝั่งธนบุรี เป็นเหตุให้ผู้คนเริ่มอพยพออกจากกรุงเทพฯ ไปอยู่ตามสวนในเขตฝั่งธนบุรีและนนทบุรี หรือชานพระนคร เช่น ริมคลองแสนแสบและบางกะปิ ทำให้กรุงเทพฯ เงียบเหงา ร้านค้าปิด ผู้คนบางตาลง ตามถนนไม่ค่อยมีรถวิ่งไปมา มีแต่รถรางที่พรางไฟ (อุบล จิระสวัสดิ์, 2517, 295-296)

ในเรื่องสั้นผีเรื่องนี้ เหมบันทึกเรื่องราวน้ำท่วมเมื่อกันยายน 2485 อย่างละเอียด สอดแทรกตลอดเรื่องว่า ช่วงเวลานั้นชาวกรุงเทพฯ ลำเค็ญมาก ที่ต้องเผชิญหน้ากับสงครามโลกครั้งที่ 2 และกระแสน้ำไหลบ่าเข้าท่วมพระนคร แต่โชคดีที่ชาติตะวันตกถูกกองทัพญี่ปุ่นตีแตก ทำให้เครื่องบินที่เคยมาทิ้งระเบิดในไทยเกือบจะไม่มี ทำให้คนไทยพอมีเวลาหายใจหายคอพักจากเสียงบอมบ์บ้าง (เหม, 158)

ควรบันทึกด้วยว่า ในช่วงที่พระนครผจญอุทกภัยครั้งใหญ่ ฝ่ายสัมพันธมิตรต้องตั้งรับการบุกของกองทัพญี่ปุ่นในพม่าและอินเดียอย่างหนักจึงมิได้บอมบ์พระนคร แต่ภายหลังน้ำลดในกลางเดือนพฤศจิกายนแล้ว ฝ่ายสัมพันธมิตรจึงเริ่มกลับมาโจมตีไทยอีกครั้งเมื่อกลางเดือนธันวาคม 2485 (อุบล, 297)

ในช่วงสงครามนั้น เหมทำงานที่กองศึกษาผู้ใหญ่ กระทรวงศึกษาธิการ ต่อมาเขาอพยพหนีระเบิดมาพักที่สวนแถวฝั่งธนบุรี ระหว่างนั้น เขารับงานเขียนรูปให้กรมประชาสงเคราะห์ ลงในนิตยสารสร้างตนเอง และเขียนภาพส่งเสริมวัฒนธรรมของ “สามัคคีนำไทย” สมัย “มาลานำไทย ไปสู่มหาอำนาจ” ลงในวารสารต่างๆ ด้วย (เริงไชย พุทธาโร, 2531, 79; พิชยะพัฒน์ นัยสุภาพ, 2563, 75)

เหมเล่าว่า ในช่วงแรกๆ ที่น้ำเริ่มไหลเข้าท่วมพระนครนั้น เขาเห็นคนหนุ่มสาวตื่นเต้นมากที่ได้เห็นน้ำท่วมที่ไม่เคยพบเห็น คนพระนครต่างได้เห็นภาพรถและเรือสวนกันบนถนนเดียวกัน ต่างขบขันกับความแปลกตา

แต่ไม่นานจากนั้น ความขบขันเปลี่ยนไป ทุกข์ยากก็คืบคลานเข้ามา ถนนกลายเป็นลำคลอง บ้านเริ่มมีน้ำเอ่อเข้ามา ต้นไม้เริ่มจมลงใต้น้ำ การทำมาหากินเริ่มยากลำบาก ที่ทำการ โรงงาน ต้องหยุด อันหมายถึงชีวิตของคนยากต้องยิ่งทุกข์ยากมากขึ้น

ในเรื่องสั้นแนวผีของเขาให้ข้อมูลเปรียบน้ำท่วม 2460 กับ 2485 ที่เขาทันพบเห็นไว้ว่า “แม่คงคาบ่าเข้าเมืองคราวนี้ ไม่ใช่เมื่อสมัยผมเป็นเด็กรุ่นๆ ที่ท่วมอยู่ไม่กี่วันก็ลด และการท่วมครั้งนั้นก็ท่วมชั่วเวลาเท่านั้น ขึ้นบ้างลดบ้างตามเวลาของน้ำทะเล แต่ครั้งที่กำลังผจญภัยอยู่นี้ ไม่มีการลด มีแต่เพิ่มระดับขึ้น จากการเดินลุยเล่นจะกลายเป็นการลอยคออยู่แล้ว และก็หนักเข้า นานวันนานเดือน ไม่มีกำหนดว่าจะจากไปเมื่อไร” (เหม, 159)

