‘ทรานส์-ข้ามเพศ’ ไทย-เขมรศึกษา | อภิญญา ตะวันออก

อภิญญา ตะวันออก

อัญเจียแขฺมร์ | อภิญญา ตะวันออก

 

‘ทรานส์-ข้ามเพศ’ ไทย-เขมรศึกษา

 

“เราเกิดมาเป็นหญิงข้ามเพศ เราข้ามอุปสรรคการต่อสู้กับตัวเอง การกลั่นแกล้ง การล่วงละเมิดทางเพศ หรือการสร้างธุรกิจ การมีลูกด้วยสเปิร์มตัวเองกับต่างชาติ แต่ไทยไม่รองรับ มันคือชะตาที่เรากำหนด

…แอนเชื่อว่า ธุรกิจนี้ไม่เพียงแต่สร้างชื่อและนำรายได้เข้าประเทศ แต่จะเป็นแรงผลักดันให้ผู้หญิงกำหนดชะตาชีวิตตัวเอง”

(แอน-จักรพงษ์/BBCthai)

ทันทีที่ “ดีล” บริษัทแม่มิสยูนิเวิร์สของสหรัฐตกอยู่ในกำมือ “เจเคเอ็นโกลบอลกรุ๊ป” พลัน โลกสหัสวรรษก็ได้รู้จักวิสัยทัศน์ของเธอ ผู้หญิงที่เป็น trans gender (หญิงข้ามเพศ) และนามว่า แอน-จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์

และเผยให้เห็นว่า นี่ไม่ใช่แค่เรื่องของการประกวดนางงามเท่านั้น แต่เป็นดีลธุรกิจระดับภูมิภาค ไม่ใช่เรื่องของเพศสภาวะ หรือว่าด้วยหญิงข้ามเพศ แต่เป็นเรื่องของมนุษย์และทุกคน

แอน จักรพงษ์ ยังทำให้เราเห็นว่า เม็ดเงินของเธอที่ใช้ไปกับการซื้อกิจการนางงามข้ามโลกครั้งนี้ มีคุณค่าที่จะต่อยอดและสยายปีกอิทธิพลอำนาจอ่อนนี้ต่อไปในมุมทั่วโลก นี่เป็นเม็ดเงินเพียงครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับค่าลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2022 แต่กลับสร้างมูลค่ามหาศาลต่อการท่องเที่ยวของไทย และภาคธุรกิจความงาม ตลอดจนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือ การเป็นผู้นำในภูมิภาคอาเซียน

หากจะมองภาพในแง่งามของศักยภาพโดยบุคคล นี่ไม่ใช่เรื่องราวหญิงข้ามเพศที่สนใจเรื่องธุรกิจความงามเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของการบริหาร ซึ่งวิสัยทัศน์ของเธอจะไปไกลกว่ากระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาด้วยซ้ำ สำหรับการตัดสินใจที่สร้างคุณูปการต่อภาคส่วนทางสังคม

และอย่างไม่มีวาระซ่อนเร้น

ใช่สินะ นี่จึงไม่ใช่เรื่องของคนข้ามเพศที่มีความทะเยอทะยานดังที่แซะเสียดสี แต่มีผลพวงกว่านั้น ไม่ว่าเธอคนนั้นจะเป็นทรานส์เจนเดอร์ที่เปลี่ยนเรือนร่างตัวเองแล้วหรือไม่? ซึ่งเรื่องนี้ แม้แอน จักรพงษ์ จะจีบปากจีบคอให้สัมภาษณ์ภายใต้เสื้อผ้าอลังการของเธอ แต่นั่นไม่ใช่ประเด็น

ภายใต้แบรนด์มิสยูนิเวิร์สที่ถูกตราหน้าว่าเป็นเรื่องของนางงามรักโลก (แต่บางครั้งก็ไร้สมอง) กอปรกับเมื่อเจ้าของเป็นชาวข้ามเพศด้วยแล้ว แต่แอน จักรพงษ์ กลับพิสูจน์ว่า สิ่งที่อยู่เหนือกว่าเพศสภาวะที่เธอจะปลดปล่อยมันออกมาและสร้างเป็นแรงบันดาลใจ

แต่อย่าลืมนะว่า ก็อาชีพนี้ไง ที่เจ้าของคนเก่าได้สั่งสมชื่อเสียงจนไต่เต้าไปตำแหน่งสูงของประเทศมหาอำนาจมาแล้ว สำหรับอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ใครจะรู้? แอน จักรพงษ์ “อาจเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงข้ามเพศคนแรกของไทยก็เป็นได้” เธอกล่าวไว้

“ถ้าสักวันหนึ่ง ประชาชนต้องการ!”

