LADY CHATTERLEY’S LOVER | ‘สังคมยุควิกตอเรีย’

นพมาส แววหงส์

สมัยผู้เขียนยังอยู่ในวัยเรียนหนังสือ นวนิยายเรื่อง Lady Chatterley’s Lover เป็นหนังสือต้องห้ามที่โด่งดังค่ะ ถูกแบนอย่างเป็นทางการในหลายๆ ประเทศ รวมทั้งสหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย อินเดีย และญี่ปุ่น

โดยถูกตีตราว่าเป็นหนังสือลามกอนาจาร นำเรื่องลามกจกเปรตมาพูดอย่างโต้งๆ น่าไม่อาย แถมยังใช้คำลามกสี่อักษร ที่ขึ้นต้นด้วยอักษร เอฟ. อีกด้วย

สมัยนั้นคำคำนี้เป็นคำหยาบที่ไม่มีใครสะกดออกเสียงมาให้ระคายหูผู้คน แต่จะพูดแบบเลี่ยงๆว่า “คำสี่อักษร” หรือ the four-letter word

ฟาสต์ฟอร์เวิร์ดมาดูการใช้ภาษาของสมัยปัจจุบัน ผ่านทางวัฒนธรรมมวลชนอันได้แก่ภาพยนตร์เป็นหลัก โดยเฉพาะถ้าเป็นหนังเกี่ยวกับแวดวงอาชญากร หรือผู้คนชั้นแรงงาน คำพูดที่ออกจากปากตัวละครทั้งหลายจะต้องมีคำสี่อักษรที่สะกดการันต์มาให้ฟังเต็มหูเสียงดังฟังชัดแบบไม่กระดากปากอยู่ด้วยแทบทุกประโยค

เรียกว่าถ้าไม่ใช้คำคำนี้เป็นคุณศัพท์ประกอบ ผู้เขียนบทจะเขียนบทสนทนาแบบด่ากราดเป็นไฟแลบไม่ออกเลยทีเดียวเชียว

ผู้เขียนรู้จักชื่อ ดี. เอช. ลอว์เรนซ์ หนแรกๆ ผ่านทางบทละครเรื่อง “ตุ๊กตาแก้ว” ซึ่งอาจารย์สดใส พันธุมโกมล กำกับการแสดง โดยแปลจาก The Glass Menagerie ของเทนเนสซี วิลเลียมส์

ได้ยินบทพูดของอแมนดาที่ทะเลาะกับทอมลูกชายจนคุ้นหูจากการซ้อมละคร ในตอนที่ทอมทะเลาะกับแม่แบบบ้านแตกสาแหรกขาด เนื่องจากทอมเป็นฟืนเป็นไฟที่แม่เข้าไปค้นเจอหนังสือที่เขาอ่าน ส่วนอแมนดาก็โมโหโกรธาที่ลูกชายเอาเสนียดจัญไรเข้าบ้าน

กิตติศัพท์ของนักเขียนชาวอังกฤษชื่อ ดี. เอช. ลอว์เรนซ์ ในช่วงต้นจนเลยกลางศตวรรษที่ 20 มาแล้ว คือ นักเขียนต้องห้าม ซึ่งครอบครัวดีๆ มีศีลธรรมจะไม่ให้นำเข้าบ้าน เพราะถือว่าเป็นเสนียดจัญไร ไม่อยากให้ลูกหลานได้อ่าน จะเป็นพิษเป็นภัยต่อการเติบใหญ่เป็นผู้ใหญ่ที่ดีต่อไป

ดี. เอช. ลอว์เรนซ์ ยังอยู่ในยุคบุกเบิกในวัฒนธรรมอันเก็บกดซ่อนเร้นของยุควิกตอเรีย ซึ่งถือว่าความต้องการทางเพศเป็นเรื่องน่าอายและไม่ควรนำมาพูดถึงในที่แจ้ง

สมัยนี้ถ้าเทียบกับหนังยอดนิยม The Fifty Shades of Grey แล้ว Lady’s Chatterley’s Lover ดูจะกลายเป็นเรื่องราวความรักอันใสบริสุทธิ์ไปเลยเชียว

เรื่องราวของความรักข้ามพรมแดนของชนชั้น ซึ่งถูกบงการด้วยแรงกระตุ้นทางเพศนี้ เกิดในอังกฤษในช่วงหลังสงคราม

คอนนี่ รีด (เอ็มมา คอร์ริน) เพิ่งแต่งงานกับคลิฟฟอร์ด แชตเตอร์ลีย์ (แมตธิว ดัคเก็ตต์) ได้ไม่นาน คลิฟฟอร์ดก็ต้องจากไปสู่สนามรบ

เขากลับมาด้วยอาการไม่ครบสามสิบสอง ท่านลอร์ดของคฤหาสน์ในชนบทผู้นี้กลายเป็นบุคคลพิการครึ่งตัวในท่อนล่าง และทิ้งลอนดอนนครหลวงมาใช้ชีวิตเงียบสงบอยู่กับภริยาสาวสวยสองคน

คอนนี่คอยช่วยเหลือสามีผู้เอาใจยากทุกอย่าง ขณะที่รู้สึกเปล่าเปลี่ยวเดียวดายอย่างที่สุด แม้จะขอเดินทางเข้าลอนดอนไปพบปะมิตรสหายและใช้ชีวิตอยู่กับพี่สาวที่รักบ้าง คลิฟฟอร์ดก็ไม่ยินดียินยอม

