มารยาทการให้ของขวัญปีใหม่ | พิศณุ นิลกลัด

พิศณุ นิลกลัด

เดือนธันวาคม มาถึงแล้ว…

หลายคนคงรู้สึกเหมือนกันว่าปี 2565 ผ่านไปเร็วมาก แม้การใช้ชีวิตจะลำบาก โควิด-19 ยังวนเวียนรอบตัวเรา

หวังว่าปีหน้า ปี 2566 การดำเนินชีวิตจะดีขึ้นกว่าปีเก่า

เมื่อถึงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ สิ่งที่ผู้คนทำในเดือนธันวาคมก็คือหาซื้อของขวัญปีใหม่

การให้ของขวัญปีใหม่กับคนในครอบครัว หรือเพื่อนฝูงนั้น ไม่ยากเท่ากับการให้ของขวัญปีใหม่กับหัวหน้า ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ซื้อของขวัญที่เป็นส่วนตัวมากเกินไป เช่น ชุดนอน กางเกงชั้นใน ก็ดูไม่ถูกกาลเทศะ

แต่ถ้าซื้อของขวัญธรรมดาๆ ราคาถูก ก็อาจทำให้หัวหน้าไม่พอใจว่าให้ของขวัญแบบส่งๆ ไม่ใส่ใจ

 

วันนี้มีคำแนะนำการให้ของขวัญหัวหน้ามาฝาก แม้ราคาของขวัญอาจไม่สูง แต่หัวหน้าก็พอใจ ดังนี้

1. ไม่ควรให้ของขวัญราคาแพงเกินไป เพราะอาจทำให้หัวหน้าคิดว่ามีเจตนาแอบแฝง เช่น อยากได้เงินเดือนขึ้น หรือเลื่อนตำแหน่ง ดีไม่ดี หัวหน้าอาจมองว่าเราเป็นคนขี้อวด

2. ขณะเดียวกันของราคาถูกเกินไปก็แสดงให้เห็นว่าเราไม่ใส่ใจหัวหน้า ให้แบบเสียไม่ได้ ว่าไปแล้วหากจะให้ของขวัญราคาถูก อย่าให้เสียดีกว่า

ดังนั้น ของขวัญที่เหมาะสมคือของขวัญที่มีราคาปานกลาง ใช้ในที่ทำงานได้ หรือเกี่ยวกับกีฬา หรือสิ่งที่เจ้านายสนใจเป็นพิเศษ เพราะคุณค่าของขวัญไม่ได้อยู่ที่ราคา แต่อยู่ที่ความหมาย ความตั้งใจในการซื้อของขวัญ สื่อความหมายว่าเราเคารพและระลึกถึงหัวหน้า

3. ของขวัญที่เหมาะสมสำหรับหัวหน้าที่ใช้ในที่ทำงานได้ เช่น ปฏิทิน ปากกา กรอบรูป นาฬิกาตั้งโต๊ะ

หากหัวหน้าชอบเล่นกอล์ฟ ของขวัญที่เหมาะสมก็เช่น ปฏิทินกอล์ฟ แสดงให้เห็นว่าเราตั้งใจเลือกของชิ้นนั้นๆ

4. หากหัวหน้ามีปัญหาสุขภาพ ไม่ควรให้ของขวัญที่เป็นอาหารหรือขนม เช่น หัวหน้าเป็นเบาหวาน แต่กลับให้ช็อกโกแลต แสดงให้เห็นว่าไม่ใส่ใจในการเลือกของขวัญ

5. การรวมเงินกับเพื่อนพนักงานซื้อของให้หัวหน้าก็เป็นไอเดียที่ดี เพราะไม่ทำให้เพื่อนร่วมงานหมั่นไส้หากเราให้ของขวัญแบบโชว์เดี่ยว

6. ไม่ควรให้ของขวัญที่เป็นส่วนตัวเกินไป เช่น น้ำหอม เครื่องประดับ เครื่องแต่งกาย

7. ไม่ควรให้ของขวัญที่แสดงอาการประจบสอพลอออกนอกหน้า เช่น ถ้วยกาแฟที่เขียนว่า Best Boss of the Year

8. หากจะให้ของขวัญที่ประดิษฐ์เอง ขอให้คิดให้รอบคอบก่อนว่าสนิทกับหัวหน้าขนาดไหน หากไม่สนิทกับหัวหน้านัก แต่ถักเสื้อไหมพรมให้ก็อาจทำให้เจ้านายคิดว่าแอบมีใจให้

9. ห่อของขวัญให้ดูสวยงาม เพราะนอกจากจะเพิ่มคุณค่าราคาให้กับของขวัญยังแสดงให้เห็นถึงความใส่ใจ และอย่าลืมแนบบัตรอวยพรที่เราเขียนอวยพรด้วยลายมือตัวเอง ไม่ใช่เซ็นชื่อด้านล่างหลังประโยคที่พิมพ์มากับบัตรอวยพร

