ถกสนั่น 10 นโยบาย “เพื่อไทย” นโยบายดี ที่ควรทำการบ้านให้ดีกว่านี้

สัปดาห์นี้กระผมขออนุญาตท่านผู้อ่านทุกท่าน ในช่วงบรรยากาศเทศกาลคริสต์มาสและเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ด้วยบรรยากาศแห่งความหวัง ปีหน้าฟ้าใหม่เศรษฐกิจไทยจะกลับสู่ยุครุ่งเรืองดังในอดีตกาล ท่ามกลางบรรยากาศการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปครั้งที่ 29

กระผมขอส่งท้ายบทวิเคราะห์ 10 นโยบาย เพื่อไทย คิดใหญ่ ทำเป็น พลิกฟื้นประเทศ

พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคการเมืองขนาดใหญ่ เมื่อแถลงนโยบายใดๆ ในนามพรรคย่อมสร้างแรงสั่นสะเทือน หรือก่อให้เกิดโมเมนตัมทางเศรษฐกิจและการเมืองระดับประเทศ จึงหลีกเลี่ยงที่จะไม่หยิบยกมาวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้

หากในปี 2566 มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นจริงแล้ว ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเมืองปัจจัยหนึ่งคงหนีไม่พ้นทิศทางนโยบายของพรรคเพื่อไทย ภายใต้ “10 นโยบาย เพื่อไทย คิดใหญ่ ทำเป็น พลิกฟื้นประเทศ” หลายท่านคงได้ยินข่าวกันบ้างแล้ว

วันนี้จะขอหยิบยกนโยบายบางส่วนมาเล่าสู่กันฟังครับ

(Photo by Ye Aung THU / AFP)

ขอเริ่มต้นด้วย นโยบายแรก “นโยบายเศรษฐกิจ” สร้างงานทักษะสูงได้ 20 ล้านตำแหน่ง ค่าแรง 600 บาทต่อวัน จบปริญญาตรี 25,000 บาท อัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของประเทศเติบโตอย่างต่ำเฉลี่ยร้อยละ 5 ต่อปี ช่องว่างความเหลื่อมล้ำจะลดลงอย่างเห็นได้ชัด

แค่ฟังก็สั่นสะท้านไปทั้งหัวใจ แรงสั่นสะเทือนระดับ 9.8 ริกเตอร์ไปทั่วทั้งประเทศ

ผมนั่งอ่านอยู่หลายรอบ จึงนึกขึ้นได้ว่า ค่าแรง 600 บาท จบปริญญาตรี 25,000 บาท อัตราขยายตัว GDP +5% ต่อปี ทั้งสามเรื่องที่กล่าวมานี้ เป็นเพียงผลลัพธ์หรือตัวแปรตาม ไม่ใช่สาเหตุหรือตัวแปรต้น หากกล่าวอีกนัยคือ เป็นเป้าหมายจากการดำเนินนโยบายอื่นๆ ไม่ใช่นโยบายในตัวเอง

รัฐบาลไม่สามารถบังคับให้ค่าแรงขั้นต่ำให้ขึ้นไปที่ 600 บาทต่อวัน หรือบังคับให้ GDP ต้องบวก 5% ในปีนี้ได้ แต่ต้องอาศัยกลไกอื่นๆ ช่วย ซึ่งเท่าที่ฟังจากงานแถลงนโยบาย มีรายละเอียดเพียงเล็กน้อย ฟังแล้วยังไม่เข้าใจว่า ค่าแรงขั้นต่ำจะขึ้นไปที่ 600 บาทต่อวันได้อย่างไร รวมถึง GDP จะบวก 5% ได้อย่างไร

ลำพังการรดน้ำที่รากแก้วยังไม่เพียงพอที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างก้าวกระโดดได้

พรรคเพื่อไทยอธิบายเพิ่มเติมว่า นโยบายเศรษฐกิจ จะทำให้ภาคครัวเรือนมีรายได้เพิ่มขึ้น ลดรายจ่าย ซึ่งเป็นมุมมองระดับครัวเรือนซึ่งเป็นเศรษฐศาสตร์จุลภาค หรือ Microeconomics

ขาดการอธิบายเพิ่มเติมว่าจะเชื่อมโยงระดับครัวเรือนสู่ระดับประเทศซึ่งเป็นเศรษฐศาสตร์มหภาค หรือ Macroeconomics ได้อย่างไร

ส่วนตัวผู้เขียนเชื่อว่า รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวในอัตราร้อยละ 5-6 ต่อปีต่อเนื่องกันตลอดอายุรัฐบาล 4 ปี ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้

เพราะช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยติดลบ ส่งผลให้ฐาน GDP ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น