สิ่งที่ไม่คาดคิดเลยสำหรับสาวน้อยผู้นี้ ซึ่งได้รับการอบรมให้เป็นกุลสตรีในยุควิกตอเรีย คือ สามีที่เป็นขุนนางเจ้าของคฤหาสน์ ผู้หมดสภาพความเป็นชายไปแล้ว ปรารภความในใจอยากให้เธอมีลูกกับชายอื่น เพื่อจะให้เป็นทายาทสืบสกุลต่อไป

คอนนี่จึงถอยห่างออกจากสามีไปเรื่อยๆ ทั้งทางกายและใจ เธอใช้ชีวิตอันว่างเปล่าไร้จุดหมาย เปล่าเปลี่ยวเดียวดายอยู่ท่ามกลางบริวารรับใช้และความสุขสบายของชีวิตอันอัครฐานของชนชั้นขุนนางในชนบท

โดยเฉพาะเมื่อได้รับคำแนะนำให้จ้างคนมาดูแลสามีแทนที่เธอจะต้องอยู่กับเขาเต็มเวลา

มิสซิสโบลตัน (โจลลี ริชาร์ดสัน) ก็เป็นตัวละครที่น่าสนใจอีกตัวในเรื่อง

คอนนี่เริ่มใช้เวลาส่วนตัวในป่าไม่ไกลจากคฤหาสน์ และเริ่มความสัมพันธ์กับคนดูแลสัตว์ป่า ที่สามีจ้างมาเฝ้าป่า

โอลิเวอร์ เมลเลอร์ส (แจ็ก โอคอนเนลล์) เป็นบุคคลตามชื่อหนัง คือ ชู้รักของเลดี้แชตเตอร์ลีย์

หนังเวอร์ชั่นล่าสุดนี้ ถ่ายภาพอย่างงดงาม ด้วยองค์ประกอบภาพ ฉาก เครื่องแต่งกายและแสงที่สวยงามชวนมอง

ป่าอันเขียวขจีเปรียบประดุจสวนอีเดนสำหรับมนุษย์ชายหญิงคู่แรกของโลกตามคัมภีร์ไบเบิล คืออาดัมกับอีฟ มีฉากที่ทั้งสองเริงร่าวิ่งเล่นอย่างสำเริงสำราญ ร่างเปลือยเปล่ากลางสายฝน รู้สึกเป็นอิสระ และเป็นตัวของตัวเองเต็มที่ โดยไร้เครื่องผูกมัดร้อยรัดของสังคม

นอกจากประเด็นการปลดปล่อยสตรีออกจากแอกของสังคม ตามแนวสตรีนิยม หนังยังพาดพิงถึงประเด็นทางสังคมอื่นๆ เช่น ผลของสงคราม อันตรายจากสังคมที่มุ่งไปสู่ยุคอุตสาหกรรม ความขัดแย้งทางชนชั้น เป็นต้น

หนังมีตอนจบต่างไปจากนวนิยาย ตรงที่ขมวดเรื่องลงเอยอย่าง “แฮปปี้” ตามสูตรอันโรแมนติกในนิยาย แต่จะลงเอยอย่างแสนสุขในชีวิตจริงหรือเปล่านั้น ยังเป็นปัญหาที่จะต้องตามดูกันต่อไป เพราะชีวิตไม่ได้ปิดฉากลงแค่ตอนจบของนิยาย

อ้อ เอ็มมา คอร์ริน ที่เล่นเป็นตัวเอกคือ เลดี้แชตเตอร์ลีย์ ทำให้อยากเบนออกนอกเรื่องสักไปนิดไปสู่หัวข้อการใช้ภาษาและไวยากรณ์อังกฤษ

หลังจากที่โด่งดังมาจากบทของเลดี้ไดอาน่าตอนแรกรุ่นในซีรีส์ชุด The Crown แล้ว เอ็มมาก็ออกมาเปิดตัวในโลกโซเชียล ด้วยการประกาศ “ทวิภาวะ” (binary) ของตัวเอง และความประสงค์จะให้ใช้สรรพนามแทนตัวด้วยคำว่า they/them แทนที่จะใช้ว่า she/her

ตรงนี้เลยทำให้เห็นแนวโน้มของความเปลี่ยนแปลงในไวยากรณ์อังกฤษละค่ะ อีกหน่อยครูไวยากรณ์คงสอนไม่ได้แล้วว่า they/them เป็นสรรพนามบุรุษที่สามพหูพจน์อย่างเดียว ในขณะที่สรรพนามบุรุษที่สามเอกพจน์ จะต้องขยายออกจากเดิม he/him, she/her ไปครอบคลุมถึง they/them ด้วย

เฮ้อ…อีกหน่อยอ่านหนังสือภาษาอังกฤษคงต้องตีความสรรพนามกันอีก ไม่งั้นคงงงน่าดูว่าเป็นเอกพจน์หรือพหูพจน์

เอาเถอะ…ถือว่าภาษาเป็นเรื่องสมมติบัญญัติก็แล้วกัน…อย่าไปเอาจริงเอาจังกับมันเลย •

LADY CHATTERLEY’S LOVER

กำกับการแสดง

Laure de Clermont-Tonnierre

นำแสดง

Emma Corrin

Jack O’Connell

Matthew Duckett

Joely Richardson

 

ภาพยนตร์ | นพมาส แววหงส์