เมื่อทะเลไร้กุ้งปลา

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

เมื่อทะเลไร้กุ้งปลา

 

ร้านอาหารทะเลที่ไปนั่งกินอยู่บ่อยครั้งเป็นร้านค่อนข้างใหญ่โตมีโต๊ะนั่งและห้องส่วนตัวอีกหลายห้องจุนักกินรวมๆ แล้วเป็นร้อยคน

แม้ราคาอาหารค่อนข้างสูงแต่ผู้คนนิยมไปกิน อาจเป็นเพราะอาหารสดเนื่องจากทางร้านเลี้ยงกุ้ง ปูปลาเป็นๆ ในตู้กระจก ถึงเวลาคนสั่ง ก็ตักเอาไปส่งให้พ่อครัวทำ หรือมาจากความเชื่อที่ว่าอาหารทะเลดีต่อสุขภาพ

จากร้านเล็กๆ มีแค่ 2 คูหาเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว มาวันนี้ขยายเป็นตึกใหญ่โตมีพื้นที่ลานจอดรถกว้างขวาง บรรดาวัตถุดิบหลักซึ่งเป็นสินค้าสดๆ จากทะเล เช่น ปู ปลาเก๋าน้ำลึก กุ้งล็อบสเตอร์ เจ้าของร้านสั่งขึ้นเครื่องบินเอาอกเอาใจผู้บริโภคโดยตรง

แต่ละวัน ร้านนี้สั่งวัตถุดิบจากทะเลเป็นจำนวนมาก ยิ่งหน้าเทศกาลเฉลิมฉลอง ร้านก็เพิ่มปริมาณวัตถุดิบให้เพียงพอต่อความต้องการ น่าสังเกตวัตถุดิบหลักในร้านไม่ค่อยขาดแคลน

ผมเฝ้าสังเกตร้านอาหารทะเลแห่งนี้มานานแล้ว ส่วนร้านอื่นๆ ผมไม่ได้ติดตามดูใกล้ชิด แต่เคยตามพรรคพวกเพื่อนฝูงไปกินบ้าง ก็เห็นว่ากิจการเติบใหญ่ บางร้านปรับพื้นที่ให้รองรับลูกค้าได้หลายร้อยคน

สะท้อนให้เห็นว่า อาหารทะเลได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น ธุรกิจอาหารทะเลเติบโตสูงขึ้น ขณะที่การเสาะแสวงหาวัตถุดิบในทะเลมีปริมาณเพิ่มขึ้น

จึงเกิดคำถามว่า ถ้าชาวโลกกินอาหารทะเลกันมากมายอย่างนี้ ในอนาคตบรรดาสัตว์ใต้ทะเลจะมีปริมาณเพียงพอให้จับกินได้อีกนานเท่าไหร่?

 

นักวิชาการหลายคนทำนายไว้ว่า ไม่เกิน 30 ปีนับจากนี้ สัตว์ใต้ทะเลอาจถึงขั้นสูญพันธุ์ หรือปริมาณลดลงไม่พอให้จับไปบริโภคได้อีก

อย่าลืมว่า จำนวนประชากรโลกในขณะนี้มีมากถึง 8 พันล้านคน ในจำนวนนี้มีอยู่ราว 3 พันล้านคน กินอาหารทะเลเฉลี่ย 20 กิโลกรัมต่อปี

องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือเอฟเอโอ จัดทำรายงานว่าด้วยสถานะของการประมงโลกและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ประจำปี 2565 บอกว่า เมื่อ 2 ปีก่อนชาวเลทั่วโลกออกหากุ้งปลาและสัตว์ใต้ท้องทะเลเอามาผลิตเป็นสินค้าประมงรวมกันแล้ว 90.3 ล้านตัน

แม้ปริมาณลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2562 ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ซึ่งมีปริมาณการจับสัตว์ใต้ทะเลทั่วโลก 92.5 ล้านตัน แต่ภาพรวมการประมงในทะเลมีอัตราเติบโตอย่างต่อเนื่องเฉลี่ย 3-4 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ถ้าเทียบกับปี 2493 ปริมาณการจับสัตว์ทะเลเพิ่มขึ้นถึง 820%

ในปี 2563 จีนจับสัตว์ทะเลมากที่สุดในโลก 11.7 ล้านตัน รองลงมาเป็นอินโดนีเซีย 6.43 ล้านตัน เวียดนามเพื่อนบ้านเรา มาเป็นอันดับ 9 จับสัตว์น้ำรวม 3.27 ล้านตัน ส่วนไทยเป็นอันดับที่ 14 ปริมาณการจับรวม 1.52 ล้านตัน

ปลาแม็กเคอเรล ปลาทูน่า เป็นปลาที่ชาวประมงทั่วโลกเล็งจับมากสุด ก่อนโควิดระบาด ปลาทูน่าโดนอวนลากมากถึง 8.2 ล้านตัน เนื่องจากความต้องการของตลาดซาซิมิและนำไปผลิตเป็นปลากระป๋อง

