ใครคือวิกเตอร์ บูท ‘พ่อค้าความตาย’ คนสำคัญของปูติน

เมื่อ 8 ธันวาคมที่ผ่านมา วิกเตอร์ บูท พ่อค้าอาวุธเถื่อนระดับหัวแถวของโลกได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระ หลังจากถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำของรัฐอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกานาน 10 ปี

เพื่อแลกเปลี่ยนกับอิสรภาพของบริตนีย์ กริเนอร์ นักบาสเกตบอลเอ็นบีเอชาวอเมริกันที่ถูกทางการมอสโกคุมขังเอาไว้หลังจากพบว่ามี “น้ำมันกัญชา” อยู่ในครอบครอง

ทั้งๆ ที่กริเนอร์ระบุว่า น้ำมันกัญชาดังกล่าวใช้เป็นยาสำหรับแก้อาการชักเกร็งของตนเองเท่านั้น

เป็นการแลกเปลี่ยนตัวนักโทษระหว่างสหรัฐอเมริกากับรัสเซียที่ทิ้งคำถามเอาไว้มากมาย

โดยเฉพาะกับคำถามที่ว่า เป็นการสมควรหรือไม่

และบูทคือใคร มีความสำคัญอย่างไรต่อรัฐบาลของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน กันแน่

วิกเตอร์ อนาโตเลวิช บูท ปัจจุบันอายุ 55 ปี ตามข้อมูลที่เป็นทางการระบุว่า เขาเกิดเมื่อปี 1967 ในทาจิกิสถาน ซึ่งในเวลานั้นยังเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต

สำเร็จการศึกษาจากสถาบันภาษาต่างประเทศของกองทัพในมอสโก ก่อนสมัครเข้าเป็นทหาร ถูกส่งไปประจำอยู่ในประเทศโมซัมบิกในฐานะส่วนหนึ่งของกองทัพอากาศโซเวียต และไปทำหน้าที่ล่ามของกองทัพในประเทศอังโกลา รวมแล้วเป็นเวลา 2 ปี

ว่ากันว่า บูทมีความสามารถด้านภาษาสูงมาก พูดได้คล่องแคล่วทั้งอังกฤษ, สเปน และฝรั่งเศส

นอกเหนือจากนั้นยังสามารถพูดภาษาฟาร์ซี, เยอรมัน, โปรตุเกส, อูรดู, โซซา หรือแม้แต่กระทั่งภาษาซูลู ได้อีกด้วย

2 ปีในทวีปแอฟริกาส่งผลให้วิกเตอร์ บูท ได้พบปะผู้คน สร้างเส้นสายไว้มากมาย กลายเป็นรากฐานสำคัญสำหรับงานค้าอาวุธเถื่อนในเวลาต่อมาเมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลายลง

บูทขนอาวุธของสหภาพโซเวียตที่ทิ้งเกลื่อนกลาดไร้คนดูแลรับผิดชอบท่ามกลางความสับสนอลหม่านทางการเมืองไปขายให้กับบรรดาผู้นำเผด็จการและผู้นำประเภท “เจ้าพ่อ” ทั้งในแอฟริกา, เอเชีย และอเมริกาใต้ ตั้งแต่ทรราชอย่างโมบูตู เซเซ่ เซโก ในคองโก ไปจนถึงจอมเผด็จการอย่างชาร์ลส์ เทย์เลอร์ ในไลบีเรีย

บ่อยครั้งที่ “ลูกค้า” ของบูท เป็นองค์การก่อการร้าย อาทิ กองทัพปฏิวัติแห่งโคลัมเบีย (ฟาร์ก) และมีไม่น้อยที่บูทขายอาวุธเถื่อนให้กับคู่ขัดแย้งในสงครามกลางเมืองไปพร้อมๆ กัน เช่น จัดหาอาวุธให้กับกองกำลังกบฏต่อต้านทาลิบันของอาหมัด ชาห์ มาซูด ก่อนที่จะเสนอขายให้กับกองกำลังทาลิบันเองในเวลาต่อมาอีกด้วย

กิจการค้าอาวุธของบูทรุ่งเรืองถึงขนาดสามารถจัดตั้งฝูงบินขนส่งสินค้าถึง 60 ลำเป็นเครื่องมือสำหรับใช้ขนลำเลียงอาวุธเถื่อนไปยังที่หมายและรับขนสินค้าทั่วไปกลับมาด้วยเพื่อไม่ให้ “เสียเที่ยว” และใช้เป็นข้ออ้างได้ว่า ตนเองดำเนินกิจการปกติที่ถูกต้องตามกฎหมาย

