ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 23 - 29 ธันวาคม 2565 |
---|---|
คอลัมน์ | ฝนไม่ถึงดิน |
ผู้เขียน | ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี |
เผยแพร่ |
ทำไมเราจะชนะในอนาคตอันใกล้ : รวมเหตุผลหลัก ที่รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า จะเกิดในไทยในอนาคตอันใกล้
ในช่วงสิ้นปีต่อสู่ปีใหม่นี้ สิ่งที่เรามักตั้งคำถามอยู่เสมอคือ เมื่อไรเราจะชนะ เมื่อไรความสำเร็จ สังคมที่ยุติธรรม สังคมที่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์จะมาถึง
มันฟังดูห่างไกล ฟังดูเป็นเรื่องที่จะเกิดขึ้นแต่ไม่รู้เมื่อไร
เป็นเรื่องสำคัญ แต่เมื่อถามใครว่าเมื่อไรเด็กทุกคนจะได้เงินเลี้ยงดูเด็ก เรียนหนังสือฟรีถึงมหาวิทยาลัย พ่อแม่เรามีเงินบำนาญสำหรับเลี้ยงชีพ ก็จะได้คำตอบว่าเรื่องง่ายๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่ดี แต่กลับเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ในประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม ในรอยต่อสู่ปี 2566 สิ่งที่ผมอยากสรุปในปีนี้ว่า ทำไมเราจะชนะในอนาคตอันใกล้ และการสร้างรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า และสังคมที่ยุติธรรมไม่ได้เป็นสิ่งที่ห่างไกล
มันอาจจะเกิดขึ้นในการเปลี่ยนแปลงไม่กี่อย่าง และทำให้การต่อสู้ที่ยาวนานแล้วเสร็จได้ในไม่กี่สัปดาห์ก็เป็นได้
เวลายังอยู่ข้างเรา
คนรุ่นใหม่ที่กำลังเติบโตขึ้น
เวลาอยู่ข้างเรา เป็นวลีที่เราอาจได้ยินในขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองตั้งแต่ปี 2563-2564 ถูกตีความอย่างหลากหลาย
ถ้าแบบผิวเผินที่สุดคือเมื่อผู้สูงอายุที่มีแนวคิดอนุรักษนิยมล้มหายตายจากไป คนรุ่นใหม่ที่มีความคิดก้าวหน้าจะเข้ามาแทนที่ แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงไม่ได้เกิดขึ้นในเงื่อนไขที่ง่ายขนาดนั้น
เพราะแทบทุกยุคทุกสมัย ย่อมมีคนรุ่นใหม่ที่ตั้งคำถาม แต่พวกเขามักถูกดูดกลืนในโครงสร้างอำนาจนิยม ถูกดูดกลืนในโครงสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และถูกดูดกลืนเข้าไปในโครงสร้างความจำเป็นของอาชีพและปากท้อง
อะไรเป็นสาเหตุที่จะทำให้คนรุ่นใหม่ในยุคนี้เปลี่ยนแปลงแตกต่างไป
สำหรับการสังเกตของผมที่มีโอกาสทำงานใกล้ชิดคนรุ่นใหม่ เราจะเห็นได้ว่าในอดีตนั้นโครงสร้างระบบจะดูดผู้คนที่ตั้งคำถามที่มีปริมาณน้อย เดินเข้าสู่ระบบเพื่อเป็นตัวแทนในโครงสร้างที่อยุติธรรม
