นิมพารกาจารย์ : จักรแห่งความรักของกฤษณะและราธา

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

“โอ้พระนางราธิกา กระทั่งองค์มุกุนทะ (กฤษณะ) ซึ่งมีพระกมลบาทที่ใครๆ ต่างทำสมาธิถึง ยังทรงทอดทัศนาแต่บาทอันงามของพระองค์อยู่เสมอ! ข้าขอน้อมไหว้พระบาทของพระนางที่ส่องสว่างมายังหัวใจ โดยการชำเลืองเห็นแม้เพียงขณะเดียว

พระมุกุนทะถูกพันธนาการไว้แล้วด้วยเชือกแห่งความรักของราธา พระองค์จึงเดินหมุนไปรอบพระนางด้วยความรักดุจดังว่าว ราธาผู้มีพรแด่ทุกคน โปรดยังข้าพเจ้าให้บูชาพระองค์ด้วยความรักและปราศจากอหังการเถิด”

 

ราธาษฏกัมของนิมพารกาจารย์

ในโลกของชาวไวษณพนิกาย “นารายณ์ วิษณุ หริ ราม กฤษณะ” ล้วนเป็นนามของพระเจ้าที่ไม่ได้แตกต่างกัน กระนั้น ครูบาอาจารย์ในแต่ละสายประเพณี ก็อาจได้รับแรงบันดาลใจจากแง่มุมที่หลากหลายของพระเจ้า จึงดึงเอาคุณสมบัติและลีลาของแต่ละรูป-นามมาเป็นจุดเด่นในคำสอนของตน

ดังนั้น รามานุชะจึงเน้น “พระนารายณ์” ตยาคราชและตุลสีทาสเน้น “พระราม” ส่วนบรรดานักปรัชญาสายเวทานตะ ไม่ว่าจะเป็น มาธวะ นิมพารกะ วัลลภา และไจตันยะ ดูเหมือนจะเน้นไปยัง “พระกฤษณะ” เป็นพิเศษ

ด้วยว่าพระกฤษณะ คือ “ลีลาปุรุโษตมะ” มหาบุรุษอันอุดมลีลา พระองค์เปี่ยมไปด้วยแง่มุมชวนพิศวง และยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด เรื่องราวของพระกฤษณะเต็มไปด้วยความรัก โดยเฉพาะกับราธา คนรักที่ไม่อาจสมหวังในบั้นปลาย กระนั้น พลังความรักของทั้งคู่ก็ท่วมท้นจนไม่อาจแยกจิตใจจากกันได้ตลอดไป

เรื่องราวทั้งหมดนี้เป็นดั่งขุมทรัพย์ เป็นพลังของเรื่องเล่าอันอาจนำไปตีความเพื่อสร้างเป็นระบบปรัชญาเทวนิยมและระเบียบปฏิบัติบนหนทางแห่งความภักดีได้อย่างเยี่ยมยอด

นิมพารกาจารย์ (Nimbarkacharya) เป็นทั้งนักปรัชญาและคุรุในสายเวทานตะ ผู้ดื่มด่ำกำซาบในรสลีลาแห่งพระกฤษณะและราธาหมดทั้งหัวใจ ตำนานความรักของพระเจ้าจึงมิได้ถูกมองเป็นเพียงนิทานสร้างศรัทธา ทว่า ซ่อนแฝงปรัชญาลึกล้ำไว้ภายในที่ต้องอาศัยการตีความ ซึ่งได้กลายเป็นการงานสำคัญในชีวิตของท่าน

ว่ากันว่าท่านมีชีวิตร่วมสมัยกับรามานุชาจารย์ โดยอ่อนอายุกว่าและสิ้นชีวิตภายหลังรามานุชะจากไปยี่สิบห้าปี กระนั้น ช่วงเวลาที่นิมพารกะถือกำเนิดก็ไม่แน่ชัด นักวิชาการบางส่วนเห็นว่านิมพารกาจารย์น่าจะเกิดในราวปีคริสต์ศักราช 1028 ถึง 1125

บ้านเกิดของนิมพารกะอยู่ที่นิมพปุระ ในแคว้นเตลังคานา (Telangana) ทางตอนใต้ของอินเดีย แต่บางตำนานก็ว่าท่านเกิดที่พฤนทาวัน เมืองของพระกฤษณะในภาคเหนือ

บิดาเป็นพราหมณ์เตลุคุนามว่าชคันนาถ มารดาชื่อสรัสวตี (อีกตำนานกล่าวว่าชื่ออรุณะและชยันตี) บิดามารดานับถือพระกฤษณะมาแต่เดิม ด้วยเหตุนี้นิมพารกะจึงนับถือพระกฤษณะด้วย และได้รับการศึกษาอย่างดีตามขนบพราหมณ์

ต่างกับนักบุญท่านอื่นๆ รายละเอียดของชีวิตนิมพารกาจารย์มีอยู่น้อยมาก เราทราบเพียงว่าครอบครัวของท่านย้ายไปยังเมืองมถุรา (บางตำนานว่าพฤนทาวัน) ท่านมีชื่อในวัยเด็กว่า “นิตยมานันทะ” และได้รับคำสอนเกี่ยวกับพระเจ้าโดยตรงจากนารทมุนี มหามุนีผู้ถือพิณ ศิษย์เอกแห่งพระนารายณ์ผู้มักปรากฏในเทวตำนานแทบทุกเรื่อง พร้อมกับคำพูดติดปาก “นารายณ์ นารายณ์!”

