เกษียร เตชะพีระ : “วิธีคิดอนุรักษนิยมไทย : แนวคิดอินทรียภาพ”

เกษียร เตชะพีระ

“ปรัชญามาถึงฉากเหตุการณ์เอาเมื่อสายเกินกว่าจะให้คำแนะนำสั่งสอนว่าโลกควรจะเป็นเช่นไรแล้วเสมอ ในฐานะความคิดของโลก มันจะปรากฏขึ้นก็ต่อเมื่อภาวะจริงสำเร็จรูปเรียบร้อยอยู่ที่นั่นแล้ว ภายหลังกระบวนการก่อรูปของภาวะจริงเสร็จสิ้นลงแล้ว …

เมื่อปรัชญาทาสีเทาทับลงไปบนสีเทานั้น ชีวิตรูปทรงหนึ่งก็ถึงวัยชราแล้ว สีเทาของปรัชญาที่ทาทับสีเทามิอาจปลุกมันให้หนุ่มกระชุ่มกระชวยขึ้นมาใหม่ เพียงแต่ทำให้มันเป็นที่เข้าใจได้ ด้วยว่านกเค้าแมวแห่งเทพีมีเนอร์ว่าย่อมกางปีกออกโผบินก็ต่อเมื่อย่ำสนธยาแล้วเท่านั้น”

จอร์จ วิลเฮล์ม ฟรีดริช เฮเกิล, ปรัชญาว่าด้วยสิทธิ, ค.ศ.1821

หลังผลประชามติรัฐธรรมนูญ 7 สิงหาคมศกนี้ออกมาว่ารับร่างรัฐธรรมนูญ 16,820,402 คะแนน : ไม่รับ 10,598,037 คะแนน (หรือ 61.35% : 38.65% ของจำนวนผู้มาออกเสียง 29,476,077 คน หรือ 59.40% ของผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด 50,071,589 คน ไม่นับบัตรเสีย 936,209 ใบ หรือ 3.15%) และเห็นชอบให้ ส.ส. กับ ส.ว. ร่วมกันเลือกนายกฯ ในช่วง 5 ปีแรก 15,132,050 คะแนน : ไม่เห็นชอบ 10,926,648 คะแนน (หรือ 58.07% : 41.93%)

สื่อมวลชนและผู้สังเกตการณ์ต่างประเทศบางฉบับก็แสดงปฏิกิริยาออกมาอย่างประหลาดใจแกมเสียดเย้ยว่า :

“Thailand just voted to make itself even less democratic” หรือ “ประเทศไทยเพิ่งโหวตให้ตัวเองเป็นประชาธิปไตยน้อยลงไปอีก” โดย Vijay Joshi, Natnicha Chuwiruch ในสื่อออนไลน์ The Independent ของอังกฤษน่าสนใจว่าในชั้นหลัง หัวข้อข่าวถูกปรับเปลี่ยนให้แหลมคมน้อยลงกว่าเดิม)

“Revenge of the Conservatives in Thailand” หรือ “การล้างแค้นของพวกอนุรักษนิยมในเมืองไทย” โดย Nirmal Ghosh ใน blog ที่ The Strait Times ของสิงคโปร์ เป็นต้น

จึงน่าสนใจว่าวิธีคิดอนุรักษนิยมไทยที่สวนกระแสโลกนี้มีบุคลิกลักษณะอย่างไร? มาจากไหน? เราจะเข้าใจมันได้อย่างไรบ้าง?

ผมอยากเริ่มด้วยการโฟกัสไปที่องค์ประกอบหลักประการหนึ่งของแนวคิดอนุรักษนิยม (Conservatism) ที่เรียกว่า Organicism หรือแนวคิดอินทรียภาพ หรือนัยหนึ่งแนวคิดที่มองรัฐและสังคมประหนึ่งร่างกายที่ประกอบไปด้วยองคาพยพของมนุษย์เรา

สารานุกรมออนไลน์วีกิพีเดียอธิบายแนวคิดนี้ไว้ว่า :

“ทฤษฎีว่าด้วยรัฐแบบอินทรียภาพเป็นลัทธิรวมหมู่ทางการเมืองสายพันธุ์หนึ่งซึ่งยืนกรานว่ารัฐข้ามพ้นบรรดาปัจเจกบุคคลทั้งหลายในรัฐทั้งในแง่อำนาจ สิทธิและลำดับความสำคัญ ทฤษฎีนี้มักถูกแกะรอยย้อนหลังไปถึงเฮเกล แม้ว่ามันจะมีความเชื่อมโยงกลับไปถึงนักคิดโบราณอย่างเพลโตก็ตาม

