หนังไทย ‘สัตว์ประหลาด’ ติดอันดับ ‘หนึ่งในร้อยภาพยนตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล’ ของโลก

คนมองหนัง

นับตั้งแต่ปี 1952 นิตยสาร “ไซท์ แอนด์ ซาวด์” ที่จัดพิมพ์โดยสถาบันภาพยนตร์แห่งสหราชอาณาจักร (บีเอฟไอ) ได้ทำการสำรวจความเห็นของนักวิจารณ์ภาพยนตร์นานาชาติ เพื่อค้นหาคำตอบว่ามีหนังเรื่องใดบ้างที่สมควรติดอันดับ “ภาพยนตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล” ในทรรศนะของพวกเขา

หลังจากนั้น การสำรวจดังกล่าวจะถูกจัดทำขึ้นใหม่ในทุกๆ สิบปี โดยมีผู้เข้ามาร่วมเสนอชื่อภาพยนตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาลในจำนวนที่มากขึ้นและมีภูมิหลังที่หลากหลายขึ้น เช่นเดียวกับอันดับภาพยนตร์ที่มีการผันแปรเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย

ล่าสุดในปี 2022 นิตยสาร “ไซท์ แอนด์ ซาวด์” ได้รวบรวมความเห็นของนักวิจารณ์, นักจัดเทศกาลภาพยนตร์, ภัณฑารักษ์, นักจดหมายเหตุ และนักวิชาการจำนวนรวมทั้งสิ้น 1,639 ราย ก่อนจะได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นรายชื่อ “ภาพยนตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล 100 อันดับแรก” ชุดใหม่

น่าสนใจว่า ในการสำรวจความเห็นครั้งนี้ มีหนังไทยเรื่อง “สัตว์ประหลาด” (Tropical Malady) โดย “อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล” ติดอยู่ใน “อันดับที่ 95 ร่วม”

“สัตว์ประหลาด” เป็นภาพยนตร์ที่ออกฉายใน ค.ศ.2004 (พ.ศ.2547) โดยหนังได้รับรางวัล “จูรีไพรซ์” จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส ถือเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่ได้รับรางวัลจากสายการประกวดหลักที่คานส์ และยังเป็นหนังไทยเรื่องแรกที่ได้รับรางวัลจากหนึ่งในสามเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติที่ใหญ่ที่สุดของโลก (คานส์, เบอร์ลิน และเวนิส)

หนังเรื่องนี้แบ่งเรื่องราวออกเป็นสองช่วง ช่วงแรก หนังถ่ายทอดเหตุการณ์ที่ทหารชื่อ “เก่ง” (บัลลพ ล้อมน้อย) ถูกส่งตัวไปปฏิบัติงานในพื้นที่ชนบท ซึ่งคล้ายว่ากำลังมีสัตว์ประหลาดออกอาละวาด ที่นั่นเก่งได้พบกับเด็กหนุ่มชื่อ “โต้ง” (ศักดิ์ดา แก้วบัวดี) จากนั้น ทั้งสองได้ใช้เวลาเที่ยวเตร่-พักผ่อนหย่อนใจ ตามประสาคนรักที่เพิ่งทำความรู้จักและจีบกัน

ในครึ่งหลังของหนัง เก่งจะออกผจญภัยในป่าอย่างโดดเดี่ยว เขาเป็นทั้ง “ผู้ออกตามล่า” และ “ผู้โดนไล่ล่า” โดยวิญญาณประหลาด ซึ่งอาจจะปรากฏร่างเป็นโต้งและเสือสมิงตนหนึ่ง

“เบน วอลเตอร์ส” นักวิจารณ์ของ “ไซท์ แอนด์ ซาวด์” ตีความว่า “ความเป็นเควียร์” ที่ปรากฏในหนัง “สัตว์ประหลาด” มิได้เกี่ยวข้องแต่กับประเด็นเรื่องความรักใคร่ของคนเพศเดียวกันเท่านั้น หากยังถ่ายทอดถึงความสัมพันธ์ระหว่าง “มนุษย์” กับ “โลก” ที่แวดล้อม-ดำรงอยู่รายรอบตัวพวกเขาด้วย

