เบื้องหลังกลุ่มต่อต้าน รัฐบาลทหารในเมียนมา

(Photo by AFP)

นับตั้งแต่มิน อ่อง ลาย นำกองทัพยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลพลเรือนภายใต้การนำของนางออง ซาน ซูจี เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2021 ก็เกิดขบวนการต่อต้านการรัฐประหาร และการปกครองของรัฐบาลทหารเมียนมาขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ที่เป็นรูปธรรมที่สุดเห็นจะเป็นการจัดตั้ง “รัฐบาลเพื่อเอกภาพแห่งชาติ” (เอ็นยูจี) ขึ้นมาเป็นองค์กรเงาปกครองประเทศคู่ขนานไปกับรัฐบาลทหาร ต่อด้วยการก่อตั้ง “กองทัพประชาชน” (พีดีเอฟ) ขึ้นภายใต้ความร่วมมือกับกองกำลังติดอาวุธของชนกลุ่มน้อยตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา

จนกระทั่งถึงบัดนี้ แม้การชุมนุมประท้วงเพื่อต่อต้านรัฐบาลทหารจะเลิกราหดหายไปจนหมดสิ้นหลังเผชิญกับการปราบปรามอย่างรุนแรง ป่าเถื่อน ไร้มนุษยธรรมของกองทัพ

แต่ขบวนการต่อต้านทั้งด้วยอาวุธ การก่อเหตุโจมตี และการแทรกซึมในลักษณะอื่นๆ ยังคงดำเนินไปอย่างเข้มแข็งและแพร่ระบาดอย่างกว้างขวางอยู่ต่อไป

รายงานเกี่ยวกับกรณีนี้ฉบับล่าสุดชื่อ “สงครามระดมทุน” ที่เผยแพร่เมื่อ 20 ธันวาคมที่ผ่านมาของอินเตอร์เนชั่นแนล ไครซิส กรุ๊ป (ไอซีจี) องค์กรคลังสมองระหว่างประเทศที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ไม่เพียงฉายให้เห็นภาพเบื้องหลังของขบวนการต่อต้านในเมียนมาที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี

แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงอุปสรรคสำคัญที่กลุ่มต่อต้านเหล่านี้ต้องเผชิญอยู่อีกด้วย

(Photo by Handout / MYANMAR MILITARY INFORMATION TEAM / AFP)

รายงานของไอซีจีชี้ให้เห็นว่าขบวนการต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา ประสบความสำเร็จสูงยิ่งในการระดมทุนจากทั้งภายในและภายนอกประเทศ รวมแล้วนับเป็นหลายร้อยล้านดอลลาร์ ท่ามกลางความพยายามอย่างหนักของรัฐบาลทหารที่จะยับยั้งการถ่ายเทเงินทุนเข้ากระเป๋าของฝ่ายต่อต้าน แต่ยังไม่เป็นผลเท่าใดนัก

ทีมวิเคราะห์ของไอซีจีเชื่อว่า การระดมทุนและความพยายามในการยับยั้งเช่นนี้ จะเป็นตัวชี้ขาดสถานการณ์ในเมียนมาในอนาคต

ทอม คีน ที่ปรึกษาอาวุโสของไอซีจีในกิจการเมียนมาและบังกลาเทศ ระบุว่า จนถึงขณะนี้ขบวนการต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมายังประสบความสำเร็จในการถ่ายเทเงินที่ได้จากการระดมทุนผ่านระบบออนไลน์และโซเชียลมีเดีย “เข้าไปภายในประเทศและโดยรอบๆ เมียนมาได้ ใต้จมูกของระบอบปกครองของกองทัพ” โดยที่มีแนวโน้มน้อยมากที่จะถูกยับยั้ง

ปัญหาก็คือ ความเข้มงวดของรัฐบาลทหารกลับส่งผลให้องค์การเพื่อการพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) เกิดขาดแคลนเงินทุนสำหรับดำเนินการตามโครงการให้ความช่วยเหลือของตนในเมียนมาแทน เพราะถูกสกัดกั้นจากกลไกที่รัฐบาลทหารนำมาบังคับใช้

ไอซีจีแนะนำว่า องค์การระหว่างประเทศที่ต้องการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง ควรหันไปจับมือกับ “หุ้นส่วน” ที่กลุ่มจัดตั้งภาคประชาสังคมในท้องถิ่นให้มากขึ้น จะช่วยให้ความช่วยเหลือเข้าถึงกลุ่มที่เดือดร้อนได้มากขึ้นกว่าเดิม

