น้ำมันระกำ มาจากไหน?

นํ้ามันระกำ เป็นตัวยาที่พบเห็นได้บ่อยในตำรับยาที่ใช้ทาถู แก้เคล็ด ขัด ยอก หรือปวดเมื่อย ใครที่ได้ยินและเข้าใจว่าน้ำมันระกำนี้ผลิตหรือได้จากต้นระกำก็โปรดเข้าใจใหม่ เพราะน้ำมันระกำไม่ได้เกี่ยวข้องกับต้นระกำแต่อย่างใด

จากเอกสารของพระยาสีหศักดิ์สนิทวงศ์ (ม.ร.ว.ถัด ชุมสาย) พิมพ์แจกเป็นญาติพลี ในปี พ.ศ.2475 กล่าวไว้ว่า

“น้ำมันระกำมีเข้ามาแพร่หลายในเมืองไทยเมื่อตอนใกล้สิ้นรัชกาลที่ 5 โดยนายแพทย์ไรเตอร์ได้เป็นผู้เริ่มนำเข้ามาใช้ ใช้เป็นยาทาแก้พระโรครูมาติซซ่ำ (ที่เรียกว่าลอขัดข้อ) จากนั้นก็มีการใช้กันแพร่หลายทั่วไป โดยนายแพทย์ไรเตอร์ไม่ยอมบอกว่าเป็นน้ำมันอะไร”

แต่เนื่องจากน้ำมันชนิดนี้มีกลิ่นเหมือนดอกระกำ จึงพากันเรียกว่า “น้ำมันระกำ” ที่จริงแล้วน้ำมันระกำเป็นน้ำมันที่กลั่นมาจากต้นวินเทอร์กรีน และเปลือกต้นไม้ในสกุลบีทูล่า

จากการศึกษาพบว่าน้ำมันระกำส่วนใหญ่กลั่นมาจากต้นวินเทอร์กรีน (wintergreen) หรือมีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษอื่นๆ ว่า eastern teaberry, the checkerberry, the boxberry, or the American wintergreen มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Gaultheria procumbens L. มีถิ่นกำเนิดในตอนกลางและตะวันออกของแคนาดาไปจนถึงตอนเหนือและตะวันออกของอเมริกา

ต้นวินเทอร์กรีนเป็นไม้พุ่มที่มีอายุได้หลายปี เจริญได้ดีในเขตอบอุ่น ทนร่มได้ดีมาก ในธรรมชาติพบได้ในป่าไม้ที่มีร่มเงามาก ใบมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ผลมีสีแดงจัด เป็นอาหารอย่างดีของนกและสัตว์อื่นๆ

 

ต้นวินเทอร์กรีน หรือ Gaultheria procumbens L. ไม่มีในประเทศไทย

แต่ถ้าเป็นพืชที่อยู่ในสกุลเดียวกันนี้คือ สกุลบีทูล่า มีรายงานว่าพบในประเทศไทยอยู่ 3 ชนิด คือ Gaultheria discolor Nutt. ex Hook. มีชื่อไทยว่า “พวงไข่มุก” Gaultheria leucocarpa var. crenulata (Kurz) T.Z.Hsu มีชื่อไทยว่า “ช้ามะยมดอย” และ Gaultheria notabilis J.Anthony มีชื่อไทยว่า “พวงไข่มุก” เช่นกัน

พวงไข่มุกทั้ง 2 ชนิด ในประเทศไทยมีรายงานว่าพบเฉพาะทางภาคเหนือ เนื่องจากเป็นพืชที่พบได้บนภูเขาสูง ประกอบกับจำนวนประชากรมีไม่มากนัก จึงยังไม่มีการศึกษาในเชิงลึก

ส่วนช้ามะยมดอย (Gaultheria leucocarpa Blume) มีพบในประเทศจีนด้วย จึงมีข้อมูลของสมุนไพรชนิดนี้จากการศึกษาของจีนพอสมควร

จากการศึกษาทางด้านพฤกษศาสตร์พบว่าสมุนไพรชนิดนี้มี 2 วาไรตี้ คือ Gaultheria leucocarpa var. crenulata (Kurz) T.Z.Hsu และ Gaultheria leucocarpa var. yunnanensis (Franch.) T.Z.Hsu & R.C.Fang

ซึ่งประเทศจีนรายงานว่า ชนิดที่เอามาผลิตน้ำมันระกำ คือ Gaultheria leucocarpa var. yunnanensis (Franch.) T.Z.Hsu & R.C.Fang ที่พบมากในประเทศจีนนั่นเอง

