ค่าแรงหรือกึ๋นนายทุน | นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

ข้อเสนอค่าแรงขั้นต่ำวันละ 600 บาทในระยะเวลา 4-5 ปี อาจเป็นการหาเสียงของพรรคการเมือง

แต่หาเสียงแล้วจะเป็นอะไรหรือครับ ก็ถ้าอยากให้มีการเลือกตั้งต่อไป ผู้สมัครรับเลือกตั้งก็ต้องหาเสียง คือบอกให้รู้ว่าหากเขาได้จัดตั้งรัฐบาลแล้ว เขาจะมีนโยบายต่อกลุ่มคนต่างๆ อย่างไร

ครับ เป็นโอกาสของการพูดโกหกอย่างไม่ต้องรับผิดชอบด้วย แล้วประชาชนผู้เลือกตั้งก็โง่เสียจนจับโกหกเขาไม่ได้กระนั้นหรือ ถ้าคิดว่าประชาชนโง่ขนาดนั้น แล้วเราจะเลือกตั้งไปทำไม รักจะมีเลือกตั้ง รักจะเป็นประชาธิปไตย ก็ต้องเปิดให้ประชาชนเรียนรู้เอง อย่างที่พรรคพลังประชารัฐเคยหาเสียงว่าจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 450 บาท แล้วก็ไม่ทำ ใครเป็นคนท้วง พปชร.ครับ ก็ประชาชนผู้เลือกตั้งนั่นเอง คอยดูกันว่าถ้าจะยังจัดให้มีเลือกตั้งต่อไป พรรคนี้จะได้คะแนนเสียงเท่าเดิมหรือไม่

ถ้าได้เท่าเดิมหรือมากกว่าเดิม จึงค่อยกลับมาคิดว่า เหตุใดผู้เลือกตั้งไทยจึงไม่บังคับให้นักการเมืองและพรรคการเมืองต้องรับผิดชอบต่อการหาเสียงของตน ผมเชื่อว่ามีสาเหตุได้หลายอย่างและสลับซับซ้อนมากกว่า “โง่” ด้วย

 

อย่างไรก็ตาม 600 บาทก่อให้เกิดปฏิกิริยาแก่ทั้งนายทุนและนักวิชาการสาธารณะอย่างกว้างขวาง (ก็แสดงอยู่แล้วว่า คนเหล่านี้เชื่อว่าพรรคเพื่อไทยจะทำจริง ไม่ใช่หาเสียงคะนองปากไปอย่างนั้น)

ผมหวังว่า ผมจะเสนอความเห็นบางอย่างเกี่ยวกับเรื่องค่าแรงที่ยังไม่ได้ยินบ่อยนัก จากนายทุนและนักวิชาการสาธารณะ ว่ามันจะเปลี่ยนประเทศไทยไปอย่างไร ผมเชื่อว่าค่าแรงที่เป็นธรรมจะเปลี่ยนประเทศและเศรษฐกิจไทยให้เข้มแข็งขึ้นในระยะยาว ตราบเท่าที่เรายังกดค่าแรงให้ต่ำไว้เช่นนี้ อนาคตของเศรษฐกิจไทยมีแต่จะลีบลง เพราะเพื่อนบ้าน (เช่น เวียดนาม, กัมพูชา, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์) คงจะสามารถแข่งขันด้านค่าแรงราคาถูกเหนือไทยไปได้อีกเป็นทศวรรษ

โอกาสที่การผลิตด้านอุตสาหกรรม, เกษตรกรรม หรือบริการของไทย จะก้าวสู่อะไรที่ใช้ฐานความรู้มากขึ้น และสร้างรายได้มากขึ้น ก็เป็นไปไม่ได้อยู่ตราบนั้น

