คุยกับทูต | โอเล็กซานเดอร์ ลีซัค เทศกาลแห่งความสุขของคนทั่วโลก คือช่วงเวลาแห่งความยากลำบากของยูเครน

คุยกับทูต | โอเล็กซานเดอร์ ลีซัค เทศกาลแห่งความสุขของคนทั่วโลก คือช่วงเวลาแห่งความยากลำบากของยูเครน

 

เมื่อฤดูหนาวเข้าปกคลุมยูเครน ก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการสู้รบของกองทัพยูเครนในการพยายามช่วงชิงดินแดนที่ถูกรัสเซียยึดครองคืนกลับมา ขณะเดียวกัน รัสเซียยังคงพยายามทำให้พลเรือนยูเครนต้องเผชิญกับฤดูหนาวอันหฤโหดด้วยการโจมตีโรงไฟฟ้าและคลังน้ำมันต่าง ๆ

“ฤดูหนาวนี้จะเป็นเรื่องยากสำหรับยูเครน เพราะศัตรูหวังที่จะใช้ความหนาวเย็นเป็นเครื่องมือทำสงครามและทำลายขวัญกำลังใจของชาวยูเครนทั้งหมด ดังนั้น เราจึงต้องทำทุกอย่างให้ผ่านพ้นฤดูหนาวนี้ไปให้ได้ไม่ว่าจะลำบากยากเย็นสักเพียงใด ในขณะเดียวกัน ประชาคมโลกก็ได้ให้การสนับสนุนยูเครนเพิ่มขึ้นด้วย”

นายโอเล็กซานเดอร์ ลีซัค (Oleksandr Lysak) อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตยูเครนประจำประเทศไทยเล่าว่า

“เป็นการเอาคืนของรัสเซียหลังรัสเซียสูญเสียกองกำลังภาคพื้นดิน รัสเซียยังคงข่มขวัญพลเรือนยูเครนต่อไป โดยโจมตียูเครนด้วยขีปนาวุธหลายร้อยครั้งตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม และประกาศว่า ยูเครนต้องทำตามข้อเรียกร้องของเครมลิน มิฉะนั้น พลเรือนจะต้องทนต่อความยากลำบากต่อไป”

หลังเผชิญกับความล้มเหลวในสมรภูมิรบหลายครั้ง กองทัพรัสเซียได้มุ่งเน้นการโจมตีด้วยโดรนและขีปนาวุธไปที่โรงไฟฟ้า คลังเก็บเชื้อเพลิง และระบบประปาของยูเครน ทำให้ผู้คนหลายล้านคนทั่วประเทศยูเครนไม่มีไฟฟ้า น้ำประปา และไม่สามารถใช้ระบบทำความร้อนในช่วงฤดูหนาวได้

เคียฟประสบปัญหาไฟฟ้าดับหลังจากรัสเซียโจมตีโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญทั่วยูเครน 23 พ.ย.2022

“การที่รัสเซียใช้ขีปนาวุธโจมตียูเครนเพื่อสร้างความหวาดกลัวนั้น ไม่ได้สะท้อนถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญในสงครามครั้งนี้และสถานการณ์ในสนามรบก็จะไม่เปลี่ยนแปลง ความพยายามของเครมลินที่จะต่อสู้และบ่อนทำลายเสถียรภาพของยูเครนจะต้องล้มเหลว เพราะเราจะซ่อมแซมวัตถุที่ถูกทำลายเสียหายทั้งหมด และจะต่อสู้กับผู้รุกรานต่อไป โดยการติดตั้ง Points of Invincibility หลายพันแห่งทั่วประเทศ”

การทำงานของ Points of Invincibility เป็นบริการพื้นฐานทั้งหมด รวมถึงไฟฟ้า การสื่อสารเคลื่อนที่และอินเทอร์เน็ต ความร้อน น้ำ และชุดปฐมพยาบาล โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน

“เพื่อยุติความหวาดกลัว เราจึงต้องการระบบอาวุธจากพันธมิตรของเรา เพื่อมาช่วยต้านทานการโจมตีด้วยขีปนาวุธและการโจมตีทางอากาศของรัสเซีย ระบบอาวุธดังกล่าวได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพสูงมาก ซึ่งจะช่วยให้ยูเครนสามารถปกป้องท้องฟ้าและความปลอดภัยของยุโรปทั้งหมดได้ จากรัสเซีย- รัฐสนับสนุนการก่อการร้าย”