กอปรกับตลอด 8 ปีที่ผ่านมา ไทยมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจด้อยกว่าภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง ทำให้รัฐบาลสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศและการเร่งการใช้จ่ายภาครัฐเพื่อเพิ่มการบริโภคและส่งเสริมบรรยากาศการลงทุนในประเทศได้

หนี้สาธารณะของไทย แม้จะเพิ่มขึ้นบ้างในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโคโรนาไวรัส 2019 แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่ต่ำ ไม่มีอะไรต้องกังวล ดุลการค้า และดุลบัญชีเดินสะพัด อยู่ในระดับเกินดุลมาโดยตลอดเป็นระยะเวลายาวนาน แม้ช่วงหลังจะมีติดลบบ้าง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลเช่นกัน ส่วนดุลบริการ หากเปิดประเทศเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ กลับมาเป็นบวกอย่างแน่นอน

การเพิ่มการลงทุนภาครัฐปีละ 5 แสนล้านบาท ตลอด 4 ปีเต็ม จึงไม่ใช่เรื่องเป็นไปไม่ได้ แต่กลับกัน การเพิ่มการลงทุนภาครัฐ ปีละ 5 แสนล้านบาทนั้น รัฐบาลต้องวางแผนล่วงหน้า หากรัฐบาลไม่มีประสิทธิภาพ จะดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างและเบิกจ่ายงบประมาณไม่ทันปีงบประมาณด้วยซ้ำ

การกระตุ้นการท่องเที่ยวก็ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะการท่องเที่ยวประเทศไทยอยู่ในจุดเกือบต่ำสุดของการท่องเที่ยวอยู่แล้ว เหลือเพียงการกระตุ้นการส่งออกต้องอาศัยประสบการณ์และความสามารถเฉพาะตัวของแม่ทัพหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลหน้า

เพราะฉะนั้น GDP เติบโต 5-6% ต่อปี ไม่ใช่เรื่องไกลเกินเอื้อม

(Photo by Romeo GACAD / AFP)

นโยบายส่วนถัดมา สร้างงานทักษะสูงได้ 20 ล้านตำแหน่ง ค่าแรง 600 บาท ปริญญาตรี 25,000 บาท สร้างความฮือฮาและแย่งพื้นที่ข่าวในช่วงที่ผ่านมาไปไม่น้อย ซึ่งไม่มีรายละเอียดของนโยบายที่เป็นรูปธรรมว่าจะสามารถดันค่าแรงขึ้นได้อย่างไร

ข้อมูลเดือนกรกฎาคม 2565 จากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ประเทศไทยมีประชากรอยู่ในวัยทำงาน 40.1 ล้านคน มีผู้ว่างงาน 5.14 แสนคน คิดเป็น 1.3% ผู้ว่างงานที่รอฤดูกาล 0.21 แสนคน

การที่พรรคเพื่อไทยจะสร้างงาน 20 ล้านตำแหน่ง ถ้าไม่กดเครื่องคิดเลขผิด ก็ต้องขออนุญาตขอดูตารางคำนวณว่า 20 ล้านตำแหน่งคำนวณมาอย่างไร เป็นแรงงานในประเทศกี่ตำแหน่ง แรงงานต่างด้าวกี่ตำแหน่ง เพราะแรงงานไทยคงมีไม่พออย่างแน่นอน ต้องการส่งเสริมแรงงานประเทศเพื่อนบ้านให้เป็นแรงงานฝีมือหรืออย่างไร

เรื่องการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำยังเป็นประเด็นถกเถียงเชิงวิชาการในหลายประเทศว่าสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นการจ้างงานจริงหรือไม่ เพราะมีงานวิจัยจำนวนมากบ่งชี้ว่า การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ ไม่ส่งผลให้รายได้ภาคครัวเรือนโดยรวมเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด

และการเพิ่มค่าแรงขึ้นต่ำ 10% อาจส่งผลให้เกิดการเลิกจ้างงานประมาณ 0-5%

โดยบริษัทขนาดใหญ่มีแนวโน้มปรับลดการจ้างงานในระยะยาวลง จากการศึกษาในฟิลิปปินส์การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทำให้เกิดการเลิกจ้างงานประมาณ 8% และในชิลีแรงงานสุภาพสตรีมีการจ้างลดลงประมาณ 5.2-11.1%

ส่วนตัวผู้เขียนเห็นว่า ค่าแรงขั้นต่ำ หรือ ราคาค่าจ้าง นั้นเป็นจุดตัดระหว่างอุปสงค์ (Demand) ความต้องการแรงงาน และอุปทาน (Supply) ปริมาณแรงงานในตลาดแรงงาน