10. ไม่ควรให้ต่อหน้าเพื่อนร่วมงาน เพราะอาจเป็นที่หมั่นไส้ของเพื่อนร่วมงาน หัวหน้าเองก็อาจรู้สึกอึดอัด

11. หลังจากให้ของขวัญหัวหน้าแล้ว ไม่ควรป่าวประกาศให้เพื่อนร่วมงานคนอื่นทราบ

 

ส่วนการให้ของขวัญเพื่อนร่วมงานหรือคู่ค้าทางธุรกิจ มีคำแนะนำดังนี้

1. ของขวัญที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน เช่น ชุดเครื่องเขียน กระดาษโน้ตงานที่ดูดี ที่ใส่นามบัตรเป็นของขวัญกลางๆ ที่เหมาะสมกับเพื่อนร่วมงาน หรือคู่ค้า

2. ชุดถ้วยกาแฟ ก็เป็นของขวัญที่ไม่เป็นส่วนตัวเกินไป และผู้รับได้ใช้ แม้จะไม่ดื่มกาแฟก็สามารถใส่น้ำ ชา หรือเครื่องดื่มอื่นๆ ได้

3. ห้ามให้ของทะลึ่งตึงตัง แม้จะมีเจตนาให้ขำ แต่ถือว่าไม่รู้กาลเทศะ เช่น กางเกงในลายขำขัน

4. ไม่ควรให้ของขวัญเกี่ยวกับศาสนา เพราะบางทีเราไม่ทราบว่าผู้รับนับถือศาสนาอะไร

5. ไม่ควรให้ของใช้ส่วนตัว เช่น น้ำหอม ครีมทาผิว เพราะเราไม่ทราบว่าผู้รับชอบกลิ่นไหน แพ้กลิ่นนั้นๆ หรือเปล่า ซึ่งเป็นการให้โดยผู้รับไม่ได้ใช้ประโยชน์

6. บัตรสมนาคุณอาหารร้านโปรดของผู้ที่เราจะให้ หรือบัตรสมนาคุณเข้าสปา พักผ่อน คลายเครียด ที่เพื่อนเราชอบ

7. ไม่ควรให้ของขวัญราคาถูกสุดขีด เพราะทำให้เราดูขี้เหนียว

 

จบเรื่องผู้ให้แล้ว คราวนี้มาเรื่องผู้รับ…

ผู้รับของขวัญก็ต้องมีมารยาทในการรับเช่นกัน ผู้ให้จะได้ดีใจที่ผู้รับรู้สึกพึงพอใจที่ได้รับของขวัญ มารยาทของผู้รับของขวัญมีดังนี้

1. เวลาได้รับของขวัญกับมือจากผู้ให้ ให้ยิ้มรับและกล่าวคำขอบคุณ อย่าพูดว่า โอ๊ย ให้ทำไม ไม่จำเป็น เพราะทำให้ผู้ให้เสียกำลังใจ เวลารับของขวัญก็ควรรับด้วยสองมือ เพื่อแสดงให้เห็นว่าเราตั้งใจรับด้วยความทะนุถนอม

2. ตามมารยาทคนอเมริกัน เวลาได้ของขวัญนั้น ผู้รับจะแสดงอาการดีใจตื่นเต้น และขออนุญาตผู้ให้ว่าขอแกะห่อของขวัญเลยได้มั้ย เพื่อแสดงให้เห็นว่าเราตื่นเต้นกับของขวัญที่ได้รับ ไม่ถือเป็นการผิดมารยาท ขณะเดียวกัน ผู้ให้ก็จะรู้สึกอิ่มเอมใจว่าผู้รับมีความสุข และอยากเห็นกิริยาท่าทางของผู้รับว่าดีใจขนาดไหนเมื่อเห็นของขวัญ

วัฒนธรรมอเมริกัน หากเรารับของขวัญมาแล้ว และไม่เปิด คนอเมริกันจะรู้สึกว่าเราไม่ใส่ใจ

ขณะเดียวกันในหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น อินเดีย การแกะของขวัญทันทีต่อหน้าผู้ให้ ถือเป็นการเสียมารยาท

ดังนั้น การจะแกะของขวัญต่อหน้าผู้ให้หรือไม่ ต้องดูวัฒนธรรมของผู้ให้

แม้ของขวัญที่ได้รับจะไม่ถูกใจหรือถูกรสนิยม ก็ไม่ควรพูดต่อหน้าหรือพูดลับหลังผู้ให้ เพราะสิ่งที่มีค่าที่สุดคือความตั้งใจของผู้ให้

นอกจากจะกล่าวคำขอบคุณแล้ว การเขียนการ์ดขอบคุณด้วยลายมือก็เป็นมารยาทที่ดีที่ควรปฏิบัติ เพราะแสดงให้เห็นว่าเราซาบซึ้งในน้ำใจของผู้ให้ของขวัญ