เมื่อข้อมูลเชิงลึกไม่ค่อยมีในประเทศไทย ก็ดูจากรายงานของฐานข้อมูลของ Useful Tropical Plants (https://tropical.theferns.info/) รายงานว่า ผลของสมุนไพรชนิดนี้กินได้ทั้งในรูปผลสดหรือนำมาประกอบอาหาร

ส่วนของใบนำมาสกัดน้ำมันระกำได้ น้ำมันระกำเป็นน้ำมันที่มีกลิ่นหอมหวาน จึงนิยมใช้แต่งกลิ่นยา อาหาร เครื่องดื่ม ลูกกวาด หมากฝรั่ง และยาสีฟัน ใบนำมาหมักใช้ชงชาดื่มด้วย

ส่วนของเหง้านำมาต้มดื่มแก้ลิ่มเลือดอุดตัน กระตุ้นการไหลเวียนโลหิต เสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรงและซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่สึกหรอ ใช้ในการรักษาโรคตับแข็ง อาการท้องมาน การฟกช้ำ โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ และปวดตามข้อและหลัง เมื่อเจ็บที่หน้าอกใช้ใบตำให้แหลกแล้วนำมาพอกที่หน้าอก

ในบางพื้นที่นำใบมาต้มดื่มก่อนและหลังคลอดบุตร เพื่อป้องกันความผิดปกติที่จะเกิดจากการคลอดบุตร นอกจากนี้ ใบยังใช้เป็นยาแก้ไอ วัณโรค ไข้และอาการเจ็บปวดต่างๆ

การศึกษายังพบว่าสารที่สกัดได้จากพืชชนิดนี้ คือ กรดซาลิไซลิก (salicylic acid) หรืออยู่ในรูปของเมทิลซาลิไซเลต (methyl salicylate) ร้อยละ 96 ซึ่งใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตแอสไพริน ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่ามีฤทธิ์ระงับอาการปวดและต้านการอักเสบ

แต่ในปัจจุบันวิทยาการก้าวหน้าเราสามารถสังเคราะห์เมทิลซาลิไซเลตได้ และมีราคาที่ถูกกว่าสกัดจากพืช จึงมีการใช้สารสังเคราะห์แทนมากกว่าการใช้สารสกัดจากสมุนไพรธรรมชาติ

ในอดีตนอกจากจะสกัดน้ำมันระกำได้จากสมุนไพรในกลุ่มพวงไข่มุกแล้ว ยังสามารถสกัดจากเปลือกของพืชในสกุลกำลังเสือโคร่งได้ด้วย พืชสมุนไพรที่นำมาสกัดน้ำมันระกำคือชนิดเรียกชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Betula lenta L. ซึ่งมีถิ่นกำเนิดในตะวันออกของแคนาดาและอเมริกา สมุนไพรชนิดนี้ไม่พบในประเทศไทยเช่นกัน

 

กล่าวสรุปได้ว่า น้ำมันระกำ เป็นน้ำมันที่กลั่นได้จากสมุนไพรในสกุลพวงไข่มุก (Gaultheria sp.) และสกุลกำลังเสือโคร่ง (ชนิด Betula lenta L.) ไม่ใช่จากดอกระกำ สารสำคัญที่สกัดได้จากสมุนไพรในกลุ่มนี้คือ เมทิลซาลิไซเลต (methyl salicylate) ซึ่งในปัจจุบันสามารถสังเคราะห์ได้ในห้องปฏิบัติการ ทำให้บทบาทของพืชในกลุ่มนี้ลดลงอย่างมาก

แต่ในความเป็นจริงแล้วสารสกัดจากสมุนไพรในกลุ่มนี้อาจมีสารอื่นๆ ที่สามารถทำงานร่วมกับสารประกอบหลักก็เป็นได้

ยิ่งดูจากภูมิปัญญาของคนพื้นเมืองหรือการใช้ตามภูมิปัญญาการแพทย์ดั้งเดิม ที่มีการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และสุขภาพต่างๆ โดยเฉพาะแก้อาการเจ็บปวดได้ จึงน่าสนใจที่จะศึกษาสมุนไพรในกลุ่มนี้ให้ลึกซึ้ง

และพวงไข่มุกทั้ง 2 ชนิด ในประเทศไทยก็ควรอนุรักษ์สายพันธุ์และทำการศึกษาวิจัยค้นคว้าต่อไปด้วย •

 

สมุนไพรเพื่อสุขภาพ | โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง

มูลนิธิสุขภาพไทย  www.thaihof.org