ช่วงเวลา ‘ขาใหญ่’

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

มีบางดัชนีชี้ว่า ซีพีขยายตัวเติบโตขึ้นอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีมานี้

ที่มักอ้างอิงกันคือ Forbes Thailand’s 50 Richest ปรากฏว่า พี่น้องตระกูลเจียรวนนท์ (Chearavanont brothers) แห่งเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ครองอันดับหนึ่งติดต่อกันมาหลายปี

หากพิจารณาข้อมูลข้างต้นเป็น timeline จะพบว่า ความมั่งคั่ง (net worth) เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในช่วงไม่กี่ปีมานี้

จากปี 2017(พ.ศ.2560) ความมั่งคั่งอยู่ในระดับ 21.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (เกือบๆ 750,000 ล้านบาท ตามอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน)

ถัดมาปีเดียว 2018 (2561) พุ่งขึ้นไปสู่ระดับ 30 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือทะลุล้านล้านบาท

ในช่วงต่อจากนั้นจนถึงราวกลางปีนี้ (Forbes ประกาศจัดอันดับในเดือนกรกฎาคมทุกปี) แม้มีตัวเลขการขึ้นลงบ้าง แต่ไม่ถือว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะ

หากตั้งใจเทียบเคียงกับบริบททางการเมืองไทยอย่างเจาะจง ด้วยเป็นยุคซีพีมีความสัมพันธ์กับกลไกและกติการัฐค่อนข้างมาก ความเป็นไปอยู่ในช่วงรัฐบาลไทยชุดที่มีความความต่อเนื่องอีกยุคหนึ่ง ที่เป็นมาหลังจากการรัฐประหารครั้งล่าสุด เป็นอีกยุคซึ่งมีทหารเป็นผู้นำ ว่าไปแล้วเว้นวรรคไปนานพอสมควร

ที่น่าสนใจในปีที่แล้ว (2564) ความมั่งคั่ง “พี่น้องเจียรวนนท์” ทำสถิติสูงสุด (30.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) แม้อยู่ท่ามกลางวิกฤตการณ์ระดับโลกอันยืดเยื้อต่อเนื่อง เนื่องมาจาก Covid-19

 

ดัชนีหนึ่งซึ่งสัมพันธ์กันอยู่ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ธุรกิจหลักสำคัญของซีพี ล้วนจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย พิจารณาอย่างกว้างๆ แล้ว ถือเป็นกิจการที่มีอิทธิพล มีน้ำหนักต่อตลาดหุ้นพอสมควร ทั้งนี้ ทั้ง4 บริษัทมีมูลค่าตามราคาตลาด หรือ Market Capitalization (3 ธันวาคม 2565) ราว 1.35 ล้านล้านบาท หรือมีสัดส่วนถึงประมาณ 5-6% ของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาในตลาดหุ้นไทย

พิจารณาข้อมูลจำเพาะทางการเงินของกิจการทั้ง 4 ถือว่าเติบโตสอดคล้องกับดัชนีของ Forbes ที่ว่ามาข้างต้น (โปรดดูข้อมูลประกอบ) ที่สำคัญเชื่อมโยงกับโอกาสทางธุรกิจที่เปิดกว้างด้วยดีลสำคัญๆ

ว่าไปแล้วซีพีกับแผนการการปรับตัวครั้งใหญ่ เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงคาบเกี่ยววิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจปี 2540 เปิดฉากที่ธุรกิจครบวงจรดั้งเดิม โดยบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF เป็นบริษัทแกนในโมเดลใหม่ หลอมรวมธุรกิจ เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอาหาร ด้วยแผนการให้ความสำคัญที่ปลายทางของวงจรธุรกิจ ขยายการผลิตอาหารสำเร็จรูปมากขึ้น ทั้งตลาดในประเทศ และต่างประเทศ สร้างเครือข่ายการค้าปลีกอาหาร (Food Retail Chain) และพัฒนาสินค้าอาหารบรรจุหีบห่อภายใต้ brand ของตนเอง

ตามมาด้วยแผนการใหญ่ๆ มีหมุดหมายสำคัญในปี 2554 ซีพีเอฟได้ซื้อหุ้นใหญ่ของ C.P.Pokphand หรือ CPP บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงเพื่อผนวกธุรกิจหลักของ CPP อยู่ในประเทศจีน และเวียดนาม เข้ามาอยู่ในเครือข่ายซีพีเอฟ ในฐานะธุรกิจอาหารชั้นนำของโลก

