คณะทหารหนุ่ม (18) | “ฟางเส้นสุดท้าย” ความไม่พอใจทหารต่อ รบ.ธานินทร์ กรัยวิเชียร

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

บันทึกต่อไปของ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์

“พล.ต.มนูญกฤต รูปขจร ได้กรุณามาช่วยเล่าให้ผมฟังถึงเหตุการณ์ในตอนนั้นว่า…

‘เวลานั้นพวกเราวางแผนกันไว้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น ประจักษ์ สว่างจิตร ปรีดี รามสูตร พัลลภ ปิ่นมณี ตอนนั้นมีกำลังอยู่หลายกองพันแล้ว เราตกลงกันว่า ผมกับประจักษ์จะวางกำลังยึดสถานที่ต่างๆ ส่วนพัลลภให้จับตัวท่านนายกฯ ธานินทร์ กรัยวิเชียร เมื่อตกลงกันอย่างนี้แล้ว ผมกับจำลองเข้าไปเรียนท่าน พล.อ.เสริม ณ นคร ตอนนั้นท่านเป็นผู้บัญชาการทหารบกอยู่ ท่านก็เอากับเราด้วยโดยยอมเป็นหัวหน้าให้ เหนือความคาดหมายเหมือนกันว่า พล.อ.เสริม ณ นคร ท่านจะเอาด้วย แต่ก็นั่นแหละเวลามันเปลี่ยน สถานการณ์เปลี่ยน ความคิดจิตใจคนอาจเปลี่ยนได้’

‘ตอนนั้นพัลลภเขากำหนดเวลาเอาไว้คือตอน 23.00 น.ตรง เมื่อนายกฯ ธานินทร์ท่านออกจากทำเนียบรัฐบาล พวกเขาก็ตามท่านไปตั้งแต่ 20.00 น. ตามที่เขารายงานมาตลอด เรารู้ว่าท่านนายกฯ จะไปร่วมงานที่โรงแรมดุสิตธานี เพราะ 22.00 น. เขารายงานมายังผมว่าท่านนายกฯ เดินทางกลับเข้าบ้านที่บางเขนเลย

กำลังของพัลลภคือหน่วยล่าสังหารมีอยู่ 3 ชุด กำลังพลก็ประมาณ 21 นาย อาวุธพร้อม เขารายงานว่า ในบ้านท่านนายกฯ มีกำลังตำรวจ 191 รักษาการณ์อยู่ 20 กว่านายเหมือนกัน และพัลลภก็เตรียมกำลังจะเข้าบุกอยู่แล้ว…

เพราะว่า พล.อ.เสริม ณ นคร ท่านกลับลำไม่เล่นด้วยกับพวกเรา ผมจึงรีบสั่งให้พวกเราถอนกำลังกลับมาตั้งหลักที่ ม.พัน 4 รอ. ที่ผมคุมกำลังอยู่ แต่ตอนที่เข้ามาที่ ม.พัน 4 นั้น เขาไม่ได้พบผม เพราะผมอยู่กับ พล.อ.เสริม ณ นคร ที่สวนรื่นฤดี จึงได้พบแต่ประจักษ์ สว่างจิตร ประจักษ์จึงสั่งให้พัลลภเดินเครื่องต่อโดยให้เข้ายึดสวนรื่นฯ เลย แต่เมื่อ พล.อ.เสริม ณ นคร ให้เหตุผลต่างๆ นานาในครั้งนั้นที่เราเปิดเผยไม่ได้ งานนั้นต้องเลิกกันไป

พอรุ่งเช้ามีข่าวว่านายกฯ ท่านรู้เรื่องและจะเอาเรื่องพวกเรา แต่ พล.อ.เสริม ณ นคร ท่านเป็นสุภาพบุรุษ ขอรับผิดชอบ ท่านเข้าขัดขวาง พวกเราหลายคนเตรียมตัวหนีกันแล้ว อย่างน้อยข้อหากบฏอาจจะรอพวกเราอยู่ อาจจะโดนแบบกรณี พล.อ.ฉลาดก็ได้ แต่ พล.อ.เสริม ณ นคร กับ พล.อ.ยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ท่านเป็นลูกผู้ชายเข้าช่วยพวกเราไว้ทัน’

