สัมพันธ์สหรัฐ-จีน ในมุมมองของอาเซียน

บทวิเคราะห์ว่าด้วยปัญหาขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ที่เชื่อมโยงกับกลุ่มประเทศ สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ของริชาร์ด เฮย์ดาเรียน ศาสตราจารย์และนักเขียนด้านภูมิรัฐศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยโปลีเทคนิคแห่งฟิลิปปินส์ ที่ปรากฏในเซาธ์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์ เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา สะท้อนมุมมองที่น่าสนใจไว้ไม่น้อยทีเดียวว่า อาเซียนในฐานะที่เป็น “มิตร” ของทั้งสองประเทศยักษ์ใหญ่ มีทัศนะอย่างไรต่อเรื่องนี้

ในความเป็นจริง ความขัดแย้งระหว่าง 2 ประเทศไม่ว่าจะเป็นประเทศไหนๆ ย่อมสร้างความกังวลให้เกิดขึ้นได้โดยธรรมชาติ ยิ่งคู่ขัดแย้งเป็นชาติยักษ์ใหญ่ของโลก มีอิทธิพลทั้งในด้านการเมืองและทางเศรษฐกิจในระดับสูง ข้อวิตกยิ่งรุนแรงมากยิ่งขึ้น

กรณีความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนก็คือตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมชัดเจนในเรื่องนี้

แต่ในมุมมองของอาเซียน ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนน่าวิตกมากเป็นพิเศษยิ่งกว่านั้น

เพราะสำหรับอาเซียนแล้ว ความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา คือ “ความท้าทาย” โดยตรงของชาติสมาชิกแทบทุกชาติในอาเซียน

 (Photo credit should read LINTAO ZHANG/AFP via Getty Images)

เฮย์ดาเรียนระบุว่า บรรดาชาติสมาชิกอาเซียน “ไม่สบายใจ” ไม่น้อยต่อ “นโยบายจีน” ของรัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน เพราะในเอกสารยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติ และยุทธศาสตร์ในการป้องกันประเทศ ของสหรัฐอเมริกาที่เผยแพร่ออกมาเมื่อเร็วๆ นี้นั้น ทางการสหรัฐส่งสัญญาณออกไปชัดเจนมากว่า จีนคือ “คู่แข่งขัน” ระยะยาวของสหรัฐอเมริกา

ในยุทธศาสตร์ความมั่นคง สหรัฐกล่าวหาจีนว่า พยายามแสวงหา “ความมีอำนาจเหนือ” ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ส่วนในยุทธศาสตร์ด้านกลาโหม สหรัฐอเมริกามองจีนไว้ในฐานะ “คู่แข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ที่ต่อเนื่องยาวนานที่สุด” ในอีกหลายทศวรรษนับแต่นี้ต่อไป

เฮย์ดาเรียนบอกว่า ยิ่งมหาอำนาจยักษ์ใหญ่เกิดความตึงเครียดมากขึ้นเท่าใด อาเซียนก็ยิ่งกลัวมากขึ้นเท่านั้น

กลัวว่า “ความขัดแย้ง” จะกลายเป็น “การปะทะด้วยกำลัง” กันขึ้นตามมา และเมื่อนั้นสงครามก็จะเกิดขึ้นในพื้นที่ “หลังบ้าน” ของอาเซียนเอง

ปัญหาไต้หวันก็ดี หรือแม้แต่ปัญหาการเผชิญหน้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนที่กำลังขยายอิทธิพลของกองทัพเรือในทะเลจีนใต้ก็ดี ล้วนมีศักยภาพเป็น “ชนวนเหตุ” ของการปะทะกันด้วยกำลังทหารระหว่างยักษ์ใหญ่ทั้งสองประเทศได้โดยง่ายทั้งสิ้น

เฮย์ดาเรียนระบุว่า ลอว์เรนซ์ หว่อง รองนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ เคยเตือนเอาไว้ว่า สหรัฐอเมริกาและจีน อาจ “เดินละเมอ” เข้าสู่การปะทะกันด้วยกำลัง ได้แทบตลอดเวลา

ในประเด็นถัดมา เฮย์ดาเรียนระบุว่า แม้แต่ในเวลานี้ ชาติในอาเซียนก็ต้องรับมือกับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนอยู่แล้ว

เขายกตัวอย่างกรณีที่สหรัฐอเมริกา แซงก์ชั่น “อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์” ของจีนอย่างครอบคลุมเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ด้วยรู้ดีว่าภาคอุตสาหกรรมดังกล่าวมีความสำคัญสูงยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาวของจีน ทำให้ชาติอาเซียน “เป็นกังวลอย่างลึกซึ้ง” ว่าจะเกิดปัญหาปั่นป่วนขึ้นกับระบบ “ห่วงโซ่ซัพพลาย” และ “เครือข่ายนวัตกรรม” ของภูมิภาคอาเซียนตามไปด้วย

นี่ยังไม่นับว่า จีนคือคู่ค้าสำคัญที่สุดประเทศหนึ่งของอาเซียน สภาวะทางเศรษฐกิจของหลายชาติในอาเซียน ขึ้นอยู่กับสถานะทางเศรษฐกิจของจีนไม่มากก็น้อย

การแซงก์ชั่นดังกล่าว ส่งผลให้วิเวียน พลากฤษนัน รัฐมนตรีต่างประเทศ กล่าวในเวลาต่อมาแสดงความกังวลว่า กรณีนี้อาจกลายเป็นต้นเหตุให้เกิดการ “บังคับให้ต้องเลือกข้าง” เกิดขึ้นตามมา

แต่ก็ยืนยันไว้อย่างชัดเจนอย่างยิ่งว่า “ไม่มีชาติอาเซียนที่เคารพในเกียรติภูมิของตัวเอง ต้องการพลัดหลงเข้าไปติดอยู่ในกับดัก หรือกลายเป็นพาหะ หรือกลายเป็นสมรภูมิของสงครามตัวแทนในภูมิภาค” ซึ่งรวมถึงภายในขอบเขตของเทคโนโลยีและการลงทุนด้วยเช่นกัน

 

ในประเด็นสุดท้าย เฮย์ดาเรียนชี้ให้เห็นว่า อาเซียนต้องการ “ความร่วมมือ” ไม่ใช่ “ความขัดแย้ง” ของทั้งสองมหาอำนาจ ในอันที่จะช่วยเหลืออาเซียน “รับมือ” กับหลายต่อหลายปัญหาที่อาเซียนเผชิญอยู่ในเวลานี้

เขาระบุไว้ว่า ในแถลงการณ์อาเซียนล่าสุด ผู้นำอาเซียนออกมาเรียกร้องตรงๆ ถึง “หุ้นส่วนภายนอกของเรา” ซึ่งรวมทั้งสหรัฐอเมริกาและจีน ให้ช่วยเหลือต่อ “แผนสันติภาพในเมียนมา”

ศาสตราจารย์เฮย์ดาเรียนสรุปเอาไว้ว่า บรรดาชาติสมาชิกของอาเซียน “อยากให้สองมหาอำนาจร่วมมือซึ่งกันและกัน มากยิ่งกว่าจะขัดแย้งกันเองซึ่งไม่ยังประโยชน์ให้กับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ในแง่ของความคิดริเริ่มทางด้านเศรษฐกิจ”

ซึ่งสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ชะตากรรมของชาติอาเซียนทั้งหลาย ถูกผูกโยงเข้าไว้ไม่น้อยกับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนในศตวรรษที่ 21 นี้