ทำบางกอกให้เป็นบ้านนอก | ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ชาวสยามในบางกอกสมัยอดีต (ภาพจาก "กรุงเทพฯ มาจากไหน?, 2548)

วิชาประวัติศาสตร์ในโรงเรียนไทยพร่ำสอนนักเรียนว่าประเทศไทยไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของใคร ไทยไม่ได้เป็นอาณานิคมของใคร

เด็กไทยถูกสอนให้สำนึกถึงตัวตนตนเองในฐานะสยาม/ประเทศไทย ที่มีคู่ขัดแย้งเป็นต่างชาติเจ้าอาณานิคมตะวันตก แล้วทำตนเองให้แตกต่างจากคนอื่นรอบบ้านที่ “ตกเป็นอาณานิคม” ของตะวันตก

ประเทศไทยจึงมีความพิเศษ ที่ผู้นำของไทยสามารถทำให้คนไทยรอดพ้นอำนาจของอาณานิคมตะวันตกได้

ความสำนึกนี้เป็นความสำนึกที่ทำให้คนในประเทศไทยปัจจุบันไม่รู้สึกว่า สยามเองนั่นแหละที่เป็น “เจ้าอาณานิคม” หรือผู้รุกราน หรือผู้มีอำนาจนำเหนือดินแดนนี้

ความรับรู้นี้ถูกสร้างขึ้นมาจนทำให้คนไทยจำนวนมากไม่รู้สึกถึงการตกเป็นอาณานิคมของสยาม

กระบวนการสร้างอาณานิคมสยามนี้เป็นกระบวนการต่อเนื่องยาวนานที่ค่อยๆ ทำให้ความแตกต่างของวัฒนธรรมและความเหลื่อมล้ำของอำนาจลดทอนจนเกือบสูญหายไป

ตัวอย่างที่ดีคือคนปักษ์ใต้ตอนบนที่ไม่ใช่ชาวมุสลิม พวกเขารู้สึกอย่างนั้นมากที่สุด คนใต้ภักดีกับสยามมากที่สุด น่าจะมากที่สุดยิ่งกว่าคนในภูมิภาคอื่นๆ ทั้งๆ ที่ภาคใต้ในอดีต อย่างสงขลาเอง มีการติดต่อเชื่อมโยงกับดินแดนห่างไกลออกไปจนกระทั่งมีเหรียญกษาปณ์ที่มีทั้งอักษรไทย จีน และอาหรับ แสดงความเชื่อมโยงกับเครือข่ายการค้าก่อนรัชกาลที่ 5

แต่หลังจากถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของสยามอย่างเป็นเอกภาพมากขึ้น มีการสร้างเหรียญกษาปณ์จากส่วนกลางในสมัย ร.5 ภาคใต้ตอนบนกลายเป็นหนึ่งของสยามเสียจนหมดความรู้สึกต่อต้านแตกต่าง จนแม้หลังขบวนการคอมมิวนิสต์เคลื่อนไหวต่อต้านอำนาจรัฐอย่างรุนแรงเกิดขึ้นในภาคใต้

ถึงกระนั้น ความทรงจำถึงความแตกต่างไม่เป็นเอกภาพของภาคใต้ตอนบนกับสยามก็เลือนรางไปจนแทบจะไม่มีอยู่หรือไม่เหลือการต่อต้านอีกเลยในปัจจุบัน นี่เป็นความยากลำบากในการพูดถึงความเป็นอาณานิคมของคนในสยาม/ประเทศไทย เนื่องจากสำนึกเหล่านี้หายไป หรือถูกกลบลบเลือนไป อย่างไรก็ดี สำนึกความเป็นอาณานิคมในแต่ละส่วนของประเทศไทยมีมากน้อยหรืออยู่ในลักษณะที่แตกต่างกันในแต่ละภาคหรือแต่ละพื้นถิ่นเฉพาะ ขึ้นกับประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์และความขัดแย้งระหว่างสยามกับภาคและพื้นถิ่นนั้นๆ

เช่น ในภาคเหนือ บางจังหวัดอาจมีสำนึกนี้ชัดเจน เนื่องจากชนชั้นนำและประชาชนในถิ่นนั้นเคยต่อต้านเจ้าอาณานิคมสยามอย่างแข็งขันมาก่อน

ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำนึกการถูกทำให้เป็นอาณานิคมยังคงคุกรุ่นในหลายพื้นที่ เนื่องจากความรับรู้ที่สืบเนื่องมาของการต่อสู้กับอาณานิคมสยามยังคงถูกรักษาไว้ในเรื่องเล่าท้องถิ่นในรูปแบบต่างๆ

แต่ในที่นี้ผมอยากชวนให้นึกถึงความเป็นอาณานิคมของสยามที่เกิดขึ้นในบางกอกเอง ณ ศูนย์กลางของอำนาจอาณานิคมสยามเองมีการถูกทำให้เป็นอาณานิคมอย่างไร และยังคงละทิ้งร่องรอยของความเป็นอาณานิคมสยามอย่างไรไว้บ้าง

เพื่อทำความเข้าใจเรื่องดังกล่าว ผมอยากชวนให้ลองคิดตามดิเพช จักรพาตี (Dipesh Chakrabarty) นักประวัติศาสตร์หลังอาณานิคมคนสำคัญของอินเดียในหนังสือ Provincializing Europe (ทำยุโรปให้เป็นท้องถิ่น) (พิมพ์ปี ค.ศ.2000)

จักรพาตีเห็นว่า ความเป็นยุโรปคือการสร้างความเป็นมาตรฐานสากลและพัฒนาการสังคมเส้นทางเดียวให้แก่โลกทั้งใบ ดินแดนหรือประเทศที่มิได้เดินตามเส้นทางนี้จึงถูกถือว่าเป็นดินแดนที่ล้าหลังและต้องการการพัฒนาไปตามเส้นทางเดียวกันกับยุโรปทั้งสิ้น

แต่จักรพาตีเสนอว่า ความเป็นประเทศใต้อาณานิคมอย่างอินเดียมีทั้งภาวะความก้าวหน้า มีความเป็นยุโรปอยู่ในตัว ประชาชนมีความต้องการประชาธิปไตย เรียกร้องสิทธิเสรีภาพ หากแต่ในกระบวนการนั้น ชาวอินเดียก็มิได้จำเป็นต้องละทิ้งความเป็น “ประเพณีดั้งเดิม” ของพวกเขาเอง

ลัทธิความเชื่อ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภูตผีหรือเทพยดา ก็สามารถถูกนำมาใช้ในกระบวนการของการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้เช่นกัน

การทำยุโรปให้เป็นท้องถิ่น มิใช่เพียงเป็นการทำให้ยุโรปกลายเป็นเพียงท้องถิ่นหนึ่งในโลก แต่คือการทำให้ยุโรปมีสถานะไม่ได้โดดเด่น สูงส่ง หรือเป็นศูนย์กลางและจุดสูงสุดของอำนาจและความเจริญทางศิลปวิทยาการ

เป็นการลดสถานะพิเศษของยุโรปให้มิได้เป็นจุดอ้างอิงความเจริญ

หากแต่ก็ไม่ได้เป็นการปฏิเสธหลักการความเป็นสากลต่างๆ ที่ยุโรปหยิบยื่นให้แก่โลก อันได้แก่ หลักเสรีภาพ ความเสมอภาค ความเจริญก้าวหน้า ความเป็นวิทยาศาสตร์ และสิทธิมนุษยชน ทั้งยุโรปและนอกยุโรปต่างก้าวเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ ต่างยึดมั่นในหลักการสากลเหล่านั้น

ทั้งยุโรปและความเป็นอื่นที่แตกต่างจากยุโรป ที่ดูเหมือนอยู่นอกยุโรป ต่างก็ยังคงอยู่ร่วมกัน ประเพณีดั้งเดิมและความหลากหลายของวัฒนธรรมอื่น ไม่ได้จำเป็นต้องขัดแย้งหรือเป็นอุปสรรคต่อหลักการสากลแต่อย่างใด

จักรพาตียกตัวอย่างการต่อสู้ของชาวนาและชนชั้นล่างชาวอินเดียในหลายกรณี หลายยุคสมัย ที่แสดงให้เห็นถึงการทำงานร่วมกันของทั้งหลักสากลและประเพณีดั้งเดิม ในการยกระดับคุณภาพชีวิตและอำนาจต่อรองของประชาชน

 

