อุษาวิถี (8) อุษาวิถีจากกระแสอินเดีย (ต่อ) | วรศักดิ์ มหัทธโนบล

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เงาตะวันออก | วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 

อุษาวิถี (8)

อุษาวิถีจากกระแสอินเดีย (ต่อ)

 

เห็นได้ชัดว่า ในขณะที่รัฐมคธกำลังเรืองอำนาจขึ้นโดยลำดับนั้น ทางแรกนับว่ากระทำได้ยากยิ่ง นอกเสียจากการคงฐานะเมืองขึ้นของตนเอาไว้เพื่อความอยู่รอด ส่วนในทางที่สองนั้นถือเป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างมากสำหรับผู้อยู่ในวรรณะกษัตริย์ ซึ่งถือเป็นฐานะที่มีความเป็นอยู่ทางโลกที่สุขสบาย แม้จะต้องขึ้นต่อรัฐที่ใหญ่กว่าก็ตาม

เหตุดังนั้น หากผู้ที่อยู่ในวรรณะกษัตริย์เลือกทางที่สอง ก็ย่อมหมายความว่าจะต้องสละความสุขสบายของตนด้วยการมีชีวิตเยี่ยงนักบวชทั้งหลาย

ในเวลานั้นมีผู้สละตนในทางโลกเพื่อแสวงหาสัจธรรมมาแก้ปัญหาสังคมอินเดียอยู่ไม่น้อย อันที่จริงแล้ว ฐานะของคนเหล่านี้ไม่ต่างกับผู้อยู่ในวรรณะพราหมณ์ แต่สิ่งที่ทำให้ต่างออกไปก็คือ การดำเนินชีวิตที่ไม่เข้มงวดกวดขันโดยไม่ร่วมกินร่วมอยู่กับวรรณะอื่นๆ ที่ต่ำกว่า อันเป็นสิ่งที่พวกพราหมณ์ถือกันอย่างเคร่งครัด เพื่อรักษาวรรณะของตนให้บริสุทธิ์

ด้วยเหตุนี้ ผลที่ตามมาจึงกลายเป็นว่า นักบวชผู้สละซึ่งทางโลกเหล่านี้ได้รับการอุปถัมภ์ค้ำชูการดำเนินชีวิตจากสังคมผ่านการภิกขาจาร ซึ่งจะต้องไม่เลือกว่าเป็นการกินการอยู่ที่ดีหรือไม่ หรือคนในวรรณะใดเป็นผู้ให้หรือผู้ปรุงอาหาร

แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีส่วนทำให้บรรดานักบวชเหล่านี้มีเวลาในการคิดค้นสัจธรรมหรือปรัชญามาสนองตอบแก่สังคม โดยไม่ต้องวิตกกังวลกับปัจจัยในการดำรงชีวิต ดังที่พวกพราหมณ์เองก็เป็นเช่นนั้น

การปรากฏขึ้นของนักบวชในเวลานั้น จึงนับเป็นการท้าทายผู้อยู่ในวรรณะพราหมณ์อย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อนักบวชเหล่านี้ได้รับการเคารพยกย่องจากสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ

 

แต่กล่าวสำหรับสิทธัตถะแล้วได้เลือกทางที่สองด้วยการหนี “ออกบวช” ซึ่งก็เท่ากับว่า สิทธัตถะปฏิเสธการก้าวขึ้นเป็นจักรพรรดิ แล้วสร้างกบิลพัสดุ์ให้เป็นจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่เกรียงไกร และมองไม่เห็นว่านั่นคือ หนทางที่จะแก้ปัญหาความยุ่งยากให้แก่สังคมได้

ในขณะเดียวกัน ณ เวลาที่ออกบวช สิทธัตถะก็ยังมิได้ค้นพบสัจธรรมโดยทันที แต่สิ่งที่ถูกกระทำโดยทันทีก็คือ การมุ่งไปสู่รัฐมคธ

ไม่มีหลักฐานที่ชี้ถึงสถานะทางการเมืองของกบิลพัสดุ์ในขณะนั้นอย่างเป็นรูปธรรม ว่ามีความทุกข์ยากภายใต้อิทธิพลของรัฐโกศลเพียงใด แต่การที่สิทธัตถะ ซึ่ง ณ บัดนี้ได้เปลี่ยนฐานะเป็น “พระศากยมุนี” ไปแล้ว

และได้มุ่งไปสู่รัฐมคธที่กำลังเรืองอำนาจยิ่งขึ้นทุกขณะนั้น นับว่ามีความหมายทางการเมืองอยู่ไม่น้อย

เพราะมีแต่มุ่งสู่รัฐซึ่งอยู่ห่างจากกบิลพัสดุ์ประมาณ 600 กิโลเมตรแห่งนี้เท่านั้น จะทำให้ยากแก่การติดตามทั้งจากรัฐโกศลและกบิลพัสดุ์ ซึ่งถือเป็นคนละฝ่ายกับรัฐมคธ และจะทำให้การแสวงหาสัจธรรมของพระศากยมุนีคลายอุปสรรคลง