ตอนนั้นพวกเราคดี 26 มีนาคม และน้องๆ กลุ่ม 6 ตุลาคมลุ้นกันตัวโก่งอยู่ในบางขวางแล้วก็วืดไปด้วยเหตุผลที่ พล.ต.มนูญกฤตเล่ามา พวกเราเลยไม่ได้สะใจ แต่ยังเติร์กเกือบจะพลาดท่าไปเหมือนกัน”

 

พ.ท.รณชัย ศรีสุขวรนันท์ ผู้ร่วม “ติดเครื่องรถถัง” เมื่อเช้ามืด 3 มิถุนายน พ.ศ.2520 ด้วยก็บันทึกเหตุการณ์เดียวกันนี้ไว้ใน “พ.อ.มนูญ รูปขจร บนเส้นทางปฏิวัติ” ดังนี้

“ผลพลอยได้ของเหตุการณ์ครั้งนั้นก็คือเป็นการเปิดเผยสู่สายตาของคนข้างนอกว่า กลุ่มทหารหนุ่มที่เรียกกันนั้นคือกลุ่มไหนกันแน่ หากการก่อการ 26 มีนาคม ประสบผลสำเร็จ เครดิตของการเป็นกลุ่มทหารหนุ่มก็ต้องตกอยู่กับกลุ่มนี้แน่นอน มันเป็นกฎธรรมดาของสัตว์โลกครับ สัตว์ที่แข็งแรงเท่านั้นจึงจะมีชีวิตอยู่ได้ ฉะนั้น กลุ่มทหารหนุ่มที่เหลืออยู่ก็คือกลุ่มของพี่มนูญ พี่จำลอง พี่ชาญบูรณ์ พี่ประจักษ์ นั่นเอง”

“ผมไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงผลงานของรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ที่มีลักษณะที่คับแคบ ไม่อ่อนตัวกับสถานการณ์ที่เป็นจริงในปัจจุบัน การไม่เข้าใจสถาบันทหารของรัฐมนตรีร่วมคณะบางนายก็ดี การที่หัวหน้าคณะปฏิรูปไม่ใช่มาจากนายทหารบกซึ่งเป็นฐานหลักของอำนาจก็ดี การปฏิบัติการที่เฉียบขาดต่อบุคคลที่ร่วมก่อการเมื่อ 26 มีนาคมก็ดี ล้วนแล้วแต่เป็นสาเหตุที่จะล้มกระดานได้ทั้งนั้น แม้กระทั่งเหตุการณ์ที่อุบัติขึ้นในตอนค่ำของคืนวันหนึ่งในต้นเดือนมิถุนายน 2520 ก็ใช่”

พ.ท.รณชัย ศรีสุวรนันท์ บรรยายภาพเหตุการณ์เมื่อ 3 มิถุนายน พ.ศ.2520 ว่า…

“เกมรุกเปิดด้วยกำลังชุดรบของหัวของหน่วยปฏิบัติการพิเศษที่มาจากต่างจังหวัด หน่วยหนึ่งจู่โจมเข้ายึดและปลดอาวุธกองรักษาการณ์ของศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก สวนรื่นฤดี เพื่อจะจัดตั้งเป็นกองบัญชาการคณะปฏิวัติเสร็จเรียบร้อย การตื่นตระหนกของหน่วยสารวัตรทหารที่พรวดพราดเข้ามาในวงจรโดยไม่รู้อีโหน่อีเหน่ที่เกือบจะปะทะด้วยอาวุธกับผู้บังคับหน่วยชุดรบนั้น ขณะต่อรองกับนายทหารชั้นผู้ใหญ่เพื่อให้ท่านรับเป็นหัวหน้าในการยึดอำนาจรัฐครั้งนี้จบลงด้วยการเอ็ดตะโรของนายทหารผู้ใหญ่อีกท่านหนึ่งที่เข้ามาห้ามโดยยังไม่ทันฟังเหตุผลและคำอธิบาย ถ้าหากไม่มีการขัดจังหวะผิดล็อกคืนนั้นแล้ว โฉมหน้าของการเมืองไทยคงจะเป็นอีกรูปแบบหนึ่งไม่ต้องนับถอยหลังกันให้เสียเวลากันอีก คงเหลือไว้แต่คำพูดที่ฝากไว้ในหัวใจของทั้งสองฝ่าย

