วิกฤติศตวรษที่21 : คำปราศรัยของทรัมป์ที่สหประชาชาติการเปิดเกมที่ทุกฝ่ายแพ้

มองโลกปี 2017 และหลังจากนั้น (จบ)

ปลายเดือนกันยายน 2017 ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ปราศรัยต่อสมัชชาใหญ่สหประชาชาติเป็นครั้งแรก เนื้อหาสำคัญที่เป็นข่าวและเป็นที่วิจารณ์กันได้แก่

1) การโจมตีสามประเทศเล็ก ได้แก่

ก) เกาหลีเหนือ เรียกผู้นำประเทศว่าเป็น “มนุษย์จรวด” และคุกคามว่าจะทำลายล้างประเทศนี้ให้สิ้นซาก หากมาคุกคามสหรัฐและพันธมิตร

ข) อิหร่านที่ขยายอิทธิพลในตะวันออกกลางขึ้นเรื่อย

ค) เวเนซุเอลาที่ยืนหยัดการปฏิวัติสังคมนิยมของตน โดยประเทศทั้งสามนี้ล้วนแต่ไม่ยอมอ่อนข้อแก่สหรัฐ และได้ร่วมมือกับรัสเซีย-จีนในการสร้างระเบียบโลกหลายขั้วอำนาจขึ้น

2) ประกาศหลักการ “สหรัฐเหนือชาติใด” ซึ่งเนื้อแท้เป็นการปราศรัยต่อชาวอเมริกันที่ลงคะแนนเสียงให้เขา ไม่ใช่ต่อชาวโลกหรือแม้แต่ชาวอเมริกันทั่วไป

3) เป็นแบบจริงปนเท็จ ซึ่งกระทำเป็นประจำ ที่ว่าจริงคือ “สหรัฐเหนือชาติใด” ที่ว่าเท็จคือ “เราไม่ยัดเยียดวิถีดำเนินชีวิตของเราให้แก่ผู้อื่น หากแต่จะทำให้มันส่องประกายเป็นตัวอย่างแต่ทุกคนได้เฝ้ามอง”

เพราะว่าสหรัฐยังคงแทรกแซงทิ้งระเบิดหลายประเทศต่อไป ทรัมป์เองก็ด่าทอคนทั้งโลกหากไม่ถูกใจ

ในสื่อตะวันตกมีคำวิจารณ์จำนวนมากในเชิงไม่เห็นด้วย

ตัวอย่างเช่น รัฐมนตรีต่างประเทศของสวีเดนซึ่งเป็นพัฒนามิตรของสหรัฐ วิจารณ์ว่า “เป็นคำปราศรัยที่ผิดพลาด ในเวลาที่ผิด และแก่ผู้รับสารที่ผิด” เปิดโอกาสให้อิหร่านได้แถลงตอบโต้และได้รับความเห็นอกเห็นใจ

นักวิชาการด้านสิทธิมนุษย์ชนสหรัฐ ซาราห์ ซไนเดอร์ วิจารณ์ว่า ภาษาที่ทรัมป์ใช้ในการปราศรัยนั้น “เหมือนที่ใช้ในการโต้วาทีในโรงเรียน มากกว่าที่เราพบเห็นในสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ”

และว่า “การย้ำเรื่องการปกป้องอำนาจอธิปไตย และอธิปไตยของชาติอื่น เป็นการส่งสัญญาณต่อรัฐบาลผู้กดขี่ว่าสหรัฐจะไม่เข้าไปยุ่งกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในชาติอื่น” (ดูบทความของ Krishnadev Calamur ชื่อ How the Rest of the World Heard Trump”s UN Speech ใน theatlantic.com 20.09.2017)

US President Donald Trump leaves after a Hispanic Heritage Month event in the East Room of the White House October 6, 2017 in Washington, DC.
President Trump invited over 200 Hispanic business, community, and faith leaders, and guests from across the country to join in the celebration of Hispanic Heritage Month. / AFP PHOTO / Brendan Smialowski

ที่ตรงไปตรงมาและเอาจริงกว่านั้น เป็นการวิพากษ์จากฝ่ายซ้ายแนวมาร์กซิสต์ ชี้ว่าปรากฏการณ์ทรัมป์แสดงถึงความเฟื่องฟูของของลัทธิฟาสซิสต์/นาซีใหม่ในสหรัฐ

