สถานการณ์ท่องเที่ยวจีน กับการพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย

(Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP)

ใครที่สนใจตัวเลขทางเศรษฐกิจ คงพอจะจำได้ว่า สภาเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เคยแถลงไว้เมื่อเดือนสิงหาคมว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในช่วงไตรมาสที่สองของปีนี้ ขยายตัวสูงถึง 2.5 เปอร์เซ็นต์ เป็นอัตราการขยายตัวที่สูงที่สุดในรอบปี นับตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปี 2021 เป็นต้นมา

ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ช่วยให้เศรษฐกิจหลัง “เปิดประเทศ” ของไทยฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องและมั่นคงคือ “การท่องเที่ยว” ที่ฟื้นตัวดีขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าจะยังไม่มีกลุ่มนักท่องเที่ยวที่สำคัญกลุ่มหนึ่งเดินทางเข้ามาอย่างเป็นกอบเป็นกำเหมือนที่ผ่านมาก็ตามที

กลุ่มนักท่องเที่ยวที่ว่านั่นคือ นักท่องเที่ยวจากจีน ซึ่งในเวลาต่อมาเผชิญกับปัญหาการแพร่ระบาดขนานใหญ่ของโควิด-19 ภายในประเทศเรื่อยมาจนถึงขณะนี้

โอกาสที่นักท่องเที่ยวจีนจะกลับมาท่องเที่ยวไทยกันอย่างคึกคักอีกครั้งจึงมีความหมายอย่างยิ่งกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทย

คำถามก็คือว่า โอกาสที่ว่านั้นมีมากน้อยแค่ไหน?

 

คําตอบตามข้อเท็จจริงในเวลานี้ก็คือ มีไม่สูงมากนัก แม้ทางการจีนจะพลิกตัวกลับลำ หันมาผ่อนคลายนโยบายซีโร่โควิด ของตนมากแล้วก็ตามที

แอนดี้ เปนญาฟูเอเต้ รายงานเอาไว้ในอัลจาซีรา เมื่อ 19 ธันวาคมที่ผ่านมาว่า ความกลัว ความกังวลในโควิด-19 อาจส่งผลกระทบการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวทั่วโลก

รัฐบาลจีนหันมาปรับนโยบายรับมือกับโควิด อนุญาตให้ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการรุนแรงสามารถกักตัวอยู่กับบ้านได้, ยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ทั้งเมือง, ยกเลิกการตรวจหาเชื้อขนานใหญ่และยกเลิกการห้ามการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ

แต่คนจีนส่วนใหญ่ก็ยังขยาด ยืนยันว่า จะยังไม่ออกเดินทางท่องเที่ยวยังต่างประเทศ “ในเร็วๆ นี้” แน่นอน

ในการสำรวจความคิดเห็นที่ดำเนินการโดยโอลิเวอร์ วายแมน บริษัทที่ปรึกษาเมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ใช้กลุ่มตัวอย่างชาวจีน 4,000 คน ผลปรากฏว่า กว่าครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถาม ยืนยันว่า ยังคงจะระงับแผนการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศเอาไว้ก่อน แม้ว่าจะมีการเปิดพรมแดน เปิดประเทศกันในวันพรุ่งนี้ก็ตามที

เพราะกังวลว่าจะติดเชื้อโควิดเป็นเหตุผลสำคัญที่สุด

 

ความกังวลนี้เป็นเรื่องสำคัญต่อการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวทั่วโลก รวมทั้งของไทย เพราะหากมองย้อนกลับไปในปี 2018 ก่อนหน้าเกิดการแพร่ระบาด นักท่องเที่ยวชาวจีนออกเดินทางท่องเที่ยวและใช้เงินไปรวมทั้งสิ้นสูงถึง 288,000 ล้านดอลลาร์

คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 1 ใน 4 ของเม็ดเงินที่นำมาใช้จ่ายในการท่องเที่ยวกันทั่วโลก

ดรากอน เทรล อินเตอร์เนชั่นแนล บริษัทท่องเที่ยวที่มุ่งเน้นไปที่การท่องเที่ยวต่างประเทศของชาวจีน สำรวจความคิดเห็นของชาวจีน 1,003 คน ระหว่าง 7-20 พฤศจิกายนที่ผ่านมา พบว่า กว่าครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่าง คาดหวังว่าจะได้ออกเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ “ภายใน 1 ปี” หลังมีการเปิดประเทศ

สิ่งที่ชาวจีนกลัวมากที่สุด ไม่ใช่การติดโควิดอีกต่อไป แต่ 60 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบบอกว่า กลัวการถูกกักตัวเมื่อเดินทางถึงประเทศเป้าหมายมากที่สุด

นั่นทำให้สำหรับนักท่องเที่ยวจีนจำนวนหนึ่ง หันมาหาแหล่งท่องเที่ยวภายในประเทศ แทนการเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศ

เซียนนา พารูลิส-คุก ผู้อำนวยการด้านการตลาดและการสื่อสารของดรากอน เทรล บอกว่า การยกเลิกข้อห้ามหลายๆ อย่างของทางการจีนเมื่อต้นเดือน ส่งผลดีต่อตลาดภายในประเทศอย่างยิ่ง และจะทำให้แหล่งท่องเที่ยวภายในจีน อย่างเช่น เกาะไหหลำ กลับมาฟื้นตัวคึกคักอีกครั้งในเดือนสองเดือนนี้

 

ข้อมูลดังกล่าวสวนทางกันโดยสิ้นเชิงกับข้อมูลของโจซี เฉิน ผู้บริหารบริษัทบริการท่องเที่ยวในจีนอีกราย ที่ระบุว่า ตามข้อมูลที่บริษัทได้มา นักท่องเที่ยวชาวจีนยังคง “กระเหี้ยนกระหือรือ” ที่จะออกเดินทางไปเที่ยวต่างแดน

“นักท่องเที่ยวกลุ่มที่มั่งคั่งที่สุด คาดหวังว่าจะได้เดินทางไปเที่ยวประเทศในยุโรป หรืออเมริกาเหนือ เพื่อซื้อหาสินค้าหรูจากที่นั่น” โจซี เฉิน ระบุ

พารูลิส-คุก เชื่อว่า นักท่องเที่ยวจะปรับตัว ปรับความคาดหวังไปตามสถานการณ์การเปิดประเทศของทั้งจีนและประเทศเป้าหมาย

โจซี เฉิน เชื่อว่า บรรดาประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งประเทศไทย จะตกเป็นเป้าหมายท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวชาวจีนที่จะแห่กันเข้ามามากมายตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป

พารูลิส-คุก ระบุเช่นกันว่า ด่านทดสอบสำคัญของการท่องเที่ยวจะอยู่ที่ช่วงวันหยุดยาว 5 วันเนื่องในวันแรงงานของจีน ระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคมปีหน้า ถือเป็นช่วงสำคัญของการท่องเที่ยวต่างแดนครั้งแรกของจีน

ซึ่งยังไม่แน่นักว่า ไทยจะได้รับอานิสงส์จากสถานการณ์นี้หรือไม่ เพราะขึ้นอยู่กับนโยบายของทางการจีนและรัฐบาลไทยนั่นเอง