การทำบางกอกให้เป็นบ้านนอกของผมไม่เหมือนวิธีของจักรพาตีเสียทีเดียวก็ตรงที่ว่า จักรพาตีคิดจากชายขอบ คือคิดจากจุดยืนของคนที่เคยอยู่ใต้อาณานิคมอังกฤษก่อน แต่ผมคิดจากศูนย์กลาง คือคิดจากคนที่อยู่ใต้อาณานิคมสยามในบางกอกเอง การคิดผ่านหนังสือนี้จากคนบางกอกคือ เหมือนคิดจากคนยุโรปเอง คิดจากศูนย์กลาง เป็นการทลายความเป็นศูนย์กลางของตนเอง

ในฐานะคนบางกอก ผมมองหาความเป็นท้องถิ่นในบางกอกเอง หรือเรียกว่าจะทำบางกอกเป็นบ้านนอก จะค้นหาความบ้านนอกในบางกอก

ผมคิดถึงเรื่องนี้มากขึ้นหลังจากที่แปลหนังสือ Siamese Melting Pot (เขียนโดย Edward Van Roy พิมพ์ปี 2017) ที่ผมตั้งชื่อไทยให้ว่า ก่อร่างเป็นบางกอก จากเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ แสดงให้เห็นความเป็นบ้านนอกในบางกอกอย่างไร อาจดูได้ใน 2 ระดับ

ในส่วนของประชาชน คนบางกอกไม่รู้สึกถึงการอยู่ใต้อำนาจสยามแทบจะหมดความสำนึกถึงการถูกคุกคามถูกรุกราน แต่ย่อมรู้สึกได้ถึงการถูกกลืนกลาย การไม่เข้ากัน หรือกระทั่งความแปลกแยก “ความไม่ไทย” ของตนเอง และนั่นอาจเป็นส่วนหนึ่งของการที่ยิ่งต้องลดทอนตนเอง กลบเกลื่อน หลงลืมตนเอง

ในส่วนของผู้มีอำนาจ ผมนึกถึงความกระจัดกระจายของที่มาของอำนาจของบางกอก ซึ่งจะทำให้เห็นว่า

บางกอกมันสร้างมาจากที่มาอันหลากหลาย ไม่ได้เป็นเอกภาพ บางกอกในตัวของมันเองเป็นโครงการที่ไม่มีวันสิ้นสุดในอันที่จะสร้างเอกภาพ ความเป็นปึกแผ่น แต่ความพยายามนั้นก็ไม่ใช่ว่าจะเสร็จสิ้นสมบูรณ์เบ็ดเสร็จได้

ผมจึงนึกถึงวิธีทำให้บางกอกเป็นบ้านนอกได้ 2 แบบ

หนึ่งคือ ทำให้คนบางกอกสงสัยว่า ใครคือคนบางกอก พร้อมกับสงสัยว่า มีใครเป็นคนบางกอกมากกว่าใครหรือไม่

สองคือ ทำให้คนในบางกอกสำนึกถึงการตกเป็นอาณานิคมสยาม และจึงมีอะไรร่วมกับคนนอกบางกอกที่ก็ตกเป็นอาณานิคมสยามกันถ้วนหน้าไปหมด

ใครคือคนบางกอก ดูได้จากประชากรบางกอกว่ามาจากไหนกันบ้าง ในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ บางกอกสร้างขึ้นมาจากการรวบรวมผู้คนหลากหลายกลุ่มชน จากทุกสารทิศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผมจะลองเล่าแค่บางกลุ่มให้ฟัง

คนโปรตุเกส อยู่บางกอกตั้งแต่สมัยอยุธยา กลุ่มต่อมาย้ายจากอยุธยาหลังอยุธยาล่ม พวกเขามากับพระเจ้าตาก อีกกลุ่มแยกจากกลุ่มที่สองไปอยู่ต้นสำโรง หรือที่เรียกว่าตลาดน้อยในปัจจุบัน

คนลาว อุปราชลาวเวียงจันทน์ อยู่ที่บางกอกทุกคน ลูกหรือน้องสาวเจ้าลาวก็ดองกับพระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรีแทบทั้งนั้น เช่น เจ้านางทองสุข พระธิดาของพระเจ้าอินทวงศ์ ได้ประสูติบุตรแด่รัชกาลที่ 1 ชื่อเจ้านางกุณฑลทิพยวดี พระนางถูกเลี้ยงดูอย่างดีเพื่อให้เป็นพระราชินีในรัชกาลที่ 2 ซึ่งเป็นพระเชษฐาต่างมารดาของพระองค์เอง ยังมีเจ้านางลาวอีกหลายพระองค์รวมทั้งลูกสาวหลานสาวของเจ้าอนุวงศ์ ที่เป็นเจ้าจอมในรัชกาลที่ 3 และ 4