วิเคราะห์ว่าลัทธิฟาสซิสต์เป็นแบบการปกครองทางเลือกอย่างหนึ่งในระบบทุนนิยม ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วงของวิกฤติเศรษฐกิจอยู่ขาลง ทางการเมืองไม่มีทางออก และฝ่ายซ้ายอ่อนแอ จึงคิดล้มระบอบเสรีประชาธิปไตยที่ใช้เป็นปรกติลงไป มีเป้าหมายเพื่อแข่งขันครองความเป็นใหญ่ทางสากล

ลัทธิฟาสซิสต์ประกอบด้วยลัทธิชาตินิยมก้าวร้าวรุนแรง ลัทธิเชื้อชาติ ลัทธิทหาร และลัทธิจักรวรรดินิยม (ดูบทบรรณาธิการของวารสาร Monthly Review ฉบับเดือนตุลาคม 2017 เป็นต้น)

ถ้าเป็นจริงตามวิเคราะห์นี้ หมายความว่า

ก) การเมืองสหรัฐมุ่งสู่ลัทธิฟาสซิสต์ใหม่ ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีทรัมป์เป็นประธานาธิบดี เพราะว่าเข้าเงื่อนไขทั้งเศรษฐกิจ-การเมืองและฝ่ายซ้ายอ่อนแอ

ข) นโยบายของสหรัฐมีแนวโน้มที่จะไม่แน่นอน คาดเดาไม่ได้สูงขึ้น สัญญาทำวันนี้พรุ่งนี้ก็ฉีกทิ้งได้ พฤติกรรมดังกล่าวเริ่มปรากฏตั้งแต่การปฏิบัตินโยบายกระทำโดยลำพังในสมัยประธานาธิบดีคลินตัน และกระทำมากขึ้นในสมัยทรัมป์

ประธานาธิบดีปูตินแห่งรัสเซียทบทวนบทเรียนของตนว่า ความผิดพลาดใหญ่หลวงที่สุดของรัสเซียในรอบ 15 ปีที่ผ่านมาคือการไว้ใจตะวันตก (คือสหรัฐ) มากเกินไป

“พวกคุณตีความการไว้วางใจนี้ว่าเป็นความอ่อนแอ และใช้ประโยชน์จากมัน” (ดูบทความของ Tom O”Connor ชื่อ Russia”s Putin Reveals His Biggest Mistake : Trusting the West ใน newsweek.com 19.10.2017)

ค) นโยบายขวาทางเลือกหรือลัทธิฟาสซิสต์ใหม่ของสหรัฐ ซึ่งในขณะนี้ยังคงเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลก ได้สร้างบรรยากาศแบบก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง + สงครามเย็นใหม่ + สงครามพันทาง กดดันให้เกิดเกมที่ทุกฝ่ายเป็นผู้แพ้ขึ้น

เป็นทางอับในศตวรรษที่ 21

การทำให้เป็นแบบแบกแดดในสหรัฐ

พันตรีแดนดี สเจอร์เซน นักยุทธศาสตร์แห่งกองทัพบก อาจารย์โรงเรียนทหารเวสปอยต์ เคยเข้าสงครามในหน่วยลาดตระเวนทั้งในอิรักและอัฟกานิสถาน ได้เปิดมุมมองใหม่ของผลกระทบจากการดำเนินนโยบายเชิงจักรวรรดิในอิรักที่มีต่อสังคมสหรัฐเอง

ได้แก่ การนำส่วนในของลัทธิจักรวรรดิกลับมาอยู่ที่บ้าน ทำให้เมืองต่างๆ ในสหรัฐ เช่น บัลติมอร์เป็นเหมือนนครแบกแดด โดยปฏิบัติการของตำรวจในเมืองบัลติมอร์คล้ายกับปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายที่แบกแดดมากกว่า

สเจอร์เซนสรุปความคล้ายกันระหว่างปฏิบัติการของตำรวจในเมืองต่างๆ ของสหรัฐกับปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายที่อิรัก-อัฟกานิสถาน ได้แก่

1) การถือว่าเป็นดินแดนที่ถูกยึดครองในอิรักและอัฟกานิสถาน มีการประดิษฐ์ถ้อยคำต่างๆ เช่น “การเป็นหุ้นส่วน” “การให้คำปรึกษา” หรือ “การช่วยเหลือ” แต่ในทางปฏิบัติ เหล่าทหารสหรัฐถือว่ากำลังทำงานอยู่ในดินแดนที่ถูกยึดครอง นักวิจารณ์สังคมชาวอเมริกันผิวดำคนหนึ่งได้กล่าวมานานแล้วว่า คนผิวดำถูกปฏิบัติเหมือนอยู่ในดินแดนยึดครอง สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายขึ้นทุกที “ยากที่จะปฏิเสธว่าตำรวจอเมริกันปฏิบัติการอย่างท้าทายต่อความรู้สึกของสาธารณชนมากขึ้นทุกที”