จากนั้น CPF กลายเป็นธุรกิจอาหารระดับภูมิภาค เป็นฐานอันแข็งแกร่งของซีพี มีบทบาทอีกด้านหนึ่งในการลงทุนธุรกิจเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะมีส่วนร่วมในแผนการใหญ่ธุรกิจค้าปลีก

ซีพีกับแผนการผนวก ควบคุมธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่ง เป็นไปอย่างโลดโผน เป็นภาพต่อเนื่อง และสัมพันธ์กับช่วงเวลา ตระกูลเจียรวนนท์ เพิ่มพูนความมั่งคั่ง

จากบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL กิจการหลักธุรกิจค้าปลีก ใช้เวลาช่วงคาบเกี่ยววิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ เติบโตอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นผู้นำธุรกิจค้าปลีกโมเดลร้านสะดวกซื้ออย่างเบ็ดเสร็จ

จังหวะก้าวสำคัญมีขึ้นช่วง ปี 2556 เมื่อเข้าซื้อกิจการ Makro ในประเทศไทย เป็นภาพใหม่ธุรกิจหลอมรวมค้าปลีกกับค้าส่ง ยิ่งซีพีมีบทบาทเป็นผู้นำทรงพลังในฐานะธุรกิจใหม่ใช้เวลาราว 3 ทศวรรษ โดยเมื่อปี 2563 ซีพีบรรลุแผนการลงทุนซื้อกิจการเครือข่ายTesco ในประเทศไทยและมาเลเซีย ด้วยวงเงินสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 10,576 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 338,445 ล้านบาท

ภาพใหญ่เครือข่ายค้าปลีกในสังคมไทย มีอิทธิพลต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมมากขึ้น และเป็นธุรกิจเดียวก็ว่าได้อยู่ในกำมือของธุรกิจไทย อยู่ภายใต้โครงสร้างธุรกิจใหญ่ไทยไม่กี่ราย เมื่อเทียบเคียงกับธุรกิจอิทธิพลอื่นๆ ไม่ว่าธุรกิจการเงิน ธนาคาร หรือแม้กระทั่งธุรกิจสื่อสาร

โดยเฉพาะซีพีมีบุคลิกเฉพาะ มีพลังเป็นพิเศษ

 

ซีพีเดินหน้าไม่หยุดยั้ง ไปยังธุรกิจสำคัญอีกอย่างในที่สุด ธุรกิจซึ่งเผชิญอุปสรรคมากเป็นพิเศษ ด้วยแผนการครั้งใหญ่ ควบรวมกิจการสื่อสารไทย เดินหน้าไปภายใต้แรงกดดัน

เป็นเวลาราวหนึ่งปีแล้ว แผนการดูจะเป็นไปตามจังหวะ และแรงเหวี่ยงอย่างระทึก

เริ่มต้นด้วย “…ทรู คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) หรือ TRUE กับบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC มีมติเกี่ยวกับการศึกษาความเป็นไปได้ในการควบบริษัทกัน… (22 พฤศจิกายน 2564)”

ถือว่าใช้เวลานานพอสมควร ท่ามกลางแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นๆ จนในที่สุดผ่านขั้นตอนสำคัญ (20 ตุลาคม 2565) เมื่อรัฐได้เปิดไฟเขียว ใช้คำว่า “รับทราบ” ควบรวมกิจการ

TRUE หนึ่งในธุรกิจหลักของซีพี ยังไม่ได้เป็นผู้นำตลาดเฉกเช่น CPF และ CPALL ทั้งนี้ กำลังเดินแผนการอย่างเอาจริงเอาจัง หวังว่าจะไปถึงเป้าหมายในไม่ช้า ตาม “โมเดล” เฉพาะซีพี

แม้ว่ากระบวนการควบรวม TRUE-DTAC ในขั้นสุดท้าย ยังบรรลุในปีนี้ เชื่อกันว่า ปีใหม่ปีหน้า คงมีเรื่องตื่นเต้น เช่นเดียวกับซีพีและพี่น้องเจียรวนนท์ คงรักษาความเป็นผู้นำอันทรงอิทธิพลในสังคมธุรกิจ เป็นผู้มั่งคั่งอันดับต้นๆ และเป็นการสร้างกระแสสังคมไทยในปีต่อๆ ไป •