ล้างมายาคติ “ค่าจ้างขั้นต่ำ” สู่ค่าจ้างเพื่อการมีชีวิตเยี่ยงมนุษย์ | ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

ในช่วงนี้มีการพูดถึงนโยบายว่าด้วยการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ พรรคเพื่อไทยนับเป็นพรรคการเมืองที่มีจุดยืนเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำเด่นชัดในการระบุว่า ค่าจ้างขั้นต่ำควรอยู่ในระดับ 600 บาทต่อวัน เช่นเดียวกับพรรคก้าวไกลที่พูดถึงนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 450 บาทต่อวัน พร้อมกับการเสนอปรับเปลี่ยนการจ้างรายวันสู่การเป็นการจ้างรายเดือนทั้งหมด

แม้ทุกครั้งที่มีการพูดถึงการปรับค่าจ้างขั้นต่ำจะต้องมีเสียงต่อต้าน และที่ดังมากที่สุดคือกลุ่มทุนที่มักอ้างถึงกลุ่มทุนขนาดเล็ก เช่นเดียวกับเรื่องของเงินเฟ้อ ของแพง หรือการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่จะน่ากลัว

เรื่องที่น่าสนใจคือตั้งแต่ปี 2565 กระแสการตั้งคำถามต่อการปรับค่าจ้างขั้นต่ำดูเบาบางลงอย่างเห็นได้ชัด

และมีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ให้ข้อมูลเพื่ออธิบายในหลากหลายแง่มุม

“ผีค่าจ้างขั้นต่ำ” ที่ดูเหมือนจะหลอกหลอนผู้ประกอบการมาหลายยุคหลายสมัยดูเหมือนจะถูกรื้อถอนในยุคสมัยนี้

โดยผมขอนำเสนอประประเด็นสำคัญที่รวบรวมได้ดังนี้

 

1. ค่าจ้างเพื่อชีวิต (Living Wage)

วลีค่าจ้างขั้นต่ำ ถูกสร้างขึ้นมาภายใต้เงื่อนไขของการคำนวณต้นทุนที่ถูกที่สุด ที่นายทุนหรือผู้ประกอบการจ่ายให้แก่ผู้ใช้แรงงาน เพื่อสามารถตอบสนองเพียงแต่เรื่องพื้นฐาน เช่น ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าที่พักอาศัย เพื่อให้มีชีวิตที่สามารถมาขายแรงงานในวันต่อไปได้

แนวคิด “ค่าจ้างขั้นต่ำ” จึงไม่ได้ถูกคำนวณจากการใช้ชีวิตจริงที่ต้องมีความสุข มีความรื่นเริง ผ่อนคลาย มีสาระของตนเอง ที่ไม่ต้องเกี่ยวข้องกับการพัฒนาทักษะหรือประโยชน์ของนายจ้าง

อันแตกต่างจากแนวคิด “ค่าจ้างเพื่อชีวิต” ที่ถูกคำนวณเพื่อให้ผู้ใช้แรงงานสามารถมีชีวิตที่ดีได้ในพื้นฐานทั้งทางร่างกายและจิตใจคำถามค่าจ้างขั้นต่ำที่พึงเป็นและค่าจ้างเพื่อชีวิตควรจะเท่าไร

มีการคำนวณว่าการใช้ชีวิตของคนคนหนึ่งให้มีชีวิตเยี่ยงมนุษย์พื้นฐานในสังคมไทย ต้องใช้ไม่ต่ำกว่า 9,000 บาทต่อเดือน

อันหมายความว่าหนึ่งครัวเรือนต้องใช้ไม่น้อยกว่า 27,000 บาท หรือหากคำนวณแล้ว พ่อ แม่ ทำงานเลี้ยงลูก 1 คน “พ่อและแม่” ในวัยทำงาน ต้องมีรายได้ไม่น้อยกว่า 13,500 บาทต่อเดือน

หรือหากคำนวณแล้ว หากได้รับค่าจ้างรายวัน ทำงานเดือนละ 22 วัน (หยุดวันอาทิตย์ และทำงานเสาร์เว้นเสาร์) ก็จะตกแล้วต้องได้รับค่าจ้างเฉลี่ยวันละ 600 บาท หรือหากจ้างเป็นรายเดือนและมีวันหยุดสองวัน ก็คือวันละ 450 บาท