ตำนานนี้อาจเป็นเพียงการสร้างความชอบธรรมว่าแนวคิดของนิมพารกะได้รับการสั่งสอนมาจากมหามุนีผู้เป็นศิษย์แห่งพระนารายณ์โดยตรง ก็เช่นเดียวกับตำนานมาธวาจารย์ได้พบกับมหาฤษีวยาส กระนั้น เรื่องนี้จะจริงหรือไม่จริงก็ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เพราะความน่าเชื่อถือแห่งคำสอนต้องถูกพิสูจน์ด้วยเหตุผลกับทั้งการปฏิบัติด้วย

 

ตํานานที่มีชื่อเสียงที่สุดซึ่งทำให้ “นิตยมานันทะ” กลายเป็น “นิมพารกะ” นั้น เล่ากันว่า

วันหนึ่งนักบวชศาสนาไชนะเดินทางไกลเพื่อจะมาโต้วาทีกับนิตยมานันทะ ทว่า ท่านประสงค์จะเลี้ยงอาหารแก่ผู้มาเยือนเสียก่อน แต่ตอนนั้นเป็นเวลาค่ำแล้ว ชินภิกขุจึงปฏิเสธเพราะผิดวินัยบัญญัติที่ห้ามรับภิกขาจารหลังอาทิตย์ตกดิน

นิตยมานันทะจึงสวดอ้อนวอนต่อพระนารายณ์ ขอให้พระองค์ช่วยเหลือ พระนารายณ์จึงส่ง “สุทรรศจักร” ของพระองค์มาส่องสว่างแทนพระอาทิตย์เหนือ “ต้นสะเดาแขก” หรือต้น “นิมพะ” (รู้จักกันในชื่อต้นนีม)

ความสว่างไสวของสุทรรศจักรไม่ต่างกับดวงตะวัน ด้วยเหตุนี้นักบวชไชนะรูปนั้นจึงสามารถรับภิกขาและขบฉันอาหารได้ตามความประสงค์ของเจ้าภาพ ไม่ต้องทนหิวโหยจนอรุณของอีกวัน

นิตยมานันทะจึงได้รับนามใหม่ว่า “นิมพารกะ” ซึ่งแปลว่า ดวงอาทิตย์(อรกะ) ที่ลอยเหนือต้นสะเดา (นิมพะ) หรืออีกนามที่มีความหมายเดียวกันว่า “นิมพาทิตยะ”

ด้วยเหตุนี้ ในนิกายของนิมพารกะ (นิมพารกะสัมประทายะ) ซึ่งสืบทอดมาถึงจนทุกวันนี้ เชื่อกันว่า นิมพารกาจารย์เป็นอวตารของกงจักรแห่งพระวิษณุหรือสุทรรศนะจักร เพื่อมาสั่งสอนไวษณวะธรรมในกลียุค

นิมพารกะเป็นพรหมจารีจนตลอดชีวิต มิได้บวชเป็นสันยาสีหรือแต่งงานอย่างฆราวาส ด้วยเหตุนี้ประมุขของนิกายจึงนุ่งห่มขาวถือพรหมจรรย์ มิได้สวมจีวรสีส้มเป็นประเพณีสืบมา

เราไม่ทราบว่านิมพารกาจารย์เสียชีวิตอย่างไร ตำนานเล่าเพียงว่า ท่านเดินทางแสวงบุญไปยังเมืองศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ จากนั้นก็กลับมาปักหลักที่มถุรา เขียนงานทางปรัชญา และสิ้นชีวิตที่นั่น

 

ผลงานของนิมพารกาจารย์ที่สำคัญและใหญ่สุดคืออรรถาธิบายพรหมสูตรบางส่วนในชื่อ “เวทานตะ ปริชาตะ เสารภะ” นอกจากนี้ มักเป็นงานไม่ใหญ่นัก เช่น อรรถกถาบางส่วนของภควัทคีตา, มันตระรหัสยะโษฑศี, ประปันนะกัลปวัลลี แต่งานที่มีชื่อเสียงที่สุด คือ “เวทานตะกามเธนุ ทศโศลกี” หรือเรียกกันสั้นๆ ว่าทศโศลกี หมายถึง “แม่โคสารพัดนึกแห่งเวทานตะสิบโศลก” ซึ่งอธิบายหลักปรัชญาของนิมพารกะในสิบโศลกเท่านั้น