2) การตั้งชื่อทางเชื้อชาติและชาติพันธุ์ ในแบกแดด ทหารลาดตระเวนหลายหน่วยเรียกคนพื้นเมืองที่ถืออิสลามว่า “พวกแสวงบุญ” (ใช้ทางเสียดสี) “พวกโพกหัว” และที่ร้ายคือ “ไอ้มืดทะเลทราย” เห็นว่าพลเมืองอิรักและอัฟกานิสถานที่พวกเขาจะต้องป้องกัน เป็น “ผู้อื่น” กระทั่ง “ศัตรู” ถ้าหากฟังคำสนทนาของเหล่าตำรวจอเมริกัน ก็จะพบท่าทีทำนองเดียวกันนี้ต่อคนผิวสีต่างๆ

3) การตรวจค้น เข้าตรวจค้นในทุกที่ที่ต้องการเหมือนในแบกแดด ตำรวจในอเมริกาก็กำลังทำแบบเดียวกัน

4) การมีเครื่องมือและอุปกรณ์ ไม่ต่างกับปฏิบัติการทางทหารเพื่อปราบผู้ก่อการร้าย (ทหารเป็นผู้สนองเครื่องมืออุปกรณ์เหล่านี้ให้)

5) การทรมาน ปรากฏไม่มาก แต่ก็เกิดขึ้นในอิรักมีการทรมานตั้งแต่ระดับเล็กจนถึงระดับสูง ที่อื้อฉาวได้แก่กรณีคุกอาบู กราอิบ ในเมืองสหรัฐ เช่นกรณี เฟรดดี เกรย์ ในบัลติมอร์ที่ถูกสวมกุญแจมือถูกทรมานจนเสียชีวิต และยังมีกรณีที่เมืองชิคาโก ที่เกิดอย่างต่อเนื่องนับสิบปี

ดังนั้น สังคมอเมริกันกำลังโอบกอดส่วนในของลัทธิจักรวรรดินิยม และกำลังทำสงครามที่ไม่อาจชนะได้ ทั้งในบ้านและต่างประเทศ

(ดูบทความโดย Danny Sjursen ชื่อ The Empire Comes Home : Counterinsurgency, Policing, and the Militarization of American”s Cities ใน tomdispatch.com 14.10.2017)

เมืองในโลกกลายเป็นแบบแบกแดดมากขึ้น

เมื่อเมืองในสหรัฐกลายเป็นแบบแบกแดดได้ เมืองในโลกก็เป็นแบบแบกแดดได้ในทำนองเดียวกัน นั้นคือ จากการเฟื่องฟูของลัทธิทหาร การทำให้กิจการตำรวจเป็นแบบทหาร ลัทธิชาตินิยมก้าวร้าวรุนแรง ลัทธิเชื้อชาติ และอารยธรรมนิยม เสริมด้วยวิกฤติเศรษฐกิจยืดเยื้อ

การคุกคามจากการก่อการร้ายและองค์กรอาชญากรรม จะยกตัวอย่างในยุโรปซึ่งถือว่าเป็นดินแดนกำเนิดของยุคแสงสว่างทางปัญญาและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ-การเมือง กลับปราฏว่า ลัทธิทหารในยุโรปขยายตัวอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปี 2013

ที่น่าจับตาคือสวีเดนที่มีภาพลักษณ์เหมือนสวรรค์บนดิน และวางตัวเป็นกลาง หันสู่ลัทธิทหารของสหรัฐ-ยุโรป เข้าร่วมซ้อมรบครั้งใหญ่ที่สุดของนาโต้ในรอบ 23 ปี ในเดือนกันยายน 2017 รื้อฟื้นระบบการเกณฑ์ทหารขึ้น

ขณะที่ขบวนฝ่ายขวามีอิทธิพลมากขึ้น เผยแพร่ข่าว “เขตห้ามเข้า” ซึ่งขวาทางเลือกสหรัฐก็รับมาเล่นต่อ โดยทรัมป์นำมาใช้ในการหาเสียง ตำรวจสวีเดนกึ่งปฏิเสธ กล่าวว่ามีเพียง “พื้นที่เสี่ยง” มีอยู่ 61 เขต และที่เสี่ยงสูงมีอยู่ 23 เขต ประมาณว่ามีอาชญากร 5,000 คน และเครือข่ายอาชญากรรม 200 เครือข่าย ในพื้นที่ 61 เขตนี้ เป็นเขตที่มีการกีดกันทางศาสนาและการก่ออาชญากรรมสูง เป็นพื้นที่ที่ตำรวจต้องเข้าไปแก้ไข

