ดินระเบิด สงคราม และยาวิเศษ | ภาคภูมิ ทรัพย์สุนทร

ภาคภูมิ ทรัพย์สุนทร

ดินระเบิด สงคราม และยาวิเศษ (1)
ซีรีส์ประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมไบโอเทค ตอนที่ 2

 

การแข่งขัน และสงครามคือตัวเร่งการเคลื่อนย้ายผู้คน การแลกเปลี่ยนการบ่มเพาะไอเดียให้ผลิดอกออกผล

ความเดิมตอนที่แล้วเล่ากำเนิดอุตสาหกรรมไบโอเทคผ่าน “ประวัติศาสตร์เบียร์” [1]

บทความสองตอนจากนี้เป็นภาคต่อที่เข้มข้นยิ่งขึ้นช่วงคาบเกี่ยวมหาสงครามโลกทั้งสองครั้ง เป็นเรื่องราวของแบคทีเรียและราที่ปฏิวัติวงการอาหารและเคมีภัณฑ์ เรื่องราวการสร้างชาติ และการก้าวสู่อำนาจของหนึ่งในบริษัทยาที่ใหญ่ที่สุดแห่งยุคปัจจุบัน

กลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 คลื่นผู้อพยพชาวเยอรมันกว่าล้านคนหนีความวุ่นวายทางการเมืองและเศรษฐกิจสู่สหรัฐอเมริกา [2]

นอกจากพวกที่นำธุรกิจและวัฒนธรรมการดื่มเบียร์เข้ามาแล้วยังมีลูกพี่ลูกน้องชาวเยอรมันคู่หนึ่งนามว่า Charles Pfizer และ Charles F. Erhart มาตั้งร้านยาและเคมีภัณฑ์เล็กๆ ที่นิวยอร์กในปี 1849 มีผลิตภัณฑ์ขายดีตัวแรกคือ Santonin (ยาถ่ายพยาธิ)

บริษัท Pfizer & Co. Inc. เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงสงครามกลางเมืองสหรัฐ (Civil War) ในฐานะผู้ผลิตยาฆ่าเชื้อและยาแก้ปวดให้กองทัพฝ่ายเหนือ [3]

อาจจะด้วยความขี้เมาที่มาพร้อมชาวยุโรปอพยพและความเละเทะจากสังคมเมืองที่ขยายตัวขึ้น ทำให้กระแสต่อต้านการดื่มสุราในสหรัฐขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ หลังสงครามกลางเมือง [4]

เทรนด์เครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์ (soft drink) ก็เริ่มมา บริษัทน้ำอัดลมยักษ์ใหญ่อย่าง Coca-Cola และ Pepsi-Cola ถือกำเนิดขึ้นช่วงปลายศตวรรษที่ 19 นี้ [5]

ส่วนทาง Pfizer ก็ได้ตลาดใหม่เป็นการผลิตกรดซิตริก (citric acid) สารให้ความเปรี้ยวสำหรับอาหารและเครื่องดื่มโดยเฉพาะผู้ผลิตน้ำอัดลม

กรดซิตริกสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำจน Pfizer เติบโตแบบก้าวกระโดดช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 [6]

สำนักงานและคลังสินค้าของ Pfizer ที่ชิคาโกช่วง ค.ศ.1882

ทางฟากยุโรปปลายศตวรรษที่ 19 เด็กชายชาวยิวนามว่า Chaim Weizmann เติบโตในครอบครัวขยายท่ามกลางพี่น้อง 15 คน แม้ฐานะทางบ้านจะยากจนแต่ครอบครัวยิวออร์โธดอกซ์นี้ก็มุ่งมั่นส่งลูกทุกคนให้ได้เรียนสูงๆ [7]

Weizmann เรียนจบด๊อกเตอร์ด้านเคมีจากสวิตเซอร์แลนด์ก่อนจะได้เป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ที่อังกฤษ

Weizmann เป็นนักวิจัยนักประดิษฐ์ขั้นเทพมีผลงานสิทธิบัตรกว่าร้อยรายการ นอกจากนี้ ยังเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองตัวยงของกลุ่ม Zionist ขบวนการฟื้นฟูชาติชาวยิว ณ ดินแดนปาเลสไตน์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิออตโตมันขณะนั้น

แม้ว่า Weizmann จะเริ่มต้นจากฐานงานวิจัยด้านเคมีของสีย้อม และสารให้กลิ่น แต่หนึ่งในงานที่สร้างชื่อให้เขามากที่สุดกลับเป็นงานสายจุลชีววิทยาอุตสาหกรรม

