“น้ำแม่ข่า” | ล้านนาคำเมือง

 

น้ำฯแม่ข่า อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “น้ำแม่ข่า”

น้ำแม่ข่า หรือ คลองแม่ข่า เป็นทางน้ำโบราณสายหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ เป็นหนึ่งในชัยภูมิที่พญามังรายเลือกที่จะสร้างเมืองเชียงใหม่เมื่อ 700 กว่าปีมาแล้ว

น้ำแม่ข่า ทำหน้าที่เป็นคูเมืองชั้นนอกที่โอบล้อมเมือง และเป็นทางระบายน้ำล้นลงสู่แม่น้ำปิง

ตามตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ที่อธิบายถึงชัยภูมิ 7 ประการ และแหล่งน้ำ 4 แห่ง โดยมีดอยสุเทพ เป็นแหล่งกำเนิดลำห้วยหลายสาย ได้แก่ ห้วยแก้ว ห้วยช่างเคี่ยน น้ำแม่ท่าช้าง

น้ำจากลำคูไหวไหลลงสู่เมืองทำให้มีน้ำใช้ตลอดปี เป็นน้ำที่หล่อเลี้ยงชาวเมืองเชียงใหม่ เป็นเส้นทางสัญจร แถมยังเป็นคูเมืองชั้นนอกเพื่อรับน้ำจากลำห้วยต่างๆ ที่ไหลลงสู่เมืองเชียงใหม่

นับเป็นการกระจายน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภค และเป็นทางระบายน้ำ ไหลลงสู่แม่น้ำปิง

 

ลําน้ำแม่ข่ารับน้ำจากภูเขาในเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย คือ ลำห้วยแม่ชะเยือง และห้วยตึงเฒ่า ไหลรวมเข้ากับลำเหมืองกลางและลำเหมืองแม่หยวก ไหลลงคลองแม่ข่า ที่ ต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ผ่านตัวอำเภอเมืองเชียงใหม่โดยมีลักษณะไหลโอบรอบเวียง เป็นการไหลเลี่ยงจากมุมเมืองด้านเหนือ

มวลน้ำบางส่วนจะไหลไปรวมกันที่หนองบัวเจ็ดกอ บ้างเรียกหนองบัว, หนองเขียว หรือหนองป่าแพ่ง ซึ่งเป็นหนองน้ำโบราณที่มีมาตั้งแต่สร้างเมืองเชียงใหม่ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมือง

ปัจจุบันหนองน้ำดังกล่าวสิ้นสภาพไปแล้ว เนื่องจากมีการสร้างถนนอัษฎาธรตัดผ่านเพื่อไปบรรจบกับถนนซูเปอร์ไฮเวย์เชียงใหม่-ลำปาง

ลำน้ำสาขาคือน้ำแม่ท่าช้าง ไหลเชื่อมเข้ากับคลองแม่ข่าเหนือแจ่งศรีภูมิ 500 เมตร มีกำแพงเมืองชั้นนอกช่วยเบนน้ำในคลองแม่ข่าให้ห่างเมืองออกไปทางทิศตะวันออก แล้ววกมาทางใต้สมทบกับน้ำห้วยแก้วและน้ำลำคูไหว ที่เริ่มต้นจากแจ่งกู่เฮืองอ้อมผ่านกำแพงเวียงชั้นนอก ทางประตูหายยา ไปบรรจบกับคลองแม่ข่าที่ถนนสุริวงศ์

ลำน้ำสองสายนี้จะทำหน้าที่ระบายน้ำออกจากคูเมืองเชียงใหม่

นาฯํ้ฯแม่ข่าในทึงฯวันฯนี้ นาฯํ้ฯใสขนฯๆาดฯ น้ำแม่ข่าในตึงวันนี้ น้ำใสขนาด แปลว่า คลองแม่ข่าในทุกวันนี้ น้ำใสมาก

ในอดีตน้ำแม่ข่าใสสะอาดและเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำนานาชนิด ประชาชนสามารถนำน้ำมาอุปโภคบริโภคได้

แต่ด้วยความที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ การศึกษา และวัฒนธรรมของล้านนา ส่งผลให้เกิดการขยายตัวของเมืองเชียงใหม่อย่างไร้ระบบในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา มีชุมชนแออัด พร้อมกับการบุกรุกคลองแม่ข่า ทำให้มีผู้คนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น คลองมีขนาดแคบลง และทรุดโทรม มีการทิ้งน้ำเสียทั้งจากสถานประกอบการและชุมชนที่อาศัยรอบๆ คลอง โดยไม่มีระบบบำบัดน้ำเสีย

