กฎหมาย “จริยธรรม” : คอลัมน์หน้า 8

ใครจะไปนึกว่าในยุค “คนดี” ครองเมือง

เรื่องแบบนี้จะเกิดขึ้น

หลังจาก คสช. มีคำสั่งแต่งตั้งผู้ปฏิบัติงานในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 34 คน

ซึ่งบางคนเป็นการต่ออายุเป็นปีที่ 4

รายชื่อหนึ่งที่ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด คือ นางมยุรา ช่วงโชติ รองเลขาธิการประจำผู้ดำรงตำแหน่งใน คสช.

หรือเลขาธิการประจำตัวนายมีชัย ฤชุพันธุ์

กินเงินเดือน 47,500 บาทเป็นปีที่ 4

เพราะนางมยุรา เป็นบุตรสาวของนายมีชัย

ภาพเก่าในอดีตเมื่อต้นปี 2558 ที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แต่งตั้ง “เมีย-ลูก-ญาติ” เป็นผู้ช่วยทำงาน

ทั้งผู้เชี่ยวชาญและผู้ชำนาญการประจำตัว

ตำแหน่งไหนมีเงินเดือนประจำก็ใส่คนในครอบครัวเข้ามารับตำแหน่ง

เป็นรายได้ของครอบครัว

หลังจากข่าวออกมา สนช. ทั้งหลายก็เกิดคุณธรรมในจิตใจขึ้นมาโดยฉับพลัน

ญาติทั้งหลายก็ยื่นใบลาออกโดยพร้อมเพรียงกัน

ไม่เหมือนกรณี “มีชัย”

หลังจากเป็นข่าว นายมีชัยก็ออกมาชี้แจงด้วยเหตุผลหลักๆ 3 เรื่อง

เรื่องแรก เรื่อง คสช. เป็น “ความลับ” ให้ใครมารู้ไม่ได้ ต้องการคนที่ไว้ใจได้

เรื่องที่สอง นายมีชัยไม่อยู่ในราชการ จึงไม่รู้จะยืมใครที่ไว้วางใจมาทำหน้าที่

เรื่องที่สาม นายมีชัยไม่ได้อยู่ในราชการ จึงไม่มีสถานที่ทำงาน

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ นายมีชัยทำงานการเมืองมาโดยตลอดตั้งแต่ยุค พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

ช่วงรัฐประหาร 2549 ก็เป็นประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

มายุคนี้ก็เป็นประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ

งานที่นายมีชัยทำมาตลอดก็เป็นเรื่อง “การเมือง”

แต่ละตำแหน่งก็ใหญ่โตมโหฬาร

ล้วนเป็นเรื่อง “ความลับ” ของประเทศทั้งสิ้น

นอกจากนั้น ช่วงที่ผ่านมา เขามีเลขานุการ มีคนทำงานให้จำนวนมาก

ถ้าไม่ไว้ใจ คงไม่ใช้งานคนเหล่านี้

นอกจากนั้น เขายังมีสำนักงานกฎหมายมีชัย ฤชุพันธุ์ ที่อาคารบี บี บิลดิ้ง มายาวนาน

เป็นประธานคณะกรรมการบริษัทแห่งหนึ่งในตลาดหลักทรัพย์ฯ

เรื่อง “ที่ทำงาน” จึงไม่ใช่เรื่องใหญ่

แต่ทำไมนายมีชัยจึงแต่งตั้ง “ลูกสาว” มากินเงินเดือน “รองเลขาธิการ”

คำตอบเรื่องนี้ใช้ “กฎหมาย” ตัดสินไม่ได้

มีแต่หลัก “จริยธรรม” เท่านั้นที่จะตอบได้

อะไรควรทำ

และอะไรไม่ควรทำ