Weizmann พัฒนาเทคนิคการเพาะเลี้ยงและผลิตอะซิโตน/บิวทานอล/เอทานอลจากการหมักข้าวโพดและมันฝรั่งด้วยแบคทีเรียชนิด Clostridium acetobutylicum

ช่วง 1914-1918 สงครามโลกครั้งที่หนึ่งระหว่างฝ่ายมหาอำนาจกลาง (นำโดยเยอรมนี ออสเตรีย ฮังการี และออตโตมัน) และสัมพันธมิตร (นำโดยอังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา) ทำให้ห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกหยุดชะงักข้าวยากหมากแพงกันไปทั่ว

วิกฤตการณ์นี้เร่งให้แต่ละชาติต้องหันมาสร้างเทคโนโลยีเพื่อพึ่งพาตัวเองมากกว่าเก่า

หนึ่งในเทคโนโลยีหลักที่บูมขึ้นมาสุดๆ ช่วงนี้คือเทคโนโลยีการหมัก (fermentation) หรือพูดกว้างๆ คือการเล่นแร่แปรธาตุ เปลี่ยนสารหนึ่งเป็นอีกสารที่เราต้องการด้วยจุลินทรีย์

สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Western_Front_%28World_War_I%29.jpg

จากเดิมที่การหมักเชิงอุตสาหกรรมหลักๆ มีแค่การเอายีสต์มาผลิตแอลกอฮอล์ในเหล้าเบียร์ สงครามโลกครั้งที่หนึ่งบีบให้เราคิดนอกกรอบกว่านั้นมาก

ตัวยีสต์เองถูกเอามาใช้เป็นส่วนประกอบสำคัญของอาหารสัตว์ที่กำลังขาดแคลนในเยอรมนี [10] ถูกดัดแปลงเป็นอาหารมนุษย์อย่าง vegmite ในออสเตรเลีย [11]

นอกจากนี้ ยังมีจุลินทรีย์อย่างอื่นที่ถูกเอามาใช้ในการผลิตยุทธภัณฑ์หรือสารเติมอาหารที่จำเป็น

อังกฤษต้องการอะซีโตนปริมาณมหาศาลเพื่อผลิตคอร์ไดต์ (cordite) ส่วนประกอบในดินระเบิดและวัสดุเคลือบปีกเครื่องบิน

เดิมทีอะซีโตนได้จากการกลั่นอะซีติกในเนื้อเยื่อไม้ ไม้ร้อยตันได้อะซิโตนแค่ราวๆ หนึ่งตันเท่านั้น แถมอะซีโตนในอังกฤษส่วนมากต้องซื้อจากคู่สงครามอย่างเยอรมันและออสเตรีย

กระบวนการหมักของ Weizmann ผลิตอะซีโตนได้ถึง 12 ตันจากข้าวโพดร้อยตัน

ช่วงสงคราม โรงหมักอะซีโตนถูกก่อตั้งขึ้นที่อังกฤษ แคนาดา และสหรัฐอเมริกา แค่ที่อังกฤษอย่างเดียววิธีนี้ผลิตอะซีโตนได้กว่า 3,000 ตันต่อปีเพื่อป้อนกองทัพ [12]

ถังหมักอะซีโตนที่โตรอนโต แคนาดา ช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

Ref: https://microbiologysociety.org/publication/past-issues/world-war-i/article/acetone-production-during-the-first-world-war.html

ฟากสหรัฐอเมริกาบริษัท Pfizer ผู้ผลิตกรดซิตริกรายใหญ่ก็ประสบปัญหาหนักเนื่องจากกระบวนการผลิตต้องอาศัยวัตถุดิบคือผลไม้กลุ่มซิตรัส (Citrus fruit) อย่างส้มมะนาวจากอิตาลี [13] Pfizer จึงต้องหันมาวิจัยทางเลือกอื่นในการผลิตกรดซิตริก

ทีมวิจัยของ Pfizer นำโดยนักเคมีอาหาร James Currie พัฒนาวิธีการผลิตกรดซิตริกจากหมักน้ำตาลด้วยเชื้อราชนิด Aspergillus niger

ภายในหนึ่งปีหลังเปิดทำการโรงงานต้นแบบแห่งเดียวของ Pfizer สามารถผลิตกรดซิตริกกว่าครึ่งของกำลังการผลิตทั้งโลก ราคากรดซิตริกร่วงลงมากว่าครึ่งในไม่กี่ปี วิธีการนี้ยังคงเป็นวิธีการหลักในการผลิตกรดซิตริกจนถึงปัจจุบัน [14]