และมันเคยมีอิทธิพลอย่างแรงกล้าในสังคมต่างๆ นานาหลากหลายกัน อาทิ โซเวียตรัสเซีย นาซีเยอรมนี จีนคอมมิวนิสต์ และความคิดการเมืองของประธานาธิบดี วูดโรว์ วิลสัน รวมทั้งนักคิดบางคนที่เกี่ยวข้องกับนโยบายนิวดีลของอเมริกา ตัวอย่างทฤษฎีแบบอินทรียภาพในชีวิตจริงได้แก่ในสงครามโลกครั้งที่สองเมื่อฮิตเลอร์นำเอาทฤษฎีนี้ไปปฏิบัตินโยบาย “lebensraum” หรือพื้นที่ดำรงชีพ ด้วยการรุกรานประเทศอื่นๆ เพื่อเอาดินแดนมาเป็นของประเทศตน…”

(http://en.wikipedia.org/wiki/Organic_theory_of_the_state)

แนวคิดอินทรียภาพ (Organicism) เป็น 1 ใน 7 เชื้อมูลสำคัญที่ประกอบส่วนสร้างอุดมการณ์อนุรักษนิยมโดยรวม ดังแผนภูมิที่คุณ Kamchana Suttikul แสดงไว้อย่างรวบรัดชัดเจนข้างบน ซึ่งตรงกับที่ รศ.ดร.สมเกียรติ วันทะนะ แห่งคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อธิบายไว้ในหนังสืออุดมการณ์ทางการเมืองร่วมสมัย (2551)

Michael Mann ศาสตราจารย์สังคมวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ณ ลอสแองเจลิส (UCLA) ได้อธิบายความแตกต่างระหว่าง [แนวคิดอินทรียภาพอันเป็นฐานรากของอนุรักษนิยมรวมทั้งอุดมการณ์ฝ่ายขวาอื่นๆ] กับ [แนวคิดที่มองสังคมและรัฐว่าแบ่งแยกเป็นช่วงชั้นอันเป็นฐานรากของเสรีประชาธิปไตย] ไว้ในงานเรื่อง The Dark Side of Democracy : Explaining Ethnic Cleansing (“ด้านมืดของประชาธิปไตย : อธิบายการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์”, ค.ศ.2005) ว่า :

ทรรศนะการมองประชาชนในชาติโดยทั่วไปมีอยู่ 2 แบบคือ :

1) มองประชาชนเหมือนเป็น “ร่างกาย” (the organic people) ที่ประกอบด้วยอวัยวะองคาพยพต่างๆ ทำหน้าที่บรรสานสอดคล้องกลมกลืนกัน เป็นองค์รวมเดียวกัน แบ่งแยกจากกันไม่ได้

หากมองประชาชนในแบบแรก การเมืองก็เป็นเรื่องของการผดุงรักษาไว้ซึ่งเอกภาพแห่งชาติและความรู้รักสามัคคี

2) หรือมิฉะนั้นก็อาจมองประชาชนอีกแบบหนึ่งว่าประกอบไปด้วย “ช่วงชั้น” (the stratified people) หรือนัยหนึ่งกลุ่มผลประโยชน์ อาชีพ ชนชั้น เพศ ชาติพันธุ์ ภาษา ศาสนา ความเชื่อต่างๆ ฯลฯ ที่แบ่งแยกกัน แตกต่างจากกันและอาจขัดแย้งกันได้

หากมองประชาชนในแบบหลัง การเมืองก็เป็นเรื่องของการออกแบบ รักษาและบริหารจัดการระบบระเบียบกฎเกณฑ์กติกาให้คนในชาติเรียนรู้ที่จะสามารถทะเลาะกันได้และรู้แพ้รู้ชนะกันได้อย่างสันติโดยไม่ต้องลุกขึ้นมาฆ่าฟันกัน

ตัวอย่างกระชับจับใจในวัฒนธรรมบันเทิงมหาชนของแนวคิดอินทรียภาพเมื่อไม่นานมานี้ได้แก่ฉากหนึ่งของภาพยนตร์เรื่อง Snowpiercer (https://en.wikipedia.org/wiki/Snowpiercer, ค.ศ.2013) ซึ่งเป็นเรื่องราวของขบวนรถไฟสายนาวากระฉึกกระฉัก (the Rattling Ark) ที่ใช้พลังงานนิวเคลียร์ให้ความอบอุ่นและขับเคลื่อนตามรางเรื่อยไปไม่หยุดในฐานะแหล่งหลบภัยสุดท้ายของมนุษย์ผู้เหลือรอดชีวิตอยู่หลังโลกทั้งใบจมอยู่ใต้หิมะอันหนาวเหน็บซึ่งเป็นภัยพิบัติผลกระทบจากความพยายามของมนุษย์เองที่จะแก้ปัญหาโลกร้อนด้วยวิศวภูมิอากาศแล้วผิดพลาด

(นี่ย่อมเป็นอุปมานิทัศน์เลียนแบบเรื่องนาวาโนอาห์ที่เหลือรอดอยู่เมื่อพระเจ้าให้น้ำท่วมโลก ตามพระคัมภีร์ไบเบิล ภาคพันธสัญญาเดิม ตอนปฐมกาล บทที่ 6-9 https://wordproject.org/bibles/ti/)