คนเวียดนาม รุ่นหมากเทียนตื๋อที่อพยพมาหลังเมืองห่าเตียนล่มสมัยพระเจ้าตาก คนเวียดนามคนหนึ่งที่อพยพมารุ่นนั้น ภายหลังได้เป็นเจ้าจอมจุ้ยในรัชกาลที่ 1 ให้กำเนิดลูกชายคือ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ซึ่งเป็นพระสังฆราชองค์แรก รุ่นที่รัชกาลที่ 3 กวาดต้อนมาแล้วไปอยู่ 2 แห่ง วัดญวนสะพานขาวกับโบสถ์ที่สามเสน รุ่นองเชียงสือปฐมกษัตริย์ราชวงศ์เหงียนของเว้ ที่มาอยู่ต้นสำโรงแถววัดสำเพ็ง แล้วถูกย้ายไปวัดญวนบางโพ และรุ่นหลังสุดคือพระญวนในวัดจีน 7-8 แห่งในสำเพ็งปัจจุบัน

นี่ยังไม่นับคนจีน คนมอญ คนมุสลิมมากมายหลายกลุ่ม (ทั้งจากจามปา ปัตตานี อินเดีย อิหร่าน) คนเขมร รวมทั้งคนฝรั่ง ที่แม้ว่าจะมีประชากรไม่มากนัก แต่ด้วยอิทธิพลของพวกฝรั่งในบางกอก แวนรอยผู้เขียนหนังสือ Siamese Melting Pot พบว่า มีบันทึกเกี่ยวกับฝรั่งไว้มากยิ่งกว่าเรื่องเกี่ยวกับคนลาวกลุ่มต่างๆ ที่เป็นคนแทบจะส่วนใหญ่ในบางกอกก่อนคนจีนด้วยซ้ำ

พูดง่ายๆ คือ บางกอกในฐานะที่เป็นพื้นที่สั่งสมกำลังอำนาจของชนชั้นนำกรุงเทพฯ สร้างมาจากการรวบรวมสรรพกำลังทั้งแรงงานมีฝีมือและแรงงานไร้ฝีมือ รวมทั้งเครือข่ายอำนาจของชนชั้นนำ ที่มาจากแทบจะทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ในแง่หนึ่ง อำนาจบางกอกมันอาจจะไม่ได้มาจากการที่คนกลุ่มน้อยกลุ่มหนึ่งที่เป็น “ชาวกรุงเทพฯ” มามีอำนาจเหนือดินแดนอื่นๆ ทั่วทั้งประเทศไทยปัจจุบัน มันไม่ได้เป็นเช่นนั้น

อย่างมากเราอาจกล่าวได้แค่ว่า อำนาจกรุงเทพฯ มันก่อตัวขึ้นมาจากคนบางคนไม่กี่คนที่ประสานสรรพกำลังต่างๆ และอุดมการณ์ต่างๆ จัดการให้เกิดขึ้นมา

 

วิธีการผนวกรวมลดความเป็นอื่นในบางกอกนั้น มีหลายกลไกหลายอย่างมาก เช่น

– เปลี่ยนอำนาจการบริหารกลุ่มคนย่อยๆ ในบางกอก จากให้ผู้นำของตนเองปกครอง (เช่น จีนคนละกลุ่มปกครองกันเองผ่านสมาคม มอญปกครองกันเอง)

– ยกเลิกกองกำลังของชาติพันธุ์ กรมอาสาจาม กรมอาสาจาม อาสามอญ ย้ายเข้าไปอยู่ในกลาโหมทั้งหมด

– จากแบ่งกรมท่าซ้ายขวา ยกเลิก เปลี่ยนเป็น กระทรวงต่างประเทศและการค้าระหว่างประเทศ

– จากเดิมให้ดินแดนด้านเหนือของวังหน้าเป็นของวังหน้า (ภายหลังเลิกวังหน้า) ให้ทั้งหมดอยู่ใต้มหาดไทย

– การทำให้ภาษีรายได้มีมาตรฐานเดียวกัน (คนจีนเดิมไม่ต้องเสีย หรือเสียน้อยกว่า จึงต้องเสีย)