อันนี้คือค่าจ้าง “ขั้นต่ำ” เพราะต่ำกว่านี้คนก็ไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ คนไทยส่วนมากจึงมีชั่วโมงการทำงานที่สูง ทำหลายงานในเวลาเดียวกัน หรือเป็นหนี้ โดยหนี้นี้ก็จะถูกส่งต่อสู่ลูกหลาน เพราะแม้แต่หลักการค่าจ้างขั้นต่ำ คนไทยส่วนมากก็ยังไม่ได้รับรายได้ตามหลักการนี้

ยิ่งไม่ต้องพูดถึงหลักการ “ค่าจ้างเพื่อชีวิต” พูดถึงค่าจ้างที่เหลือออม เพื่อความบันเทิง ดูหนัง ฟังเพลงสังสรรค์ ท่องเที่ยว ซื้อของเล่นให้ลูก เดินทางพบปะเพื่อนฝูง ซึ่งโดยปกติแล้วต้องสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำประมาณร้อยละ 30-40 หรือประมาณ 20,000 บาทต่อเดือนเป็นขั้นต่ำสุด และสำหรับครัวเรือนที่ทำงานคนเดียวก็ไม่ควรต่ำกว่า 36,000 บาทต่อเดือน

ในประเทศที่ค่าครองชีพใกล้เคียงกับไทยอย่างไต้หวันก็ประมาณ 955 บาท/วัน หรือประมาณเดือนละ 27,000 บาท แม้ในกลุ่มแรงงานข้ามชาติทั่วไปก็ตาม

ดังจะเห็นได้ว่าเรารับค่าจ้างกันน้อยเกินไป ไม่ว่าจะคิดผ่านฐานค่าจ้างขั้นต่ำ หรือค่าจ้างเพื่อชีวิต

 

2. กลุ่มทุนล้มละลาย แรงงานจะไม่มีงานทำ
ทุกคนจะตายกันหมด

เป็นคำกล่าวที่ได้ยินมาทุกยุคทุกสมัย และเป็นแนวคิดของฝั่งทุนทั้งโลก

อย่างไรก็ดี Krueger และ Card ตั้งแต่ปี 1993 หรือเมื่อสามสิบปีที่แล้ว ได้หักล้างแนวคิดเศรษฐศาสตร์ดั้งเดิมไปแล้วว่า ถ้าขึ้นค่าแรง คนจะถูกเลิกจ้างหรือจ้างงานน้อยลง

การเก็บข้อมูลในกลุ่มงานไร้ทักษะพบว่าไม่เป็นเช่นนั้น สิ่งที่พบคือคนกลุ่มรายได้น้อยมีแรงจูงใจทำงานมากขึ้นและค่าแรงสูงก็ไม่ได้เป็นปัจจัยดึงให้แรงงานข้ามชาติเข้ามาแย่งงานคนท้องถิ่นแบบมีนัยสำคัญ

อันเป็นการสะท้อนว่า “แรงงาน” ไม่สามารถพิจารณาว่าเป็น “สินค้า” ทั่วไปที่พอราคาแพงคนจะเลิกซื้อ

ในความเป็นจริงแล้วปัจจุบันผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะรายย่อยประสบปัญหาในการหาคนมาทำงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำงานระยะยาว เพราะช่องว่างระหว่างการเป็น “แรงงานอิสระ” และ “แรงงานมีค่าจ้าง” เริ่มน้อยลง

เช่น หากเปรียบเทียบการทำงานอิสระ รับจ้างทั่วไป หรือขายของออนไลน์ อาจได้รับรายได้อยู่ที่วันละ 250 บาท แม้จะเป็นรายได้ที่น้อย แต่เมื่อเทียบแล้วการไม่เป็น “แรงงานที่ได้รับค่าจ้าง” อาจได้รับส่วนต่างไม่มากนัก กรณีนี้จึงทำให้แรงงานหางานไม่ได้ และผู้ประกอบการก็ไม่ได้แรงงาน หรือหากได้ก็เป็นเพียงระยะสั้นเพราะค่าจ้างไม่ดึงดูด แต่หากจะเพิ่มค่าจ้างก็จะเป็นการเพิ่มต้นทุนที่ไม่สามารถแข่งขันได้

ดังนั้น ในงานวิจัยของ Krueger และ Card จึงชี้ให้เห็นว่า เมื่อค่าจ้างสูงขึ้น ผู้ประกอบการจะมีตัวเลือกมากขึ้น ได้แรงงานที่ทำงานระยะยาวมากขึ้น และแรงงานก็จะมีแรงจูงใจเข้าสู่ระบบการจ้างมากขึ้น อันทำให้เศรษฐกิจขยายและห่วงโซ่การผลิต และการบริโภคดีขึ้นทั้งระบบ