ช่องทางที่ใช้ไม่ควรจำกัดเฉพาะช่องทางเดียว แต่ให้หลากหลายมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ความช่วยเหลือก็ไม่จำเป็นต้องเป็นเงินสดเพียงอย่างเดียว ยังอาจเป็นสิ่งของเพื่อบรรเทาทุกข์ได้ซึ่งดีพอๆ กับเงินสด

ไอซีจีระบุว่า การสนับสนุนด้วยเงิน ไม่จำเป็นเสมอไปที่จะนำไปสู่การสู้รบเพิ่มมากขึ้น อย่างเช่น ที่ผู้บริจาคหลายคนมักลังเล เพราะโดยข้อเท็จจริงแล้ว การตัดความช่วยเหลือทางการเงินก็ไม่ได้หมายความว่า การสู้รบจะยุติ แต่จะกลายเป็นการเปิดช่องให้กองทัพโจมตีตอบโต้ แก้เผ็ดต่อพลเรือนได้ง่ายขึ้นและมากขึ้นกว่าเดิม ทำให้ประชาชนเดือดร้อนมากขึ้น และมองทั่วโลกเป็นปฏิปักษ์มากยิ่งขึ้น

ทั้งยังจะเป็นการสนับสนุนรัฐบาลทหารที่ยังคงใช้กรรมวิธีอำหิตในการปราบปรามผู้ต่อต้านอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันด้วยอีกต่างหาก

 

ประเด็นที่น่าสนใจมากที่สุดอีกประเด็นหนึ่งที่ปรากฏอยู่ในรายงานชิ้นนี้ของไอซีจี ก็คือ ขบวนการที่จับอาวุธขึ้นต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมาในเวลานี้ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียงกองทัพประชาชน (พีดีเอฟ) ที่ขึ้นอยู่ภายใต้เอ็นยูจี รัฐบาลพลัดถิ่นของเมียนมาเท่านั้น

แต่ยังมีกลุ่มต่อต้านด้วยอาวุธอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งจัดตั้งกันขึ้นเองแล้วหันมาจับมือเป็นพันธมิตรกับพีดีเอฟ และเอ็นยูจีอีกด้วย

นอกเหนือจากนั้น ยังมีกลุ่มติดอาวุธอิสระ ที่ดำเนินการต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมามาโดยตลอดอีกหลายร้อย หรืออาจจะนับได้เป็นพันกลุ่ม แยกอยู่ต่างหากและเป็นอิสระจากเอ็นยูจีโดยสิ้นเชิงอีกด้วย

ฮันเตอร์ มาร์สตัน ผู้เชี่ยวชาญการเมืองเมียนมาที่เป็นนักศึกษาปริญญาเอกด้านรัฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ระบุว่า นับตั้งแต่รัฐประหารเป็นต้นมา ชาวเมียนมายังชีพอยู่ได้ด้วยการพึ่งพาระบบโพยก๊วนทั้งเพื่อการเข้าถึงเม็ดเงินภายในประเทศและการได้รับเงินที่จัดส่งเข้ามาจากต่างประเทศเป็นสำคัญ

ระบบเครือข่ายทางการเงินแบบไม่เป็นทางการนี้กลายเป็นปัจจัยหลักที่ชาวเมียนมาเป็นจำนวนมากใช้พึ่งพา เพื่อเอาตัวรอดจากไม่ให้อดอยาก อดมื้อกินมื้อ จากภาวะว่างงานหรือจากภาวะจ้างงานไม่เต็มที่ ที่เกิดขึ้นมานับตั้งแต่การรัฐประหาร

ระบบนี้กำลังถูกรัฐบาลทหารเมียนมากดดันอย่างหนัก โดยการหันมาว่าจ้างทีมนักกฎหมายอาศัยกฎหมายระหว่างประเทศและแนวทางดำเนินการด้านการเงินที่บัญญัติขึ้นเมื่อครั้งเกิดเหตุการณ์ 9/11 เป็นเครื่องมือ

กดดันไม่ให้องค์กรระหว่างประเทศและหน่วยงานให้ความช่วยเหลือติดต่อกับรัฐบาลพลัดถิ่นอย่างเอ็นยูจี

และปิดกั้นไม่ให้รัฐบาลหลายประเทศที่เห็นใจให้ความช่วยเหลือต่อชบวนการต่อต้านในเมียนมา

และกลายเป็นอุปสรรคสำคัญในการดำเนินงานของขบวนการต่อต้านในเมียนมาอยู่ในเวลานี้