ทวนกระแสประวัติทุนนิยมจีน ฉบับโฮเฟิง หง (7) | เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม | เกษียร เตชะพีระ

 

ทวนกระแสประวัติทุนนิยมจีน

ฉบับโฮเฟิง หง (7)

 

ทุนจีนโพ้นทะเลในเอเชียตะวันออกอุทิศคุณูปการให้ทุนนิยมจีนบูมอย่างไร?

 

โฮเฟิง หง ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัย Johns Hopkins สหรัฐอเมริกา ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์และเศรษฐศาสตร์การเมืองจีน ได้ให้สัมภาษณ์ Daniel Denvir แห่งเว็บไซต์ The Dig ทบทวนประวัติเศรษฐกิจการเมืองทุนนิยมจีนในประเด็นปัญหาหลักๆ ที่น่าสนใจหลายประการเมื่อเดือนมีนาคมศกนี้ (https://thedigradio.com/podcast/china-boom-w-ho-fung-hung/)

ผมขอนำมาถ่ายทอดต่อดังนี้ :

 

แดเนียล เดนเวอร์ : (สรุปคำถาม : ทุนจีนโพ้นทะเลในเอเชียตะวันออกอุทิศคุณูปการให้ทุนนิยมจีนบูมอย่างไร?)

โฮเฟิง หง : ใช่แน่นอนครับ นักประวัติศาสตร์มากหลายได้ชี้ให้เห็นความสำคัญของชุมชนจีนโพ้นทะเลที่ว่านี้ ในทศวรรษที่ 1980 เมื่อจีนเปิดประเทศ จีนมีโครงสร้างพื้นฐานดีและกำลังแรงงานสุขภาพแข็งแรง อ่านออกเขียนได้จากชนบท แต่ถ้าไม่มีบรรดาผู้ประกอบการมาดูดซับและเปลี่ยนพวกเขาให้กลายเป็นอุตสาหกรรมส่งออกแล้วละก็ ข้อได้เปรียบทั้งหลายแหล่ที่จีนสมัยเหมามีอยู่ก็คงไม่มีราคาค่างวดมากเท่าไหร่หรอกครับ

สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือในทศวรรษที่ 1980 และ 1990 คนจีนโพ้นทะเลมากมายจากฮ่องกงเอย ไต้หวันเอย เกาหลีใต้เอย ญี่ปุ่นเอย และที่อื่นๆ ในเอเชียอาคเนย์ต่างพากันเคลื่อนเข้าสู่บริเวณชายฝั่งของจีนเพื่อดำเนินกิจการอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกอย่างประสบความสำเร็จครับ

ผู้บุกเบิกเหล่านี้มีประสบการณ์จัดทำหัตถอุตสาหกรรมป้อนตลาดสหรัฐและยุโรปมาแล้วหลายชั่วอายุคน พวกเขารู้ดีว่าต้นไม้ประดับคริสต์มาสชนิดไหนตลาดเหล่านี้ชอบ เครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์อะไรจะขายออก และเสื้อผ้าประเภทใดถือเป็นแฟชั่นยอดนิยมนะครับ

ดูข้อมูลประกอบประเด็นดังกล่าวนี้ในอัตชีวประวัติของ Dhanin Chearavanont ชุด My Personal History ซึ่งเผยแพร่ในเว็บไซต์นิตยสาร Nikkei Asia ตอนที่ 18 Company 0001, the first foreign company in Shenzhen; 19 Motorbikes in China and the value of thinking differently; & 21 Faith in Deng Xiaoping, growth for CP Group ที่ https://asia.nikkei.com/Spotlight/My-Personal-History/Dhanin-Chearavanont ต่อมาบทความทั้งชุดรวมพิมพ์เป็นเล่มดังภาพปกข้างต้นเมื่อปี 2019 – ผู้แปล

ดังนั้น จีนก็เลยได้เรียนรู้ทางลัดแบบนี้เพราะมีชุมชนจีนโพ้นทะเลดังกล่าวบวกกับทุนญี่ปุ่นและเกาหลีคอยช่วยครับ และพวกเขาไม่ได้มีแค่เงินทองและทุนที่ว่าเท่านั้นนะครับ แต่ยังเชื่อมต่อเข้ากับตลาดบริโภคอย่างดีด้วย

เปรียบกันไปแล้ว เนื่องจากสหภาพโซเวียตและอดีตประเทศสังคมนิยมในยุโรปตะวันออกอื่นๆ ไม่มีทั้งชุมชนโพ้นทะเลและเงินทุนที่จำเป็นเพื่อระดมทรัพยากรของตนขึ้นมาตอนเปิดประเทศ ผลเลยกลายเป็นว่า พวกกลุ่มคณาธิปัตย์กับเจ้าหน้าที่ทุจริตคอร์รัปชั่นพากันเข้าฉวยยึดเอาทรัพยากรไป แล้วเรื่องหลังจากนั้นก็อย่างที่เป็นมาในประวัติศาสตร์นั่นแหละครับ