(ดูบทความของ Josh Lowe ชื่อ Are there NO-Go Zones in Sweden? Police Identified Dozens of “Vulnerable Areas” Rife with Criminality ใน newsweek.com 21.06.2017)

ไม่ว่าจะเป็นแบบไหน การที่เมืองในสวีเดนมีพื้นที่เสี่ยงมากขนาดนี้ ก็เป็นสิ่งที่น่าตกใจ

ในประเทศกำลังพัฒนา เราพบการขยายตัวของรัฐล้มเหลว ทั้งในละตินอเมริกัน แอฟริกา และตะวันออกกลางที่หลายเมืองกลายเป็นแบบแบกแดด แกนรัสเซีย-จีนขณะนี้ดูสงบกว่าพื้นที่อื่นที่กล่าวมา แต่เพลิงสงครามก็ลามเข้าไปใกล้ ยากที่จะนิ่งเฉยได้ ถูกกดดันให้เพิ่มความสำคัญต่ออุตสาหกรรมการทหารและรวมศูนย์อำนาจมากขึ้น

รัสเซียต้องใช้กำลังรบเข้าแทรกแซงในยูเครนและซีเรีย มีงบประมาณทางทหารค่อนข้างสูงเมื่อเทียบสัดส่วนกับจีดีพี (ราวร้อยละ 5.3) คิดเป็นตัวเงินอยู่อันดับ 3-4 คู่คี่ไปกับซาอุดีอาระเบีย

ส่วนจีนต้องเพิ่มงบประมาณทางทหาร ซึ่งปัจจุบันสูงเป็นอันดับสองรองจากสหรัฐ แต่เมื่อคิดเป็นสัดส่วนของจีดีพีแล้วยังน้อยอยู่ที่ราวร้อยละ 1.9

เกมสงครามนิวเคลียร์และโลกร้อน

มี”สหภาพนักวิทยาศาสตร์ผู้ห่วงใย” (UCS) ได้สร้าง “นาฬิกาวันสิ้นโลก” ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ได้เสนอว่ามีเกมอยู่สองเกมที่หากเล่นไม่ดี จะมีอันตรายใหญ่หลวงถึงขั้นคุกคามต่อการดำรงอยู่ของมนุษยชาติ

ได้แก่ เกมสงครามนิวเคลียร์และเกมโลกร้อน

และปรากฏว่าในปัจจุบันการเล่นเกมนี้ไม่ดี ต้นปี 2017 เวลาแห่งโลกาวินาศ ได้ถูกขยับไปจนเหลือเพียงอีกสองนาทีครึ่ง โลกก็จะเข้าสู่จุดหายนะที่เวลาเที่ยงคืน เป็นการเข้าใกล้วันสิ้นโลกที่สุด รองจากปี 1953

และเกมทั้งสองนี้ยังถูกเล่นอย่างน่าหวาดเสียวขึ้นอีก

1) เกมโลกร้อน เกมนี้เล่นกันมานาน มีความขัดแย้งระหว่างประเทศกำลังพัฒนากับประเทศพัฒนาแล้ว ว่าใครควรจะรับผิดชอบมากกว่ากัน ในที่สุดตกลงกันได้โดยมีการผ่อนปรนให้แก่ประเทศกำลังพัฒนา มีการลงนามใน “ความตกลงปารีส” (กันยายน 2016)

แต่เมื่อทรัมป์ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐเล่นเกมใหม่ถอนตัวจากความตกลงนี้ เห็นว่าเป็นเรื่อง “แหกตา” และเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ขุดเจาะได้เพิ่มขึ้นให้เป็นฐานการฟื้นฟูอุตสาหกรรมแห่งชาติโดยรวม เป็นการเล่นเกมโลกร้อนที่เสี่ยงมาก เพราะว่าแม้ทุกชาติพยายามทำตามความตกลง ก็ยังไม่แน่ว่าจะบรรลุเป้าประสงค์

เป็นอันว่าเกมโลกร้อนก็จะเคลื่อนไปตามยถากรรม

เช่น

ก) อุณหภูมิเฉลี่ยโลกในปัจจุบันสูงกว่าอัตราเฉลี่ยระหว่างปี 1951-1980 เกือบ 0.9 องคาเซลเซียส