“ถึงแม้ว่า รัสเซียมีขีปนาวุธและความได้เปรียบในด้านปืนใหญ่ก็จริง แต่เรามีบางอย่างที่ผู้ยึดครองไม่มี และจะไม่มี นั่นคือ เราปกป้องบ้านของเรา ซึ่งทำให้เรามีแรงจูงใจที่แข็งแกร่งที่สุด เราต่อสู้เพื่ออิสรภาพ ซึ่งทำให้เพิ่มพลังทวีคูณอยู่เสมอ เราปกป้องความจริงและสิ่งนี้ทำให้ทั้งโลกรวมเป็นหนึ่งเดียวในยูเครน”

นายโอเล็กซานเดอร์ ลีซัค (Oleksandr Lysak) อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตยูเครนประจำประเทศไทย

“เพื่อให้ผ่านพ้นฤดูหนาวนี้ไปได้ เราต้องปรับตัวและเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันให้มากขึ้นกว่าเดิม ปราศจากความขัดแย้งและการปะทะกันภายในซึ่งจะทำให้เราอ่อนแอ เราจึงต้องการให้มีความรู้สึกเชื่อมโยงถึงกัน ปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันให้มากขึ้นกว่าเดิม ต้องทำงานอย่างไม่หยุดยั้ง และทนทานต่อศัสตราวุธ”

“รัสเซียมักโจมตีโครงข่ายพลังงานของยูเครน ซึ่งรวมถึงสายส่งไฟฟ้าและสถานีหม้อแปลงไฟฟ้าแรงสูง ทำให้สถานการณ์พลังงานวิกฤตอย่างมาก เราขอขอบคุณหากจะมีการจัดหาอุปกรณ์ผลิตกระแสไฟฟ้าและระบบทำความร้อนแบบเคลื่อนที่ เพื่อช่วย ให้ครัวเรือน โรงพยาบาล และโรงเรียน สามารถปฏิบัติงานได้อย่างต่อเนื่องในกรณีที่ไฟดับดังเช่น เหตุการณ์หลังการโจมตีด้วยขีปนาวุธครั้งใหญ่ของรัสเซีย”

รัสเซียโจมตีโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานของยูเครนเป็นวงกว้างบ่อยครั้ง ทำให้ผู้คนหลายล้านอยู่ท่ามกลางความมืดมิด ไม่มีพลังงานสร้างความอบอุ่น ไม่มีไฟฟ้าและน้ำประปาใช้ ขณะที่เข้าสู่ฤดูหนาวและอุณหภูมิได้ลดต่ำลงกว่าศูนย์องศาเซลเซียส

แพทย์โรคหัวใจยังคงผ่าตัดหัวใจของผู้ป่วยแม้ไฟดับในเคียฟ การโจมตีโรงไฟฟ้าของรัสเซียบังคับให้แพทย์ยูเครนต้องทำงานภายใต้สภาวะกดดัน

“แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มอสโกก่ออาชญากรรมต่อยูเครน ในปีนี้ ชาวยูเครนรำลึกถึงเหตุการณ์ “โฮโลโดมอร์” (Holodomor) เมื่อ 90 ปีที่แล้ว โดยป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยูเครนด้วยความอดอยาก (ค.ศ.1932-1933) ซึ่งเป็นความอดอยากที่มนุษย์สร้างขึ้นโดยเจตนา จากนโยบายภายใต้ระบอบเผด็จการของลัทธิสตาลินแบบเบ็ดเสร็จ ได้คร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์นับล้านคน ส่วนผู้ที่รอดชีวิตก็กลายเป็นคนพิการ ความสยดสยองเหล่านี้สร้างบาดแผลลึกให้กับชาวยูเครนมาหลายชั่วอายุคน ผลจาก Holodomor ทำให้เกิดการต่อต้านจากมวลชนอย่างแข็งขัน จนกระทั่งระบอบการปกครองของสหภาพโซเวียตสิ้นสุดลง”

คำว่า โฮโลโดมอร์ หรือ ‘Holodomor’ เป็นคำที่ยูเครนหมายถึง การเข่นฆ่าด้วยความอดอยากหิวโหย (Killing by Starvation) หรือการปล่อยให้อดอยากหิวโหยจนถึงแก่ความตาย (Starving to Death)

