เมื่อ ‘มด’ มี ‘นม’? | ป๋วย อุ่นใจ

ดร. ป๋วย อุ่นใจ

คลิปแอบถ่ายใหม่ล่าสุด ที่เพิ่งโพสต์ลงยูทูบไปหมาดๆ เล่นเอาแวดวงวิชาการงงกันเป็นไก่ตาแตก “มดเลี้ยงลูกด้วยนม??”

เมื่อทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยร็อกกี้เฟลเลอร์ (Rockefeller University) ประเทศสหรัฐอเมริกา นำโดยแดเนียล โครเนอร์ (Daniel Kronauer) นักวิจัยมดชื่อดัง ทำการศึกษาวิจัยฝูงมดแล้วพบว่าที่จริงแล้ว “มดมีนม” และนมของมดนั้นก็เป็นอาหารอันโอชะของมดทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นมดโต หรือว่ามดเด็ก (ระยะตัวอ่อน)

แต่นมมดไม่ได้มาจากเต้าเหมือนนมโค แต่มาจากดักแด้ (pupa) ซึ่งถ้าย้อนมองกลับไปที่วงชีวิตของ “มด” ที่มีสี่ระยะ ได้แก่ ไข่ (egg) ตัวอ่อน (larva) ดักแด้ (pupa) และตัวเต็มวัย (adult) ดักแด้คือระยะที่ถูกตีตราว่าไร้ค่าในสังคมมด เพราะเป็นระยะที่พวกมันแทบจะไม่ทำอะไรเลย ได้แค่นอนนิ่งๆ รอมดงานมาย้าย เปลี่ยนที่ไป เปลี่ยนที่มา รอเวลาที่จะได้ลอกคราบออกมาเป็นมดโต (ที่มีประโยชน์)

“พวกมันก็ไม่กระดุกกระดิก ไม่กิน ไม่ทำอะไรสักอย่างแม้จะอยู่ในโคโลนีของมดที่แสนจะจ๊อกแจ๊กจอแจ” แดเนียลกล่าว

 

 

“ระยะดักเเด้ปกติแล้วคนจะมองว่าไร้ประโยชน์ เพราะมันไม่ขยับเขยื้อน แค่ถูกย้ายไป ย้ายมาด้วยพวกมดงาน ไม่ได้มีบทบาทอะไรเพื่อสังคมมด แต่งานนี้บ่งชี้ชัดว่าแนวคิดนี้มันผิด” แพทริเซีย เดทอร์ (Patrizia d’Ettorre) นักวิจัยพฤติกรรมจากมหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ ปารีส นอร์ธ (Sorbonne Paris North University) ในประเทศฝรั่งเศส กล่าวด้วยความตื่นเต้น “เป็นเรื่องที่ประหลาดมากที่ไม่เคยมีใครเคยสังเกตเห็นมาก่อนหน้านี้”

กลายเป็นว่ามดดักแด้ที่นอนนิ่งๆ อยู่เฉยๆ กลับผลิตน้ำนมที่เป็นอะไรที่ทั้งมดใหญ่ มดเล็ก มดตัวอ่อนต่างก็นิยมมาร่วมกันดูด เรียกว่าดูดกันจนเกลี้ยงเกลา มาเมื่อไร ดูดจนไม่เหลือ

“ผมเคยสงสัยนะว่า น่าจะมีบางอย่างในดักแด้ที่ดึงดูดมดโตได้ แต่ผมก็ไม่เคยทำอะไรกับมันจริงจัง ผมยังคิดถึงมันอยู่เลย และดีใจมากที่ทีมวิจัยนี้ทำงานนี้ออกมา” เบิร์ต โอลดอเบลอร์ (Bert H?lldobler) นักวิจัยรุ่นเดอะจากมหาวิทยาลัยแอริโซนา (Arizona State University) ผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการวิจัยมดมาตั้งแต่ยุคซิกซ์ตี้ ให้สัมภาษณ์

ทว่า เรื่องราวของ “นมมด” เป็นเหมือนเส้นผมบังภูเขาที่ผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายต่างก็มองข้าม

นมมดที่ออกมาจากดักแด้ของมดชนิดต่างๆ (Image credit : Orli Snir et al. 2022)

แต่ในสายตาของออร์ลี สเนียร์ (Orli Snir) นักวิจัยหลังปริญญาเอกที่ไม่เคยทำงานกับมดมาก่อนเลยในชีวิต ที่เพิ่งเริ่มจับมดอย่างจริงจังก็ตอนที่เข้ามาทำงานในห้องทดลองของแดเนียลแล้ว พฤติกรรมรุมดูดดักแด้นี้เป็นอะไรที่จุดประกายความสนใจของเธอเป็นอย่างมาก

เธอเล่าให้แดเนียลฟัง พร้อมอธิบายต่อว่า พฤติกรรมที่เธอเห็นนั้นยังไม่เคยมีใครบันทึกหรืออธิบายไว้ในเชิงวิทยาศาสตร์ ต้องยอมรับว่าเป็นการสังเกตที่น่าตื่นเต้น

แต่ในสมองของแดเนียลในเวลานั้น ประโยคเดียวที่เขาคิดอยู่ก็คือ “ผู้คนเขาศึกษามดกันมาเป็นร้อยๆ ปี ออร์ลีกำลังพูดถึงอะไรกัน?”

