นงนุช สิงหเดชะ/จาก “ไมโครโฟนทองคำ” ถึงเครื่องจับความเร็ว “เพชร”

บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ

จาก “ไมโครโฟนทองคำ” ถึงเครื่องจับความเร็ว “เพชร”

ดูท่ารัฐบาลนี้อาจจะจบลงไม่สวยและคนอาจเสื่อมศรัทธายิ่งกว่ารัฐบาลอื่นก็เป็นไปได้ จากปัญหาการใช้งบประมาณไม่โปร่งใสหลายเรื่อง ไม่เป็นไปตามหลักพอเพียง ประหยัด อย่างที่หัวหน้ารัฐบาลชอบย้ำหลายครั้ง

เพราะระยะหลังนี้นอกจากจะกระหน่ำซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์แบบไม่สนไม่แคร์เสียงวิจารณ์แล้ว การจัดซื้ออื่นๆ ก็ดูเหมือนจะมีปัญหาเรื่องราคาแพงเกินไป ไม่สมเหตุสมผล

จนหมิ่นเหม่จะชวนให้สังคมแคลงใจว่ามีเรื่องทุจริตมาเกี่ยวข้องหรือไม่

หากจำกันได้ ตอนมาบริหารประเทศช่วงแรกเมื่อเดือนกันยายน 2557 ก็ประเดิมความฉาวด้วยเรื่องการจัดซื้อและติดตั้งชุดไมโครโฟน (ยี่ห้อ BOSCH) ภายในห้องประชุมคณะรัฐมนตรีและห้องอื่นๆ ภายในทำเนียบรัฐบาล ซึ่งกลายเป็นเรื่องร้อนขึ้นมาเพราะราคาไมโครโฟนแพงลิ่วตัวละ 1.45 แสนบาท ต่อรองราคาแล้วบริษัทเอกชนลดให้เหลือ 9.42 หมื่นบาท โดยจะจัดซื้อทั้งสิ้น 192 ตัว ซึ่งแม้จะลดราคาลงมาก็ยังแพงมหาศาลอยู่ดี

ช่วงนั้นมีผู้ยื่นร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่มีหน้าที่ปราบโกง ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ป.ป.ช. ให้ตรวจสอบโครงการดังกล่าว เพราะราคาแพงกว่าท้องตลาดมาก จนถูกล้อเลียนว่าเป็นไมโครโฟนทองคำ ไมโครโฟนเทพ

ในคราวนั้นผู้รับผิดชอบการจัดซื้อก็คือกรมโยธาธิการและผังเมือง สังกัดกระทรวงมหาดไทย ได้ออกมาอ้างว่าเหตุที่ต้องซื้อแพงขนาดนี้เพราะเป็นเทคโนโลยีรองรับอนาคตมีความล้ำสมัย “ทำเนียบรัฐบาลไทยจะเป็นรายแรก (ในโลก) ที่นำเทคโนโลยีนี้มาใช้”

ฟังการชี้แจงแล้วน่าหมั่นไส้ เพราะเหมือนพวกไม่ประมาณตน ทั้งที่หัวหน้ารัฐบาลนี้พูดย้ำอยู่ทุกวันเรื่องความพอเพียง ประหยัด โปร่งใส สมเหตุสมผล

ถามว่าประเทศไทยมีรายได้อันดับเท่าไหร่ของโลก มีขนาดเศรษฐกิจอันดับเท่าไหร่ของโลก ถึงจะกล้าใช้ของแพงที่สุดในโลกก่อนรัฐบาลอื่นในโลก ถ้าดีจริงทำไมรัฐบาลเจ้าของยี่ห้อ BOSCH คือเยอรมนี ไม่นำไปใช้ในทำเนียบเป็นเจ้าแรกล่ะ

ผลิตอะไรเองไม่เป็น รวยก็ไม่รวย แล้วยังจะกล้าใช้ของแพงที่สุดในโลก

ตอนนั้นรัฐบาลเกือบเอาตัวไม่รอด ผู้หลักผู้ใหญ่ชิ่งหนีตายราวกับเท้าเหยียบไฟ ในที่สุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีก็มีคำสั่งให้ยกเลิกโครงการไปก่อน จนถึงบัดนี้ยังไม่รู้เรื่องไปถึงไหน จะระงับถาวร หรือคอยลักไก่-ลักหลับซื้ออีกรอบ

แต่ดูเหมือนไม่เข็ด เพราะล่าสุดนี้ ตุลาคม 2560 มีข่าวว่าคณะรัฐมนตรีอนุมัติงบประมาณให้กับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) สังกัดกระทรวงมหาดไทย เจ้าเก่า จัดซื้อเครื่องตรวจจับความเร็วแบบพกพา เพื่อป้องปรามการขับขี่ยวดยานด้วยความเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด อันเป็นสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน จะจัดซื้อจำนวน 849 เครื่อง คิดเป็นเงินประมาณ 573 ล้านบาท หรือตกเครื่องละ 6.75 แสนบาท

ราคาตัวละ 6.75 แสนบาทนี้เรียกเสียงฮือฮามาก เพราะแพงกว่ารถยนต์ขนาดกลาง 1 คันเสียอีก ซึ่งก็คงต้องเรียกว่าเป็นเครื่องจับความเร็วฝังโคตรเพชร