วอลเตอร์สระบุว่า หนังเรื่องนี้ได้ท้าทายประสบการณ์ของคนดูว่าพวกเราอาจไม่สามารถทำความเข้าใจเรื่องราวต่างๆ ได้อย่างตรงไปตรงมา นอกจากนั้น หนังของอภิชาติพงศ์ยังอาจกำลังชี้แนะว่า พวกเรามักให้ค่า-ให้ความสำคัญกับบรรดา “เรื่องเล่าที่มีเนื้อหาเข้าใจง่าย” มากจนเกินไป

ขณะเดียวกัน ตั้งแต่ปี 1992 เป็นต้นมา “ไซท์ แอนด์ ซาวด์” ยังได้จัดทำบัญชีรายชื่อ “ภาพยนตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล” ในมุมมองของผู้กำกับภาพยนตร์ชั้นนำระดับนานาชาติ คู่ขนานกันไปอีกหนึ่งโพล

(ส่งผลให้มีการเรียกขานการสำรวจความเห็นแบบแรกว่า “โพลนักวิจารณ์” และเรียกขานการสำรวจชนิดหลังว่า “โพลผู้กำกับฯ”)

การสำรวจความเห็นดังกล่าวจะถูกจัดทำใหม่ในทุกๆ หนึ่งทศวรรษเช่นเดียวกัน โดยล่าสุด มีผู้กำกับหนังทั่วโลกรวม 480 ราย ที่เข้ามาร่วมจัดอันดับ “ภาพยนตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล” ในปี 2022

น่ายินดีว่าหนังไทยเรื่อง “สัตว์ประหลาด” ได้ถูกยกย่องให้มีสถานะเป็นภาพยนตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาลใน “อันดับที่ 62 ร่วม” ของ “โพลผู้กำกับฯ” นี้ด้วย

สําหรับภาพยนตร์ที่ได้คะแนนมาเป็น “อันดับ 1” ใน “โพลนักวิจารณ์” นั้นก็คือ “Jeanne Dielman, 23 Quai du Commerce, 1080 Bruxelles” ผลงานใน ค.ศ.1975 ของ “ฌองตาล อัคเกอร์มาน” คนทำหนังสตรีจากเบลเยียม (เสียชีวิตเมื่อปี 2015)

หลายคนนิยามว่า “Jeanne Dielman” คือ ภาพยนตร์ทดลองที่ใช้มุมมองแบบสตรีนิยม มาสำรวจตรวจสอบวิถีชีวิตประจำวันอันซ้ำซากจำเจของตัวละครผู้หญิงคนหนึ่ง

ในแง่เนื้อหา หนังเรื่องนี้ได้ฉายภาพวิถีชีวิตซ้ำๆ ภายในครัวเรือน ผ่านมุมกล้องที่แน่นิ่งคงที่และห้วงเวลาอันยาวนาน (หนังมีความยาวเกือบ 3 ชั่วโมงครึ่ง ขณะที่วันเวลาในเนื้อเรื่องก็กินระยะรวมทั้งสิ้น 3 วัน) ของผู้หญิงชาวเบลเยียมรายหนึ่ง ซึ่งมีสถานะเป็นทั้งแม่บ้านชนชั้นกระฎุมพี, คนเป็นแม่ และโสเภณีพาร์ตไทม์

นักวิจารณ์บางส่วนวิเคราะห์ว่า แม้หากมองเผินๆ หนังจะจับภาพชีวิตที่ถูกกดขี่ของสตรีเพศ แต่เมื่อพิจารณาให้ลึกซึ้งขึ้น อัคเกอร์มานก็พยายามจะแปรสภาพสื่อภาพยนตร์ จากการเป็นเครื่องมือในการกดขี่ทางเพศ ให้กลายเป็นพลังแห่งการปลดแอกของเหล่าผู้หญิง

