นิธิ เอียวศรีวงศ์ : ‘ปรึกษาหารือ’ และ ‘แลกเปลี่ยน’

นิธิ เอียวศรีวงศ์

พจนานุกรม (ฉบับ 2493) บอกว่า “ปรึกษา” แปลว่า หารือ, ขอความเห็น หรือพิจารณาหารือ ส่วน “หารือ” แปลว่าอะไรไม่ได้บอก ทั้งๆ ที่น่าจะบอก เพราะหารือเป็นอีกคำหนึ่งไม่ใช่คำว่าหาบวกกับรือ

ต้องไปดูในพจนานุกรมฉบับ 2525 แปล “หารือ” ว่าขอความเห็นหรือปรึกษา

ผมไม่ได้ต้องการจะพูดว่าพจนานุกรมให้ความหมายไว้ผิด แต่ผมสงสัยว่านัยในเชิงวัฒนธรรมของคำนี้ สะท้อนความสัมพันธ์ที่ไม่เสมอภาคกันด้วย

คือถ้าแปลกันเผินๆ การปรึกษาหารืออาจทำโดยคนที่เท่าเทียมกัน มีความเห็นที่ขัดแย้งกันและคล้อยตามกันแล้วแต่คนที่ขอความเห็นจะเลือกเชื่อว่าจะเอาอย่างไหนไปปฏิบัติ

แต่การปรึกษาหารืออย่างนี้ไม่ค่อยเกิดขึ้นจริงในวัฒนธรรมไทยไม่ใช่หรือครับ เมื่อไรที่ใครขอหารือกับใคร เขาไม่ได้ต้องการแต่ความเห็น แต่ต้องการการอนุมัติ หรือการร่วมรับผิดชอบ หรือการยอมรับว่าผู้ขอหารือได้ให้เกียรติและความอ่อนน้อมแก่ผู้ให้คำปรึกษาตามสมควรแก่สถานะแล้วต่างหาก

ปรึกษาหารือกับผู้บังคับบัญชา คือการอนุมัติเพื่อให้ความเห็นชอบ อย่างน้อยก็โดยทางวาจา แสดงว่าทำอะไรไม่ข้ามหน้าข้ามตา “ผู้ใหญ่”

ในมหาวิทยาลัยและโรงเรียน มีตำแหน่งที่เรียกว่าอาจารย์ที่ปรึกษาแก่กิจกรรมหรือชมรมต่างๆ ที่นักเรียนจัดขึ้น แต่ผมไม่เคยเห็นอาจารย์ที่ปรึกษากับนักเรียนมีความสัมพันธ์ที่เท่าเทียมกันในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเลย อาจารย์ที่ปรึกษามักถูกตั้งขึ้นเพื่อรับผิดชอบกิจกรรมของนักเรียน ไม่ใช่รับผิดชอบต่อนักเรียนนะครับ แต่รับผิดชอบต่อผู้ใหญ่ที่เหนือไปกว่าอาจารย์ที่ปรึกษา และเพราะต้องรับผิดชอบต่อผู้ใหญ่ที่เหนือขึ้นไป จึงเป็นธรรมดาที่ต้องเข้าไปควบคุม

 

ผมเองก็เคยถูกนักศึกษาขอร้องให้เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาให้แก่กิจกรรมของเขา หน้าที่ของผมมีอย่างเดียวคือเซ็นชื่อรับเงินงบประมาณของทบวงมหาวิทยาลัยแทนนักศึกษา เนื่องจากนักศึกษาไม่อาจเซ็นรับเงินจากรัฐได้ แน่นอนว่าผมต้องเป็นผู้รับผิดชอบให้มีการทำบัญชีการใช้จ่ายให้ถูกต้อง มิฉะนั้น มหาวิทยาลัยจะไม่อาจเคลียร์เงินกับทางทบวงฯ ได้

นักศึกษาเขาไม่เคยปรึกษาอะไรผม อีกทั้งเขาคงไม่เคยคิดจะปรึกษาอะไรผมด้วย รับเงินจากมือผมแล้วก็จากกันขาดจนป่านนี้