– ค่อยๆ ลดเลิกนิกายใหญ่ๆ คือรามัญนิกาย ยังมีอนัมนิกาย จีนนิกายยังอยู่

– การแปลงคนลาวให้เป็นไทย เพื่อลดโอกาสที่คนไปอยู่ใต้สิทธิสภาพนอกอาณาเขต

พูดอีกอย่างคือ คนในบางกอกถูกทำให้เป็นอาณานิคมเช่นกัน มีการ consolidate อำนาจ มีการ annex พื้นที่และอำนาจไม่น้อยไปกว่าต้องจัดการอำนาจและพื้นที่นอกบางกอกเช่นกัน

และดังนั้น กบฏ ในบางกอกยุคนั้นจึงมีไม่น้อยไปกว่าการต่อต้านจากอีสาน เหนือ และมุสลิมทางใต้เช่นกัน เช่น การต่อต้านของพวกอั้งยี่ การต่อต้านการเก็บภาษีของชาวจีน

หรือกระทั่งการคงความแตกต่างไว้อย่างเงียบๆ ของชุมชนต่างๆ ในบางกอก ที่เรายังเห็นได้อยู่ในมัสยิด วัดจีน โบสถ์คริสต์ และวัดญวน

แต่ในระดับประชาชน ไม่แน่ใจว่าความรู้สึกร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเจ้ากรุงเทพฯ ในการเป็นเจ้าอาณานิคมเหนือดินแดนอื่นมันมีหรือไม่ หรือหากมี มันเกิดขึ้นเมื่อไหร่

สำนึกอีกแบบคือ การสำนึกถึงการอยู่ใต้อำนาจ จำยอมต้องอยู่ใต้อำนาจอาณานิคม เพราะแน่นอนว่าอยู่ใต้อำนาจตั้งแต่ถูกกวาดต้อนมา หรือหลบเข้ามาอยู่ใต้อำนาจสยาม ในแง่นี้ คนบางกอกทั้งเป็นอื่นและเป็นอื่นในแบบ (จำ) ยอมรับอำนาจ

ขอ note ไว้หน่อยว่า ความย้อนแย้งกันระว่างระบบมณฑลและการลดทอนระบบมณฑลเอง ในยุคที่เกิดการรวบอำนาจรวมศูนย์มากขึ้นในเชิงอำนาจดิบ มันสวนทางกัน หรือเทคโนโลยีอำนาจแบบประเพณีที่วางบนความศักดิ์สิทธิ์ มันถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีอำนาจแบบรัฐราชการรวมศูนย์ที่อาจไม่ต้องใช้ความศักดิ์สิทธิ์ หรือมันสร้างความศักดิ์สิทธิ์แบบใหม่ขึ้นมา อันนี้ไม่แน่ใจ

 

สรุป

ผมสงสัยตัวเองมาตลอดว่าเป็นคนที่ไหน เวลาคนมาถามว่าผมเป็นคนที่ไหน จะให้ตอบว่าคนกรุงเทพฯ ก็ไม่สะดวกปาก จะบอกตามบ้านพ่อที่มาจากนครศรีธรรมราช แต่แม่ผมก็เป็นคนอยุธยา ทั้งบ้านพ่อและบ้านแม่อยู่นอกหรือที่จริงไกลจากตัวเมืองทั้งสองจังหวัดจนเรียกไม่ได้ว่าเป็นคนอยุธยาหรือคนนครฯ อย่างเต็มปาก

คนที่อยู่ในกรุงเทพฯ ในปัจจุบันส่วนใหญ่น่าจะไม่ต่างจากผมนัก และยิ่งย้อนกลับไปสัก 100 ปี ที่ประชากร กทม. เกิน 50% เป็นคนจีนที่ก็มีอีกหลายจีน ความเป็นคนที่ไหนจึงมีความกำกวมในตัวมันสูง

ความเป็นบ้านนอกของบางกอกจะเป็นอย่างไรต่อไป หรือบางกอกที่จริงแล้วมีหน่ออ่อนของการรื้อสร้างอาณานิคมบางกอกเองอย่างไร กระบวนการเป็นบ้านนอกของบางกอกต่อไปจะเป็นอย่างไร ความเป็นอื่นที่จะค่อยๆ ลดทอนอำนาจบางกอกจะเป็นอย่างไรต่อไป

ยิ่งตอนนี้เรามีความเป็นอื่นใหม่ๆ เกิดขึ้นมาตลอดอยู่เสมอ ทำไมเราจะมองไม่เห็นว่ามีความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่จะท้าทายอำนาจนำของบางกอกกันในยุคปัจจุบันและอนาคตต่อไป