ว้าว! มันทำให้ฉันเห็นภาพอำนาจของความเป็นปัจเจก (ในทุกสถานะ) ที่เด่นชัดขึ้นมาในยุคสหัสวรรษ (21) และตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงในอีกข้างหน้า แต่ ขณะที่สตรีข้ามเพศไทยสามารถยืนหยัดในศักภาพแถวหน้าทั้งในประเทศและภูมิภาค และตอกย้ำศักยภาพของความเป็นมนุษย์อย่างแข็งแกร่งและมากขึ้นเรื่อยๆ อยู่นั้น

ด้านหนึ่ง ฉันหันไปมองกัมพูชาและพบว่าที่นั่น กำลังอยู่ในโลกแห่งความย้อนแย้ง และมีใครเลยที่ให้ความสำคัญต่อประเด็นเพศที่ 3 อันมีตัวตนในสมัยเขมรแดง ผ่านมา 40 ปี คนเหล่านี้ยังมีชีวิตบนประวัติศาสตร์บาดแผลและชะตากรรมของตัวเอง

อย่างไรงั้นรึ?

ที่ภูมิเล็กๆ ในชนบททางตะวันตกของกรุงพนมเปญ ข่าวคราวเกี่ยวกับกลุ่มหญิงรักหญิง (และชายรักชาย) ในวัยชรา ที่ตายายเหล่านี้ ต่างพากันประกาศตนในการอยู่ร่วมแบบชุมชนใหม่ตามเพศสภาวะของตน อธิบายว่า คล้ายๆ กับชาวบุปผาชนของทศวรรษที่ 60

นับเป็นสิ่งที่น่าประหลาดใจ สำหรับใครก็ตามที่พบกับข่าวประมาณนี้ แต่สื่อท้องถิ่นกัมพูชากลับเพิกเฉยในเรื่องราวนี้ ทั้งที่บุปผาชนเขมร (ตามที่ฉันนิยาม) อดีตคือยุวชนในสมัยเขมรแดงที่ถูกกระทำทารุณทางเพศด้วยวิธีคลุมถุงชนและบังคับสมรส

จากระบอบปกครองอันเลวร้ายในทศวรรษ 70 และกัมพูชาเองก็เคยนำประเด็นนี้สะสางในคดี 002 ของศาลอาญาระหว่างประเทศต่ออดีตผู้นำเขมรแดงซึ่งสิ้นสุดลงแล้ว ทว่า เรื่องราวของความเป็นมนุษย์และเพศสภาวะ ยังไม่มีวันสิ้นสุดอายุความว่า…ผลพวงของมันจากการไม่เคยได้รับการเยียวยา และนั่นหรือไม่ที่ทำให้เธอและเขาในวันนั้น ต่างพากันแสวงหาตัวตนเก่าในอดีตที่กลับมามีตัวตนอีกครา แม้ในวัยชรา?

แต่กระไร? กลับเป็นวันที่อัตลักษณ์ของพวกเธอถูกเก็บงำเหมือนจะให้ไร้ตัวตนการตีแผ่และถูกฝังไว้ไปกับประวัติศาสตร์บาดแผลในอดีตที่จริงแล้วไม่เคยถูกชำระสะสาง แต่กลับฝังอยู่วิธีกระทำและคติความเชื่ออันเป็นมาของคนประเทศนี้

กลุ่มชาวเพศเหล่านี้ ที่เหลือรอดจากสมัยเขมรแดง ผู้ที่ไม่รู้จักศัพท์บัญญัติสมัยใหม่ต่างๆ LGBTQ+ หรืออะไรนั้น? คำเขมรเดิมๆ อย่างพวกนิยมลักเพศหรือกะเทยยังคงถูกเรียกขานกัน และยังถือเป็นพฤติกรรมที่เลวร้ายน่ารังเกียจ เหล่านี้ โดยทีแล้ว “นี่ไม่ต่างจากการส่งพวกเธอเขาไปสู่การล้างเผ่าพันธุ์ครั้งที่ 2 แบบเดียวกับเขมรแดงแต่อย่างใด?”