ข) น้ำแข็งที่ขั้วโลกหดตัวลงมากขึ้นโดยลำดับ ในฤดูร้อนนับแต่ปี 1979

ค) ภูเขาน้ำแข็งขั้วโลกใต้ขนาดใหญ่กว่าเกาะแมนฮัตตัน 4.5 เท่าแตกออกมาในปี 2017

ง) เฮอริเคนเออร์มาขณะพัดเข้าสู่หมู่เกาะบาฮามาและรัฐฟลอริดาของสหรัฐ ได้ผ่านน้ำที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 86 องศาฟาเรนไฮต์ (30 เซลเซียส) ซึ่งมีความร้อนพอที่จะรักษาความแรงพายุให้อยู่ในระดับห้า ความเสียหายต่อเศรษฐกิจสหรัฐจากพายุใหญ่สองลูก ได้แก่ ฮาร์วีและเออร์มา ตกหลายแสนล้านดอลลาร์

2) เกมสงครามนิวเคลียร์ที่สยดสยอง ยังคงมีสหรัฐเป็นผู้แสดงนำ เพราะเป็นประเทศเดียวที่ใช้อาวุธนิวเคลียร์ในสงคราม แดเนียล เอลสเบิร์ก (ปัจจุบันอายุ 86 ปี) เคยทำงานเป็นนักวิเคราะห์ทางการทหารของสหรัฐ เป็นผู้เปิดเผยเอกสารลับเพนตากอน (ปี 1971) ต่อต้านสงครามเวียดนามที่โด่งดัง และมีประสบการณ์ตรงในการวางแผนทำสงครามนิวเคลียร์แบบโจมตีก่อน ได้เขียนหนังสือเล่มล่าสุดชื่อ “เครื่องจักร วันสิ้นโลก” (The Doomsday Machines : Confession of a Nuclear War Planner จะเผยแพร่เดือนธันวาคม 2017)

เอลสเบิร์กเห็นว่าประธานาธิบดีสหรัฐหลายคนได้ใช้อาวุธนิวเคลียร์คุกคามชาติอื่น นับตั้งแต่การทิ้งระเบิดเมืองนางาซากิ

เขากังวลในความประมาทเลินเล่อของทรัมป์ในการจัดการปัญหาอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ เช่น การตั้งคำถามที่ปรึกษาของเขาว่า “ถ้าเรามีระเบิด ทำไมเราถึงไม่ใช้มัน” รวมทั้งคิดให้พันธมิตรอย่างเช่น ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้พัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ขึ้นมา

เอลสเบิร์กให้เหตุผลว่า สงครามนิวเคลียร์โดยอุบัติเหตุเป็นสิ่งคุกคามที่แท้จริง ไม่ใช่เรื่องคิดเอา และว่า มีการมอบอำนาจการตัดสินใจขั้นสุดท้ายในการใช้อาวุธแก่ผู้ปฏิบัติงานในระดับรองลงมา ทั้งในสหรัฐและรัสเซีย และอาจรวมถึงประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ทั่วไป

ที่น่ากังวลอีกประการหนึ่งคือ “แผนการทำและการคุกคามของสงครามนิวเคลียร์ได้กลายเป็นสิ่งต้องห้ามในการถกอภิปรายทางสาธารณะโดยเจ้าหน้าที่เพียงหยิบมือเดียว และบรรดาที่ปรึกษาที่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้” สมาชิกสภาคองเกรสไม่กี่คนที่ทราบเรื่องนี้

(ดูบทความของ Greg Mitchell ชื่อ Pentagon Papers” Daniel Ellsberg : Trump Poses a Nuclear Threat to the World ใน alternet.org 13.10.2017)

เราจะพลิกเกมได้หรือไม่

เราสาธารณชนพลเมืองมีพลังไม่มากที่จะพลิกเกมระดับโลก

ที่ทำได้คือการศึกษาปฏิบัติในระดับบุคคล ได้แก่ การลดการดูหมิ่นเหยียดหยามกันทางประชาชาติ เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ ศาสนาและอุดมการณ์ การต่อต้านสงคราม เข้าสู่แบบวิธีการเตรียมพร้อม การสร้างเครือข่ายญาติมิตรและชุมชนเท่าที่จะเป็นไปได้ ดำเนินชีวิตให้เป็นสุขโดยบริโภคน้อยที่สุด การดูแลสุขภาพไม่ใช้ชีวิตที่ถูกเผารนหมดเปลืองเร็ว

ที่เหลือก็ให้เป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน