จิตต์สุภา ฉิน : เราเป็นเรา หรือเราเป็นใคร?

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

อีลอน มัสค์ ทำให้เราปวดหัวกันอีกแล้วค่ะ

อย่างที่รู้กันว่า อีลอน มัสค์ ซีอีโอของเทสลา มอเตอร์สและสเปซเอ็กซ์คนนี้เป็นคนที่ไม่ธรรมดาเลยทีเดียว มักจะมีไอเดียอะไรที่แปลกใหม่ แหวกแนว และท้าทายความเป็นไปได้อยู่เสมอ และไม่ใช่ว่าไอเดียเหล่านั้นจะเป็นเพียงคำพูดลอยๆ หรือเป็นคำสวยหรูบนกระดาษเท่านั้น เพราะเขาก็ทำให้แต่ละอย่างเริ่มต้นขึ้นมาได้แล้วจริงๆ

มัสค์เป็นคนที่ไม่เคยยอมให้ตัวเองคิดอยู่ในกรอบ ไอเดียแต่ละอย่างที่เขาเสนอออกมานั้นมีความเกี่ยวโยงกับวิสัยทัศน์ของเขาที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้และเปลี่ยนแปลงมนุษยชาติไปด้วย จุดมุ่งหมายในชีวิตของเขาดูจะมีอยู่หลักๆ 2 อย่าง คือ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และทำอย่างไรไม่ให้มนุษย์สูญพันธุ์ ซึ่งก็สะท้อนออกมาจากการเสนอไอเดียอย่างการสร้างไฮเปอร์ลูปที่เป็นวิธีการเดินทางรูปแบบใหม่ที่เร็วขึ้นและรักษ์สิ่งแวดล้อมมากกว่าเดิม และไอเดียการอพยพมนุษย์ไปอยู่บนดาวอังคารแทนเพื่อป้องกันไม่ให้มนุษย์สูญพันธุ์นั่นเอง นี่ยังไม่นับความพยายามของเขาในการเตือนว่าปัญญาประดิษฐ์อาจเป็นภัยคุกคามมนุษย์ด้วย ดังนั้นการทำความเข้าใจวิธีคิดของอีลอน มัสค์ นับเป็นเรื่องที่สนุกสนานและท้าทายเรากันมาโดยตลอด

แล้วล่าสุดเขาเอาเรื่องปวดหัวอะไรมาให้เราต้องขบคิดอีกกันล่ะ

ในงาน Code Conference 2016 ที่จัดขึ้นเมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา อีลอน มัสค์ ให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่า “มีโอกาสหนึ่งในหลายพันล้านที่โลกความเป็นจริงของเราตอนนี้จะเป็นโลกความเป็นจริงที่แท้จริง”

ฟังดูแบบนี้อาจจะงง ถ้าแปลสิ่งที่เขาพูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ อีลอน มัสค์กำลังบอกว่า โลกที่เราอยู่ตอนนี้ ชีวิตที่เราดำเนินกันทุกวันนี้ แท้จริงแล้วเป็นเพียงแค่การจำลองคอมพิวเตอร์เท่านั้น

วาดภาพให้เข้าใจง่ายขึ้นไปกว่าเดิมอีก ที่เราเดินไปเดินมา หายใจ ทำงาน ใช้ชีวิตในแบบมนุษย์มนุษย์กันทุกวันนี้ แท้จริงแล้วเราเป็นเหมือนคาแรคเตอร์ในวิดีโอเกมของใครสักคนเท่านั้น เราไม่ได้มีตัวตนที่จับต้องได้อยู่จริงเลย

มาดูว่าเขามีความคิดอะไรสนับสนุนสิ่งที่เขาพูดค่ะ มัสค์บอกว่าเมื่อ 40 ปีก่อน เรามีเกมอย่าง Pong ซึ่งเป็นเกมตีปิงปองง่ายๆ ที่กราฟิคมีเพียงแค่สี่เหลี่ยมสองแท่งและจุดหนึ่งจุด ในตอนนั้นคอนเซ็ปต์ง่ายๆ แบบนี้ก็ถือเป็นเกมได้แล้ว แต่ 40 ปีผ่านมา เรามีเกมที่มีความสมจริงมากขึ้น มีการจำลองสามมิติ มีคนเล่นเกมหลายล้านคนพร้อมๆ กัน และพัฒนาขึ้นทุกปี อีกไม่นานเราก็จะมีโลกเสมือนจริง รวมไปถึงการผสานโลกเสมือนด้วย