ถึงปี 2003 ชื่อเสียงในฐานะนายหน้าค้าอาวุธของบูทก็เลื่องลือ ถึงขนาดรายงานของทางการอเมริกันระบุเอาไว้ว่า บริษัทของวิกเตอร์ บูท “สามารถขนรถถัง, เฮลิคอปเตอร์ และอาวุธเป็นตันๆ ไปยังเป้าหมายในทุกพื้นที่ ทุกจุดทั่วโลกได้”

ทำให้รัฐบาลอเมริกันตัดสินใจอายัดทรัพย์ของบูทในสหรัฐอเมริกาไว้เมื่อปี 2004

ถึงปี 2006 ทำเนียบขาวสั่งการให้สำนักงานปราบปรามยาเสพติด (ดีอีเอ) ตั้งหน่วยเฉพาะกิจขึ้นมาเพื่อไล่ล่าจับกุมวิกเตอร์ บูท โดยเฉพาะ

บูทหลบเลี่ยงการจับกุมไปกบดานอยู่ในมอสโก แทบไม่ปรากฏตัวในต่างแดนอีกเลย จนกระทั่งตัดสินใจผิดพลาดครั้งใหญ่ในปี 2008 เมื่อลอบเดินทางเข้ามายังกรุงเทพฯ เพื่อพบปะกับสายของดีอีเอที่ปลอมแปลงเป็นตัวแทนของฟาร์กติดต่อเพื่อขอซื้ออาวุธล็อตใหญ่ภายใต้แผนปฏิบัติการร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติของไทย

กล่าวกันว่าหลังการจับกุมครั้งนั้น สร้างความไม่พอใจให้กับทางการมอสโก ถึงขนาดเรียกเอกอัครราชทูตของไทยเข้าไปประท้วง หลังจากนั้นก็มีความพยายามใช้เงินจำนวนมากอย่างลับๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ทางการไทยส่งตัวบูทไปพิจารณาคดีที่สหรัฐอเมริกาในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน แต่ไม่เป็นผล

วิกเตอร์ บูท ถูกศาลอเมริกันพิพากษาว่ามีความผิดในข้อหาสมคบคิดเพื่อฆ่าพลเรือนและเจ้าหน้าที่อเมริกัน และให้ความช่วยเหลือต่อองค์การก่อการร้าย ลงโทษให้จำคุก 25 ปี เมื่อปี 2012

เจ้าหน้าที่ระดับสูงชาวอเมริกันที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ระบุว่า นับตั้งแต่ถูกจับกุมเรื่อยมา ทางการรัสเซียดำเนินความพยายามครั้งแล้วครั้งเล่า เพื่อแลกเปลี่ยนตัววิกเตอร์ บูท กับชาวอเมริกันที่ตกเป็นผู้ต้องหาหรือนักโทษอยู่ในรัสเซีย แต่เพิ่งจะมาเป็นผลสำเร็จเอาในครั้งนี้

คำถามก็คือ ทำไมรัสเซียถึงได้พยายามอย่างหนักเพื่อนำตัววิกเตอร์ บูท กลับมอสโก

ข่าวสะพัดไปทั่วว่า เพราะเกรงกันว่าบูทจะ “คาย” ความลับของหน่วยงานข่าวกรองของรัสเซียให้กับฝ่ายอเมริกัน

หรือไม่ก็ว่า เพราะบูทมีสายสัมพันธ์ชนิดแนบแน่นกับกลุ่มแกนนำ “วงใน” ของปูติน

ที่น่าสนใจก็คือ เพียง 4-5 วันหลังได้รับอิสรภาพ วิกเตอร์ บูท ก็กระโจนเข้าสู่แวดวงการเมือง สมัครเข้าร่วมกับพรรคเสรีประชาธิปไตย (แอลดีพีอาร์) พรรคการเมืองขวาจัดแนวชาตินิยมสุดโต่ง ที่เป็นพรรคใหญ่อันดับ 3 ของรัสเซียในสภาดูมาในเวลานี้

และเป็นฐานการเมืองที่สำคัญของวลาดิมีร์ ปูติน และสนับสนุนการบุกเพื่อยึดครองยูเครนอย่างแข็งขัน

ทำให้เชื่อกันว่าการแลกเปลี่ยนนักโทษกันในครั้งนี้ ไม่เพียงมีขึ้นเพื่อสนองตอบต่อข้อเรียกร้องของบรรดากลุ่มชาตินิยมสุดโต่งและขวาตกขอบทั้งหลายที่เป็น “สหายสนิท” ของบูทแล้ว

ปูตินยังหวังว่าจะใช้ประโยชน์จาก “ความชำนาญพิเศษ” ของคนอย่างบูท ในยูเครนด้วยอีกต่างหาก