‘พระร่วง’ ไปเมืองจีน คือ เจ้านครอินทร์ เมืองสุพรรณ | สุจิตต์ วงษ์เทศ

“พระร่วง” ที่ไปเมืองจีน แล้วได้ช่างจีนทำเครื่องสังคโลก คือเจ้านครอินทร์ เมืองสุพรรณ (ไม่ใช่พ่อขุนรามคำแหง กรุงสุโขทัย) มีหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดีสนับสนุนคับคั่ง

แต่ประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทยถูกกำหนดโดยชนชั้นนำ “รัฐพันลึก” ต้องการให้ “พระร่วง” คือพ่อขุนรามคำแหง แม้หลักฐานวิชาการไม่สนับสนุนก็ต้องเป็นไปตามนั้นตราบจนทุกวันนี้

 

“พระร่วง” คือ รามคำแหง

เรื่องเดิมสรุปว่า “พระร่วง” คือพ่อขุนรามคำแหง กรุงสุโขทัย ไปเมืองจีน 2 ครั้ง แล้วได้ช่างจีนทำเครื่องสังคโลกที่เมืองสุโขทัย ซึ่งเป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มากกว่า 100 ปีมาแล้ว (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2457) และทรงพระนิพนธ์ อธิบายตอนหนึ่ง ดังนี้

1. เมื่อแรกอ่านพงศาวดารเหนือว่าพระร่วงไปเมืองจีน

สมเด็จฯ ไม่เชื่อ

2. ต่อมาได้เห็นจดหมายเหตุจีน ระบุว่าสยามไปเมืองจีน

สมเด็จฯ จำต้องเชื่อด้วยอัศจรรย์ใจว่าพ่อขุนรามคำแหงไปเมืองจีนจริงๆ

พระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เฉพาะตอนที่กล่าวถึงเรื่อง “พระร่วง” ไปเมืองจีน จะคัดมาดังนี้

“ข้อที่ว่าพระร่วงได้เสด็จออกไปถึงเมืองจีน เห็นน้อยคนจะเชื่อ ข้าพเจ้าคนหนึ่งไม่เคยเชื่อ

จนกระทั่งมาแลเห็นจดหมายเหตุจีนว่าเมื่อ พ.ศ.1837 พระเจ้ากรุงสยามได้เสด็จออกไปถึงราชสำนักพระเจ้ากรุงจีนดังนี้ จำต้องเชื่อด้วยอัศจรรย์ใจว่าจริงอย่างเนื้อเรื่องที่กล่าวในพงศาวดารเหนือ

และเป็นความจริงที่พระเจ้าขุนรามคำแหงเสด็จออกไปเมืองจีน จึงไปเอาช่างจีนเข้ามาทำถ้วยชามสังคโลก เมื่อราว พ.ศ.1838”

(“ตำนานหนังสือพระราชพงศาวดาร” พระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในหนังสือพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 1 กรมศิลปากร จัดพิมพ์ พ.ศ.2542 หน้า 46)

 

“พระร่วง” ไปเมืองจีน ไม่ใช่ “รามคำแหง”

ดร.สืบแสง พรหมบุญ เป็นนักวิชาการไทยคนแรกที่พบตั้งแต่ พ.ศ.2513 (และพิมพ์เผยแพร่ทั่วประเทศ พ.ศ.2525) ว่าพ่อขุนรามคำแหงไม่ได้ไปเมืองจีน แต่ที่เชื่อกันว่าพ่อขุนรามคำแหงไปเมืองจีน เนื่องจากการแปลเอกสารจีนเป็นภาษาไทยมีข้อผิดพลาด “เพราะการแปลข้อความผิดพลาดก็เป็นได้”

[จากหนังสือ ความสัมพันธ์ในระบบบรรณาการระหว่างจีนกับไทย ของสืบแสง พรหมบุญ (กาญจนี ละอองศรี แปลจากวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก โดยสืบแสง พรหมบุญ เสนอต่อมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน (เมดิสัน) สหรัฐ พ.ศ.2513) มูลนิธิโครงการตำราฯ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2525]