ดังนั้นหากเกมยังพัฒนาไปข้างหน้าด้วยอัตราที่รวดเร็วเท่านี้ (หรือต่อให้ช้าลงกว่านี้ก็เถอะ) ในที่สุดแล้วเกมก็จะไม่สามารถถูกแยกออกจากโลกความเป็นจริงได้ เราจะเล่นเกมกันบนดีไวซ์ประเภทไหนก็ได้ที่มีจำนวนหลายพันล้านเครื่องทั่วโลก และสิ่งที่จะตามมาก็คือการมีโลกจำลองมากกว่าโลกความจริง ทำให้ความน่าจะเป็นที่เรากำลังอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง (ที่เป็นโลกที่จริงที่สุดในบรรดาโลกแห่งความเป็นจริงทั้งหมด) จะมีเพียงหนึ่งในหลายพันล้านเท่านั้นซึ่งก็นับว่าน้อยมากๆ เลยทีเดียว

4334236917_664fbb9a8d_b

อย่างไรก็ตาม การที่เราอาจจะเป็นเพียงแค่คาแรคเตอร์ในเกมจำลองชีวิตอย่าง The Sims นั้นก็อาจจะเป็นเรื่องดีก็ได้ เพราะมัสค์เขาบอกเอาไว้ว่าถ้าหากมนุษยชาติหยุดพัฒนาไปข้างหน้าก็อาจจะเป็นเพราะเหตุการณ์หายนะบางอย่างที่กวาดล้างมนุษยชาติไปหมด ดังนั้นเรามีสองทางเลือกคือการสร้างโลกจำลองที่แยกไม่ออกจากโลกความจริงขึ้นมา หรือไม่ก็จะไม่มีมนุษยชาติอีกต่อไปแล้ว

ทฤษฎีว่าเรากำลังอยู่ในโลกจำลองคอมพิวเตอร์นั้นมีการเสนอขึ้นครั้งแรกโดยนักปรัชญาที่ชื่อว่า นิค บอสทรอม ในปี 2003 โดยสาระสำคัญก็คือการเสนอแนวคิดว่าถ้าหากมีเผ่าพันธุ์ที่มีอารยธรรมความเจริญขั้นสูงอยู่หลายเผ่าพันธุ์ และพวกเขาเหล่านั้นมีแนวโน้มที่จะสร้างโลกจำลองขึ้นมา ก็มีความเป็นไปได้สูงมากที่เราอาจจะกำลังอยู่ในโลกจำลองนั่นแหละ แปลว่าเราอยู่ในโลกจำลองคอมพิวเตอร์ที่สร้างขึ้นโดยบรรพบุรุษของเรานั่นเอง

และหากเราเชื่อสิ่งที่มัสค์พูด ก็แปลว่ามีโอกาสน้อยมากๆ ถึงหนึ่งในหลายพันล้านที่เราจะไม่ได้อยู่ในโลกจำลอง

ขณะเดียวกันนักฟิสิกส์นิวเคลียร์ที่ชื่อว่า สิลาส บีน ซึ่งพัฒนาวิธีทดสอบว่าเราอยู่ในโลกจำลองหรือไม่ด้วยการศึกษารังสีจากอวกาศ ก็เคยพูดเอาไว้ว่าผู้สร้างโลกจำลองที่เป็นคนควบคุมโลกจำลองซึ่งเรากำลังอาศัยอยู่นั้นก็อาจจะอยู่ในโลกจำลองอีกทีก็ได้ คล้ายๆ กับการฝันซ้อนฝันหรือการฝันว่าตัวเองกำลังฝันอยู่อะไรประมาณนั้น มีความอินเซ็ปชั่นหนักเข้าไปอีก