เริ่มแรกจากความอดอยากอันเนื่องมาจากนโยบายด้านเศรษฐกิจรวมศูนย์ ที่ผลผลิตถูกยึดเป็นของส่วนรวม ซึ่งเรียกเอาผลผลิตปริมาณสูง จนกระทั่งเกิดภาวะความอดอยากอย่างกว้างขวางทั่วไปโดยเฉพาะปี 1932 และเป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์มหาทุพภิกขภัย (The Great famine) เป็นความอดอยากที่เกิดจากมนุษย์ มิใช่ภาวะความผิดปกติของธรรมชาติ เช่น ความแห้งแล้ง หรือพืชผลไม่ดี เพราะเป็นที่ทราบโดยทั่วไปว่า พื้นที่ดินดำอันกว้างใหญ่ไพศาลในยูเครนมีความอุดมสมบูรณ์ของดินและธรรมชาติสูงมาก ยูเครนจึงเป็นประเทศที่ถูกเรียกว่าเป็น “ตะกร้าขนมปังหรืออู่ข้าวอู่น้ำของยุโรป”

“การกระทำอันน่าสะพรึงกลัวไร้มนุษยธรรมและโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ระดับชาตินี้ ได้ถูกเก็บเป็นความลับโดยสหภาพโซเวียต ตลอดมา”

“เก้าทศวรรษหลังการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ รัฐบาลมอสโกได้ฟื้นฟูยุทธวิธีในช่วงทศวรรษที่ 1930 นำมาใช้กับชาวยูเครนอีกครั้ง เวลาเก้าเดือนของสงครามเต็มรูปแบบในปีนี้ ได้พิสูจน์แล้วว่า เป้าหมายของรัสเซียคือการทำลายประเทศยูเครน ทำลายอัตลักษณ์ วัฒนธรรม และภาษาของยูเครน ด้วยเหตุนี้ ผู้รุกรานจึงสังหารและเนรเทศชาวยูเครน ทำลายบ้านเมือง และเผาหนังสือของชาวยูเครน”

“เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ผู้บริสุทธิ์ซึ่งถูกฆ่าตายด้วยความอดอยาก เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลต่างประเทศ รวมทั้งราชอาณาจักรไทย ได้พิจารณา Holodomor ในยูเครนปี1932-1933 เป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยูเครนโดยการออกกฎหมาย ออกแถลงการณ์ และการยืนยันเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการกระทำดังกล่าว”

สายไฟขาด รัสเซียยังคงข่มขวัญผู้คนในยูเครนต่อไปโดยพุ่งเป้าไปที่โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญและทำให้ไฟดับทั่วประเทศ

ยูเครนแสดงความกระตือรือร้นในอันที่จะบรรลุสันติภาพอย่างยั่งยืน

“เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ประธานาธิบดียูเครน โวโลดีมีร์ เซเลนสกี (Volodymyr Zelenskyy) ได้นำเสนอ แผนสันติภาพ 10 ประการ ที่เรียกว่า “สูตรสันติภาพ” (Peace Formula) ซึ่งควรยุติสงครามรุกรานยูเครนของรัสเซีย ต่อที่ประชุมสุดยอด G20 ดังนี้

1. ความมั่นคงปลอดภัยทางนิวเคลียร์และรังสี

2. ความมั่นคงทางอาหาร สิทธิในอาหารเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคนในโลก ประธานาธิบดี Zelenskyy ประกาศเปิดตัวโครงการด้านมนุษยธรรม “Grain From Ukraine” โดยมีเป้าหมายเพื่อป้องกันความอดอยากในบางประเทศ ที่อยู่ในแอฟริกาและเอเชีย ซึ่งผู้คนกำลังเผชิญกับความไม่มั่นคงทางอาหารในระดับที่สูงจนน่าตกใจ ได้มีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ในการประชุมสุดยอดนานาชาติด้านความมั่นคงทางอาหารครั้งแรก และเราคาดว่าหลายประเทศทั่วโลกเข้าร่วมการริเริ่มนี้

3. ความมั่นคงทางพลังงาน รัสเซียใช้วิธีของผู้ก่อการร้ายโจมตีโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของยูเครน ระเบิดโรงไฟฟ้า หม้อแปลงไฟฟ้า และสายจ่ายไฟฟ้า พยายามขัดขวางชาวยูเครนหลายล้านคนจนไม่สามารถใช้ระบบทำความร้อนในช่วงฤดูหนาว รวมทั้ง น้ำ และการสื่อสาร