ดร.สืบแสง พรหมบุญ ปริญญาตรีจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิล สหรัฐ, อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ, อาจารย์ประจำและคณบดีคณะศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์, และอธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต ฯลฯ (ถึงแก่อนิจกรรม 25 มีนาคม 2555)

เจ้านครอินทร์ เมืองสุพรรณ ทำสังคโลก

ศรีศักร วัลลิโภดม บอกไว้นานแล้ว (ก่อน พ.ศ.2527) ว่าเจ้านครอินทร์ เมืองสุพรรณ รับเทคโนโลยีก้าวหน้าจากจีน ผลิตเครื่องเคลือบสังคโลกและเครื่องปั้นดินเผาส่งไปขายกับต่างประเทศตามหมู่เกาะที่ใกล้เคียง เช่น อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย นับเป็นสิ่งใหม่ๆ ที่นอกเหนือไปจากการส่งสินค้าประเภทต่างๆ เป็นสินค้าออก

ในระยะนี้เมืองบางเมืองในราชอาณาจักรได้กลายเป็นเมืองอุตสาหกรรม เช่น เมืองในเขต อ.ชันสูตร จ.สิงห์บุรี, เมืองสุโขทัย ศรีสัชนาลัย และพิษณุโลก เป็นต้น

การผลิตเครื่องปั้นดินเผาไปขายต่างประเทศ น่าจะริเริ่มในสมัยสมเด็จพระนคริน ทราธิราช เพราะในสมัยที่ยังทรงดำรงพระยศเป็นเจ้านครอินทร์ เมืองสุพรรณ นั้น ได้เคยเสด็จไปเมืองจีน เมื่อเสวยราชย์แล้วก็ยังทรงติดต่อกับประเทศจีน ทรงขอช่างปั้นจากจีนมาสอนและทำเครื่องถ้วยชามในเมืองไทย โดยเหตุที่พระองค์ทรงเป็นใหญ่เหนือรัฐสุโขทัยด้วยในขณะนั้น คงทรงเลือกเมืองสุโขทัยและศรีสัชนาลัยเป็นแหล่งอุตสาหกรรม เพราะเป็นแหล่งที่มีดินดีเหมาะแก่การทำเครื่องสังคโลก

เหตุนี้ตำนานพงศาวดารจีนเรียกพระองค์ว่าเป็นพระร่วงที่เคยเสด็จไปเมืองจีน และนำช่างจีนเข้ามาสอนการทำสังคโลกในเมืองไทย

[จากหนังสือ กรุงศรีอยุธยาของเรา ของศรีศักร วัลลิโภดม สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2527]

 

“พระร่วง” ไปเมืองจีน คือเจ้านครอินทร์ เมืองสุพรรณ

พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์โบราณคดีของกรมศิลปากร เป็นนักปราชญ์คนแรกที่พบว่า “พระร่วง” ไปเมืองจีน คือเจ้านครอินทร์ เมืองสุพรรณ แล้วเขียนบทความเชิงวิชาการบอกไว้เมื่อ 43 ปีที่แล้ว ตั้งแต่ พ.ศ.2522

(ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 1 ฉบับที่ 3 พ.ศ.2522 หน้า 19-21)

 

ราชการรวบอำนาจรวมศูนย์

รัฐราชการรวบอำนาจรวมศูนย์สืบทอดอย่างเคร่งครัดและเข้มแข็งต่อระบอบ “เจ้าขุนมูลนาย” อำนาจนิยม จึงต่อต้านการเปลี่ยนแปลงสู่สิ่งใหม่ที่ถูกต้องและก้าวหน้า

ดังนั้น แม้หลักฐานวิชาการประวัติศาสตร์โบราณคดีและอื่นๆ กองท่วมหัวยืนยันสอดคล้องตรงกันว่า “พระร่วง” ไปเมืองจีน ไม่ใช่พ่อขุนรามคำแหง กรุงสุโขทัย เพราะแท้จริงคือเจ้านครอินทร์ เมืองสุพรรณ

