อยากคง ‘ความรักชาติ’ ไว้ ‘ชั่วฟ้าดินสลาย’ ต้อง(ไม่)ใช้อะไรเป็นเครื่องมือสื่อสาร

ประกิต กอบกิจวัฒนา

ในฐานะคนทำโฆษณา ผมรู้สึกยินดีมากที่ได้มีโอกาสร่วมเสวนาหัวข้อ “ชีวิตของวัยรุ่นไทยที่เติบโตมากับเพลงหนักแผ่นดิน” เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน จัดโดยโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา ซึ่งเวทีนี้เป็นส่วนหนึ่งของงาน นิทรรศการ 6 ตุลา เผชิญหน้าปิศาจ โดยทางผู้จัดได้ตั้งประเด็นของการเสวนาไว้ว่าเป็นการแลกเปลี่ยนในเรื่องที่เกี่ยวกับปรากฏการณ์ “ตาสว่าง” ของวัยรุ่นเดือนตุลา

หลังจากการร่วมเวทีเสวนา ทำให้ผมมานั่งย้อนทบทวนถึงสื่อที่นิยมใช้กันและมีอิทธิพลจนทำให้คนส่วนใหญ่ของประเทศ “ลืม” ตั้งคำถามเพื่อหาความจริงจากเหตุการณ์ที่รุนแรงป่าเถื่อนขนาดนั้นว่ามันมีอะไรบ้าง

และถ้าคิดจะนำมาใช้สร้างแบรนด์ “รักชาติ” ต้องทำอย่างไร

ใช้ “หนักแผ่นดิน” ยัดใส่หูคนไทย
ระวังถูกใส่ #เอาเพลงนี้ออกจากหัวกูเหอะ

เพลง “หนักแผ่นดิน” แต่งมาตั้งแต่ปี 2518 เพื่อใช้เป็นสื่อจูงใจให้คนไทยเพิ่มความเข้มข้นของเลือดรักชาติในตัว และร่วมกันต่อสู้กับขบวนการคอมมิวนิสต์ ซึ่งแน่นอนในสมัยนั้นมีอยู่จริง

ปี พ.ศ.2562 พรรคคอมมิวนิสต์ไม่มีแล้วในแผ่นดินไทย แต่ผู้นำกองทัพตอนนั้นก็ (กล้า) ออกคำสั่ง (แล้วก็เปลี่ยนใจยกเลิกไปในวันเดียวกันกับที่ออกคำสั่ง) ให้ทหารไทยทุกกรมกองได้ฟังเพลง “หนักแผ่นดิน” ในบรรยากาศก่อนการเลือกตั้งปี 2562 เนื่องจากพรรคเพื่อไทยหาเสียงโดยประกาศนโยบายปฏิรูปกองทัพให้มีทหารอาชีพ และลดงบประมาณการจัดซื้ออาวุธ

การประกาศให้เปิดเพลง “หนักแผ่นดิน” ของผู้นำกองทัพในปี 2562 แถมด้วยความเห็นจากบุคคลเช่น ม.จ.จุลเจิม ยุคล ที่โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวพร้อมเพลง “หนักแผ่นดิน” ว่า “มิได้จะพูดถึงเรื่องการเมืองแต่อย่างใด มิได้ชี้นำแต่อย่างใด แค่จะบอกว่าเพลงนี้ แต่งมาสี่สิบกว่าปีแล้ว (ลูกหลานบางคนยังไม่เกิด) ร้องกันมาหลายเวอร์ชั่น แต่พอได้ยินอีกครั้ง ทำไมเนื้อร้องช่างเข้ายุคเข้าสมัยกับปัจจุบันจังเลย”

สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าในกลุ่มคนที่ยึดกุมความคิดเห็นของตนว่าเป็นความคิดที่ถูกต้อง และต้องคิดแบบตนเองเท่านั้นจึงจะนับญาติว่า “เป็นคนไทย” ซึ่งเรามักเรียกคนพวกนี้ให้อยู่รวมๆ กันว่า “สลิ่ม” ยังเชื่อมั่นในวิธีการแบ่งผู้คนให้แตกแยกด้วยคำโฆษณาชวนเชื่อที่ถูกร้อยเป็นทำนองจนเข้าหูอย่างจงใจ อันเป็นผลจากการกระหน่ำเปิดซ้ำๆ เหมือนที่วาสนา นาน่วม ได้ทวีตถึงปรากฏการณ์การนำเพลง “หนักแผ่นดิน” กลับมาเปิดอีกครั้งเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2019