ออร์ลีได้โอกาส เธอก็รีบนำเสนอไอเดียทดลองเพื่ออธิบายสุดประหลาดกับแดเนียล เธอเชื่อว่างานนี้น่าจะนำไปสู่ไอเดียใหม่ในการอธิบายพฤติกรรมสังคมที่ซับซ้อนของมดได้ แม้จะยังไม่ค่อยเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ด้วยการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยที่มีอยู่อย่างมหาศาล และงบประมาณล้นเหลือที่ได้มาจากสถาบันวิจัยฮาวเวิร์ด ฮิวจ์ (Howard Hugh Medical Institute) เรื่องทุนวิจัยนั้นแทบไม่กระเด็น แดเนียลยินดีเปิดไฟเขียวให้ออร์ลีเดินหน้างานวิจัยที่เธออยากทำได้อย่างเต็มที่ เพราะเงินนั้นไม่ใช่ปัญหา

ออร์ลีเริ่มโดยการพัฒนาวิธีเก็บนมมด โดยการแยกเอาดักแด้ไปเก็บไว้ในหลอดทดลองขนาดเล็ก บ่มที่อุณหภูมิห้อง (25 องศาเซลเซียส ที่ความชื้อสัมพัทธ์ 100 เปอร์เซ็นต์) แล้วค่อยๆ รีดเอานมที่ดักแด้ปล่อยออกมาในทุกๆ วัน

เธอพบว่าดักแด้ยิ่งแก่ น้ำนมจะยิ่งเยอะและจะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึงเวลาลอกคราบออกมาจากดักแด้

และจากการวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมี พบว่าน้ำนมมดที่แท้จริงนั้นคือ ของเหลวจากดักแด้ (moulting fluid) ซึ่งจะมีองค์ประกอบผสมๆ กันระหว่างของเสียจากดักแด้ และสารอาหารที่เป็นประโยชน์ มีคุณค่าทางโภชนาการ อาทิ กรดอะมิโนจำเป็น คาร์โบไฮเดรต ฮอร์โมน รวมไปถึงวิตามินที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของตัวอ่อนมดอีกด้วย

“หลังจากฟักออกมาจากไข่ ในสองสามวันแรก ตัวอ่อนมดจะต้องพึ่งพาอาหารจากของเหลวนี้ ไม่ต่างจากทารกต้องพึ่งพานม” แดเนียลเผย และถ้าตัวอ่อนไม่ได้ดูดนม พวกมันก็จะแคระแกร็น และกลายเป็นมดเด็กขาดสารอาหาร และถ้าไม่ได้นมเลยในระยะแรกๆ พวกมันก็อาจจะขาดสารอาหารจนถึงตายได้

และเพื่อทดสอบดูว่ามดระยะไหนบ้างที่ไปแอบมุงดูดนมดักแด้ ออร์ลีจึงฉีดสีผสมอาหารเข้าไปในตัวดักแด้ เพื่อช่วยปรับแต่งสีของนมมดนั้นให้กลายเป็นสีน้ำเงิน จะได้รู้ว่าตัวไหนกินมากกินน้อย

ปรากฏว่าผลได้ที่นั้น ผลที่ได้ก็คือทั้งมดโต มดเด็กตอนท้ายออกมาท้องสีน้ำเงินทั้งนั้น ซึ่งเป็นการคอนเฟิร์มชัดเจนว่าไม่ว่าจะมดโตหรือมดเด็กก็นิยมดูดนมดักแด้กันทั้งนั้น

พวกมดโตเอง นอกจากจะคอยเลี้ยง คอยอุ้มตัวอ่อนมาดูดนมแล้ว พวกมันเองก็ดูดกันอย่างอิ่มหนำไม่ต่างมดเด็ก สังเกตได้จากท้องที่ค่อยๆ เปลี่ยนไปเป็นสีน้ำเงินในการทดลองฉีดสี

การที่พวกมดโตก็ดื่มกินกันอย่างหื่นกระหาย เชื่อว่าน้ำนมมดนี้ก็น่าจะมีประโยชน์ไม่น้อยกับมดโต อาจจะเกี่ยวกับกระบวนการในการดำรงชีวิต พัฒนาการทางสรีระหรืออาจจะมีส่วนช่วยในการเผาผลาญพลังงานก็เป็นได้

 

แต่ที่น่าสนใจยิ่งกว่าสำหรับแดเนียล คือการดูดนมให้หมดนั้น ไม่ได้จะมีประโยชน์แค่กับมดเด็กและมดโตที่มาดูดนมไปเท่านั้น แต่ยังมีความสำคัญอย่างมหาศาลกับความเป็นอยู่ของตัวดักแด้เองด้วย เพราะถ้าพวกมันสร้างและหลั่งน้ำนมออกมามากมาย แต่ไม่มีใครมาดูดและช่วยทำความสะอาด พวกมันก็อาจจะตายไปเองเพราะราขึ้น ก่อนที่จะได้มีโอกาสได้ลอกคราบออกมาเป็นมดโต