ผลงานผลิตอะซิโตนทำให้ Weizmann ได้รับขนานนามว่าเป็นบิดาแห่งการอุตสาหกรรมการหมัก (Father of Industrial Fermentation) และยังสร้างชื่อให้เขาในหมู่นักการเมืองระดับสูงของอังกฤษ

อิทธิพลของ Weizmann เป็นหนึ่งปัจจัยเบื้องหลัง The Balfour Declaration ในปี 1917 นี่คือคำประกาศสนับสนุนอย่างเป็นทางการของรัฐบาลอังกฤษต่อการจัดตั้งประเทศของชาวยิวในดินแดนปาเลสไตน์ตามความใฝ่ฝันของเหล่า Zionist อย่าง Weizmann [15]

ส่วนผลงานผลิตกรดซิตริกก็ทำให้ Pfizer กลายเป็นเจ้าแห่งการผลิตเคมีภัณฑ์จากการหมักช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เทคโนโลยีฐานที่ได้จากการหมักกรดซิตริกถูกต่อยอดเป็นกระบวนการหมักผลิตสารตัวอื่นอย่างกรดกลูโคนิก (gluconic acid) ที่ใช้เป็นสารถนอมอาหาร/ทำความสะอาด และกรดแอสคอร์บิก (ascorbic acid) หรือวิตามินซี [13] Pfizer ยังออกผลิตภัณฑ์วิตามินและแร่ธาตุเสริมอีกหลายตัวจนกลายเป็นเบอร์หนึ่งโลกด้านนี้

ไม่นานหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง K?roly Ereky วิศวกรการเกษตรชาวฮังกาเรียนบัญญัติคำว่า “biotechnology” เรียกศาสตร์ใหม่ว่าด้วยการใช้เทคโนโลยีเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตในการอัพเกรดวัตถุดิบเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง

Ereky เชื่อว่าศาสตร์นี้แหละจะมาช่วยแก้ปัญหาความอดอยากขาดแคลนต่างๆ ของมนุษย์อย่างเช่นที่เพิ่งประสบกันมาช่วงสงคราม

หนังสือขายดีของเขาในชื่อ biotechnologie ถูกแปลและตีพิมพ์ในหลายภาษา เป็นแรงบันดาลใจให้นักวิจัย ภาคธุรกิจและนักวางนโยบายของรัฐมากมายหลังจากนั้น

อานุภาพของ biotechnology จะถูกพิสูจน์อีกครั้งในมหาสงครามโลกครั้งที่สองเพียงไม่กี่สิบปีหลังจากนั้น

อ้างอิง

[1] จากโรงเบียร์ถึงห้องแล็บ (ซีรีส์ประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมไบโอเทค ตอนที่ 1)

[2] https://www.ushistory.org/us/25f.asp

[3] https://pharmaphorum.com/sales-marketing/a_history_of_pfizer/

[4] https://ohiohistorycentral.org/w/Temperance_Movement

[5] https://traveltomorrow.com/the-history-of-coca-cola-where-it-was-banned-and-why

[6] https://www.bbc.com/news/business-27309851

[7] https://www.britannica.com/biography/Chaim-Weizmann

[8] https://www.weizmann.ac.il/WeizmannCompass/sections/people-behind-the-science/chaim-weizmann%E2%80%99s-acetone-patent-turns-100

[9] https://microbiologysociety.org/publication/past-issues/world-war-i/article/acetone-production-during-the-first-world-war.html

[10] http://www.indiaenvironmentportal.org.in/content/3092/from-beer-to-recombinant-dna/

[11] https://www.australiangeographic.com.au/blogs/on-this-day/2013/11/on-this-day-the-birth-of-vegemite/

[12] https://www.chemistryworld.com/opinion/the-weizmann-contribution/3007435.article

[13] https://www.acs.org/pressroom/newsreleases/2008/june/pfizers-work-on-penicillin-for-world-war-ii-becomes-a-national-historic-chemical-landmark.html

[14] https://rethinkdisruption.com/citric-acid/

[15] https://www.weizmann.ac.il/WeizmannCompass/sections/briefs/a-century-of-science-and-statehood

[16] https://www.pfizer.com/about/history

[17] https://core.ac.uk/download/160939234.pdf

[18] https://www.acs.org/education/whatischemistry/landmarks/penicillin.html

ถังหมักกรดซิตริกของ Pfizer ช่วงยุค 1920s
Ref: https://www.acs.org/education/whatischemistry/landmarks/penicillin.html