แต่ยุคนี้ไม่ใช่ปี 2519 เมื่อมีคนชูธงอยากนำเพลง “หนักแผ่นดิน” กลับมาเป็นเครื่องมือเพราะคิดว่าจะทำให้ผู้คนในสังคมชี้นิ้วไปยังกลุ่มคนที่ออกมาขัดผลประโยชน์ของตนว่าเป็น “คนใดขายตนขายชาติ ได้โอกาสชี้ทางให้ศัตรู”

กลายเป็นว่ามีคนทำเพลง “หนักแผ่นดิน 2019” ออกมาเผยแพร่ทั้งเพลงแร็ปที่แต่งใหม่กับเพลงที่ยังคงทำนองเดียวกับต้นฉบับ แต่แปลงเนื้อเพลงให้กลายเป็นเนื้อหาที่ตรงข้ามกับเพลงเดิมไป เช่น “คนใดขายชาติให้คนอื่นชาติเดียวกัน พวกมึงยืนข่มเหง”

ในฐานะครีเอทีฟขออนุญาตแนะนำผู้ที่เชื่อว่าตนเองมีอิทธิพลทางความคิด สามารถจูงจมูกคนส่วนใหญ่ให้เชื่อตามท่านว่า จงอย่านำเพลงชุด “หนักแผ่นดิน” มาใช้สื่อสารกับคนรุ่นใหม่ที่เติบโตมากับอินเตอร์เน็ตและมือถือที่มักได้ใช้โปรโมชั่นกันแบบเป็นแพ็กเกจ เพราะจะยิ่งทำให้ #หนักแผ่นดิน ขึ้นเทรนด์ติดอันดับ แต่ในทางไหน ก็กลับไปไล่หาอ่านกันดูเอง

ย้าก…อยากให้คนรักชาติจับใจ
ต้องใส่เนื้อหาเนียนๆ เหมือน “สี่แผ่นดิน”

อีกหนึ่งเครื่องมือที่รัฐมักนำมาใช้กันบ่อยมากเพื่อปลุกใจคนให้รักชาติ คือ ละครและภาพยนตร์

ผมถามหลายคนว่าคิดถึงหนังหรือละครเรื่องไหนที่ดูแล้วรู้สึก “รักชาติขึ้นมาจับใจ” คนไทยวัยเจน X พากันตอบเป็นเสียงเดียวว่าละคร “สี่แผ่นดิน”

ความสงสัยที่ชวนให้ผมต้องนั่งคิดถึงสื่อประเภทละครและหนังกับความ “รักชาติ” ก็คือ ทำไม “สี่แผ่นดิน” ถึงจับใจคนดูมากกว่า “ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช”

ผมไม่คิดว่าละคร “บุพเพสันนิวาส” ทำงานด้านความคิดเรื่องความเป็นไทย นอกจากเห่อแต่งชุดไทยแบบเดียวกับตัวละคร แล้วก็ไปเดินถ่ายรูปตามโลเกชั่น อารมณ์ก็น่าจะเหมือนแฟนคลับซีรีส์เกาหลีที่ไปเดินตามรอยกองถ่ายละครเรื่องโปรดของตัวเอง

แต่กับ “สี่แผ่นดิน” ที่ถูกหยิบมาสร้างเป็นละครทีวีถึง 5 ครั้ง และละครเวที 2 ครั้ง รวมทั้งละครวิทยุ ผมคิดว่าเป็นเพราะเนื้อหาที่ยึดโยงเรื่องราวที่เกิดในรั้วในวัง ไล่มาจนถึงช่วงเปลี่ยนผ่านระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นประชาธิปไตยโดยคณะราษฎรสะท้อนภาพการแบ่งขั้วแบ่งฝ่ายของสังคมไทยอย่างชัดเจน

จนคนจำนวนมากฝังใจจำว่า ระบอบการปกครองที่คณะราษฎรนำเข้ามานั้นเป็นของเลว ทั้งที่ไทยมีของดีอยู่แล้วคือระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

“ชั่วฟ้าดินสลาย” นิทรรศการศิลปะ
บอกวิธีทำให้เชื่อ(ง) ว่าต้องสื่อสารด้วย “ภาษาเดียวกัน”

ขออ้างถึงงานนิทรรศการเดี่ยว “ชั่วฟ้าดินสลาย” ของ ตะวัน วัตุยา ที่ X space Gallery ที่ทำให้เห็นว่ายังมีวิธีการแสดงออกถึงการโฆษณาชวนเชื่อที่ไม่ได้ผลิตโดยรัฐ แต่ประชาชนก็ทำได้เช่นกัน

ในนิทรรศการครั้งนี้ ตะวันแสดงให้เห็นความสำเร็จและความล้มเหลวของโฆษณาชวนเชื่อผ่านสภาพแวดล้อมและถ้อยคำ