ความมุ่งมั่นเช่นนี้ของพระศากยมุนีไม่ได้สั่นคลอนแม้เมื่อเข้ามาในกรุงราชคฤห์ นครหลวงของรัฐมคธแล้ว โดยเฉพาะเมื่อพระศากยมุนีปฏิเสธข้อเสนอของพระเจ้าพิมพิสาร กษัตริย์แห่งรัฐมคธ ซึ่งเสนอที่จะยกทรัพย์สมบัติและกองทัพให้อยู่ในการควบคุมดูแลของพระศากยมุนี

หากพระองค์กลับมาอยู่ในฆราวาสวิสัย

อันเห็นได้ชัดว่า หากพระศากยมุนีรับข้อเสนอนี้ไว้ ผลที่ตามมาก็คือ รัฐมคธจะรวมเอารัฐโกศลมาอยู่ใต้อำนาจได้ง่ายขึ้น และในขณะเดียวกันก็ไม่ได้หมายความว่า กบิลพัสดุ์จะเป็นอิสระจากรัฐมคธไปด้วยไม่

 

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากผ่านเวลาอันมากด้วยอุปสรรคนานัปการถึงหกปี พระศากยมุนีก็ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้สำเร็จ

การมุ่งแสวงหาสัจธรรมของพระองค์ได้บรรลุมรรคผลด้วยประการทั้งปวง ภายหลังการเผยแผ่สัจธรรมไปแล้วระยะหนึ่ง ปรากฏว่ามีผู้รับเชื่อและศรัทธาต่อสัจธรรมของพระศากยมุนีไม่น้อย

ในบรรดาผู้ศรัทธาเหล่านี้มีจำนวนนับพันที่บวชเป็นพระภิกษุ และมีไม่น้อยจากผู้ที่บวชมีภูมิหลังเป็นพราหมณ์มาก่อน

ปรากฏการณ์การเกิดขึ้นของหลักสัจธรรมของพระศากยมุนีดังกล่าวปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ได้เข้ามาสั่นคลอนอิทธิพลคำสอนของศาสนาพราหมณ์อย่างรุนแรง

และไม่เป็นที่สงสัยเลยว่า ศาสนาพราหมณ์ได้ถูกท้าทายอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนจากห้วงเวลาหลายร้อยปีของพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ในเวลานั้น

สิ่งท้าทายศาสนาพราหมณ์ของศาสนาพุทธที่ทรงพลังและมีความสำคัญอย่างยิ่งก็คือ การโจมตีหลักคำสอนในเรื่องพิธีกรรมและเรื่องระบบวรรณะที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมอินเดียขณะนั้น และเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งของวิกฤตการณ์ในขณะนั้น

ที่สำคัญก็คือ การอุบัติขึ้นของศาสนาพุทธไม่เพียงไม่ถูกปฏิเสธจากรัฐมคธเท่านั้น หากแม้แต่พระเจ้าพิมพิสาร ซึ่งครองรัฐแห่งนี้ที่ทรงอำนาจที่สุดในขณะนั้น ก็ยังทรงเลื่อมใสต่อสัจธรรมของพระศากยมุนี

จนได้ถวาย “เวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน” ให้เป็นวัดแห่งแรกของพุทธศาสนาอีกด้วย ซึ่งต่อมารู้จักกันในชื่อ “เวฬุวนาราม”

 

แม้การอุบัติขึ้นของศาสนาพุทธจะสั่นสะเทือนสังคมอินเดียขณะนั้นไม่น้อยก็ตาม แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดประการหนึ่งก็คือ พระศากยมุนีหาได้นำตนเข้าไปสัมพันธ์กับสถาบันทางการเมืองโดยตรงไม่

เราจึงไม่พบบทบาททางการเมืองของพระศากยมุนี มากไปกว่าการนำหลักธรรมคำสอนของพระองค์มาเผยแผ่แก่บรรดาวรรณะกษัตริย์ในขณะนั้น และไม่พบบทบาทในการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดของการเปลี่ยนแปลงสถาบันทางการเมือง มากไปกว่าการบริหารสถาบันสงฆ์ภายใต้การนำของพระองค์ซึ่งเติบโตขึ้นทุกขณะ

ด้วยเหตุนี้ แม้ศาสนาพุทธจะช่วยผ่อนคลายวิกฤตการณ์ในขณะนั้นอยู่ไม่น้อยก็ตาม แต่ไม่ได้หมายความว่า การเผชิญหน้าระหว่างรัฐต่างๆ ที่ดำรงอยู่ในสังคมอินเดียเมื่อก่อนหน้านี้จะสลายตามไปด้วย

ในช่วงที่ศาสนาพุทธทวีบทบาทสูงขึ้นทุกขณะนั้น พระศากยมุนีทรงปกครองหมู่สงฆ์บนฐานของความเสมอภาค การแบ่งชั้นวรรณะที่ถูกต่อต้านจึงไม่ปรากฏให้เห็นอย่างที่ศาสนาพราหมณ์เป็น