อุษาวิถี (7) อุษาวิถีจากกระแสอินเดีย (ต่อ) | วรศักดิ์ มหัทธโนบล

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เงาตะวันออก | วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 

อุษาวิถี (7)

อุษาวิถีจากกระแสอินเดีย (ต่อ)

 

เมืองจึงถูกสร้างขึ้นจนสำเร็จในเวลาต่อมา และขนานนามว่า “กบิลพัสดุ์” เพื่อสื่อรำลึกถึงกบิลดาบสผู้เป็นเจ้าของที่เดิม

จากนั้น โอรสทั้งสี่ก็กระทำอาวาหมงคลกับธิดาผู้เป็นกนิษฐภคินีหรือน้องหญิงของตน เพื่อสืบวงศ์กษัตริย์ต่อไป โดยยกให้เชษฐภคินีหรือพี่หญิงเป็นดุจมารดา

ข้างฝ่ายโอกกากราชเมื่อทรงรู้ข่าวการสร้างเมืองใหม่สำเร็จ จึงได้เปล่งวาจาชื่นชมโอรสว่า “กุมารผู้อาจหาญ” ดังนั้น วงศ์กษัตริย์ใหม่ในดินแดนกบิลพัสดุ์จึงมีชื่อวงศ์ว่า “สักกะ” (บาลี) หรือ “ศากยะ” (สันสกฤต) ที่แปลว่า กล้าหาญ สืบแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

ควรกล่าวด้วยว่า การแต่งงานกันในหมู่พี่น้องร่วมสายโลหิตของกษัตริย์วงศ์ดังกล่าวหาได้เกิดเฉพาะตามที่กล่าวมาเท่านั้น หากแม้แต่โอกกากราชเองก็แต่งงานในลักษณะนี้เช่นกัน

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าวงศ์กษัตริย์นี้เชื่อและถือตนว่ามาจากสุริยวงศ์อันศักดิ์สิทธิ์ หากแต่งกับคนนอกสายเลือดแล้วจะทำให้วงศ์ของตนหม่นหมอง ความเชื่อถือนี้ถูกสืบทอดปฏิบัติต่อๆ กันมาแม้จนศากยวงศ์ถูกตั้งขึ้น

และต่อมาก็ได้นำมาซึ่งการล่มสลายของศากยวงศ์ในที่สุด (ดังจะกล่าวต่อไปข้างหน้า)

 

หลังจากที่กบิลพัสดุ์ได้บังเกิดขึ้นแล้ว การปกครองก็ดำเนินสืบต่อไปภายใต้ระบบการเมืองที่เป็นไปในแบบสาธารณรัฐ (republic) เช่นเดียวกับรัฐเล็กๆ ที่มีฐานะเดียวกัน เช่น โกลิยะ มัลละ เป็นต้น

ผู้ปกครองถูกเรียกว่า “กษัตริย์” (kshatriya) แนวทางการปกครองเรียกว่า “สามัคคีธรรม” เวลาที่มีกิจอันใดเกิดขึ้น รัฐบาลของสาธารณรัฐเหล่านี้จะมาประชุมปรึกษาหารือร่วมกันในสภาที่เรียกว่า “สัณฐาคารศาลา” เพื่อหาข้อยุติหรือแนวทางแก้ไข

สมาชิกสภาแห่งนี้มีอยู่ 500 คน โดยตัวแทนผู้ทำหน้าที่เสมือนประธานในที่ประชุมจะถูกเรียกว่า “ราชา” (raja) ตำแหน่งนี้ไม่ได้ดำรงอยู่ด้วยการสืบทอด แต่จะได้รับความเคารพเท่ากับหรือยิ่งกว่ากษัตริย์องค์หนึ่ง

สิ่งสำคัญยิ่งของการเมืองแบบสาธารณรัฐนี้ก็คือ ความขัดแย้งในเชิงปัจเจกและความเป็นอิสระในการแสดงความคิดเห็นนั้น ปรากฏน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับการเมืองแบบราชาธิปไตย ทั้งนี้ โดยเป็นไปด้วยความใจกว้างยืดหยุ่น และไม่เคร่งครัดตายตัว

ด้วยเหตุนี้ ทุกคนในที่ประชุมจึงมีฐานะเสมอกัน และจะเรียกตัวแทนผู้เข้าร่วมประชุมตามชื่อรัฐของตัวแทนคนนั้นๆ โดยคำว่า “ราชา” ยังมีใช้อีกที่หนึ่งคือ ใช้เรียกผู้ปกครองรัฐใหญ่ที่ทรงอำนาจ อย่างเช่น มคธ หรือโกศล เป็นต้น

 

และภายใต้การเมืองในระบบที่ว่านี้เอง เมื่อศากยะได้สืบวงศ์ของตนต่อๆ กันมาจนถึงสมัยของสีหนุ จึงได้ทำให้รู้ต่อไปว่า บรรดาโอรสทั้งห้า คือ สุทโธทนะ สุกโกทนะ อมิโตทนะ โธโตทนะ และฆนิโตทนะ ที่ต่างมีชื่อที่หมายถึง ข้าวสุก ทั้งสิ้นนั้น ได้แสดงว่าศากยวงศ์ดำรงตนอยู่ได้โดยการทำการเกษตร หาได้มีรายได้จากภาษีอากรไม่