นิตยสาร “สร้างตนเอง” (2485) ผลงานของเหม เวชกร

มองน้ำท่วมผ่านสายตาเหม

นํ้าท่วมพระนครครั้งนั้นหนักแค่ไหน เหมบันทึกเปรียบเปรยไว้ว่า “ถ้าผู้อยู่บนฟากฟ้ามองลงมา ก็จะเห็นว่า พวกมนุษย์ที่พื้นดินมีสภาพไม่ผิดกับมดที่เกาะกับกิ่งไม้ลอยไปลอยมา ที่ใดแห่งเขินก็ไปชุนลมุนวุ่นวายกันที่นั่น บางแห่งท่วมครึ่งน่อง บางแห่งเลยเข่า บางแห่งก็ถึงแค่เอวเลย ไปไหนมาไหนต้องอาศัยเรือ พวกต่างจังหวัดน้ำท่วมนาท่วมไร่หมดทางทำมาหากิน จึงหาเรือทุกชนิดเข้ามาทำมาหากินในกรุงเทพฯ ชาวกรุงเทพฯ จึงได้พึ่งพิงเขา” (เหม, 159)

ความยากลำบากในการเดินช่วงน้ำท่วม ทำให้รัฐบาลผ่อนปรนการเข้าทำงานของข้าราชการให้สายออกไปบ้างเนื่องจาก ข้าราชการบางคนบ้านอยู่ไกลหรือใกล้แตกต่างกัน พวกอยู่ในพระนครสามารถเดินลุยน้ำท่วมมาได้ เกิดท่าเดินลุยน้ำ เช่น ท่าสเต็ปลุยน้ำด้วยการยกเข่าสูง แล้วจุ่มขาลง แล้วยกขึ้น ทำไปเรื่อยจนกว่าจะเดินได้ตามปกติ

เขาเล่าประสบการณ์ของเขาครั้งที่พักย่านฝั่งธนบุรีแต่ต้องมาทำงานฝั่งพระนครว่า ต้องนั่งเรือจากบ้านมาสุดทางที่สะพานพุทธ ที่กระแสน้ำในแม่น้ำไหลเชี่ยวกราก จากนั้นต้องเดินข้ามสะพาน และเดินลุยน้ำต่อผ่านโรงไฟฟ้าวัดเลียบเพื่อไปทำงาน ในช่วงแรกๆ ยังมีรถรางวิ่งได้ในบางช่วง ต่อมาเมื่อระดับน้ำท่วมสูงขึ้น รถรางหยุดเดินเพราะไฟฟ้าดูดผู้โดยสารและประชาชน ข้าราชการต่างๆ ต้องเดินลุยน้ำไปทำงาน ด้วยกางเกงขาสั้น ผ้าขาวม้าคาดพุง บนหัวจะมีของเล็กๆ น้อยๆ เช่น กระเป๋าเงิน บุหรี่ ใส่ผ้าเทินหัวจนเหมือนช่างไม้ (เหม, 160)

ในช่วงสงคราม เหมทำงานเป็นช่างเขียนภาพประกอบให้หนังสือการศึกษาผู้ใหญ่ ต่อมาถูกย้ายไปเป็นครูสอนวาดเขียนที่โรงเรียนเพาะช่าง กระทรวงศึกษาธิการ ด้วยช่วงสงคราม โรงเรียนจึงทำการสอนไม่เต็มที่ กระทรวงจึงให้เขาไปประจำแผนกหลักสูตร เขียนภาพประกอบตำราต่างๆ แทน

ขณะเดียวกัน เหมยังคงรับงานเขียนภาพปกและประกอบต่างๆ ให้กับสำนักพิมพ์ต่างๆ

ด้วยเหตุที่เขาเคยเป็นครูสอนที่โรงเรียนเพาะช่างและมีคนมาฝากตัวเป็นศิษย์จำนวนมาก ผู้คนจึงเรียกเขาว่า ครูเหม

เมื่อสงครามสงบแล้ว ผู้คนบนถนนหนังสือเริ่มเคลื่อนไหวคึกคักมาอีกวาระหนึ่ง ปลายปี 2488 เขาจึงลาออกจากราชการ และหันไปประกอบอาชีพทำบล็อกและโฆษณาอันเป็นธุรกิจส่วนตัว

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยสมัยน้ำท่วม และปกเรื่องสั้นแนวผี ของเหม