ทำให้น้ำในคลองแม่ข่าเน่าเสีย จนเป็นปัญหาเรื้อรัง และใช้งบประมาณในการทำความสะอาดคลองหลายล้านบาทในแต่ละปี

จากการศึกษาคุณภาพน้ำพบว่าน้ำในคลองเสียอยู่ในระดับที่ 5 คือคุณภาพเสียสูงสุด ไม่สามารถนำมาใช้อุปโภคบริโภคได้ มีออกซิเจนต่ำกว่ามาตรฐาน มีสารปนเปื้อน อาทิ อีโคไล ไนเตรต และฟอสฟอรัสสูงกว่าปกติ ทำให้น้ำมีกลิ่นเหม็นและมีสีขุ่นดำ

โดยเฉพาะจุดที่เชื่อมกับลำคูไหวที่ทำหน้าที่รับน้ำฝนและน้ำทิ้งของเมือง เมื่อน้ำไหลไปถึง ต.ป่าแดด ซึ่งเป็นปลายน้ำก่อนไหลลงสบข่า ก็ยิ่งทวีกลิ่นเน่าเหม็นอันส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนในชุมชน รวมทั้งเกษตรกรที่เลี้ยงปลากระชังในแม่น้ำปิง

โดยเฉพาะบริเวณประตูน้ำตรงสบข่านั้นน้ำในคลองจะมีสีดำตัดกับสีของแม่น้ำปิงอย่างชัดเจน ผิวน้ำจะมีฟองอากาศ และคราบน้ำมันส่งกลิ่นเหม็น

 

ปัจจุบันจังหวัดเชียงใหม่ได้ร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อวางแผนฟื้นฟูน้ำในคลองแม่ข่า

มีการขุดลอกคลอง กำจัดวัชพืช ติดตั้งเครื่องเติมอากาศ ใช้พืชน้ำบำบัดน้ำเสีย อันเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้ยูเนสโกพิจารณาเมืองเชียงใหม่เป็นมรดกโลก เพราะทั้งน้ำแม่ข่าและลำคูไหว ถือเป็นมรดกที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดเชียงใหม่ควรได้รับการพัฒนาสำหรับเป็นจุดขายการท่องเที่ยว

โดยได้จัดทำ ‘แผนแม่บทคลองแม่ข่า (พ.ศ.2561-2565) ตามวิสัยทัศน์ที่ว่า ‘คลองสวย น้ำใส ไหลดี ชุมชนมีสุข’ มีเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูคลองแม่ข่าให้มีคุณภาพดีขึ้น มีน้ำไหลเวียนตลอดทั้งปี ปรับปรุงภูมิทัศน์และสภาพแวดล้อมให้สวยงามเพื่อเป็นสถานที่พักผ่อน พร้อมทั้งให้ชุมชนมีส่วนร่วมและบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ

มีการสำรวจแนวเขตคลอง โดยใช้ภาพถ่ายทางอากาศ ตรวจสอบแปลงที่ดิน ขุดลอกคลอง จัดการน้ำเสีย สิ่งปลูกสร้างรุกล้ำคลอง พัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนสองฝั่งคลอง สร้างกำแพงคอนกรีตกันดิน ถนน สะพาน สร้างจิตสำนึกชุมชน จิตอาสา ‘รักษ์แม่ข่า’ จัดทำระบบรวบรวมน้ำเสียสองฝั่งคลองแม่ข่าตั้งแต่บริเวณสะพานแม่ข่า (ระแกง) ถึงประตูก้อม ระยะทางประมาณ 750 เมตร โดยเทศบาลนครเชียงใหม่เป็นผู้ดำเนินการ

จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวและจุดเช็กอินที่สวยงามแห่งหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ เป็นการกระจายรายได้เข้าสู่ชุมชนริมคลองแม่ข่า

และถือเป็นการปรับปรุงน้ำแม่ข่าให้ใสสะอาดเหมือนในอดีตที่ผ่านมา แม้ว่าจะจัดการได้เพียงบางส่วนของน้ำแม่ข่าก็ตาม •