ที่ประหลาดก็คือ ทำไม ปภ. ต้องเป็นผู้จัดซื้อ แทนที่จะเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติซึ่งมีหน้าที่โดยตรง

ประเด็นสำคัญกว่านั้น เครื่องแสนแพงนี้จะช่วยลดอุบัติเหตุได้อย่างไร ถ้าหากการบังคับใช้กฎหมายหย่อนยาน โทษน้อย เพราะทุกวันนี้ขับรถเร็วก็แค่ปรับเงิน ขับรถเป็นอันตรายต่อผู้อื่นในลักษณะอื่นๆ ก็แค่ปรับเงิน แล้วก็ปล่อยไป โดยเฉพาะพวกคนรวยที่มีเงินซื้อรถแพงๆ จะมายี่หระหรือระคายอะไรกับค่าปรับแค่ 400 บาท 1,000 บาท เราจึงได้เห็นคนพวกนี้ออกมาทำผิดซ้ำแล้วซ้ำอีก

อยากให้ได้ผลจริง ออกกฎหมายเลยว่าขับเกินจากกฎหมายกำหนดเท่านี้จะมีโทษอย่างไร ไม่ใช่ขับ 100 กับขับ 180 หรือ 220 ก.ม./ช.ม. ก็แค่ถูกปรับเหมือนกันหมด แต่ควรมีโทษจำคุกด้วยเพื่อเอาไว้ปราบพวกที่ไม่กลัวเสียเงินหรือมีเงินมากพอจะเสียค่าปรับทุกวัน เช่น ขับเกิน 150 ขึ้นไป ไม่ว่าจะเมาหรือไม่เมาต้องจำคุกสถานเดียว (7 วัน ก็ยังดี) แบบขั้นบันได คือยิ่งขับเร็วยิ่งติดคุกนาน

อย่างไรก็ตาม เรื่องการจัดซื้อเครื่องตรวจจับความเร็วนี้ยังมีความสับสนว่า ครม. อนุมัติในราคาเครื่องละ 9 แสน หรือเครื่องละ 6.57 แสน เพราะแต่ละคนชี้แจงได้น่าสับสนมาก

เนื่องจากในตอนแรกมีข่าวว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชงเรื่องเข้ามารอบแรกที่ราคาเครื่องละ 9 แสน

แต่สำนักงบประมาณท้วงติงว่าแพงไป

หน่วยงานที่มีหน้าที่จัดซื้อจึงไปตรวจสอบราคาในท้องตลาดใหม่ คราวนี้ราคาถูกลงเหลือ 6.75 แสนบาท

หรือเท่ากับลดไปเครื่องละ 2.25 แสนบาท

แสดงว่าถ้าสำนักงบประมาณไม่ท้วงติงนี่ ก็จะเสนอราคามา 9 แสน ไม่คิดจะไปหาทางลดราคาลงมาใช่หรือไม่

แต่ก็กลับมีข่าวอีกว่าแม้ราคาที่เสนอใหม่จะเป็น 6.75 แสนบาท แต่ราคาจริงที่ ครม. อนุมัติไปเมื่อวันที่ 10 ตุลาคมนั้นคือ 9 แสนบาท

ด้านอธิบดี ปภ. ก็อ้างว่า 6.75 แสนบาทนี่เป็นแค่ราคากลางที่ไปสอบถามจากผู้ขายในตลาด ถ้าเป็นแบบนี้เชื่อได้ว่าถึงยังไงราคาจัดซื้อจริงก็จะไม่ต่ำกว่า 6 แสนบาทแน่ๆ (ซึ่งก็ยังแพงมากอยู่ดี) เพราะแค่ผู้ประมูลรายใดเสนอราคาต่ำกว่าราคากลางเล็กน้อยอาจแค่ 2-3 หมื่นบาทต่อเครื่อง ก็น่าจะชนะการประมูลไปได้

ปัญหาคือราคากลางที่ไปสำรวจมานั้นน่าเชื่อถือได้หรือไม่ ใช้กลุ่มตัวอย่างหลากหลายพอหรือไม่ หรือเป็นการจงใจตั้งราคากลางให้สูงๆ เข้าไว้เพื่อจะได้มีเงิน “ทอน” เยอะๆ ไปแบ่งกันถ้วนหน้า แบบเดียวกับที่งานรับเหมาต่างๆ ชอบทำกัน คือฮั้วหรือรวมหัวกันทั้งพ่อค้าและผู้จ้างทำราคากลางให้สูงเข้าไว้ พอถึงเวลาประมูลก็ทำทีลดจากราคากลางลงมานิดหน่อย ก็ชนะประมูลไป แต่ยังเป็นราคาที่พ่อค้ากำไรสูงลิ่วอยู่ดี แล้วแบ่งกำไรนั้นไป kick back ให้ใครบางคนอีกที

ถ้ายังปล่อยให้เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ มีแต่เรื่องฉาวโฉ่ น่าเป็นห่วงว่ารัฐบาลจะตกม้าตายตอนจบเพราะทำตามสัญญาเรื่องสุจริตโปร่งใส เรื่องความประหยัด คุ้มค่าและพอเพียงไม่ได้ ทั้งที่ชอบเทศนาคนอื่น

ถ้าหัวหน้ารัฐบาลยังมองไม่เห็นจุดอ่อนที่น่าห่วงมากนี้และไม่รีบแก้ไข ความเสื่อมศรัทธาก็จะมาเยือนอย่างรวดเร็ว