หลังจากที่มัสค์ให้ไอเดียเรื่องนี้ออกมา ซู่ชิงก็คิดว่าน่าแปลกใจนิดหน่อยที่แทบจะไม่มีเสียงต่อต้านความคิดของเขาเลย จากการที่ไล่อ่านบทความจำนวนมากที่นำเสนอเรื่องนี้ก็ดูเหมือนกับว่าส่วนใหญ่แล้วจะแค่เล่าว่าสิ่งที่เขานำเสนอคืออะไร ไปจนถึงการสนับสนุนไอเดียของเขา และแทบจะไม่เห็นใครเรียกเขาว่า “บ้า” เลย แต่พอคิดไปคิดมาก็เข้าใจว่าแล้วใครจะกล้าออกตัวแรงพูดว่าสิ่งที่เขานำเสนอนั้นไม่มีความ “เป็นไปได้” อยู่ในนั้น เพราะก็ไม่มีใครรู้ได้แน่นอนว่ามันจริงหรือไม่
จะมีก็แต่เพียงบทความของเทเลกราฟที่อ้างถึงศาสตราจารย์ที่มีชื่อว่า ปีเตอร์ มิลลิแคน จากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์เฟอร์ดที่บอกว่าทฤษฎีที่ว่านั้นมีช่องโหว่ตรงที่ใช้พื้นฐานการคิดแบบสรุปไปเองว่าสิ่งมีชีวิตชาญฉลาดที่เป็นคนสร้างโลกจำลองมาให้เราอยู่นั้นจะมีวิธีการคิดและการกระทำแบบเดียวกันกับเราและทำสิ่งที่เหมือนสิ่งที่เราคิดจะทำ

ซู่ชิงว่าก็คล้ายๆ กันกับการโต้แย้งว่าทำไมมนุษย์เราจะต้องเชื่อไปว่าเอเลี่ยนจะอยากมาเยี่ยมโลกของเราเหมือนที่เราอยากไปสำรวจดาวดวงอื่น และถ้าหากเอเลี่ยนมาจริงก็จะมีอยู่เพียงแค่สองทาง คือจะมาดี มาสร้างสัมพันธไมตรีด้วย กับจะมาจู่โจมทำลายล้างเพื่อแย่งชิงทรัพยากร ซึ่งทั้งหมดนี้ก็คือการคิดว่าสิ่งมีชีวิตจากนอกโลกจะคิดเหมือนคนในโลกนั่นเอง

ยอมรับว่าซู่ชิงก็ยังงงๆ อยู่บ้างในบางแง่มุมที่อีลอน มัสค์ นำเสนอ และยังต้องหาข้อมูลมาประกอบความเข้าใจอีกมากพอสมควร ที่เลือกเขียนเรื่องนี้ในวันนี้ก็เพราะอยากจะให้คุณผู้อ่านได้ทำความรู้จักทฤษฎีนี้ (ถ้าหากไม่ได้รู้อยู่แล้วนะคะ) และลองมาคิดกันว่าที่อีลอน มัสค์ เขานำเสนอนั้นน่าฟังแค่ไหน และเราควรจะทำอย่างไร หรือทำอะไรได้บ้างหรือไม่

หากว่ากันที่ข้อสรุปว่าตอนนี้เราอยู่ในโลกคอมพิวเตอร์จำลอง ซู่ชิงก็คิดว่าตัวเองไม่ได้มีปัญหาอะไรหรอกค่ะ ขอให้สิ่งที่เรามองว่านี่คือ “ตัวเรา” ยังอยู่เหมือนเดิม ยังคิด ยังสัมผัสสิ่งเร้ารอบตัวได้เหมือนเดิม ยังมีความเชื่อได้เหมือนเดิม และยังดำเนินชีวิตจำลองของตัวเองต่อไปได้เหมือนเดิมก็โอเคแล้ว
บางคนอาจจะคิดว่าอยู่ในโลกจำลองแล้วก็ช่างปะไร จะคิดเรื่องนี้ทำไมให้ปวดหัวในเมื่อมันไม่นำไปสู่อะไรเลย แต่ซู่ชิงคิดว่ามันเป็นเรื่องดีนะคะที่เราจะฝึกสมองของเราให้ขบคิดไอเดียบ้าระห่ำกันบ้างและไม่จำกัดขอบเขตความคิดของตัวเองเพียงเพราะกลัวว่ามันจะดูบ้า

เพราะระหว่างทางของการคิดไอเดียบ้าๆ มันอาจจะนำมาสู่อะไรที่ไม่บ้าก็ได้ค่ะ