ซึ่งก็ไม่แปลกเพราะของเหลวจากดักแด้ที่อุดมไปด้วยสารอาหารอย่างนมมดนี้ ถ้าปล่อยไว้เฉยๆ ไม่นานก็จะมีเชื้อจุลินทรีย์มายึดหัวหาด งอกงามเจริญเติบโตอยู่แล้ว

ในกรณีของพวกแมลงที่อยู่อย่างอิสระ อย่างเช่น หนอนผีเสื้อ ของเหลวพวกนี้จะถูกดูดซึมกลับเข้าไปใช้ในการพัฒนาไปเป็นตัวเต็มวัยของตัวดักแด้แมลง ไม่มีเหลือไว้ให้ราขึ้น

แต่สำหรับสัตว์สังคมอย่างมด ของเหลวจากดักแด้นั้น เปรียบเสมือน “นมสาธารณะ” ที่ดักแด้สร้างมาอย่างเหลือเฟือส่งคืนกลับมาให้สังคมเพื่อช่วยเป็นอาหารฟูมฟักตัวอ่อน

อีกทั้งยังกระตุ้นให้เหล่ามดโตเต็มวัยผลัดกันมาช่วยกันเลี้ยงตัวอ่อน คอยอุ้มมดเด็กไปดูดนม เพื่อจะได้เติบโตเป็นมดรุ่นใหม่ที่แข็งแรง ไม่แคระแกร็น และทำให้ตัวอ่อนจำเป็นต้องพึ่งพาดักแด้และมดโต

ในขณะเดียวกันดักแด้และมดโตเองก็พึ่งพาอาศัยกัน มดโตได้สารอาหารและฮอร์โมนต่างๆ ในขณะที่ตัวดักแด้ก็ได้มดงานมาช่วยทำความสะอาดให้พวกมันรอดจากเชื้อราไปได้จนถึงตอนโตเต็มวัย

ถ้ามองในมุมสังคม ออร์ลีและแดเนียลเชื่อว่านมมดนี่แหละที่ทำหน้าที่เป็นเหมือนเป็นกาวทางสังคมที่คอยยึดแน่น เชื่อมโยงมดในทุกระยะเข้าไว้ด้วยกันเป็นหนึ่งเดียว และเป็นตัวที่สำคัญในการขับเคลื่อนสังคมมด และอาจจะทำให้เราเข้าใจสังคมมดได้ดีมากขึ้นในภาพรวม

 

เพื่อให้รู้ว่านมมดนั้นไม่ได้พบแค่ในมดชนิดที่เอามาทำทดลอง ออร์ลีเลยสรรหามดมาอีก 5 สายพันธุ์ ก่อนที่จะทำการทดลองแบบเดียวกันจนได้ผล เธอพบว่าพฤติกรรมนิยมนมมดแบบนี้ พบได้ในมดทุกกลุ่มที่เธอเอามาทำการทดลอง ซึ่งตีความได้ว่าวิวัฒนาการทางพฤติกรรมแบบนี้น่าจะเกิดขึ้นมานานแล้ว อาจจะตั้งแต่ช่วงแรกของการสายวิวัฒนาการของวงศ์มด หรือไม่แน่ อาจจะก่อนวิวัฒนาการของสัตว์ในวงศ์มดเสียด้วยซ้ำ

การค้นพบ “นมมด” ถือเป็นอีกหนึ่งจิ๊กซอว์ที่ช่วยเติมเต็มความเข้าใจในกลไกการขับเคลื่อนสังคมของสิ่งมีชีวิตที่ซับซ้อนสอดประสานกันได้อย่างดีเลิศ จนแทบจะเรียกได้ว่าเป็น ซูเปอร์สิ่งมีชีวิต (superorganism) ได้ค่อนข้างดี แม้จะยังมีคำถามที่น่าสนใจอีกมากมายที่ยังคงรอคำตอบ อย่างเช่น นมมดมีส่วนอะไรกับการกำหนดชนชั้นของมดหรือไม่ แล้วนมมดนั้นมีประโยชน์อะไรกับมดที่โตเต็มวัยแล้วก็ตาม

ต้องบอกว่านมมดช่วยเปิดศักราชใหม่ของการศึกษาสังคมของสัตว์ ที่อาจจะช่วยให้เราสามารถเข้าใจโครงข่ายการปฏิสัมพันธ์ที่ซับซ้อนในสังคมของแมลงได้มากขึ้นไปอีกขั้น ซึ่งอาจจะเป็นประโยชน์ในการออกแบบอัลกอริธึ่มสำหรับฝูงหุ่นยนต์ (swarm robot) เลียนแบบกลไกทางสังคมของมดก็เป็นได้

เพราะ “นมมด” อาจจะไม่ได้มีประโยชน์ แค่ไว้ให้มดดูด!