ทั้งนี้ โดยสาธารณรัฐอื่นที่อยู่ในระดับเดียวกันก็เป็นเช่นนี้ด้วย แต่กระนั้น รายได้ก็มิได้มาจากภาคเกษตรแต่เพียงภาคเดียว เพราะตราบจนลุเข้าสู่พุทธกาลไปแล้ว พาณิชยกรรมและอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นพร้อมกับการเติบโตของเมืองก็กลายเป็นรายได้ที่ตามมา

เมืองที่นำมาซึ่งรายได้ทางด้านนี้ ได้แก่ จัมปา ราชคฤห์ อโยธยา โกสัมพี และกาสี เป็นต้น

จากสภาพเศรษฐกิจการเมืองที่กล่าวมา เมื่อศากยวงศ์ถูกสืบทอดมาจนถึงสมัยที่สุทโธทนะก้าวขึ้นเป็นผู้นำนั้นเอง การเปลี่ยนแปลงของสังคมอินเดียขนานใหญ่จึงบังเกิดขึ้น

 

กล่าวสำหรับกบิลพัสดุ์แล้ว เศรษฐกิจการเมืองในแบบสาธารณรัฐดังกล่าวมีสีสันของความเป็นประชาธิปไตยอยู่ไม่น้อย แต่ความจริงสำหรับรัชสมัยของสุทโธทนะก็คือว่า กบิลพัสดุ์กลับเป็นรัฐที่ขึ้นต่อรัฐโกศลอีกชั้นหนึ่ง

และในรัชสมัยนี้เองที่สิทธัตถะเจ้าชายแห่งศากยวงศ์ได้ถือกำเนิดขึ้นมา และก็ด้วยเหตุนั้น ระยะเวลาทั้งก่อนและหลังการถือกำเนิดของสิทธัตถะจึงเป็นระยะเวลาที่กบิลพัสดุ์หรือศากยวงศ์อยู่ในภาวะล่อแหลมทางการเมือง อันเนื่องมาจากความเป็นไปได้ที่จะถูกรัฐใหญ่กลืนเข้าไปในอำนาจได้ตลอดเวลาประการหนึ่ง และเป็นระยะเวลาที่สังคมอินเดียกำลังตกอยู่ภายใต้ภาวะความยุ่งยากอีกประการหนึ่ง

แม้จะถือกำเนิดในฐานะเจ้าชายก็ตาม แต่สิทธัตถะก็หาได้ประสบกับความสุขสงบนับแต่แรกประสูติไม่ พระมารดาทรงจากไปหลังการประสูติของสิทธัตถะไปแล้วเจ็ดวัน ผลกระทบที่ตามมาต่อก็คือ สิทธัตถะกลายเป็นเจ้าชายที่มีอารมณ์อันอ่อนไหว

และทำให้มีธรรมชาติที่มีความรู้สึกไวต่อภาวะการเปลี่ยนแปลงที่แวดล้อมพระองค์

โดยเฉพาะความเป็นอนิจจังของชีวิตที่เกี่ยวเนื่องด้วยการเกิด แก่ เจ็บ และตาย อันจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งของเจ้าชายเองและสังคมอินเดียในอนาคตกาล แต่กระนั้น ในฐานะเจ้าชายแห่งศากยวงศ์ สิทธัตถะทรงได้รับการปฏิบัติเยี่ยงเจ้าชายทั่วไปพึงได้รับ

หากไม่นับชีวิตความเป็นอยู่อันสุขสบายแล้ว การได้รับการศึกษาผ่านศิลปศาสตร์ด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านการทหารนั้น นับว่ามีความสำคัญต่อฐานะบทบาทและความคิดของสิทธัตถะไม่น้อย

และเมื่อล่วงเข้าสู่วัยหนุ่ม การอภิเษกสมรสก็มีขึ้นกับพระญาติซึ่งเป็นลูกผู้น้องชื่อ ยโสธรา

 

เหตุการณ์ภายหลังจากนี้ไปแล้ว การตั้งคำถามต่อการเกิด แก่ เจ็บ และตายของสิทธัตถะก็บังเกิดขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังจากที่ราหุล โอรสของเจ้าชายได้ประสูติ พร้อมกันนั้นความท้อแท้ อันเนื่องมาจากความสิ้นหวังที่จะกอบกู้ศากยวงศ์ให้ปลอดพ้นจากการคุกคามจากรัฐที่เหนือกว่าก็ทวียิ่งขึ้น

โดยเฉพาะกับการเรืองอำนาจขึ้นเป็นลำดับของรัฐมคธ ในขณะที่กบิลพัสดุ์กลับขึ้นต่อรัฐโกศลที่กำลังอำนาจอ่อนลงทุกขณะ ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ ทางเลือกของสิทธัตถะเพื่ออนาคตของศากยวงศ์เองจึงมีความหมายอย่างมาก

ภายใต้กลียุคที่ความยุ่งยากแผ่คลุมไปทั่วสังคมอินเดียขณะนั้น ผู้อยู่ในวรรณะกษัตริย์ของรัฐเล็กๆ ไม่ว่าจะเป็นกบิลพัสดุ์หรือรัฐอื่นใดก็ตาม มีทางเลือกของตนทางใดทางหนึ่งจากสองทางต่อไปนี้คือ ทางหนึ่ง สร้างตนให้เป็นจักรพรรดิทั้งเพื่อป้องกันตัวเองและเพื่อปกครองเหนือรัฐอื่นทั้งปวง

อีกทางหนึ่ง สละซึ่งวรรณะของตนแล้วมุ่งสู่การเป็น “มุนี” เพื่อแสวงหาสัจธรรมมากอบกู้วิกฤตการณ์