ทบทวนประวัติศาสตร์ศิลปะไทย ของ พิริยะ ไกรฤกษ์ | ชาตรี ประกิตนนทการ

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด | ชาตรี ประกิตนนทการ

 

ทบทวนประวัติศาสตร์ศิลปะไทย

ของ พิริยะ ไกรฤกษ์

 

ในช่วงปีกว่าที่ผ่านมา ได้มีโอกาสเป็นบรรณาธิการหนังสือ “พิริยะ ไกรฤกษ์ กระแสใหม่ประวัติศาสตร์ศิลป์ไทย” เขียนโดยเกษรา ศรีนาคา

ซึ่งจากการอ่านมาหลายรอบ (ทั้งตอนที่ต้นฉบับยังอยู่ในรูปแบบของงานวิจัย และทั้งตอนที่ปรับปรุงขึ้นเป็นหนังสือ) ผมเห็นว่า หนังสือเล่มนี้เป็นงานบุกเบิกที่น่าสนใจในแง่ของความพยายามวิเคราะห์งานวิชาการของพิริยะ ไกรฤกษ์ ในภาพรวมทั้งหมดตั้งแต่งานยุคแรกจนถึงงานเขียนปัจจุบัน

สัปดาห์หน้า ในวันที่ 18 ธันวาคม งานชิ้นนี้จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในกิจกรรมพิเศษของมูลนิธิพิริยะ ไกรฤกษ์ เนื่องในโอกาสก่อตั้งมาครบ 10 ปี ณ อาคารบุรุษรัตน สำนักงานตรวจสอบภายในทหารบก ถนนราชวิถี*

เลยคิดว่าเป็นโอกาสดีที่จะแสดงความเห็นของผมที่มีต่อหนังสือเล่มนี้

เป็นเวลากว่าสี่ทศวรรษที่พิริยะได้สร้างผลงานวิชาการทางประวัติศาสตร์ศิลปะอันเต็มไปด้วยข้อเสนอใหม่ที่ท้าทาย หลายชิ้นเป็นงานที่สร้างผลสะเทือนมหาศาลไม่เพียงแค่ในแวดวงประวัติศาสตร์ศิลปะในสังคมไทย แต่ส่งผลกระทบกว้างไกลไปสู่การสร้างองค์ความรู้ทางด้าน “ไทยศึกษา” อื่น ๆ ในระดับสากล

หากมองในบริบทสากล คงไม่เกินเลยไปนักที่จะกล่าวว่า พิริยะคือนักวิชาการแถวหน้าทางประวัติศาสตร์ศิลปะไทย แต่ก็น่าแปลกที่แทบไม่มีงานที่ให้ความสนใจศึกษาและประเมินความสำคัญของงานเขียนพิริยะมากเท่าที่ควร

ซึ่งทำให้เราขาดความเข้าใจภาพรวมอย่างเป็นระบบต่องานเขียนของพิริยะ ซึ่งโดยส่วนตัวเห็นว่า เป็นงานเขียนที่ทั้งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและมีข้อเสนอที่ท้าทายความคิดสูง แม้ว่าเราไม่จำเป็นต้องเห็นคล้อยในทุกข้อเสนอก็ตาม

ดังนั้น เมื่อทราบว่ามีงานศึกษาที่เข้าไปทำการสำรวจและวิเคราะห์งานเขียนของพิริยะทั้งหมด จึงมีความสนใจมากเป็นการส่วนตัว

และเมื่อได้อ่านก็พบประเด็นที่น่าคิดจากหนังสือเล่มนี้ของเกษราอยู่ 2 ประการ

 

ประการแรก เราจะมองเห็น (ผ่านการวิเคราะห์ตีความของเกษรา) ตัวตนและบริบทแวดล้อมทางสังคมที่มีส่วนอย่างสำคัญในการก่อรูปความคิดและงานเขียนทางประวัติศาสตร์ศิลปะของพิริยะ ซึ่งเป็นความพยายามจับงานเขียนของพิริยะใส่ลงไปในบริบทของสังคมไทยในแต่ละช่วง

ส่วนตัวเห็นด้วยกับวิธีการมองแบบนี้ และอยากขอเสริมการวิเคราะห์ของผมเองที่มีต่องานเขียนของพิริยะ (เคยเขียนไว้ในงานวิจัยระดับปริญญาเอกของผมตั้งแต่เมื่อปี 2561) ด้วยว่า

งานเขียนพิริยะทั้งหมด หากมองโดยจับวางในบริบทที่เป็นภาพกว้างของสังคมไทย อาจกล่าวได้ว่า เป็นกระแสที่เกิดขึ้นอย่างสอดคล้องอย่างพอเหมาะพอดี ภายใต้บรรยากาศทางสังคมวัฒนธรรมยุคหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 (ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม) ซึ่งทั้งสองเหตุการณ์นี้เป็นทั้งการปฏิวัติทางการเมืองและการปฏิวัติทางภูมิปัญญาที่มีผลสะเทือนต่อตัวแบบโครงเรื่องประวัติศาสตร์ชาติแบบเดิมๆ ที่รัฐไทยยึดกุมเอาไว้ตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นต้นมา