เพราะฉะนั้น เมื่อนายทุนพูดว่า รอจนกว่าการผลิตในเมืองไทยก้าวหน้าสูงขึ้นกว่านี้ การจ่ายค่าแรงจึงสามารถทำได้อย่างเป็นธรรมมากขึ้น หรือเพิ่มค่าแรงให้ทันกับค่าครองชีพได้ นี่เป็นการโกหกที่ไม่ต้องรับผิดชอบเสียยิ่งกว่าพรรคการเมืองหาเสียงเสียอีก เพราะตราบเท่าที่คุณกดค่าแรงไว้อย่างนี้ ย่อมไม่มีปัจจัยอะไรให้ผู้ประกอบการหน้าใหม่ (ซึ่งอาจมีกึ๋นกว่าคุณ) พยายามเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต หากลวิธีที่ดีกว่าในการแย่งตลาดจากคุณ ทุกอย่างจึงคงที่เหมือนเดิมสำหรับให้คุณค้ากำไร (เกินควร) กับค่าแรงต่อไป เพื่อแบ่งบางส่วนเป็น “ค่าต๋ง” ให้แก่ผู้มีอำนาจ ซึ่งพร้อมจะรักษาสถานะเดิมไว้ให้คุณ

ข้อคัดค้านสุดท้ายที่ผมได้ยินก็คือ เวลาอีก 4-5 ปีข้างหน้า ไม่มีทางรู้ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นข้างหน้า พรรคเพื่อไทยจะทำตามสัญญาได้อย่างไร ฟังดูเหมือนเป็นคำค้านที่ฉลาดรอบคอบ แต่ในความเป็นจริง เราทุกคนต่างวางแผนแก่อนาคตที่ไม่แน่นอนทั้งนั้นไม่ใช่หรือ ยิ่งเป็นบริษัทใหญ่ๆ แผนอนาคตที่ไม่แน่นอนนั้นจำเป็นชนิดขาดไม่ได้เลย เพราะปราศจากเป้าหมายที่ชัดเจน ใครจะดำเนินกิจการหรือดำเนินชีวิตได้ถูกล่ะครับ

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดในเรื่องค่าแรงและพูดกันมาหลายทศวรรษแล้วในเมืองไทย (นับตั้งแต่ 14 ตุลาคม 2516 เป็นต้นมา) ก็คือชีวิตของแรงงานน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในการคำนวณหาค่าแรงอันเหมาะสม ก่อนที่เศรษฐกิจโลกจะเริ่มตกต่ำเพราะโควิด อันที่จริงแรงงานไทยก็ได้ค่าแรง 600 บาทอยู่แล้ว เพราะกว่าครึ่งของแรงงานโรงงาน ต่างทำงานวันละสองกะ เพื่อให้พอกินพอใช้ในชีวิต แม้กระนั้นทุกคนในครอบครัวก็ยังต้องใช้ชีวิตอย่างอัตคัดขัดสน

ทั้งหมดนี้แปลว่าอะไร ก็แปลว่าเขาไม่ได้แลกค่าแรงกับแรงงานเพียงอย่างเดียว ต้องแลกสุขภาพทางกาย และทางสังคม ตลอดจนโอกาสที่จะได้ดำเนินชีวิตอย่างมีโอกาสพัฒนา ทั้งของเขาและครอบครัว

(ชีวิตที่พัฒนาได้ต้องมีสองปัจจัยสำคัญเป็นอย่างน้อย คือ 1) ได้สังสันทน์กับเพื่อนมนุษย์คนอื่นและกับโลก และ 2) ได้โอกาสเรียนรู้อะไรใหม่ทุกวันจากการได้รับสื่อนานาชนิดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อจะมีชีวิต “ที่ดี” หรือ Good Life ได้)

หากชีวิตถูกพิจารณาเป็นรอง “เศรษฐกิจ”, ฝีมือแรงงาน, แรงงานข้ามชาติ หรือเงินในกระเป๋ารัฐและเอกชน ก็ต้องถามว่าสังคมและรัฐไทยยังมีมนุษยธรรมอยู่หรือไม่ ถ้าไม่มี จะเหลือคุณค่าอะไรให้เรารักษามันต่อไป

 

อันที่จริง เรื่องเงินในกระเป๋ารัฐและเอกชน มีเพียงพออย่างแน่นอน เงินนั้นมีเสมอ แต่จะเอาไปใช้กับอะไรก่อนหลังต่างหาก ที่กดค่าแรงก็อ้างว่าแรงงานไทยยังมีผลิตภาพไม่พอจะได้รับค่าแรงสูง (ที่จริงมีตัวเลขจากงานวิจัยที่พบว่า แรงงานไทยได้ค่าแรงต่ำกว่าฝีมือของตนที่พัฒนาขึ้นมากแล้วต่างหาก) ความจริงแล้ว ค่าแรงที่เป็นธรรมคือการลงทุนอย่างหนึ่ง เพราะเป็นช่องทางเดียวที่จะสามารถเพิ่มผลิตภาพได้ (แน่นอน ไม่ใช่โดยตรง แต่ต้องเริ่มต้นที่ค่าแรงอันเป็นธรรมก่อน)