แต่เมื่อพิจารณาในปัจจุบันเราจะเห็นลักษณะที่แตกต่างไปอย่างเห็นได้ชัดในโครงสร้างสังคม
จากการเดินทางจากเหนือสู่ใต้ จากภาคตะวันออกสู่พื้นที่ภาคอีสาน จากโรงเรียนนานาชาติสู่โรงเรียนในชุมชนในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล สิ่งที่ผมพบคือการตั้งคำถามของผู้คน คนรุ่นใหม่ในระดับที่มากมายมหาศาล ทั้งในความลึกของการตั้งคำถาม และปริมาณของผู้คนที่ตั้งคำถาม
แม้ในพื้นที่ใจกลางกลุ่มการเมืองอนุรักษนิยมในภาคใต้ สิ่งที่ผมเห็นคือคนรุ่นใหม่อายุ 15-16 ปีแทบทั้งหมดตั้งคำถามกับรัฐบาลปัจจุบัน เจ็บปวดกับหนี้สินจากการศึกษา
ตั้งคำถามกับสภาพสังคมปัจจุบันในเรื่องพื้นฐาน เช่นเดียวกับคนที่เรียนในมหาวิทยาลัยชนชั้นนำใจกลางเมือง พวกเขาก็ตั้งคำถามว่าทำไมเราต้องจ่ายในสิ่งที่ควรจะเป็นสิทธิพื้นฐาน
ทำไมการจัดสวัสดิการแบบมือใครยาวสาวได้สาวเอาถึงถูกทำให้เป็นเรื่องปกติ
ปริมาณของพวกเขามากมายมหาศาล แต่ในขณะเดียวกันโครงสร้างทางสังคมก็เหลื่อมล้ำมากขึ้น ชนชั้นนำจองอภิสิทธิ์ให้ลูกหลานข้ามรุ่น
สื่อสมัยใหม่ทำให้เห็นคาตาว่า ชีวิตของเหล่าชนชั้นนำไม่ได้เปิดโอกาสให้คนธรรมดาสามารถเข้าไปสัมผัสเป็นส่วนหนึ่งได้
ไม่ว่าเราจะพยายามขนาดไหน คุกเข่ายอมจำนนขนาดไหน หรือพิสูจน์ตัวเองเพียงใด โครงสร้างทางชนชั้นก็ไม่เปิดโอกาสให้เราเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งอย่างแท้จริง
ด้วยลักษณะเช่นนี้เราจึงมั่นใจได้ว่า เมื่อเวลาผ่านไป พลังในการตั้งคำถามของคนรุ่นใหม่ที่มากมายมหาศาลในสังคมที่พวกเขาไม่มีที่ยืนอยู่อย่างสมศักดิ์ศรี จะมีการเปลี่ยนแปลงในท้ายสุด
ความสั่นคลอน
ของกลุ่มอนุรักษนิยม
เป็นหลักการพื้นฐานที่เมื่อมีการกดดันเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ชนชั้นนำอนุรักษนิยมย่อมจะพยายามปรับตัวให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
บางครั้งการปรับตัวอาจเป็นการเสริมกำลังและค่านิยมจารีต
บ่อยครั้งการปรับตัวก็เกิดขึ้นจากการลดอำนาจส่วนตนเพื่อให้ระบบสามารถเดินหน้าต่อไปได้
เช่นเดียวกับอังกฤษหลังสงครามโลกครั้งที่สองที่ชนชั้นนำอังกฤษยอมปรับตัวเพื่อให้เกิดรัฐสวัสดิการขึ้นได้
สำหรับประเทศไทยนั้น จะเห็นได้ว่า ชนชั้นนำได้ใช้ทุกสรรพกำลังไปหมดแล้ว ในการตรึงเข็มนาฬิกาไม่ให้เดินหน้า
ไม่ว่าจะเป็นคุก ศาล ทหาร ตำรวจ เช่นเดียวกับกลไกทางอุดมการณ์การปราบปรามคุมขังทางความคิด สิ่งที่เราสามารถเห็นได้ด้วยตา พวกเขามีเพียงอาการที่ทรง กับทรุดโทรมลง
เครือข่ายอนุรักษนิยมที่มีอยู่ไม่ได้มีความมุ่งมั่นในการพยายามปรับตัวเพื่อรักษาระบบหรือพยายามหาทางทำให้ระบบอยู่รอดคงอยู่