 

3. เงินเฟ้อที่ไม่เคยมีจริง

ผีเงินเฟ้อ เป็นเรื่องที่ข่มขวัญนโยบายค่าจ้าง ซึ่งจากสถิติแล้วต้นทุนค่าจ้างเป็นเพียงแค่ประมาณร้อยละ 10 ของต้นทุนทั้งหมด และอาจน้อยกว่าในบริษัทขนาดใหญ่

ดังนั้น หากค่าจ้างปรับขึ้น 100 % เช่น จาก 100 บาทเป็น 200 บาท ก็จะทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นเพียง 10 บาท หรือร้อยละ 10 เท่านั้น

ดังนั้น ต่อให้เป็นภาคการผลิตที่ใช้แรงงานเข้มข้น ก็ไม่ได้ทำให้ต้นทุนสูงขึ้นมากแต่อย่างใด และห่างไกลกับการที่จะบอกว่า “ขึ้นค่าจ้าง ค่าครองชีพก็สูงขึ้นสุดท้ายแรงงานก็ไม่ได้อะไร”

และตามจริง SME ปัจจุบันร้านซ่อมรถ ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ก็ไม่สามารถดึงดูดแรงงานได้ด้วยค่าแรง 300-400 บาท อยู่แล้ว การเพิ่มค่าแรงคือดึงส่วนเกินในระบบ เพื่อกระจายสู่ผู้ใช้แรงงาน อันเป็นหลักการเดียวกับเรื่องของวิธีการจัดสวัสดิการต่างๆ

“ไม่ได้เป็นการพิมพ์แบงก์แจกประชาชน” ที่จะทำให้เงินเฟ้อ หรือเงินไร้ค่า เหมือนที่เคยถูกทำให้วิตกแต่อย่างใด

 

4. ผู้ประกอบการรายย่อยจะต่อต้าน

อาจมีเสียงว่าจะทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยต่อต้าน

แต่ตามที่ผมได้เรียนไปเบื้องต้นว่าผู้ประกอบการรายย่อยเองก็ประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และมีตัวเลือกที่จำกัด หากเงื่อนไขการจ้างในตลาดแรงงานปรับในเงื่อนไขเดียวกัน ยิ่งจะทำให้เงื่อนไขการทำธุรกิจดีขึ้น และพัฒนาแรงงานได้ต่อเนื่อง

สิ่งที่ต้องกังวลอาจจะเป็นการจ้างงานระยะสั้นในภาคเกษตร ที่อาจได้รับผลกระทบ เมื่อไม่นานมานี้มิตรสหายรุ่นน้องได้ลงพื้นที่พบปะเกษตรกร สิ่งที่พบคือแม้ว่าพวกเขาจะมีชีวิตที่ยากลำบากและไม่ได้รับประโยชน์โดยตรง และอาจได้รับผลกระทบจากการปรับค่าแรง

สิ่งที่น่าสนใจคือ พวกเขายืนยันว่าอยากให้ค่าแรงปรับขึ้น อันไม่เกี่ยวกับว่าพวกเขาจะได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์แต่เกี่ยวกับว่า มันคือสิ่งที่ทำให้สังคมสามารถก้าวหน้าได้ แม้พวกเขาอาจต้องจ่ายค่าแรงในไร่นาเพิ่มขึ้น แต่พวกเขาก็จะไม่ปรับราคาพืชผลผลิตภัณฑ์ที่สูงมากนัก เพื่อให้ทุกคนในสังคมรอดไปด้วยกัน

ภาพความหวาดกลัวและคิดว่ามนุษย์จะฉวยโอกาสเป็นเพียงจินตนาการของฝ่ายอนุรักษนิยมเท่านั้น

เช่นเดียวกับหลายเรื่องในสังคม นโยบายใหม่ย่อมเต็มไปด้วยข้อถกเถียง แต่เราจะสามารถเปิดใจยอมรับทางเลือกใหม่ๆ ที่จะยกระดับชีวิตคนไทยส่วนใหญ่ได้หรือไม่ และพรรคการเมืองจะจริงจังเรื่องนี้เพียงใดก็เป็นหน้าที่ของประชาชนที่ต่องติดตามอย่างใกล้ชิดเช่นกัน