ผมขอยกตัวอย่างที่รู้กันดีเพราะถูกอ้างในงานวิจัยอยู่เสมอ แรงงานโรงงานน่าจะมีการศึกษาเพิ่มขึ้น เพื่อทำให้เขาสามารถพัฒนาฝีมือไปในระดับสูงขึ้นไปอีก แต่เขาไม่มีเวลาพอแม้แต่เพื่ออ่านหนังสือสักเล่ม เพราะต้องทำงานสองกะจึงจะพอกินพอใช้ ฉะนั้น เลิกงานแล้วจึงทำอะไรไม่ได้มากไปกว่ากินแล้วรีบนอน เคยมีเอ็นจีโอที่พยายามจะไปให้ความรู้แก่แรงงาน แต่ล้มเหลวเพราะแรงงานไม่มีเวลาให้แก่พวกเขา

คิดจากทักษะฝีมืออย่างเดียวไม่พอ เพราะที่จริงทักษะเป็นความสามารถที่เชื่อมโยงไปกับชีวิตส่วนอื่นๆ ด้วยอย่างแยกออกจากกันไม่ได้ (เช่น งานวิจัยที่ทำมานานแล้วชิ้นหนึ่งแสดงให้เห็นว่า การได้อยู่ในโรงเรียนนานขึ้น ทำให้แรงงานแต่ละคนสามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ไกลกว่าและเร็วกว่าแรงงานที่อยู่ในโรงเรียนสั้นกว่า…ครับ ก็แค่เรียนเลขและท่องๆ จำๆ อะไรที่ครูสั่ง กับการเตะตูดเพื่อนทีเผลอนี่แหละ ที่ทำให้แรงงานคนหนึ่งสามารถเดาได้ว่า ด้ายในแกนทอผ้าแกนนั้นกำลังจะพันกันยุ่งจนต้องหยุดเครื่องทั้งแถบ จึงต้องรีบแก้เสียก่อน)

ดังนั้น หากคิดให้กว้างไปถึงเวลาว่างที่แรงงานแต่ละคนสามารถไปฟังดนตรีในสวนของคุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้ดูหนังที่ติดอยู่ในหัวให้ต้องคิดต่ออีกหลายวัน ได้อ่านหนังสือแล้วได้คุยกับคนอื่นเพื่อประเมินคุณค่าของสิ่งที่อ่าน, ฟัง หรือดูมา

จะเกิดแรงงานที่เรียนรู้ทักษะใหม่ได้เป็นจำนวนมหาศาลขนาดไหนในประเทศไทย และจะเกิดความพร้อมในการผลิตของไทยขนาดไหนที่จะก้าวไปให้พ้นจาก “การประกอบชิ้นส่วน” ง่ายๆ ที่ต้องแย่งกับอินโดนีเซียและเวียดนามอยู่ในทุกวันนี้

 

คิดทางด้านเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว ค่าแรงที่เป็นธรรมจะสร้างความเข้มแข็งให้ตลาดภายในของไทย และทำให้เศรษฐกิจไทยแข็งแกร่งพอจะรองรับวิกฤตเศรษฐกิจระดับโลกได้ดีขึ้น ที่สำคัญกว่านั้นก็คือจะผลักดันให้เกิดการผลิตสินค้าใหม่ๆ ที่ตอบสนองชีวิตแบบเมืองในเอเชียในประเทศไทยได้ง่ายขึ้น สินค้าเหล่านี้อาจพัฒนาไปขายได้อีกกว้างขวางทั่วเมืองในเอเชีย ซึ่งโตขึ้นในลักษณะคล้ายกัน พร้อมปัญหาเดียวกัน