ดูเหมือนผมกับเขาเท่าเทียมกันในความสัมพันธ์ดีอยู่ใช่ไหมครับ เปล่าเลย เพราะเนื่องจากผมเป็นคนเซ็นรับเงินและเซ็นอนุมัติให้เขาเอาเงินนั้นไปใช้ทำกิจกรรมอะไรที่เขาอยากจะทำ ผมจึงมีอำนาจที่ถูกสร้างมาให้เหนือเขาในระบบอยู่แล้ว หากผมต้องการผมสั่งระงับกิจกรรมของเขาได้ง่ายๆ โดยการไม่ยอมเซ็นให้เขาเบิกเงินเท่านั้น

ผมจะใช้อำนาจนั้นหรือไม่เป็นคนละเรื่อง แต่ระบบกำหนดไว้แล้วแต่ต้นว่าผมอาจให้คำสั่งในรูปของคำปรึกษาได้เสมอ

เหตุดังนั้น ผมจึงกล่าวว่าตำแหน่งอาจารย์ที่ปรึกษานั้น อาจมีพฤติกรรมอย่างใดก็ตาม แต่มีอำนาจแฝงอยู่ในระบบเหนือการให้ความเห็นอย่างแน่นอน และก็มีอาจารย์จำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะในโรงเรียนที่ใช้อำนาจนี้เต็มที่ แปรคำปรึกษาให้กลายเป็นคำสั่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้เสมอ

อันที่จริง ผมเข้าใจว่าทั้งมหาวิทยาลัยและโรงเรียน ไม่ได้คิดให้ชัดๆ มาแต่ต้นแล้วว่าอะไรคือบทบาทในเชิงสร้างสรรค์ของอาจารย์ที่ปรึกษา แต่ต้องการมีใครสักคนรับผิดชอบกับเงินหลวงหรือของหลวงซึ่งนักศึกษาและนักเรียนต้องใช้ในการทำกิจกรรมต่างหาก

ผมไม่ต้องการกล่าวโทษใครนะครับ เพราะโอกาสของความสัมพันธ์ที่เท่าเทียมกันนั้นไม่ค่อยมีในวัฒนธรรมไทยมากนัก โดยเฉพาะในหมู่ชนชั้นปกครองซึ่งให้แบบอย่างความสัมพันธ์ทางสังคมแก่คนชั้นกลาง

ดังนั้น การปรึกษาหารืออย่างเท่าเทียมกันจึงทำได้ยากมาก เพราะการปรึกษาหารือที่เท่าเทียนกันนั้นคือการสละอำนาจสำคัญ ได้แก่อำนาจการตัดสินใจ เอาอำนาจนั้นมาวางไว้ตรงกลาง ทำให้ทุกคนมีอำนาจเท่ากันหมด

มันอึดอัดครับ

คําว่า consult ในภาษาอังกฤษนั้นมีรากศัพท์มาจากภาษาละตินหรือฝรั่งเศสสมัยกลาง มีความหมายทำนองว่าประชุมเพื่อลงมติตัดสินใจหรือปรึกษาหารือ

น่าสังเกตความหมายอันแรกนะครับว่า ในการประชุมเพื่อลงมติตัดสินใจนั้น ผู้เข้าร่วมประชุมย่อมมีความเท่าเทียมกันกว่าการปรึกษาหารือผู้ใหญ่ของไทย

ฉะนั้น ถ้าจะแปลคำนี้จากภาษาอังกฤษว่าปรึกษาหารือจึงอาจทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อนได้ (แต่จะแปลว่าอะไรถึงตรงกว่าผมก็ไม่ทราบ)

ความเหนือกว่าของผู้ให้คำหารืออีกอย่างหนึ่งก็คือ เป็นผู้เหนือกว่าด้วยความรู้หรือความเชี่ยวชาญ เช่น กฤษฎีกาหรือสภาพัฒน์ ซึ่งมีหน้าที่ให้คำปรึกษาในทางกฎหมายหรือทางเศรษฐกิจของรัฐ ก็มีสถานะเหนือรัฐยังไงๆ อยู่นะครับ

สภาพัฒน์เห็นได้ชัดเพราะกฎหมายกำหนดไว้เลยว่าต้องให้ความเห็นชอบโครงการบางอย่าง ก่อนที่ ครม. จะอนุมัติได้ ฟังดูเหมือนเล็กกว่า ครม. แต่ถ้าสภาพัฒน์ไม่เห็นชอบ ก็ยากที่ ครม. ใดจะกล้าฝ่าคำปรึกษาหารือของสภาพัฒน์ไปได้ง่ายๆ