หาใช่การเยียวยาโดยสังคมใหม่ ดังที่พวกตนเคยพยายามแสวงหามาตลอด 40 ปีที่กัมพูชา แต่ไม่เคยพบพาน กระทั่งออกไปตั้งรกราก “คอมมูน” ในแบบของตน ไม่ใช่ “คอมมูน” ในสมัยพลพต และรัฐบาลฮุน เซน ที่เคยบริภาษเลสเบี้ยนอย่างชิงชังต่อบุตรบุญธรรมของตนเอง

จึงเป็นเรื่องของชาวลักเพศที่ถูกตีตราความน่ารังเกียจเอาไว้อย่างบ้าคลั่ง

ตัวอย่างสั้นๆ คำวิจารณ์ “แก่จะตายห่า…อยู่แล้ว ยังไม่วายวิปริต!” ต่อกรณีที่คนกลุ่มนี้ออกไปใช้ชีวิตอย่างสมถะในแบบวิถีของตน ซึ่งการกะเทาะกลุ่มเพศสภาพในสังคมเขมรยังซับซ้อนไปกว่านั้นไม่ใช่แค่การถูกกดทับในความเป็นมนุษย์มาแต่ยุคเขมรแดง แต่การปิดกั้นความเท่าเทียมต่อทุกเพศสภาวะ ที่ยังปรากฏเสมอของที่นั่นคือสิ่งที่ผูกขาดมาแต่ละยุค

และนั่นต่างหากที่ทำให้เรื่องเพศสภาวะ (และอื่นๆ) ยังถูกผลิตซ้ำในกระบวนการกระทำต่อเพศที่ 3 อย่างไร้การถอดบทเรียน

แอน จักรพงษ์ ที่กล่าวว่า มันผิดตั้งแต่เธอเกิดมาในร่างกายอื่นซึ่งไม่ตรงกับจิตใจและนั่นก็น่าจะพอแล้ว หากเมื่อเกิดเป็น “คน” แล้ว ไม่ว่าจะเป็นทรานส์หรือมนุษย์เพศใด ทุกคนควรมีเสรีภาพและได้โอกาสในการสร้างฝันของตนเอง

การหยิบยกหญิงข้ามเพศของไทยคนนี้มาเป็นหัวข้อ จึงเป็นสิ่งที่ครอบคลุมกว้างใหญ่กว่า ประเด็นคู่ขนานเช่นที่เคยมีมาไม่ว่ากรณีเปรียบเทียบเยี่ยงหัวข้อวัฒนธรรมอ่อนไหวอย่างโขล/โขล รามเกียรติ์/เรียมเกร์เยี่ยงที่ผ่านมา

แต่เป็นสาระของความต่างบนทาง 2 แพร่งระหว่างไทย-เขมรที่มักถูกมองข้าม และเราไม่เคยคิดว่า ความเป็น individual หรือปัจเจกส่งสารแรงกระเพื่อม มากกว่านั้น นี่อาจเป็นสารแห่งการเปลี่ยนถ่ายโครงสร้างสังคมเก่าไปสู่ความเท่าทันของโลกสมัยใหม่ เยี่ยงเช่นแรงขับของหญิงข้ามเพศที่กล่าวว่า :

“เมื่อฉันเกิดมาเป็นทรานส์แล้ว เราอยากข้ามไปอีกขั้น ให้เหนือกว่าเพศสภาพที่ถูกร่างกายกำหนดมา”

และนี่คือคำตอบของความเป็นมนุษย์หรือไม่? สำหรับอคติใดๆ ที่ไม่อาจลบได้ในชั่วครึ่งศตวรรษดังที่เกิดขึ้นในเขมร และสำหรับขอบเขตความเป็นชาวทรานส์ในไทยที่กำลังก้าวขึ้นมาต่อรองผ่านอำนาจทางสังคม

บัดดล ฉันก็เข้าใจถึงการปฏิรูปเชิงโครงสร้างที่เกิดขั้นได้โดยอำนาจอ่อนอย่างมีพลวัต

และนี่ไม่ใช่เรื่องราวเล็กๆ ของใครในความเป็นเพศอื่นหรือทรานส์ที่ถูกนำมากล่าวถึง แต่เป็นมิติเชิงสังคมที่มีทั้งกดทับและเปิดกว้าง เพื่อมองกลับเข้าไปและออกมาสู่การแก้ปัญหาอื่นๆ ทั้งแบบองค์รวมและปัจเจก

ถึงตอนนั้น ในความเป็น “ทรานส์” โดยธรรมชาติที่จะเกิดขึ้นกับเจนยุคนี้ ไม่ว่าทรานส์โดยกายภาพหรือมิติทางความคิด และปัจจัยนี้ ได้เห็นว่าในไม่ช้า วัฒนธรรมอ่อน/แข็งอันยืดหยุ่นจะกลับมาและช่วยคลี่คลายเรื่องเพศสภาพในท้องถิ่นกัมพูชาและอาเซียน โดยไม่หวังว่าไทยข้ามเพศ (และไม่ทรานส์) ทั้งหลายจะเป็นผู้นำเทรนด์

แต่ที่เห็นขณะนี้ มันมีแนวโน้มเช่นนั้น