การผลิตอะไรขายกันเองภายในนั้นสำคัญมากนะครับ เมื่อลี กวน ยิว ประเมินจีนเปรียบเทียบกับสหรัฐในฐานะประเทศใหญ่เหมือนกัน เขาเห็นว่าจีนยังอยู่ห่างจากสหรัฐมากทีเดียว เพราะแม้จะรวยขึ้นเป็นอันดับสอง แต่จีนไม่ได้ผลิตอะไรเพื่อป้อนตลาดภายในของตนเองเหมือนสหรัฐ ชีวิตของคนรวยในจีนเปลี่ยนไปในทางที่ต้องการสินค้าเทคโนโลยีซับซ้อนขึ้น แต่นั่นเกือบทั้งหมดล้วนนำเข้าจากต่างประเทศ (One Man’s View of the World) คนอเมริกันซื้อแรงงานระหว่างกัน คนจีนยังขายแรงงานแก่คนภายนอกเป็นหลัก

หลายปีมาแล้ว คนอเมริกันยังประเมินโทรศัพท์มือถือของจีนว่า ซื้อได้ในราคา 25% ของแอปเปิลด้วยสมรรถภาพ 50% ของแอปเปิล ก็โอเคสำหรับคนส่วนใหญ่ซึ่งไม่เคยใช้โทรศัพท์สมาร์ตโฟนได้ถึงครึ่งหนึ่งของสมรรถภาพของมัน

ปัจจุบันอาจเพิ่มจาก 50% เป็น 75% แต่ก็ยังเป็นรองแอปเปิล จนทำให้สินค้านอกมีค่านิยมสูงซึ่งยิ่งแข่งได้ยากขึ้น

 

ไทยเป็นประเทศเล็ก ถึงอย่างไรตลาดภายในของไทยไม่มีทางที่จะใหญ่เท่าจีนหรือสหรัฐ แต่ตลาดภายในมีความสำคัญในการเป็นหมอนกันกระทบและเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการคิดค้นสินค้าใหม่ แต่จนถึงทุกวันนี้เราก็ยังแสดงความดีใจที่ส่งออกข้าวได้เพิ่มขึ้น โดยไม่เคยสนใจว่า ปีนี้คนไทยทุกคนได้เข้านอนด้วยท้องที่อิ่มหรือไม่ ปราศจากความใส่ใจต่อคนเล็กคนน้อยเช่นนี้ แม้เจ้าสัวไทยจะรวยขึ้นแค่ไหน ตลาดภายในของไทยก็จะยังอ่อนแออยู่ตราบนั้น

อันที่จริงทั้งรัฐและทุน ต่างมีหน้าที่และบทบาทในการเพิ่มทักษะให้แก่แรงงาน ไม่ใช่การศึกษาที่รัฐจัดอันเป็นการเพิ่มคุณภาพของแรงงานในอนาคต ซึ่งก็ใช่ว่าทำได้ดีนัก ที่สำเร็จอยู่ระดับหนึ่งก็เพราะคนชั้นกลางขึ้นไปลงทุนส่วนตัวสมทบมากขนาดที่คนทั่วไปทำตามไม่ได้ (การศึกษาที่ไหนๆ ก็มีแนวโน้มกลายเป็นเครื่องมือผูกขาดสถานภาพทางเศรษฐกิจสังคมที่สูงไว้กับบางชนชั้นทั้งนั้น อย่างที่อาจารย์เสน่ห์ จามริก กล่าวไว้) แต่รัฐอาจลงทุนได้มากพอควรทีเดียวกับ การเพิ่มทักษะฝีมือแรงงานในปัจจุบัน ไม่ใช่ฝากไว้กับกรมฝีมือแรงงานในกระทรวงแรงงานเพียงอย่างเดียว แต่ต้องคิดถึงโอกาสของการเรียนรู้ที่หลากหลาย ไม่ใช่ห้องเรียนนะครับ แต่ต้องเป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับการใช้ประโยชน์ด้านการเรียนรู้ของคนทั่วไป

ฉายหนังกลางแปลงก็ดี แต่จะดีขึ้นไปอีกถ้ากระจายไปฉายตามวัดในละแวกชุมชน เพื่อให้คนเข้าถึงได้กว้างขวางจริง

รัฐอาจลงทุนด้านห้องสมุด ขนาดที่พอเหมาะกับชุมชน ไม่ใช่มีแต่หนังสือ แต่มีกิจกรรมการเรียนรู้อื่นๆ ด้วย ฉายหนัง, เต้นระบำหรือการแสดงอื่นๆ, การพูดคุย, วิจารณ์หนังสือ, สอนตัดกระดาษ ฯลฯ บรรณารักษ์เก่งๆ คิดเองได้อีกมากมายจนทำให้ห้องสมุดมีชีวิตของตนเองขึ้นมา

