เมื่อญาติ 99 ศพ ขอเป็นคู่ความ | วงค์ ตาวัน

วงค์ ตาวัน
(Photo by CHRISTOPHE ARCHAMBAULT / AFP)

ความเลวร้ายล้าหลังประการหนึ่ง ที่เห็นได้ชัดในประเทศไทยเราก็คือ การที่ประชาชนออกมาประท้วงในทางการเมือง แล้วถูกรัฐปราบปรามด้วยความรุนแรงเกินขอบเขต จนเป็นเหตุให้ประชาชนเซ่นสังเวยกระสุนจากเจ้าหน้าที่ ล้มตายจำนวนมากมาย

แต่ไม่เคยมีการสอบสวนเอาผิดคนสั่งการ

ทั้ง 14 ตุลาคม 2516 ทั้ง 6 ตุลาคม 2519 ทั้งพฤษภาคม 2535 มาจนถึง 10 เมษายน-19 พฤษภาคม 2553

โดยเฉพาะเหตุการณ์ปี 2553 มีจำนวนคนถูกยิงตายในใจกลางเมืองร่วมร้อยศพ เป็นตัวเลขสูงที่สุด

เหตุการณ์ 99 ศพ ในปี 2553 นั้น เป็นยุคที่มีกล้องสื่อมวลชนทั้งในและนอกประเทศบันทึกข้อเท็จจริงมากมาย ทั้งภาพนิ่ง ภาพวิดีโอ แม้แต่ประชาชนเองก็เล่นกล้องกันมากขึ้น จึงทำให้เป็นเหตุการณ์เข่นฆ่าประชาชนที่ประท้วงกลางเมือง มีพยานหลักฐานปรากฏมากมายที่สุด

ดังนั้น เหตุการณ์ 99 ศพ ปี 2553 จึงมีความหวัง และมีความคืบหน้าในการค้นหาความจริง เพื่อดำเนินคดีกับผู้เข่นฆ่าประชาชน อย่างเป็นเรื่องเป็นราว

แต่สุดท้ายเพราะเกิดการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ซึ่งเชื่อกันว่าหนึ่งในเหตุของการล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เป็นเพราะต้องการหยุดคดี 99 ศพรวมอยู่ด้วย

แล้วหลังจากนั้นคดี 99 ศพ ที่พอจะเริ่มคืบหน้าบ้าง ก็สะดุดลงจริงๆ

(Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP)

แต่ก็ไม่สามารถล้มข้อเท็จจริงทางคดีได้ทั้งหมด!!

ดังนั้น ความพยายามจะพิสูจน์ความจริงผ่านกระบวนการยุติธรรม จึงยังคงดำเนินไปทุกวิถีทาง

ล่าสุด จากคดีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตนายกฯ และรองนายกฯ ในเหตุการณ์ 99 ศพ ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีดีเอสไอและทีมพนักงานสอบสวนดีเอสไอ กล่าวหาว่า การที่นายธาริตกับพวกได้ตั้งข้อหาต่อนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ในคดี 99 ศพนั้น เป็นการปฏิบัติหน้าที่มิชอบ เจตนากลั่นแกล้ง

โดยคดีดำเนินมาถึงชั้นฎีกา แต่ต้องเลื่อนอ่านคำพิพากษามาแล้ว รวมล่าสุดคือ เลื่อนครั้งที่ 6

เลื่อนเพราะนายธาริตมีอาการป่วยส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งเพราะมีญาติของประชาชนผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ 99 ศพ นำโดยนางพะเยาว์ อัคฮาด ได้ยื่นร้องสอด ขอเป็นคู่ความฝ่ายที่ 3 ในคดี ซึ่งศาลต้องรับเรื่องไว้พิจารณา

รวมทั้งจะมีญาติของคนตายรายอื่นๆ มายื่นร้องสอดทำนองเดียวกันนี้อีกด้วย

การยื่นร้องสอด ขอเป็นคู่ความฝ่ายที่ 3 จึงเป็นความพยายามอีกครั้งของญาติผู้เสียชีวิต เพื่อทวงความเป็นธรรมให้กับคนตายผ่านกระบวนการพิจารณาคดี!

ขั้นตอนตามกฎหมายในการยื่นร้องสอดนั้น ผู้ยื่นมีสถานะเป็นผู้มีส่วนได้เสีย เป็นผู้ได้รับผลกระทบในคดีนั้น แต่เนื่องจากไม่ใช่คู่ความในคดีโดยตรง จึงอาศัยฐานะมีส่วนได้เสีย ยื่นร้องสอดเข้ามา เพื่อขอเป็นคู่ความเพิ่ม เป็นฝ่ายที่ 3

ทั้งนี้ เพราะญาติของผู้เสียชีวิต 99 ศพ ยังไม่เคยได้รับความเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรมเลย

เคยมีการรวบรวมพยานหลักฐานการเสียชีวิตของประชาชนผู้ชุมนุม โดยดีเอสไอยุคนายธาริตยื่นฟ้องต่อศาลอาญา ดำเนินคดีกับผู้นำรัฐบาลในขณะเกิดเหตุเป็นจำเลยในฐานะผู้สั่งการสลายชุมนุม

แต่ศาลอาญาตีตกคดี เนื่องจากนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพยื่นร้องว่า ดีเอสไอและอัยการไม่มีสิทธิ์ยื่นฟ้อง คดีนี้ควรเป็นอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช.