จุดตัดระหว่างอุปสงค์และอุปทาน ก็คือ ราคา หรือจุดดุลยภาพ (Equilibrium) ของตลาดแรงงาน รัฐบาลไม่สามารถเปลี่ยนราคาของตลาดได้

แต่สามารถออกนโยบายเพื่อให้จุดดุลยภาพเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ต้องการได้

ราคาค่าจ้างแรงงานจะเปลี่ยนแปลงจากราคาเดิมไปสู่จุดดุลยภาพใหม่ ราคาจึงเป็นผลลัพธ์ หรือตัวแปรตาม ไม่ใช่สาเหตุหรือตัวแปรต้น

ขอฝากพรรคเพื่อไทยโปรดช่วยอธิบายขยายความให้ผู้เขียนและประชาชนเข้าใจเพิ่มขึ้นด้วยเถิดว่าพรรคใช้วิธีไหนเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ จักขอบพระคุณยิ่ง

เรื่องค่าแรงขั้นต่ำ มีประเด็นที่น่าสนใจในประเทศพัฒนาแล้วบางประเทศ ไม่มีกฎหมายกำหนดอัตราค่าแรงขั้นต่ำ แต่กลับมีอัตราค่าแรงขั้นต่ำสูงติดอันดับต้นๆ ของโลก ได้แก่ สิงคโปร์ ไอซ์แลนด์ เดนมาร์ก นอร์เวย์ สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจไม่น้อย

 

นโยบายที่สอง นโยบายด้านการเกษตร มีการนำเทคโนโลยีเกษตรแม่นยำ (Precision Agriculture) รวมถึงปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) หรือ AI มาใช้เพื่อเพิ่มรายได้แก่เกษตรกร และลดรายจ่าย กำไรเพิ่มขึ้น

ฟังดูน่าสนใจ ในมุมโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี เป็นหน้าที่ภาครัฐควรต้องเร่งผลักดัน ผู้เขียนเห็นด้วย

แต่มุมเอกชนหรือเกษตรกร การนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการเกษตรมีค่าใช้จ่าย ไม่ฟรี และค่าใช้จ่ายส่วนนี้ทำให้ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรสูงขึ้น ลดโอกาสการแข่งขัน เพราะราคาสินค้าเกษตรคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลงแต่ต้นทุนสูงขึ้น หากเทคโนโลยีใดใช้แล้วเพิ่มกำไรได้จริง ไม่ต้องห่วงครับ เกษตรกรนำมาใช้โดยไม่ต้องรอให้รัฐบาลบอกอย่างแน่นอน เพราะเกษตรกรมีความรู้ ไม่ได้ขาดความรู้อย่างที่นักการเมืองและชนชั้นสูงกล่าวหา ซึ่งจุดนี้พรรคเพื่อไทยน่าจะเข้าใจลึกซึ้งดีกว่าพรรคอื่นๆ เพราะมีความใกล้ชิดเกษตรกรมากที่สุด

วันนี้ AI ยังไม่คุ้มค่าการลงทุนจึงยังไม่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในหมู่เกษตรกร แต่เมื่อไรที่คุ้มค่าการลงทุน รับรองได้ว่าเกษตรกรปรับใช้เทคโนโลยี AI อย่างรวดเร็วกว่าที่เราจะจิตนาการได้อย่างแน่นอน

ประเด็นถัดมา ในนโยบายมีการกล่าวว่า “มีการนำสินทรัพย์ดิจิทัล (NFT) มาใช้ในการขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า” ผมไม่แน่ใจว่า NFT ที่พรรคนำเสนอ มีความหมายเดียวกันกับ NFT ที่ผมรู้จักหรือไม่ หรือจริงๆ แล้วใช้เฉพาะเทคโนโลยี Blockchain ในการทวนสอบกระบวนการผลิตสินค้าเกษตรเท่านั้น

น่าเสียดายที่พื้นที่สำหรับบทความมีจำกัด สำหรับนโยบายอื่นๆ กระผมขอแสดงความคิดเห็นในใจแทนแล้วกันนะครับ

ภาพรวมของนโยบายทั้ง 10 นโยบาย มีเป้าหมายมุ่งเน้นความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน เป็นนโยบายเพื่อประชาชน มีจุดยืนที่ชัดเจนและมีความกล้าหาญในการประกาศจุดยืน จึงเป็นเรื่องที่ดี ควรสนับสนุนให้ทุกพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตยดำเนินนโยบายเพื่อประชาชน

ส่วนการนำเสนอนโยบายในครั้งถัดไปนั้น ควรทำการบ้านให้ดีกว่านี้ อย่าให้นโยบายที่ดีต้องเสียของ!!!