กุ้งได้รับความนิยมรองลงมา ปริมาณการจับกุ้งในทะเลเฉลี่ย 3.4 ล้านตัน ลดลงในช่วงโควิด เหลือ 3.2 ล้านตัน

สำหรับกุ้งใหญ่ล็อบสเตอร์ มีราคาแพง ถูกกว้านจับมาขายให้คนรวยกินเฉลี่ยปีละ 3 แสนตัน

ภายในปี 2593 ประชากรโลกจะทะลุไปถึง 9,800 ล้านคน การบริโภคอาหารทะเลอาจพุ่งไปถึง 25 กิโลกรัมต่อปี

ถึงเวลานั้น การประมงในทะเลจะเป็นไปอย่างชุลมุน เรือขนาดใหญ่ติดตั้งเทคโนโลยีชั้นสูงออกตามล่ากวาดสัตว์ใต้ทะเลขึ้นมาขายกันอย่างมโหฬารเพื่อรองรับความต้องการของตลาดโลก

 

เช่นเดียวกัน การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในทะเล อย่างเช่น ปลาแซลมอน ปลากะพง กุ้ง หอย ปู จะมีสัดส่วนโตมากขึ้น

เวลานี้ การเลี้ยงปลาแซลมอนเติบโตมาก คาดกันว่าตั้งแต่ปี 2565-2563 ตลาดปลาแซลมอนจะทำรายได้มากถึง 5,200 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเฉลี่ยโต 4.41%

การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในทะเล แม้จะช่วยเติมเต็มความต้องการของตลาดอาหารทะเล แต่นักสิ่งแวดล้อมแสดงความห่วงใยว่า กรรมวิธีเพาะเลี้ยงด้วยการใช้ยาและสารเคมีที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้คุณภาพน้ำทะเลเสื่อมลง

หากคุณภาพน้ำทะเลเสื่อมลง บรรดาสัตว์ใต้ท้องทะเลจะพากันอพยพหนีไปอยู่ถิ่นอื่นๆ ระบบนิเวศน์ของพื้นที่นั้นจะเสื่อมลงไปด้วย

 

นักล่องเรือข้ามมหาสมุทร เคยเล่าให้นักข่าวของนิตยสารเนชั่นแนลจีโอกราฟิกฟังว่า ระหว่างการล่องเรือจากเมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ไปเมืองโอซากา ประเทศญี่ปุ่น สังเกตความเป็นไปของทะเลมีความเงียบกว่าที่เคยล่องเมื่อสิบปีก่อน

“มีบางอย่างหายไปแน่ๆ” นักล่องเรือคนนั้นบอกความในใจ

เมื่อสิบปีก่อน ระหว่างล่องเรือในเส้นทางเดียวกัน ฝูงนกทะเลบินโฉบล่าปลาที่แหวกว่ายอยู่ข้างๆ กราบเรือส่งเสียงร้องดังเซ็งแซ่ แต่คราวนี้นกทะเลไม่มีเหมือนก่อน เพราะสัตว์ใต้ทะเลหายไป ระบบนิเวศน์ใต้ทะเลเปลี่ยน

สัตว์ใต้ทะเลมีวัฏจักรธรรมชาติ ต้องมีแหล่งปะการังสำหรับเป็นที่พักพิง ที่สืบพันธุ์ ที่หาอาหาร ที่ไหนมีแหล่งปะการังสมบูรณ์ จะมีฝูงสัตว์อยู่เป็นจำนวนมาก

แหล่งปะการังถูกทำลายเพราะการประมงผิดประเภท ใช้อุปกรณ์ประมงฝ่าฝืนกฎหมาย คุณภาพน้ำทะเลเสื่อม และทะเลเป็นกรดเพราะสภาพภูมิอากาศร้อนขึ้นทำให้ทะเลร้อนมากขึ้นจนเกิดปะการังฟอกขาว

 

ไม่กี่วันที่ผ่านมาองค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ หรือ IUCN ประกาศรายชื่อสัตว์ใต้ทะเลที่มีความเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์ อาทิ “พะยูน” เป็นสัตว์ที่คนไทยคุ้นเคยกันดี หอยเป๋าฮื้อ และปะการังคาริบเบียน

สาเหตุที่ IUCN ชี้ว่าสัตว์ใต้ทะเลเหล่านี้เสี่ยงสูญพันธุ์มาจากการประมงมากเกินขนาด (overfishing) การใช้เครื่องมือประมงที่ไม่คำนึงถึงผลกระทบกับระบบนิเวศน์ทางทะเล การปล่อยสารพิษลงทะเลและสภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง

ดังนั้น คำทำนายที่ว่า ทะเลจะไร้กุ้งหอยปูปลาในอีกไม่เกิน 30 ปีข้างหน้ามีความเป็นไปได้สูง ถ้าชาวโลกยังปล่อยให้สถานการณ์ทางทะเลที่เลวร้ายเช่นนี้ดำเนินต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด •

 

สิ่งแวดล้อม | ทวีศักดิ์ บุตรตัน

[email protected]