เทศมองไทย : เมื่อนักข่าวฝรั่ง เข้าเฝ้าฯ ในหลวง ร.9

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เคยพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ผู้สื่อข่าวและตัวแทนของสำนักข่าวต่างประเทศ เข้าเฝ้าฯ อยู่เป็นครั้งคราว ต่างกาล ต่างวาระกัน ไม่ว่าจะเป็นการพระราชทานสัมภาษณ์ต่อสถานีโทรทัศน์บีบีซีของอังกฤษ, เดอะ ฟาร์อีสเทิร์น อีโคโนมิก รีวิว, เลอ ฟิกาโร รวมทั้ง นิวยอร์ก ไทมส์

นอกจากนั้น ยังได้พระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้สื่อหลายสำนักเดินทางโดยเสด็จฯ ระหว่างทรงตรวจเยี่ยมและพระราชทานคำแนะนำต่อโครงการหลวง, โครงการในพระราชดำริ หรือสถานที่อีกหลายแห่งทั่วราชอาณาจักรอีกมากครั้ง

แต่การเข้าเฝ้าฯ ในหลวง ร.9 ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต เมื่อ 21 เมษายน 2008 นั้นแตกต่างออกไป

 

บ่ายวันนั้นพระองค์พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ตัวแทน 9 คนของสโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (เอฟซีซีที) เข้าเฝ้าฯ เป็นการส่วนพระองค์ วัตถุประสงค์ของผู้สื่อข่าวต่างประเทศทั้ง 9 ก็เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายหนังสือ “เดอะ คิง ออฟ ไทยแลนด์ อิน เวิร์ลด์ โฟกัส” ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 ซึ่งหนาขึ้นกว่าฉบับพิมพ์ครั้งแรกในปี 1988 เป็น 3 เท่า

ต่างออกไปจากเดิม ไม่เพียงเพราะเป็นการเข้าเฝ้าฯ ส่วนพระองค์เท่านั้น ยังเป็นเพราะทรงมีรับสั่งกับทุกคนอย่างไม่ถือพระองค์ ทรงตอบทุกคำถาม ไม่เพียงเท่านั้นยังทรงชวนทั้งหมดคุยในหลายๆ เรื่องอีกด้วย ระยะเวลาที่เดิมพระราชทานไว้ยืดยาวออกไปอย่างรวดเร็ว ลงเอยแล้วนานถึง 135 นาที

เป็น 135 นาทีที่ไม่มีการบันทึกเทป ไม่มีการจด และไม่มีสมุดโน้ต ทุกคนทำได้เพียงช่วยกันจำและแลกเปลี่ยนสิ่งที่จดจำบางช่วงบางตอนซึ่งกันและกันในภายหลังเท่าที่สามารถจะจำได้

 

โดมินิก ฟอลเดอร์ ผู้ช่วยบรรณาธิการ นิกเกอิ เอเชี่ยน รีวิว ในเวลานี้ คือหนึ่งใน 9 ผู้สื่อข่าวตัวแทนในครั้งนั้น เขาหยิบเรื่องราวในบ่ายวันนั้นมาหวนรำลึกไว้เมื่อ 25 ตุลาคมที่ผ่านมาผ่านนิตยสารฉบับนี้ เนื่องในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในหลวง ร.9 ที่พสกนิกรเรือนล้านร่วมส่งเสด็จพระองค์สู่สรวงสวรรค์

ในหลวง ร.9 ในฉลองพระองค์สูทสีเข้ม ประทับยืน ยื่นพระหัตถ์สัมผัสมือเป็นรายคน เครื่องดื่มประกอบการสนทนาในวันนั้นคือชาพระราชทานรสดี เสิร์ฟยังท้องพระโรงที่ประดับตกแต่งเรียบๆ พอประมาณ ที่นับว่าน้อยไปด้วยซ้ำสำหรับ “มาตรฐานของกรุงเทพฯ” ในความรู้สึกของฟอลเดอร์ ผนังมีภาพถ่ายของบรรดาบุคคลสำคัญทั้งหลายที่เคยมาเยือน