ในแง่สถิติ นี่ถือเป็นครั้งแรกสุดของ “โพลภาพยนตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล” โดย “ไซท์ แอนด์ ซาวด์” ที่มีหนังของผู้กำกับฯ หญิง สอดแทรกเข้าสู่ “อันดับท็อปเท็น” ได้สำเร็จ มิหนำซ้ำ ยังผงาดขึ้นมาเป็น “อันดับหนึ่ง” ได้อย่างน่าทึ่ง

เพราะไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า ที่ผ่านมา “ไซท์ แอนด์ ซาวด์ โพล” และการสำรวจความเห็นว่าด้วย “หนังยอดเยี่ยม” ของสำนักต่างๆ มันถูกยึดครองโดยคนทำหนังผู้ชาย ตลอดจนนักวิจารณ์-นักดูหนังเพศชายมาโดยตลอด

ทว่า แนวโน้มของความเปลี่ยนแปลงเพิ่งมาเริ่มเกิดขึ้นในปี 2012 ซึ่งทาง “ไซท์ แอนด์ ซาวด์” พยายามขยับขยายกลุ่มผู้แสดงความเห็นใน “โพลนักวิจารณ์” ให้มีความกว้างขวาง-หลากหลายยิ่งขึ้น

กระทั่งหนังเรื่อง “Jeanne Dielman” ติดอยู่ใน “อันดับที่ 35” ของโพลเมื่อทศวรรษก่อน ก่อนจะพุ่งขึ้นสู่ “อันดับที่ 1” ในอีกสิบปีถัดมา จนถือเป็นชัยชนะของ “ภาพยนตร์ของผู้หญิง” พร้อมๆ กับที่เป็นชัยชนะของ “หนังทดลอง” ที่อยู่เหนือ “หนังเมนสตรีมจากระบบสตูดิโอ”

อย่างไรก็ดี พอข้ามไปดูผล “โพลผู้กำกับฯ” ภาพยนตร์ของอัคเกอร์มานจะถอยลงไปอยู่ใน “อันดับ 4 ร่วม” ขณะที่หนัง “อันดับที่ 1” ของโพลนี้ กลับกลายเป็น “2001 : A Space Odyssey” (ค.ศ.1968) โดย “สแตนลีย์ คูบริก” คนทำหนังชาวอเมริกัน (เสียชีวิตเมื่อ ค.ศ.1999)

“2001 : A Space Odyssey” คือ หนังแนวไซไฟท่องอวกาศระดับมาสเตอร์พีซ ซึ่งออกฉายก่อนหน้าที่มนุษย์คนแรกของโลกจะขึ้นไปเหยียบดวงจันทร์ได้สำเร็จในปี 1969 เสียอีก

หนังปฏิวัติการนำเสนอภาพจำลองของการเดินทางสู่อวกาศด้วยมุมมองใหม่ๆ ผสมผสานไปกับการเลือกใช้เพลงคลาสสิคมาเป็นดนตรีประกอบ ขณะเดียวกัน คูบริกก็ส่งเสียงเตือนว่า บางทีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอาจอยู่นอกเหนือการควบคุมของมนุษย์

หลายคนมองว่าภาพยนตร์สำคัญในปลายยุค 1960 เรื่องนี้ ได้ร่วมเฉลิมฉลองวิวัฒนาการของมวลมนุษยชาติ ผ่านเทคนิคการลำดับภาพแบบ “แมตช์ คัต” ซึ่งหนังเลือกแทนที่ภาพ “โครงกระดูก” ซึ่งเป็นอาวุธ-เครื่องมือยังชีพของเหล่าวานร (ก่อนจะพัฒนาเป็นมนุษย์) ด้วย “ยานอวกาศ” ที่กำลังพุ่งทะยานสู่จักรวาลอันกว้างใหญ่ •

 

เนื้อหาจาก

https://www.bfi.org.uk/sight-and-sound/greatest-films-all-time

https://www.bfi.org.uk/sight-and-sound/directors-100-greatest-films-all-time

 

| คนมองหนัง