ฝ่ายอ่อนอาวุโสกล่าวว่า ‘ถ้าคุณอาไม่กรุณา การกระทำของพวกผมครั้งนี้ก็เป็นกบฏกันหมดแล้ว’ วาจาที่ตอบสนองของผู้ใหญ่ที่น่าเคารพน้ำใจเป็นสุภาพบุรุษท่านนั้นก็คือ ‘พวกคุณสบายใจได้ ผมรับผิดชอบเหตุการณ์ทั้งหมดนี่เอง’

แม้ผู้ใหญ่ท่านนี้จะถูกถามจากผู้มีอำนาจสูงกว่าในเช้าของวันต่อมา คำตอบของท่านก็คือ

‘ไม่มีอะไร ผมเป็นผู้บังคับบัญชา การที่ผมเชิญผู้บังคับหน่วยมากินข้าวเย็นด้วยกันจะทำไม่ได้หรือ?’

เช้ามืด 20 มิถุนายน พ.ศ.2520 จึงจบลงเงียบๆ เมื่อคณะทหารหนุ่มสั่งถอนกำลังกลับที่ตั้งปกติ ทิ้งไว้แต่ข่าวลือที่ล่องลอยตามสายลมเป็นเสียงป้องปากซุบซิบที่ไม่มีใครสามารถยืนยันความเป็นจริงได้”

 

นับถอยหลังครั้งใหม่

แม้จะไม่สามารถยึดอำนาจได้เมื่อ พล.อ.เสริม ณ นคร เปลี่ยนใจ แต่ความไม่พอใจของคณะทหารหนุ่มต่อรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง

เหตุการณ์ที่เป็นเสมือน “ฟางเส้นสุดท้าย” เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ 3 มิถุนายนผ่านไปไม่นาน นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เดินทางไปตรวจเยี่ยมหน่วยทหารตามแนวชายแดนตะวันออก ซึ่งขณะนั้นเกิดการปะทะกับทหารของประเทศเพื่อนบ้านบ่อยครั้ง อันเป็นเหตุการณ์ปกติประจำวันหลังความสำเร็จของฝ่ายสังคมนิยมในการปลดปล่อยประเทศกลุ่มอินโดจีน

ความพยายามยึดอำนาจแล้วถอยทัพเมื่อเช้า 3 มิถุนายน คงทำให้นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เกิดความมั่นใจในสถานภาพเหนือกองทัพของตน เชื่อว่าตนสามารถ “บัญชา” กองทัพซึ่งตกต่ำมาตั้งแต่เหตุการณ์ตุลาคม 2516 ได้แล้ว จึงเกิดคำตอบที่คณะทหารหนุ่มซึ่งเป็นผู้บังคับหน่วยกำลังรบส่วนใหญ่ในการป้องกันชายแดนด้านตะวันออกตัดสินใจเริ่ม “การนับถอยหลัง” อีกครั้งตามบันทึกของ พ.ท.รณชัย ศรีสุวรนันท์

“แต่ที่สุดของที่สุดก็คือ การปฏิเสธคำขอของผู้บังคับหน่วยรบชายแดนด้านตะวันออกที่มีต่อหัวหน้ารัฐบาลในการขออนุมัติจ่ายเงินทดแทนเร่งด่วนให้กับทหารที่เสียชีวิตขณะที่ปฏิบัติการรบเป็นกรณีพิเศษในการไปเยี่ยมฐานปฏิบัติการตามแนวชายแดน ‘ทำไม่ได้ เพราะผิดหลักการ’ นั่นเป็นคำตอบ” ซึ่ง พ.ท.รณชัยเห็นว่า…

“ทางออกที่ไม่ใช่คำตอบโดยนัยยะของหลักนิติศาสตร์อย่างนั้นทางอื่นมีเยอะแยะไป เพียงแต่ขอรับเรื่องไว้พิจารณาและจะได้คำตอบทีหลังก็น่าจะทำได้นะครับ ความแข็งแกร่งจะหักได้ก็ด้วยความอ่อนตัวครับ” แล้วฟันธงว่า…

“การนับถอยหลังที่จะล้มกระดานก็เกิดจากการสนทนาที่ออกในรูปปฏิเสธในครั้งนี้ เข็มนาฬิกาก็เริ่มทำหน้าที่ของมันแล้วนะครับ”