หลักปรัชญาของนิมพารกาจารย์เรียกว่า “ทไวตาทไวตะเวทานตะ” (Dvaitadvaita vedanta) ซึ่งหมายถึง ความเป็นคู่ (ทไวตะ) ในความไม่เป็นคู่ (อทไวตะ) หรือเรียกอีกอย่างว่า “เภทาเภทะ” (Bhedabheda) หมายถึงความแยกแตกต่าง (เภทะ) ในความไม่แยกแตกต่าง (อเภทะ) ถ้าพูดด้วยภาษาง่ายๆ ก็อาจกล่าวว่า ความหลากหลายในหนึ่งเดียว

นิมพารกาจารย์ยอมรับแนวคิดของรามานุชาจารย์ที่ว่า สิ่งที่มีอยู่จริงประกอบด้วยพระเจ้าหรือพรหมัน ชีวาตมันหรือดวงชีพของสรรพชีวิต (ซึ่งในปรัชญานี้เรียกว่าจิต) และวัตถุสสารหรืออจิต ทว่า ทั้งสามสิ่งนี้ทั้งสามารถแยกออกจากกันได้และในขณะเดียวกันก็อิงอาศัยหรือสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่นด้วย

อุปมาดั่งความสัมพันธ์ของคลื่นและทะเล คลื่นนั้นเป็นหนึ่งเดียวกับทะเล แต่ในขณะเดียวกันก็มีคุณสมบัติบางอย่างที่ต่างจากทะเล เราจึงสามารถเรียกคลื่นเป็นอีกสิ่งได้ ชีวาตมันและสสารนั้นจึงเหมือนกับคลื่น มันเป็นส่วนหนึ่งของทะเลซึ่งก็คือพรหมัน แต่มันก็เป็นอีกอย่างด้วย

พระเจ้าสูงสุดหรือพรหมันในแนวคิดนี้หมายถึงพระกฤษณะและราธา (ซึ่งอยู่ในฐานะพลังแฝงของพระเจ้า) พระเจ้าทรงเป็นทั้งวัสดุเหตุและพลังในการสรรค์สร้างจักรวาล พระองค์ประกอบด้วยคุณลักษณะที่ดีทุกประการ ดังนั้น สสารเองก็เป็นส่วนหนึ่งของพระเจ้าด้วย ดังในทศศโลกีกล่าวว่า

“พระองค์ผู้เป็นห้วงน้ำแห่งคุณความดี ไร้ข้อบกพร่องใดจากสภาวะธรรมชาติ (ประกฤติ) ทรงปรากฏในสี่วยูหะหรือสี่ภาคส่วน ได้แก่ วาสุเทวะ สังกรษณะ ปรัทยุมนะ และอนิรุทธะ (คือหน้าที่ต่างๆ ไม่ว่าสร้าง รักษาและทำลาย) พระผู้มีกมลเนตร ผู้ฉุดช่วยสาวกจากบาปและมลทิน ผู้สมควรแก่การปรนนิบัติ เราขอระลึกถึงพระปรพรหมคือศรีกฤษณะพระองค์นั้น”

“บุคคลพึงพำนักและจดจ่อต่อพระยุคล (คู่) แห่งปรพรหมัน คือ ศรีราธากฤษณะ เพื่อจะขจัดอวิชชาให้สิ้นไป”

“ทั้งอจิต (สสสาร) และจิต (ชีวาตมัน) สรรพสิ่งในจักรวาลอันเห็นได้นี้ล้วนเป็นรูปแห่งพรหมัน อันกล่าวไว้ในศรุติและสมฤติทั้งหลาย”

 

นอกจากหลักปรัชญา นิมพารกาจารย์เป็นคุรุท่านแรกๆ ที่ให้ความสำคัญกับพระนางราธามากเป็นพิเศษ ดังท่านได้แต่งบทสดุดีราธาไว้หลายบท และยังนำราธารวมเข้าไว้ในหลักการพรหมันของท่าน

ใจกลางแห่งปรัชญาของนิมพารกะ คือ ความรักของราธาและกฤษณะซึ่งคือพระเจ้าสูงสุดผู้ทรงสรรค์สร้างและขับเคลื่อนทุกสิ่งจากพลังแห่งความรักนั้น

ชีวิตแห่งสาวกจึงเป็นดังคลื่นเล็กๆ ในมหาสมุทรอันไพศาลของพระเจ้า

ซึ่งเราได้ค่อยๆ ก่อรูปขึ้น ซัดสาดและเลือนหายไป

เป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์ •

 

ผี พราหมณ์ พุทธ | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง