ปรากฏการณ์ ‘โกด็อกซา’ ที่ชายวัยกลางคนในเกาหลีใต้เสี่ยงสูงขึ้น

(Photo by ANTHONY WALLACE / AFP)

“การตายอย่างโดดเดี่ยว” ที่ในภาษาเกาหลีเรียกว่า “โกด็อกซา” เป็นปรากฏการณ์หนึ่งทางสังคมที่เกาหลีใต้กำลังเผชิญและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในแต่ละปี ซึ่งรัฐบาลเกาหลีใต้พยายามหาทางรับมือแก้ปัญหามานานหลายปี ท่ามกลางประชากรผู้สูงอายุในประเทศที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว

ภายใต้กฎหมายของเกาหลีใต้บัญญัติไว้ว่า โกด็อกซา คือ “การตายอย่างโดดเดี่ยว” ของคนที่ใช้ชีวิตอยู่เพียงลำพัง จากการตัดขาดจากครอบครัวหรือไร้ญาติขาดมิตร ซึ่งเสียชีวิตลงจากการฆ่าตัวตายหรือการป่วยตายด้วยโรคภัยไข้เจ็บ โดยที่ศพของพวกเขามักถูกพบหลังจากเวลาผ่านไปได้ระยะหนึ่งแล้วเท่านั้น

ปรากฏการณ์โกด็อกซาได้กลายเป็นปัญหาที่ได้รับความสนใจในระดับประเทศของเกาหลีใต้ในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากจำนวนผู้เสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มคนวัยกลางคนและผู้สูงอายุที่ใช้ชีวิตอยู่อย่างโดดเดี่ยวเดียวดาย

 

เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการสังคมของเกาหลีใต้ ได้เปิดเผยรายงานถึงปรากฏการณ์นี้ ระบุว่า ในปี 2021 ที่ผ่านมา เกาหลีใต้มีกรณีการตายแบบโกด็อกซา จำนวน 3,378 ราย เพิ่มขึ้นจาก 2,412 ราย ในปี 2017

รายงานนี้เป็นรายงานฉบับแรกนับจากรัฐบาลเกาหลีใต้ประกาศใช้รัฐบัญญัติป้องกันและจัดการการเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวขึ้นในปีเดียวกัน ซึ่งกำหนดให้มีการปรับปรุงทุกๆ 5 ปี เพื่อช่วยกำหนดนโยบายในการป้องกันปัญหาการตายอย่างโดดเดี่ยวของผู้คนในสังคม

แม้กรณีของโกด็อกซาจะส่งผลกระทบต่อประชากรเกาหลีใต้ในหลายกลุ่ม แต่ในรายงานระบุว่ากลุ่มชายวัยกลางคนและผู้สูงอายุ มีความเสี่ยงสูงเป็นพิเศษ โดยในปี 2021 จำนวนผู้ชายที่ต้องตายอย่างโดดเดี่ยวมีมากถึง 5.3 เท่าเมื่อเทียบกับผู้หญิง ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 4 เท่าก่อนหน้านี้

โดยคนในช่วงอายุ 50-60 ปี มีจำนวนคิดเป็นสัดส่วนถึง 60% ของการเสียชีวิตลงอย่างโดดเดี่ยวในปีที่แล้ว ส่วนคนกลุ่มอายุ 40 ปี และ 70 ปี ก็มีจำนวนมากเช่นกัน ขณะที่คนในช่วงอายุ 20-30 ปี ที่ตายอย่างโดดเดี่ยว มีสัดส่วนอยู่ระหว่าง 6-8%

รายงานข้างต้นไม่ได้บ่งชี้สาเหตุที่เป็นไปได้ของปัญหาโกด็อกซา แต่ปรากฏการณ์นี้ได้รับการศึกษามาเป็นเวลาหลายปีในขณะที่ทางการเกาหลีใต้พยายามทำความเข้าใจว่าอะไรเป็นสาเหตุของปัญหานี้และหาวิธีสนับสนุนช่วยเหลือที่ดีขึ้นแก่คนกลุ่มเปราะบางเหล่านี้

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่อยู่เบื้องหลังแนวโน้มนี้ถูกระบุว่ามีรวมถึงวิกฤตทางประชากร ช่องว่างในสวัสดิการสังคม ความยากจน และความโดดเดี่ยวทางสังคม ซึ่งทั้งหมดนี้มีความเด่นชัดมากขึ้นนับจากเกิดการแพร่ระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19

เกาหลีใต้เป็นหนึ่งในหลายประเทศในเอเชีย ที่กำลังประสบปัญหาการลดลงของประชากร โดยอัตราการเกิดของเกาหลีใต้ลดลงอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2015 ที่ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่ามีหลายเหตุปัจจัยเกี่ยวข้อง อาทิ ปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้น และค่าจ้างที่ชะงักงันซึ่งทำให้ผู้คนหลีกเลี่ยงการเพิ่มภาระให้กับตนเองในความเป็นพ่อเป็นแม่

ขณะเดียวกันกำลังแรงงานในเกาหลีใต้ยังลดลง ทำให้เกิดความกลัวว่าจะไม่มีแรงงานเพียงพอที่จะรองรับการดูแลประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ผลที่ตามมาคือการทำให้ผู้สูงอายุจำนวนหลายล้านคนต้องต่อสู้เพื่อความอยู่รอดด้วยตนเอง

 

ซง อินจู นักวิจัยประจำศูนย์สวัสดิการสังคมแห่งกรุงโซล เขียนไว้ในรายงานการศึกษาเกี่ยวกับปัญหาโกด็อกซูในปี 2021 ว่าชีวิตของชาวเกาหลีในวัยกลางคนและผู้สูงอายุ แย่ลงอย่างรวดเร็ว หากพวกเขาถูกกีดกันออกไปจากตลาดแรงงานและที่อยู่อาศัย และนี่คือสาเหตุหลักของการเสียชีวิต

รายงานยังศึกษาวิเคราะห์กรณีการเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยว 9 กรณี และได้ทำการสัมภาษณ์เชิงลึกกับเพื่อนบ้าน เจ้าของบ้าน และพนักงานสอบสวนคดี ตัวอย่างกรณีหนึ่งเป็นแรงงาน วัย 64 ปี ที่เสียชีวิตลงด้วยโรคตับที่เกี่ยวเนื่องกับการดื่มเหล้า หนึ่งปีหลังจากเขาตกงานเนื่องจากความพิการ

ผลการวิจัยยังสะท้อนให้เห็นในรายงานของกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการสังคมของเกาหลีใต้ที่ระบุว่า ผู้มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวส่วนใหญ่พบว่าความพึงพอใจในชีวิตของพวกเขาลดลงอย่างรวดเร็ว ผลสืบเนื่องจากการตกงานและการหย่าร้าง

 

ความห่วงกังวลต่อปัญหาการตายอย่างโดดเดี่ยวในสังคมที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ได้กระตุ้นให้เกิดความริเริ่มหาทางต่อสู้กับปัญหานี้ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับประเทศในเกาหลีใต้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ในปี 2018 ทางการกรุงโซลได้นำร่องโครงการ “เฝ้ายามชุมชน” ที่ให้คนในชุมชนช่วยกันสอดส่องเป็นหูเป็นตา โดยการไปเยี่ยมเยือนบ้านของผู้ที่ใช้ชีวิตอยู่เพียงลำพังในพื้นที่เปราะบาง นอกจากนี้ ยังให้เจ้าหน้าที่โรงพยาบาล เจ้าของบ้านเช่า และร้านค้า ร่วมกันสังเกตการณ์ โดยให้แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ในชุมชนเมื่อไม่ได้พบผู้ป่วยหรือลูกค้าประจำมาเป็นเวลานาน หรือมีการค้างชำระค่าเช่าและค่าธรรมเนียมต่างๆ เป็นเวลานาน เป็นต้น ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้สัญญาณความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นได้

ในหลายเมืองอย่างกรุงโซล อุลซาน และจอนจู ยังได้เปิดตัวแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือสำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ตามลำพัง ซึ่งจะส่งข้อความไปยังผู้ติดต่อในกรณีฉุกเฉิน หากโทรศัพท์มือถือของกลุ่มเปราะบางเหล่านี้ไม่ได้มีการใช้งานเป็นเวลานาน เป็นต้น

ในอีกรายงานการศึกษาหนึ่งยังมีการเสนอแนะให้หน่วยงานภาครัฐสร้างกลไกสนับสนุนเพื่อให้กลุ่มคนเปราะบางเหล่านี้สามารถยืนอยู่ด้วยตัวเองได้อย่างมั่นคงมากขึ้น ที่รวมถึงการให้การศึกษา การจัดฝึกอบรมทักษะความชำนาญ และการให้คำปรึกษากับคนวัยกลางคนและผู้สูงอายุ หรือผู้มีความเปราะบางกลุ่มอื่นๆ

ซึ่งอาจจะเป็นวิธีจัดการกับปัญหานี้ได้อย่างยั่งยืนขึ้น