เป้าหมายของพวกเขากลับกลายเป็นการกอบโกยต่อระบบที่ล่มสลาย
กลุ่มทุนผูกขาดที่เป็นพันธมิตรกับชนชั้นนำมาอย่างยาวนาน พวกเขามีทางเลือกที่จะสามารถปรับตัวได้ เพื่อให้ระบบไม่ย่ำแย่ไปกว่านี้ แต่พวกเขากลับมุ่งมั่นในการตักตวง
เช่นเดียวกับกองทัพ ตำรวจ หรือศาลที่จะเป็นกลไกการยืดหยุ่นที่สำคัญ ที่ทำให้เครือข่ายอนุรักษนิยมอยู่รอดได้ แต่พวกเขากลับเลือกใช้อำนาจตัวเองที่จะไม่ยืนหยัดเพื่อสังคมที่เป็นธรรม
และกลายเป็นส่วนหนึ่งของตัวเร่งปฏิกิริยาให้โครงสร้างทั้งสังคมพังลง
การรวมตัวของกลุ่มคนทำงาน
และสำนึกทางชนชั้นที่ขยาย
ไม่ใช่เวลาและพลังของคนรุ่นใหม่ ไม่ใช่เพียงแค่โครงสร้างอนุรักษนิยมที่ปรับตัวไม่ทัน
แต่พลังการเปลี่ยนแปลงอีกด้านมาจากปริมณฑลทางเศรษฐกิจ ที่ในปัจจุบันเราพบว่ามีแรงงานรุ่นใหม่ในระบบเศรษฐกิจ ที่มีลักษณะการจ้างที่แตกต่างไป
ลักษณะการผลิตและความสัมพันธ์ทางชนชั้นที่หลากหลาย แม้จิตสำนึกทางชนชั้นของพวกเขาอาจไม่ได้ตรงกับตามทฤษฎีการปฏิวัติ พวกเขาแยกย้ายกระจัดกระจาย บ่อยครั้งดูไร้พลัง แต่ความสามารถในการตั้งคำถามของพวกเขารุนแรงมากขึ้น
คนทำงานที่ทำงานตามแพลตฟอร์มดิจิทัลกลับกลายเป็นกลุ่มแรงงาน ที่มีการประท้วงนัดหยุดงานบ่อยที่สุด
กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่เคยเป็นกลุ่มแรงงานอนุรักษนิยมกลับรวมตัวกันเพื่อยืนยันสิทธิพื้นฐาน สิทธิการรวมตัว สิทธิแรงงาน
เราเห็นการรวมตัวของแรงงานกองถ่าย แรงงานสร้างสรรค์ นักวัด นักเขียน ที่เคยเป็นกลุ่มแรงงานที่อิสระกระจัดกระจายและคิดว่าตนเองเป็นผู้สร้างสรรค์มากกว่าผู้ใช้แรงงาน
แรงงานกลุ่มนี้รวมตัวขึ้นจากสิบเป็นร้อยเป็นพัน สู่การเป็นสภาพแรงงานสร้างสรรค์ ที่รวมตัวกันแม้ไม่เคยพบหน้าตากันมาก่อน แต่ความเจ็บปวดจากการถูกขูดรีด ทำให้พวกเขามีพลังมากมายมหาศาล
การรวมตัวของกลุ่มคนรุ่นใหม่ในปริมณฑลทางเศรษฐกิจทำให้ผมเชื่อได้ว่ามันไม่ใช่เพียงแค่สำนึกทางการเมืองเท่านั้น
แต่มันคือการเปลี่ยนแปลงทั้งโครงสร้างทางเศรษฐกิจทั้งระบบเท่าที่เคยมีมา
หากผมจะสรุปสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในปี 2566 คือถึงแม้หลายสิบปีที่ผ่านมาเราอาจยังไม่เห็นสัญญาณการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน
แต่อาจไม่กี่สัปดาห์จากนี้ที่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดที่เราเคยมีมา
ช้าไวเราก็จะชนะและเราไม่มีอะไรต้องเสียนอกจากโซ่ตรวน
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022