ทำให้ความหวังของญาติ 99 ศพ ที่จะนำคดีนี้เข้าสู่ศาลอาญาต้องดับวูบไป

ทั้งที่การรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อฟ้องต่อศาลอาญาดังกล่าวนั้น มีเบาะแสสำคัญและมีน้ำหนักที่สุด คือ ผลการไต่สวนชันสูตรพลิกศพ ซึ่งศาลได้ชี้ผลไปแล้ว 17 ศพ ว่าตายด้วยกระสุนปืนจากฝั่งทหาร หรือยิงโดยเจ้าหน้าที่ทหาร ตามคำสั่งของ ศอฉ.

ขณะที่คนตาย 99 ศพ ยังไม่ได้รับความเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรมไทย

เท่านั้นยังไม่พอ นายธาริตและพนักงานสอบสวนดีเอสไอยังถูกผู้นำรัฐบาลและ ศอฉ. ฟ้องร้องกล่าวหาว่าปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ในการไปตั้งข้อหาต่อผู้นำรัฐบาล

คนตายไม่ได้รับความเป็นธรรม คนที่ทำคดีเพื่อพิสูจน์การตาย 99 ศพ ก็ถูกฟ้องร้องดำเนินคดี

แต่ฝ่ายที่สั่งปราบปรามประชาชน 99 ศพ กลับไม่เคยถูกดำเนินคดีใดๆ!?!

เป็นภาพสะท้อนความจริงของเหตุการณ์นองเลือด 99 ศพ เมื่อปี 2553 ได้อย่างเจ็บปวดที่สุด

แต่ญาติ 99 ศพ ก็ไม่เคยหยุดทวงความเป็นธรรม

เมื่อเกิดคดีที่นายธาริตและพนักงานสอบสวนดีเอสไอถูกฟ้องเป็นจำเลย จึงมีการยื่นร้องสอด เพื่อขอเป็นคู่ความฝ่ายที่ 3 เนื่องจากเป็นผู้ได้รับผลกระทบด้วย

นางพะเยาว์ อัคฮาด ผู้ที่ยื่นร้องสอด ในชั้นศาลฎีกา คดีที่นายธาริตกับพวกถูกฟ้องร้องนั้น มาในฐานะผู้สูญเสียบุตรสาว น.ส.กมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสาวัย 25 ปี ซึ่งถูกยิงตายในวัดปทุมวนาราม ขณะทำหน้าที่ช่วยเหลือประชาชนที่เข้ามาพักพิงในวัดปทุมวนาราม หลังทหารเข้าสลายการชุมนุมยึดพื้นที่ราชประสงค์ ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2553

วันนั้นเป็นวันสุดท้ายของการชุมนุม เมื่อทหารยึดพื้นที่ชุมนุมได้สำเร็จ แกนนำเสื้อแดงเข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ การชุมนุมยุติลงอย่างสิ้นเชิง โดยมีประชาชนนับพันที่เคว้งคว้าง ตัดสินเข้าไปอาศัยในวัดปทุมวนาราม ซึ่งประกาศเป็นเขตอภัยทาน

เชื่อว่ามีคำสั่งการจาก ศอฉ. ให้เจ้าหน้าที่ทหารอาวุธครบมือ จับตาความเคลื่อนไหวภายในวัดปทุม ด้วยความหวาดระแวง!!

เจ้าหน้าที่ทหารจำนวนหนึ่ง เดินบนรางรถไฟฟ้าไปบริเวณหน้าวัด ส่วนพื้นราบก็มีทหารอีกชุดเข้าตรึงพื้นที่

ระหว่างนั้น ด้านหลังรางรถไฟฟ้า เป็นที่ตั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีตำรวจ ตชด.ชุดหนึ่ง ซึ่งได้รับคำสั่งให้รักษาการพื้นที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประจำการอยู่บนดาดฟ้าตึก มองเห็นความเคลื่อนไหวของทหารบนรางรถไฟฟ้า เห็นการเล็งปืนเข้าไปภายในวัด

ตำรวจ ตชด.จึงบันทึกวิดีโอเอาไว้ กลายเป็นหลักฐานสำคัญ เห็นการยิงใส่ประชาชนในวัด โดยคนยิงไม่ต้องก้มหลบ เพราะไม่มีการยิงสู้จากในวัดขึ้นมา

กมนเกด พยาบาลอาสา เป็นหนึ่งใน 6 ที่ถูกยิงตายภายในวัด ทำให้ผู้เป็นแม่รับไม่ได้ ที่ต้องสูญเสียลูกสาวซึ่งไม่ใช่ผู้ชุมนุมเสื้อแดง แต่เป็นอาสาไปช่วยเหลือคนเจ็บป่วยในการชุมนุม กลับถูกยิงตายอย่างไม่มีเหตุผล

อีกทั้ง 6 ศพวัดปทุม ศาลได้ชี้ผลไต่สวนชันสูตรศพแล้วว่า ตายด้วยปืนเจ้าหน้าที่ทหาร ที่ยิงจากรางรถไฟฟ้า และอีกชุดยิงจากพื้นราบหน้าวัด อีกทั้งยังชี้ว่าเป็นการยิง ที่ไม่มีการต่อสู้จากภายในวัด ไม่มีชายชุดดำในเหตุการณ์นี้แต่อย่างใด

แต่ 6 ศพวัดปทุม ก็ยังไม่สามารถนำคดีขึ้นชั้นศาลได้

การยื่นร้องสอด ขอเป็นคู่ความฝ่ายที่ 3 อาจเป็นความพยายามอีกครั้ง

เพื่อทำความจริงให้ปรากฏและทวงความเป็นธรรมให้กับคนตายร่วมร้อยชีวิต!