แต่พอจีนเปิดประเทศ ปรากฏว่ามีทุนชุมชนจีนโพ้นทะเลรวมทั้งทุนญี่ปุ่นและเกาหลีมากโขคอยท่าอยู่แล้ว ซึ่งได้สะสมกันขึ้นมาโดยอาศัยสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์เฉพาะเจาะจงสมัยสงครามเย็น (หลังสงครามโลกครั้งที่สองตั้งแต่ 1945-1991 https://historyhub.history.gov/docs/DOC-1094) ตอนสงครามเย็นขึ้นสู่กระแสสูงนั้น สหรัฐถือว่าเอเชียตะวันออกเป็นพื้นที่ล่อแหลมยิ่งซึ่งอาจตกเป็นของคอมมิวนิสต์ได้ อย่างเกาหลีใต้ก็ถูกเกาหลีเหนือคุกคามอยู่เสมอ ไต้หวันก็ถูกจีนคอมมิวนิสต์คุกคาม ฮ่องกงและแม้กระทั่งสิงคโปร์ก็เช่นกันนะครับ

สิงคโปร์น่ะแทบจะกลายเป็นเหมือนคิวบาของเอเชียอาคเนย์เทียวนะครับ ถ้าคุณดูประวัติศาสตร์ของสิงคโปร์หลังได้เอกราช ปรากฏว่าพรรคกิจประชาชน (People’s Action Party) น่ะเคยเป็นพรรคฝ่ายซ้ายครับ จนกระทั่งลีกวนยูสมคบคิดกับหน่วยข่าวกรองของสหรัฐอเมริกากับสหราชอาณาจักรเพื่อก่อรัฐประหาร และกวาดจับบรรดานักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้ายในพรรคของตัวเองเรียบวุธ แล้วเปลี่ยนสิงคโปร์ให้กลายเป็นรัฐสังคมประชาธิปไตยที่ไร้ประชาธิปไตย (ในทำนองรัฐสวัสดิการแบบอำนาจนิยม – ผู้แปล) สิงคโปร์ถึงได้กลายเป็นป้อมปราการของสงครามเย็นนับแต่นั้นมาแหละครับ

แต่ประเทศต่างๆ แถวนี้ล่อแหลมยิ่งนะครับในมุมมองของสหรัฐน่ะ และฉะนั้น เราถึงได้เจอกับสงครามเกาหลี (1950-1953) และสงครามเวียดนาม (1955-1975) ซึ่งเป็นสงครามร้อน ณ จุดสูงสุดของสงครามเย็นไงครับ

จีดีพี/หัวของทุนนิยมจีนบูมนับแต่การปฏิรูปเศรษฐกิจของเติ้งเสี่ยวผิงปี 1978 https://www.weforum.org/agenda/2015/07/brief-history-of-china-economic-growth/ & ธนินท์ เจียรวนนท์ ผู้บริหารกลุ่มซีพีเข้าพบเติ้งเสี่ยวผิง ผู้นำสุดยอดของจีน เมษายน 1990 https://asia.nikkei.com/Spotlight/My-Personal-History/Dhanin-Chearavanont/Dhanin-Chearavanont-21-Faith-in-Deng-Xiaoping-growth-for-CP-Group2

แดเนียล เดนเวอร์ : รวมทั้งรัฐประหารในอินโดนีเซียด้วยใช่ไหมครับ? (ปี 1965 ดู Vincent Bevins, “What the United States Did in Indonesia”, published 21 October 2017, https://www.theatlantic.com/international/archive/2017/10/the-indonesia-documents-and-the-us-agenda/543534/ รวมทั้งหนังสือของ Bevins เรื่อง The Jakarta Method: Washington’s Anticommunist Crusade and the Mass Murder Program That Shaped Our World, 2020)

โฮเฟิง หง : ใช่ครับ พร้อมกับรัฐประหารในอินโดนีเซีย รวมทั้งกรณีคล้ายกันในมาเลเซีย ประเทศไทยและฟิลิปปินส์ คุณก็ได้เห็นการเคลื่อนไหวจรยุทธ์ของคอมมิวนิสต์ในชนบทอย่างแข็งขันด้วย ฉะนั้น นโยบายของสหรัฐต่อบรรดาเกาะทุนนิยมเหล่านี้ ตั้งแต่ฮ่องกงไปสิงคโปร์ ไต้หวัน เกาหลีใต้และญี่ปุ่น จึงโอบอุ้มเอื้อเฟื้อ ยิ่งในแง่เปิดตลาดสหรัฐออกรับสินค้าบริโภคของประเทศดังกล่าว เทียบกันไปแล้ว พวกนักหัตถอุตสาหกรรมในละตินอเมริกาเอย แอฟริกาเอย และที่อื่นๆ ไม่เคยได้รับการโอบอุ้มเอื้อเฟื้ออย่างนี้เลยนะครับ

สภาพเงื่อนไขภูมิรัฐศาสตร์ดังกล่าวก็เลยสร้างภาวะแวดล้อมที่เป็นคุณยิ่งให้พวกนายทุนได้เติบโตในบรรดาเกาะทุนนิยมเหล่านี้ระหว่างช่วงสงครามเย็นครับ พอจีนเปิดประเทศ ผู้ประกอบการเหล่านี้จึงกระเหี้ยนกระหือรือและพร้อมพรักที่จะเข้าจีนไปฉวยโอกาสใช้ประโยชน์จากแรงงานและโครงสร้างพื้นฐานของจีนครับ

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)