แต่รัฐราชการรวบอำนาจรวมศูนย์ที่เกี่ยวข้องข้อมูลข่าวสารประวัติศาสตร์โบราณคดีและต่อต้านการเปลี่ยนแปลง ไม่เคลื่อนไหวปรับเปลี่ยนใดๆ ให้ถูกต้องตามหลักฐานวิชาการเช่นเดียวกับเรื่องอื่นๆ อีกมากที่มีผิดพลาด แต่ไม่แก้ไข •

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เลือกซื้อหนังสือ “เจ้านครอินทร์ เมืองสุพรรณ สร้างสรรค์อยุธยา ราชอาณาจักรสยาม” ที่มติชน อคาเดมี เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2565

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เลือกซื้อหนังสือ “เจ้านครอินทร์ เมืองสุพรรณ สร้างสรรค์อยุธยา ราชอาณาจักรสยาม” (รวมบทความวิชาการของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, สืบแสง พรหมบุญ, ศรีศักร วัลลิโภดม และรุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล ซึ่งสุจิตต์ วงษ์เทศ เป็นบรรณาธิการ) ที่มติชน อคาเดมี ถนนเทศบาลนิมิตใต้ ซอย 12 ประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร สำนักพิมพ์มติชน จัดงาน “สมานมิตรฯ Return เปิดโกดังหนังสือดี”

ดร.ชาญวิทย์กล่าวว่า นายสุจิตต์ บรรณาธิการเล่ม เป็นผู้ที่เห็นความสำคัญของเจ้านครอินทร์ตลอดมา โดยหนังสือเล่มนี้ให้ข้อมูลที่ชัดเจนว่า กษัตริย์สยามที่เสด็จไปเมืองจีน ไม่ใช่พ่อขุนรามคำแหง แต่เป็นเจ้านครอินทร์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากจีน สอดคล้องกับทฤษฎีเรื่องเสียนโล้ หรือ เสียนล้อ ว่าเสียนคือสุพรรณฯ ไม่ใช่สุโขทัย ซึ่งเป็นสิ่งที่นักวิชาการชาวต่างชาติเสนอมาหลายสิบปีแล้ว แต่ขณะนั้นยังไม่ได้รับความสนใจมากนัก โดยระบุว่าเสียนโล้คืออยุธยา ฝรั่งรู้จักในนามว่าสยาม ในขณะที่จีนยังคงใช้คำว่าเสียนล้อ มาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

“ผมว่าคุณสุจิตต์เป็นคนหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับเจ้านครอินทร์ ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ระหว่างวงศ์สุพรรณภูมิหรือสุพรรณบุรีกับจีนซึ่งมีอิทธิพล มีบารมีสูงมาก กลายเป็นวงศ์ที่มาแทนวงศ์พระเจ้าอู่ทองได้โดยไม่ยากเลย”

“อีกประเด็นที่ออกมาในผลงานเล่มนี้คือการที่บอกว่าพระเจ้าแผ่นดินสยามที่ไปเมืองจีน หาใช่พ่อขุนรามคำแหงไม่ แต่เป็นพระเจ้าแผ่นดินจากอาณาจักรที่อยู่ทางตอนกลางของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา สำหรับสุโขทัยคืออาณาจักรซึ่งอยู่บนที่ดอน ยุคที่ว่านี้เป็นยุคซึ่งที่สุดแล้วอาณาจักรในที่ลุ่มและใกล้ทะเล ได้เปรียบในการขึ้นเป็นมหาอำนาจ นั่นคืออยุธยา” ดร.ชาญวิทย์กล่าว

(มติชน ฉบับวันอังคารที่ 29 พฤศจิกายน 2565 หน้า 7)

 

| สุจิตต์ วงษ์เทศ