ฟอลเดอร์เล่าว่า ทรงโปรดหนังสือที่ทูลเกล้าฯ ถวาย ซึ่งรวบรวมทุกอย่างเกี่ยวกับพระองค์ไว้ รวมทั้งพระสูติบัตร ที่ประทับตรา “เครือรัฐแห่งแมสซาชูเซตส์” ทรงกล่าวขอบคุณและรับสั่งว่า

“นี่จะแสดงให้ใครๆ เห็นว่าเราพยายามทำอะไรมาบ้าง”

พระองค์ตรัสเป็นภาษาอังกฤษ หนึ่งใน “อย่างน้อย 4 ภาษา” ที่ทรงสามารถใช้อย่างคล่องแคล่ว ทรงมีรับสั่งอย่างลื่นไหล ไม่เคยติดขัด ต้องค้นหาถ้อยคำสำหรับทรงบอกเล่ากระแสความคิดของพระองค์

ฟอลเดอร์บอกว่า พระบรมมหาราชวังมีพื้นที่มากพอที่จะบรรลุสนามกอล์ฟ 18 หลุมได้ และบอกด้วยว่า กอล์ฟเป็นกีฬาซึ่งไม่ทรงโปรด ด้วยเหตุที่ว่าสนามแข่งขันก่อให้เกิดภาระต่อสภาพแวดล้อมและสิ้นเปลืองน้ำจากแหล่งน้ำ

ทรงมีรับสั่งว่า “ฉันเป็นศัตรูของสนามกอล์ฟ” แต่เสริมด้วยว่า ไม่ได้มีอะไรต่อต้านนักกอล์ฟแต่ประการใด

 

หัวข้อสนทนาผ่านไปถึงเรื่องสุขภาพ ยามนั้นในหลวง ร.9 ทรงประชวรด้วยโรคพระปฤษฎางค์ (หลัง) ร้ายแรงถึงต้องทรงรับการผ่าตัดในปี 2006 พระองค์ประทับนั่งบนโซฟา มีธารพระกรอยู่ใกล้พระหัตถ์ กระนั้นก็ทรงมีท่าทีผ่อนคลาย สบายๆ ตลอดการสนทนา ทรงตอบคำถามโดยเร็ว และด้วยพระอารมณ์ขันบ่อยครั้ง พระราชทานความเห็นอย่างเปิดกว้าง

พระสุรเสียงที่แหบพร่าเล็กน้อยในตอนแรก ชัดเจนมากขึ้นตามลำดับเวลาที่ผ่านไป

ทรงเล่าว่าไม่สบายเมื่อสองสามสัปดาห์ก่อน แต่ตอนนี้ดีขึ้นมากและตัดสินใจที่จะดำรงพระชนม์ชีพต่อไปอีกนานหลายปี แถมด้วยมุขตลกว่า คงต้องมีการปรับปรุงหนังสือที่ทูลเกล้าฯ ถวายใหม่อีกครั้งในปี 2028

ฟอลเดอร์เล่าว่า ตอนหนึ่งทรงมีรับสั่งอย่างครุ่นคิดว่า “ฉันเป็นคนแก่แล้ว” และทรงคิดว่าวันที่ดีที่สุดก็คือวันที่ได้ “นอนหลับ” แล้วรับสั่งต่อถึงสถานะของประเทศไทย ทรงเห็นว่าหากคนไทยละโมบและทะเยอทะยานมากเกินไป เกรงว่าจะทำให้ประเทศลงเอยในสภาพยุ่งเหยิง หากไม่สามารถจำกัดความโลภลงและยินดีในสิ่งที่พึงมีพึงได้ของตน

ตอนหนึ่ง ทรงมีรับสั่งถึงการดำรงตนในฐานะพระมหากษัตริย์ โดยอุปมาอุปไมยว่า ประหนึ่งต้องทรงแบกพีระมิดกลับหัว มีส่วนแหลมค้ำพระศออยู่ตลอดเวลา แต่ก็ “สนุกดี”

ทรงย้ำว่า สถานะของพระองค์นั้น “ไม่เหมือนใคร” ต่างจากกษัตริย์ในยุโรปทั้งหลาย แต่ก็ไม่ทรงปรารถนาที่จะกล่าววิจารณ์ผู้ใด

“กษัตริย์ทั้งหลายล้วนแตกต่างกันออกไป” ทรงมีรับสั่งไว้ดังนั้น