รถไฟสายนาวากระฉึกกระฉักจัดแบ่งผู้โดยสารออกเป็นลำดับชั้นฐานะต่างๆ ลดหลั่นกัน จากชนชั้นปกครอง พขร.ที่หัวรถไฟ, ผู้โดยสารชั้นหนึ่งและชั้นประหยัดซึ่งได้ตู้โดยสาร อาหาร บริการแตกต่างกันตามค่าโดยสารที่จ่าย, ไปจนถึงผู้โดยสารอนาถาชั้นต่ำสุดท้ายขบวนที่ขออาศัยขึ้นรถไฟฟรีมาด้วย, และเจ้าหน้าที่ รปภ. ติดอาวุธคอยรักษาระเบียบในรถไฟไม่ให้ใครล่วงละเมิดบุกรุกข้ามตู้

ในฉากลงโทษผู้โดยสารฟรีชั้นต่ำสุดคนหนึ่งชื่อแอนดรูว์ที่บังอาจแข็งข้อกระด้างกระเดื่องขว้างรองเท้าใส่หัวเจ้าหน้าที่รถไฟ ด้วยการบังคับจับแขนของเขาข้างหนึ่งยื่นออกไปแช่แข็งอากาศหนาวสุดขีดข้างนอกตู้โดยสารจนมันกลายเป็นน้ำแข็งแล้วใช้ค้อนใหญ่ทุบมันแตกแหลกจากตัวนั้น รัฐมนตรีหญิงเมสันแห่งรถไฟสายนาวากระฉึก กระฉักได้ชูรองเท้าข้างที่ถูกขว้างขึ้นพลางอธิบายแนวคิดอินทรียภาพที่ครอบงำกำกับระเบียบความเหลื่อมล้ำบนรถไฟว่า

(ดูสคริปต์หนังฉากนี้ที่ https://www.dropbox.com/s/3dzx605wa5noitg/SNOWPIERCER%2011.28.11.pdf?dl=0 น.17-18) :

“ผู้โดยสารทั้งหลาย นี่ไม่ใช่รองเท้า นี่คือความไร้ระเบียบ นี่คือความโกลาหลวุ่นวายเบอร์ 10 นี่ เธอเห็นนี่ไหม? นี่คือความตาย ในรถไฟขบวนนี้ที่เราเรียกว่าบ้าน มีสิ่งหนึ่งที่คั่นระหว่างหัวใจอันอบอุ่นและความหนาวเหน็บรวดร้าวข้างนอก เสื้อผ้ารึ? ผ้ายีนส์รี? ไม่ใช่ ระเบียบต่างหาก ระเบียบคือด่านกั้นที่เหนี่ยวรั้งความหนาวเหน็บและความตายเอาไว้ พวกเราทุกคนบนรถไฟแห่งชีวิตขบวนนี้ จักต้องคงอยู่ในสถานะที่ได้รับมอบหมายให้ของเรา พวกเราแต่ละคนจักต้องจับจองฐานะเฉพาะที่กำหนดมาให้แต่แรกแล้วของเรา

“เธอจะใส่รองเท้าไว้บนหัวไหม? แน่ล่ะเธอจะไม่ใส่รองเท้าไว้บนหัว รองเท้าไม่ควรอยู่ที่หัว รองเท้าควรอยู่ที่เท้า หมวกต่างหากอยู่บนหัว ฉันเป็นหมวก เธอเป็นรองเท้า ฉันอยู่บนหัว เธออยู่ที่เท้า ใช่นะ? มันจักต้องเป็นไปเช่นนี้แต่ต้น ระเบียบถูกกำหนดโดยตั๋วของเธอ ชั้นหนึ่ง, ชั้นประหยัด และพวกโดยสารฟรีเหมือนเธอ ระเบียบนิรันดรถูกกำหนดโดยเครื่องจักรอันศักดิ์สิทธิ์ ทุกสิ่งทุกอย่างสืบเนื่องมาจากเครื่องจักรอันศักดิ์สิทธิ์

“ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ในที่ของมัน ผู้โดยสารทั้งปวงอยู่ในชั้นของตน น้ำทั้งหมดไหลรี่ ความร้อนสูงขึ้น จงแสดงความเคารพเครื่องจักรศักดิ์สิทธิ์เถิด เครื่องจักรอันตั้งอยู่ในฐานะเฉพาะที่กำหนดมาแต่ก่อนของตนและจักต้องเป็นไปเช่นนี้

“ตอนนี้ เหมือนตอนแรกเริ่มเดิมที ฉันอยู่หัวขบวน เธออยู่ท้ายขบวน เมื่อใดที่เท้าแสวงหาที่ของหัว เส้นศักดิ์สิทธิ์ก็ถูกล่วงข้าม จงเจียมที่ทางของตน เป็นรองเท้า…”

(ต่อสัปดาห์หน้า)