4. การปล่อยตัวนักโทษและผู้ถูกเนรเทศทั้งหมด

5. การดำเนินการตามกฎบัตรสหประชาชาติและการฟื้นฟูบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครนและระเบียบโลก

6. การถอนทหารรัสเซียและยุติการสู้รบ รัสเซียต้องถอนทหารและกองกำลังติดอาวุธทั้งหมดออกจากดินแดนของยูเครนภายในเขตแดนอันเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

7. การฟื้นฟูความยุติธรรม

8. การต่อต้านการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เนื่องจากการรุกรานของรัสเซียทำให้ธรรมชาติของยูเครนเสียหายเป็นวงกว้าง ที่ดินของเราเกือบสองแสนเฮกตาร์ปนเปื้อนด้วยทุ่นระเบิดและกระสุนที่ยังไม่ระเบิด

9. การป้องกันการลุกลามบานปลาย

10. การยืนยันการสิ้นสุดของสงคราม”

ในการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UNGA) ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อ 21 ก.ย. 2022 ประธานาธิบดี โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน ได้รับโอกาสให้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ผ่านวิดีโอ โดยเปิดเผยข้อเรียกร้องที่จะนำไปสู่สันติภาพ และขอให้มีการลงโทษรัสเซียในเวทีโลก และกล่าวว่า ยูเครนต้องการสันติภาพ ยุโรปต้องการสันติภาพ โลกต้องการสันติภาพ และเราได้เห็นว่าใครที่เป็นผู้เดียวที่ต้องการสงคราม มีเพียงชาติเดียวท่ามกลางสมาชิก UN ที่คงจะพูดขัดขึ้นมาว่า พวกเขาแฮปปี้กับสงคราม

ส่วนประเด็นเรื่องการเจรจาสันติภาพ ผู้นำยูเครนเผยว่า แม้รัสเซียจะแสดงออกว่าพร้อมที่จะเจรจา แต่ในขณะเดียวกันกลับสั่งระดมกำลังทหารเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังพยายามทำประชามติหลอกๆ ในดินแดนที่ยึดไปจากยูเครนอีกด้วย ขณะที่ยูเครนนั้นไม่ได้พร้อมแค่การเจรจา แต่ต้องการสันติภาพที่ซื่อตรงและยุติธรรมอย่างแท้จริง และนั่นคือเหตุผลที่ทำให้ทั่วโลกอยู่ข้างยูเครน

“เงื่อนไขในการเจรจาสันติภาพกับรัสเซีย 5 ประการ

1. การฟื้นฟูบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครน

2. การเคารพกฎบัตรสหประชาชาติ

3. การชดเชยความเสียหายทั้งหมดที่เกิดจากรัสเซีย

4. การลงโทษอาชญากรสงคราม

5. ให้การรับรองว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก”

ทั้งนี้ อุปทูตโอเล็กซานเดอร์ ลีซัค ได้สรุปว่า

“ยูเครนจะไม่ยินยอมหรือให้การประนีประนอมใด ๆในอันที่จะเกี่ยวกับความต่อเนื่องในการยึดครองดินแดนยูเครน นอกจากนี้ ยังเป็นการยอมรับอย่างเปิดเผยว่า การโจมตีด้วยขีปนาวุธเน้นทำลายโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของยูเครนนั้น ดำเนินการโดยมีจุดประสงค์เพื่อบังคับให้ประเทศของเราเข้าสู่การเจรจา”

“เนื่องจากสงครามของรัสเซียมีผลกระทบที่กว้างไกลและส่งผลกระทบในทางลบต่อความมั่นคงของโลกนอกเหนือไปจากยูเครนและทวีปยุโรป ยูเครนเชื่อว่า ความคิดริเริ่มนี้ควรเป็นรูปแบบสากล เพราะการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางของประเทศต่างๆ ทั่วโลกในการดำเนินการตาม “สูตรสันติภาพ” (Peace Formula) จะเป็นการช่วยให้บรรลุสันติภาพอย่างยุติธรรมและยั่งยืน” •

 

รายงานพิเศษ | ชนัดดา ชินะโยธิน

Chanadda Jinayodhin