สวัสดิการของรัฐก็คือการเพิ่มรายได้ของแรงงานอย่างหนึ่ง ต้องคิดการขยายสวัสดิการจากการรักษาพยาบาลไปสู่เรื่องอื่นๆ ให้กว้างขึ้น เช่น การศึกษาที่ว่าฟรีนั้น ก็ต้องยอมลงทุนเพิ่มเพื่อให้มันฟรีจริงๆ ในทางปฏิบัติ เป็นต้น

ค่าแรงที่สูงขึ้น ทำให้เกิดเวลาว่างสำหรับพัฒนาตนเองแล้ว นายจ้างยังอาจดึงให้แรงงานกระตือรือร้นในการเรียนรู้ ด้วยการเลื่อนตำแหน่งหน้าที่ของแรงงานที่เรียนรู้มากสู่งานที่ต้องการความรู้มากขึ้น รายได้ที่สูงขึ้นและอนาคตที่มองเห็นได้ชัดขึ้น ทำให้แรงงานยิ่งกระตือรือร้น ฝ่ายนายทุนเองก็มีความพร้อมด้านกำลังคนที่จะขยับการผลิตไปสู่การผลิตที่ใช้ฐานความรู้มากขึ้น ความพร้อมด้านกำลังคนดูจะมีความสำคัญที่สุด

เครื่องจักรนั้นถึงแพงเท่าไรก็ยังซื้อได้ด้วยกำลังเงิน แต่คุณภาพของคนนั้นใช้เงินซื้อเพียงอย่างเดียวไม่มีทางสำเร็จ

 

ผมเข้าใจดีว่าเหตุใดรัฐจึงประสบความล้มเหลว โดยเฉพาะรัฐที่ตกอยู่ใต้อำนาจของกลุ่มรัฐประหารที่มาจากอำนาจเดิมของสังคม ก็แปลกดี คิดจะปฏิรูปแต่เอาอำนาจเดิมมาเป็นผู้ทำ ก็ถ้าพวกนี้อยากปฏิรูปจริง ก็คงทำไปนานแล้วล่ะครับ

ส่วนความล้มเหลวของทุนนั้น เกิดจากการที่ทุนไทยเคยชินกับการหากำไรอย่างง่ายๆ มานาน โดยการผูกขาดในทางปฏิบัติหรือในทางใช้อำนาจรัฐกีดกันคนอื่นตรงๆ เลย ในขณะเดียวกันก็หาทางเอาเงินสาธารณะไปเป็นทุนของตนเอง (เช่น เอาเงินช่วยเหลือขององค์กรมหาชนมาเป็นส่วนหนึ่งของทุนทำธุรกิจขายโฆษณาในการแข่งขันฟุตบอลโลก) ศูนย์การค้าแทบจะทุกแห่งในกรุงเทพฯ ตั้งใจแต่แรกที่จะเบียดเบียนพื้นที่ถนนอันเป็นพื้นที่สาธารณะซึ่งแย่งกันใช้อย่างหนาแน่นอยู่แล้ว สำหรับรถรับจ้างจอดรับ-ส่งลูกค้าของห้าง เพราะฉะนั้น ไม่ต้องคิดถึงทางน้ำ, อากาศ, ความเงียบ, ความสะอาดของสิ่งแวดล้อมโดยรวม ฯลฯ ซึ่งเป็นทรัพย์สาธารณะที่ถูกนายทุนแย่งไปปู้ยี่ปู้ยำเพื่อลดต้นทุนอยู่ตลอดเวลา

จึงไม่แปลกที่ทุนจะผลักภาระในการลงทุนมาให้แก่ใครก็ได้ที่ไม่มีอำนาจต่อรอง ธรรมชาติเป็นผู้ไร้อำนาจที่สุด จึงโดนก่อน แรงงานเป็นรายต่อมา และผู้บริโภคเป็นถัดมาอีกขั้นหนึ่ง (ผู้บริโภคเองก็ขาดอำนาจต่อรอง แต่ตราบเท่าที่การแข่งขันในตลาดยังอยู่อย่างเสรี นายทุนก็ไม่อาจเอาเปรียบผู้บริโภคได้ตลอดไป)