ส่วนกฤษฎีกานั้นลือชื่อในการแก้กฎหมายที่คนอื่นเขียนจนทำให้เจตนารมณ์ของร่างกฎหมายแรกมลายหายสูญไปเลย กฎหมายต่างๆ ที่รัฐบาลเสนอสภา โดยเฉพาะกฎหมายที่เริ่มมาจากหน่วยราชการ เอาเข้าจริงก็เป็นกฎหมายของกฤษฎีกาทั้งนั้น

จะตั้งใครหรืออะไรเป็นที่ปรึกษา จึงควรแน่ใจเสียก่อนว่าจะสามารถควบคุมให้เขาให้คำปรึกษาตามใจเรา…กลายเป็นเกมของอำนาจมากกว่า การระดมความคิดเห็นให้กว้างขวางก่อนการตัดสินใจ

อีกอย่างหนึ่งที่น่าสังเกตก็คือ ในที่ประชุมเพื่อปรึกษาหารือกันนั้น หากมีความสัมพันธ์ที่เท่าเทียมกันย่อมมีความเห็นขัดแย้งกันบ้างเป็นธรรมดา แต่วิธีจัดการกับความขัดแย้งในวัฒนธรรมไทยคือการหลบเลี่ยงมากกว่าเผชิญหน้ากับมันอย่างตรงไปตรงมา ฉะนั้น ที่ประชุมสำหรับการปรึกษาหารือจึงพัฒนาความขัดแย้งไปสู่การเรียนรู้ไม่ได้

เมื่อไรที่รู้สึกว่าเกิดความขัดแย้งเสียแล้ว ต่างฝ่ายต่างก็ต้องออกมากลบเกลื่อน หลบหลีก ไม่ให้เกิดบานปลายได้

ทำอย่างนี้ก็อาจดีในบางกรณี แต่ก็ไม่ดีในบางกรณี โดยเฉพาะกรณีที่เกี่ยวกับกิจการสาธารณะ

เช่น ความเห็นที่ไม่ตรงกันของผู้บริหารระดับสูง จะถูกเสนอในสื่อเหมือนเป็นความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งจะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเสมอ ทำให้ต่างฝ่ายต่างไม่กลับไปศึกษารวบรวมข้อมูลมาต่อสู้ผลักดันความคิดของฝ่ายตนอย่างเต็มที่

สังคมโดยรวมจึงไม่ได้เรียนรู้อะไรมากไปกว่าว่าคนคู่นั้นเขาขัดแย้งกัน

คงไม่ใช่ผมคนเดียวกระมังที่รู้สึกว่า ปรึกษาหารือในภาษาไทยมีความหมายถึงความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมกัน มีคำที่นักศึกษารุ่นใหม่และเอ็นจีโอนิยมใช้มากกว่าปรึกษาหารือ คือคำว่า “แลกเปลี่ยน”

แม้จะฟังดูแปร่งๆ ในภาษาไทย เช่น “อาจารย์ครับผมขอแลกเปลี่ยนเรื่องนั้นหน่อย”

แต่เออฟังดูเท่าเทียมกันขึ้นมากเลยนะครับ เพราะโดยความหมายของคำก็บอกอยู่แล้วว่า ไม่มีใครถูกหมด ไม่มีใครผิดหมด จึงคุ้มที่จะเอาความคิดอันบกพร่องนี้มาแลกเปลี่ยนกันเพื่อให้มันสมบูรณ์ดีขึ้น

ผมก็ชอบใช้คำนี้มากกว่า เพราะดูจะเปิดให้มีความขัดแย้งกันได้มากกว่าปรึกษาหารือเสียด้วย แถมขัดแย้งแล้วก็ไม่เสียหน้า เพราะเราเพียงแต่แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันเท่านั้น

ฉะนั้น เด็กรุ่นใหม่ที่ผมพบจึงไม่ค่อยปรึกษาหารือกัน แต่แลกเปลี่ยนกันมากกว่า

ผมก็เพียงแต่อยากจะบันทึกเรื่องนี้ไว้ให้ปรากฏว่า เด็กไทยที่ถูกโจมตีว่าใช้ภาษาไทยไม่เป็นนั้น เขามีสมองที่จะสร้างสำนวนใหม่สำหรับสถานการณ์ใหม่ที่เขาต้องเผชิญ แต่คนไทยรุ่นก่อนไม่ต้องเผชิญเหมือนกัน