ภายใต้บรรยากาศดังกล่าว ความรู้ดั้งเดิมเกี่ยวกับ “อดีต” ในแบบเดิมได้ถูกท้าทายและปฏิเสธ เกิดมีสำนึกที่โหยหาเรื่องเล่าเกี่ยวกับ “อดีต” ในแบบใหม่ที่สอดรับการกระแสการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนที่เพิ่มสูงขึ้น จินตนาการว่าด้วย “ชาติ” ที่เป็นของประชาชน ซึ่งเคยได้รับการเสนอมาแล้วโดยปัญญาชนชนชั้นกลางในสมัยรัชกาลที่ 6-7 และโดยฝ่ายซ้ายในทศวรรษที่ 2490 เริ่มได้รับการเรียกร้องและการฟื้นฟูขึ้นมาอีกครั้ง แนวคิดว่าด้วย “ศิลปะเพื่อศิลปะ” และการอธิบายระวัติศาสตร์ศิลปะตามแนวทางแบบมาร์กซิสต์กลายเป็นแนวทางที่เข้ามาท้าทายประวัติศาสตร์กระแสหลักอย่างถึงรากถึงโคน

แต่ภายหลังการปราบคอมมิวนิสต์สำเร็จในช่วงราวกลางทศวรรษ 2520 แนววิเคราะห์ทางประวัติศาสตร์แบบมาร์กซิสต์เริ่มลดพลังในการอธิบายไปโดยลำดับ และได้เปิดพื้นที่ให้กับงานเขียนแนววิพากษ์อย่างใหม่ที่ไม่ได้อิงกับแนวคิดแบบมาร์กซิสต์อีกต่อไป

เงื่อนไขทางสังคมแบบนี้เองที่เปิดทางให้งานเขียนแบบพิริยะ ก้าวขึ้นมาทำหน้าที่ท้าทายงานเขียนทางประวัติศาสตร์และประวัติศาสตร์ศิลปะกระแสหลักแทน (งานเขียนแบบพิริยะมีลักษณะอย่างไร อ่านได้จากหนังสือของเกษราเล่มนี้)

 

ประการที่สอง งานของเกษรา โดยเฉพาะในบทที่ 5 ที่ชื่อ “ความเป็นไทยในทัศนะพิริยะ ไกรฤกษ์” ได้ให้ภาพงานเขียนพิริยะไว้น่าสนใจอย่างหนึ่งคือ คนส่วนใหญ่ที่สนใจศึกษางานประวัติศาสตร์ศิลปะไทยมักจะมีภาพจำหรือทัศนะต่องานเขียนของพิริยะไปในแนวทางที่ค่อนข้างปฏิวัติและท้าทายอย่างแรงต่อประวัติศาสตร์ศิลปะกระแสหลัก ไปจนถึงอาจเข้าไปรื้อถอนความเป็นไทยและแนวคิดชาตินิยมไทยซึ่งภาครัฐพยายามปลูกฝังให้แก่คนไทยมาโดยตลอดร่วมร้อยปีที่ผ่านมา

แต่ข้อเสนอของเกษรา (จากการอ่านของผม) กลับเสนอภาพที่ต่างออกไป โดยชี้ให้เราเห็นว่า หากจะจัดวางตำแหน่งแห่งที่ให้กับงานเขียนของพิริยะแล้ว จะเป็นการเหมาะสมมากกว่าที่จะมองงานเขียนของพิริยะในลักษณะของการเข้าไป “ปฏิรูป” มากกว่า “ปฏิวัติ”

(แน่นอน เราอาจต้องยกเว้นงานเขียนเกี่ยวกับศิลาจารึกหลักที่ 1 ซึ่งได้เข้าไปเขย่ารากฐานความเป็นไทยอย่างรุนแรง ในระดับที่ใกล้เคียงกับการปฏิวัติทางความคิดครั้งใหญ่ ซึ่งกรณีนี้อาจถือเป็นข้อยกเว้นพิเศษที่ต้องกล่าวละเอียดในที่อื่นแทน)

ในบทนี้ เกษราเสนอโดยนัย (ผ่านความเข้าใจของผมอีกเช่นกัน) ว่า ความคิดรากฐานภายในงานเขียนหลายชิ้นของพิริยะ แท้จริงแล้วมีจุดร่วมเดียวกันกับทัศนะของปัญญาชนในอดีต เช่น แนวคิดว่าด้วย “ความฉลาดในการประสานประโยชน์” ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเสนอเอาไว้นานแล้วในงานเขียนหลายชิ้น รวมถึงงานเขียนชิ้นสำคัญเรื่อง “ตำนานพุทธเจดีย์สยาม” ซึ่งถือกันว่าเป็นตำราสำคัญของการศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะไทยในปัจจุบัน

ดังนั้น สิ่งที่คนทั่วไปมักเข้าใจไปว่า งานเขียนพิริยะชอบโต้แย้งงานเขียนของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ จึงมิใช่เป็นเรื่องจริงเสมอไป

ข้อเสนอของพิริยะเป็นเพียงการปรับปรุงหรือปฏิรูปข้อเสนอจากชนชั้นนำเดิมให้มีความทันสมัยและถูกต้องทางวิชาการมากขึ้นเท่านั้น แต่รากทางความคิดหลายอย่างยังคงมีลักษณะร่วมกัน

 

แนวคิดว่าด้วย “ความเป็นไทย” ก็เช่นกัน แม้งานเขียนเกือบทั้งหมดของพิริยะมักชี้ให้เราเห็นความบกพร่องของการใช้แนวคิดแบบชาตินิยมไทยมาใช้อธิบายงานเขียนประวัติศาสตร์ศิลปะของฝ่ายกระแสหลัก จนอาจชวนเราให้หลงคิดไปว่า งานเขียนของพิริยะอยากปฏิเสธความเป็นไทย

แต่แท้จริงแล้ว เป้าหมายหลักอันหนึ่งของพิริยะ คือ การค้นหาความเป็นไทยที่อยู่เบื้องหลังหรือเป็นแรงผลักดันให้เกิดงานศิลปะในสังคมไทย ซึ่งข้อค้นพบที่สำคัญของพิริยะก็คือ พุทธศาสนา และสถาบันกษัตริย์ ซึ่งจะว่าไปก็มิได้แตกต่างกันนักกับงานกระแสหลัก

เพียงแต่ข้อเสนอของพิริยะมิได้ถูกสร้างขึ้นภายใต้เงื่อนไขของแนวคิดชาตินิยมไทยที่สุดโต่ง หรือแนวคิดแบบเชื้อชาตินิยม แต่เป็นการมองความเป็นไทยในมิติทางวัฒนธรรมมากกว่า หรือถ้าจะนิยาม ณ ตอนนี้ (ซึ่งอาจจะยังไม่ถูกต้องสมบูรณ์นัก) ก็คือ “ชาตินิยมทางวัฒนธรรม” หรือ “ชาตินิยมสายกลาง” (Moderate Nationalism)

หากเราเข้าใจในประเด็นนี้ เราก็จะเข้าใจความซับซ้อนในข้อเสนอทางวิชาการของพิริยะมากขึ้น ซึ่งงานของเกษราชิ้นนี้ได้ทิ้งร่องรอยดังกล่าวให้เราเห็นอยู่ในหลายส่วน แม้ว่าจะมิได้นำเสนออย่างชัดเจนมากนักก็ตาม

 

กล่าวโดยภาพรวม บทวิเคราะห์งานเขียนทางประวัติศาสตร์ศิลปะของพิริยะ ไกรฤกษ์ ที่เกษรานำเสนอในหนังสือเล่มนี้ หลายส่วนได้เข้ามาเติมเต็มความเข้าใจของเราที่มีต่องานของพิริยะได้อย่างชัดเจนขึ้น

แน่นอนนะครับว่า หนังสือเล่มนี้คงมิใช่งานศึกษา และวิเคราะห์งานเขียนของพิริยะที่ถูกต้องสมบูรณ์ที่สุด ในอนาคตเชื่อแน่ว่าจะมีงานต่อยอดที่ศึกษาพิริยะในอีกหลากหลายแง่มุม และงานในอนาคตอาจเข้ามาโต้แย้งและปฏิเสธข้อเสนอที่เกษรานำเสนอในงานชิ้นนี้ก็เป็นได้

แต่อย่างน้อย หนังสือเล่มนี้ก็เป็นก้าวสำคัญครั้งแรกๆ ที่ได้เข้ามาทำการศึกษางานเขียนทางประวัติศาสตร์ศิลปะของพิริยะอย่างเป็นระบบ

*กิจกรรมครบรอบ 10 ปี มูลนิธิพิริยะ ไกรฤกษ์ นอกจากจะมีการเปิดตัวหนังสือ “พิริยะ ไกรฤกษ์ กระแสใหม่ประวัติศาสตร์ศิลป์ไทย” แล้ว ยังมีการเปิดตัวหนังสือ “รู้ใหม่ คิดใหม่ กับ พิริยะ ไกรฤกษ์” เขียนโดยพิริยะ ไกรฤกษ์ พร้อมทั้งมีการเปิดบ้าน “บ้านพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ” (นพ ไกรฤกษ์) ให้สาธารณะเข้าชมด้วย