ตราบเท่าที่นายทุนไทยยังเป็นเช่นดังกล่าว ทุกครั้งที่มีใครเสนอขึ้นค่าแรง ก็จะพร้อมใจกันออกมาท้วงว่าทุนจะย้ายหนีบ้าง SME จะเจ๊งบ้าง

คำถามคือทุนจะย้ายหนีไปไหน? หากไม่นับสิงคโปร์และมาเลเซีย (ซึ่งไม่ใช่คู่แข่งของไทยอีกต่อไป เพราะเศรษฐกิจของเขาเลยหน้าเราไปแล้ว) ประเทศคู่แข่งใดในภูมิภาคเดียวกันที่มีการคมนาคมขนส่งดีกว่าไทย แรงงานไทยไม่ได้เก่งทุกด้านก็จริง แต่เก่งมากในบางด้าน เช่นประกอบรถยนต์ มีพื้นฐานที่อาจพัฒนาได้ง่ายด้านอิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ ทั้งหมดนี้รองรับอุตสาหกรรมที่ซับซ้อนขึ้นได้ ใครบอกคุณว่าค่าแรงเพียงอย่างเดียวเป็นตัวตัดสินว่าทุนจะไปลงที่ไหน

SME ไทยไม่เคยได้เปรียบในการแข่งขันเหมือนทุนใหญ่ ซ้ำโครงสร้างการผูกขาดทั้งในทางแฝงและปฏิบัติ ก็ทำให้ SME แทบจะงอกไม่ได้อยู่แล้ว เคยสังเกตบ้างไหมครับว่า ช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง 2540 มี SME และสตาร์ตอัพเกิดขึ้นมากมาย เพราะทุนใหญ่หมดกำลังจะกีดกัน รัฐเองก็ยินดีที่คนตกงานไม่อดตาย จึงปล่อยให้คนเล็กคนน้อยคิดทำธุรกิจขึ้นหลายรูปแบบ ที่จริงเปิดท้ายขายของนั้นผิดกฎหมายหลายฉบับ นับตั้งแต่กฎหมายจราจรเป็นต้นไป แต่เมื่อรัฐหลับตาลงเสียบ้างไม่คอยช่วยทุนกีดกันคู่แข่งเล็กๆ ทุกอย่างก็เฟื่องฟู

โชคร้ายที่ตอนนั้นกระเป๋าของทุกคนแฟบลง หากอยู่ในภาวะเศรษฐกิจปรกติ รายเล็กที่ไม่ถูกกีดกันทั้งจากทุนและรัฐจะกลายเป็นสตาร์ตอัพที่ประสบความสำเร็จไม่รู้จะกี่ร้อยราย

 

ปัญหาค่าแรงที่ไม่พอเลี้ยงชีพ, ปัญหาการหลุดจากกับดักรายได้ปานกลาง, ปัญหาการถูกเพื่อนบ้านแย่งงานไปทำ ฯลฯ ทั้งหมดเหล่านี้ คงแก้ตัวมันเองไปได้กว่าครึ่ง ถ้าปล่อยให้ทุนใหญ่ๆ ของไทยเจ๊งๆ เสียบ้าง ใช้กฎที่เป็นธรรม ไม่อำนวยความได้เปรียบแก่ทุนใหญ่ ไม่ปล่อยให้ใครเอาสาธารณสมบัติมาลดต้นทุนของตนเอง ส่วนหนึ่งของทุนใหญ่แหยๆ ของไทยจะเจ๊งไปเอง แม้กระนั้น ทุนที่มีกึ๋นจริงก็ยังอยู่ ซ้ำทุนเล็กที่มีกึ๋นมากๆ ก็จะเติบโตขึ้นมาแทนทุนใหญ่-แหยที่เจ๊ง และสร้างความก้าวหน้าแก่การผลิตของไทยได้ไกลพอจะแข่งขันกับเพื่อนบ้านหรือแม้แต่จีนและอินเดียได้

เศรษฐกิจที่ไหนๆ มันก็ก้าวหน้าได้เพราะปล่อยให้ทุนที่ไม่มีกึ๋นเจ๊ง เปิดช่องว่างให้คนมีกึ๋นได้เข้ามาแทนทั้งนั้นแหละครับ