เขาเล่าถึงเบื้องหลังการทำงานศิลปะชุดนี้ไว้ในนิตยสารสารคดี สัมภาษณ์โดยคุณสุชาดา ลิมป์ ผมขอตัดบางช่วงมาไว้ในที่นี้เพื่อให้เห็นถึงการสื่อสารความคิดในเรื่องการโฆษณาชวนเชื่อของศิลปิน

การแสดงงานครั้งนี้ ตะวันแบ่งห้องจัดแสดงเป็นสองฝั่งโดยใช้ ‘กำแพง’ กั้นกลางเป็นสัญลักษณ์เพื่อเล่าเรื่อง ‘กำแพงของคนไทย’ ที่เปลี่ยนกันไม่ได้” สื่อความคิดว่าเวลานี้บ้านเมืองมีแต่เรื่องห้ามพูด กระทั่งเรื่องควรแลกเปลี่ยนก็กลับไม่สามารถคุยกันได้ ในที่สุดก็ต้องต่างคนต่างอยู่หรือตายไปข้าง

เขาให้ความสนใจเป็นพิเศษกับ “ภาษา” ที่ใช้ในยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งสานต่อภารกิจสร้างชาติมาจากจอมพล ป.พิบูลสงคราม เพราะสำหรับเขา “ภาษาคืออาวุธที่ทรงพลัง”

กำแพงฝั่งที่สีสว่างไสวเป็นตัวแทนของ “เสรีภาพ” จึงประกอบด้วยภาพที่สื่อถึงสังคมด้านดีงาม มีวาทกรรมฮิตอย่าง ‘ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป’ โปสเตอร์บนกำแพงตั้งใจวางในระดับสายตา สื่อถึงบ้านเมืองยุคสงครามเย็นที่ไปไหนมาไหนก็พบเห็นข่าวสารโดยง่าย มีชีวิตโก้เก๋ภายใต้การเดินตามผู้นำที่ขยันจัดระเบียบคนในประเทศ

แต่วิธีโฆษณาชวนเชื่อไม่ถูกจำกัดเพียงการใช้งานโดยรัฐ ทั้งรูปและคำบนโปสเตอร์ที่ติดตามท้องถนนกลายเป็นอาวุธสำคัญที่นักศึกษาและปัญญาชนหัวก้าวหน้าก็ใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารกับมวลชนเพื่อปลุกใจ เรียกร้อง ต่อต้าน เผยความไม่ชอบธรรมของรัฐที่เกิดขึ้นแบบซุกซ่อน โดยตะวันบอกว่า “ผมคุมโทนกำแพงฝั่งที่เป็นภาพสะท้อนฝ่าย ‘คอมมิวนิสต์’ ด้วยเฉดขาวดำสื่อถึงความจริงอีกด้านที่สวนทาง”

การถ่ายทอดวัฒนธรรมคลั่งชาติและการเวียนว่ายตายเกิดของผู้มีอำนาจกับผู้ที่ถูกบังคับให้อยู่ใต้อำนาจอย่างไม่มีวันหลุดพ้นดั่งนรกอเวจี เส้นทางที่ไม่สิ้นสุด ตลอดความยาวของกำแพงฝั่งคอมมิวนิสต์จึงวนเวียนไปด้วยบรรยากาศของผีร้ายตามหลอกหลอนที่ตะวันรับแรงบันดาลใจมาจากรูปปั้นผีในท่าต่างๆ ที่เขานำมาจากการ์ตูนเล่มละบาท

ในส่วนของกราฟิตี้นั้น “ถ้าอยากรู้ว่าศิลปินคิดอะไรให้ดูที่รูปแบบงานของเขา อย่างกราฟิตี้ถ้าทำออกมาใสๆ เรารักกันเถิด อย่าทะเลาะกันเลย ไม่มีเนื้อหาต่อต้านอะไร ก็อย่าเรียกกราฟิตี้ มันปลอม” ตะวันบอกไว้อย่างนั้น

ความรู้สึกของผมหลังอ่านเบื้องหลังความคิดของนิทรรศการนี้คือ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใด หากคุณต้องการได้คนในสังคมมาเป็น “พวกเดียวกัน” การใช้ “ภาษา” ทั้งในเพลง ละคร โปสเตอร์ แม้กระทั่งคำที่ถูกพ่นบนกำแพง ทั้งหมดนี้จะ “ทำงาน ทำงาน ทำงาน” ได้ ต้องถูกเลือกใช้เพื่อสร้างความรู้สึกร่วมให้เกิดขึ้นกับคนในชาติอย่างแนบเนียนให้มากขึ้นกว่าเดิมอีกหลายเท่าสำหรับยุคนี้ •