เรื่องของประชาชนควรยิ่งง่ายจะยิ่งดี : ว่าด้วยเงื่อนไขสวัสดิการสำหรับประชาชน

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี
(Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP)

งบประมาณรายจ่ายประจำปีของประเทศไทยมากกว่าร้อยละ 40 คืองบประมาณบุคลากรภาครัฐ

และงบประมาณสวัสดิการสำหรับข้าราชการคนหนึ่งก็นับว่าสูงเมื่อเทียบกับประชาชน หรือราว 4.8 แสนล้านบาทสำหรับข้าราชการและครอบครัว 5.2 ล้านคน แต่สำหรับประชาชน 66 ล้านคนได้ใช้งบประมาณที่น้อยกว่าคือประมาณ 4.6 แสนล้านบาทต่อปี

แต่ในบทความนี้ผมจะไม่ได้พูดถึงปัญหาของสวัสดิการข้าราชการ เพราะข้อเท็จจริงแล้วผมคิดว่าการทำให้ประชาชนมีสวัสดิการที่ดีขึ้นนั้น สามารถดีไปได้ด้วยกันได้

แต่การหยิบยกสวัสดิการของกลุ่มข้าราชการขึ้นมาเพื่อสะท้อนให้เห็นว่าไม่ใช่เพียงแค่วิธีคิดด้านงบประมาณ แต่วิธีการคิดว่าด้วยการจัดสวัสดิการในประเทศไทยก็เผชิญกับความเหลื่อมล้ำแตกต่างกันอย่างมาก

โดยสามารถไล่ประเด็นได้จาก ความยากง่ายของการได้รับสวัสดิการในกลุ่มประชาชนที่แตกต่างกัน

 

ประเทศไทยคุ้นชินกับระบบสวัสดิการแบบสงเคราะห์ อันเป็นรูปแบบสวัสดิการที่ต้องผ่านการพิสูจน์อย่างเข้มข้นเพื่อให้ได้รับการสนับสนุนสวัสดิการ การหาเด็กยากจน คนแก่ไร้ที่พึ่ง หรือทุนช้างเผือก เด็กเรียนดีแต่ยากจน ล้วนเป็นแนวคิดสังคมสงเคราะห์แบบมีเงื่อนไข

โดยข้อสมมุติหลักของแนวคิดแบบนี้คือ การใช้งบประมาณที่จำกัดให้ส่งตรงสู่กลุ่มคนที่มีความต้องการจะทำให้สวัสดิการนั้นมีประสิทธิภาพมากขึ้นและแก้ไขความยากจนได้อย่างตรงจุด

ผลที่ออกมาคือสวัสดิการสำหรับประชาชนจึงเต็มไปด้วยความยากเย็นในการได้รับ

รวมถึงการจับผิดผ่านเงื่อนไขต่างๆ ราวกับว่ากลัวประชาชนจะใช้สวัสดิการอย่างไม่ตรงวัตถุประสงค์ แม้จะเป็นสวัสดิการเพียงน้อยนิดเท่านั้น

แต่เมื่อเทียบกับสวัสดิการข้าราชการที่สูงกว่าคนทั่วไปถึงมากกว่า 50 เท่า ระบบการจัดสวัสดิการก็พบว่าง่ายดายไม่ซับซ้อน ไม่ต้องกลัวว่าข้าราชการจะข้ามขั้นมาโรงพยาบาลข้ามเขต

ไม่กลัวว่าบำนาญที่ได้รับจะไม่มีประสิทธิภาพ

ไม่มีโครงการที่จูงใจให้ข้าราชการที่มีบำนาญสูงคืนเงินบำนาญเหมือนกับที่ทำกับเบี้ยผู้สูงอายุ

หรือการที่ลูกหลานข้าราชการสามารถเบิกสวัสดิการการเรียนมหาวิทยาลัยของบุตรได้ ปีละ 25,000 บาท หรือประมาณ 100,000 บาทสำหรับหลักสูตร 4 ปี ก็ไม่เห็นต้องให้บุตรของข้าราชการประจานความจนหรือบอกว่าเรียนไปแล้วจะได้อะไร

ผลที่ออกมาก็ปรากฏว่าคนทำงานราชการก็ชอบระบบสวัสดิการ ทำงานมีความสุขและน่าจะเป็นเหตุผลหลักๆ ที่ทำให้คนยังอยู่ในกลุ่มอาชีพนี้

ดังนั้น หากเราเอาข้อดีส่ยวนนี้มาปรับใช้กับสวัสดิการประชาชนบ้าง ก็ไม่เห็นจะเป็นอะไรที่รุนแรง แม้ประชาชนยังไม่ได้รับสวัสดิการเทียบเท่าข้าราชการในเชิงปริมาณ แต่อย่างน้อยที่สุดก็ขอให้ฐานคิด “การเข้าถึง” สวัสดิการเป็นแบบใกล้เคียงกัน

 

ผมได้รับฟังจากมิตรสหายที่ทำงานวิชาการด้านงานสร้างสรรค์และมีโอกาสให้นักศึกษาได้ลองทดลองทำโครงการเกี่ยวกับศิลปะสร้างสรรค์ โดยจำลองว่าหากมีห้องสองห้อง ที่สนับสนุนศิลปะที่แตกต่างกัน

ห้องแรกเป็นการสนับสนุนผ่านแนวคิดสวัสดิการแบบไทยๆ คือการสัมภาษณ์อย่างเข้มข้น การดูศักยภาพเช่นใน IG มีคนติดตามเท่าไร และการสัมภาษณ์ว่าแนวทางการทำศิลปะตรงใจกับผู้ให้ทุนสนับสนุนมากหรือไม่อย่างไร

ขณะที่อีกห้องหนึ่งสนับสนุนแบบไม่มีเงื่อนไขให้สวัสดิการพื้นฐานแก่ผู้สร้างสรรค์ทันที

แล้วดูว่าผลออกมาจะแตกต่างกันหรือไม่

ผลที่ออกมาโดยรวมแล้วคุณภาพของการสร้างสรรค์ไม่ต่างกันเลย

จนทำให้น่าคิดว่าหากเราเอาแนวคิดนี้มาประยุกต์ใช้กับระบบสวัสดิการในภาพรวมของไทยจะให้ผลที่แตกต่างไปอย่างไร

ผมสามารถสรุปได้สามประเด็นดังนี้

 

1.สวัสดิการยิ่งง่ายจะยิ่งดี กล่าวคือ เมื่อประชาชนรู้ว่าสวัสดิการของตนจะได้อย่างสม่ำเสมอ แน่นอน จะทำให้พวกเขาสามารถวางแผนกับชีวิตได้ดีมากขึ้น อันส่งผลให้เงินหรือสวัสดิการที่ได้รับถูกจัดดสรรสู่สิ่งที่จำเป็น และเมื่อวางแผนได้จะทำให้พวกเขาสามารถคิดถึงเส้นทางที่แตกต่างกันไปในชีวิต เมื่อเปรียบเทียบกับสวัสดิการที่ไม่มีความแน่นอนและผูกติดกับการตัดสินใจของผู้มีอำนาจไม่ว่าจะในระดับใดก็ตาม

2. สวัสดิการที่เงื่อนไขน้อยทำให้ลดภาระของการใช้ระบบราชการพิสูจน์ จะเห็นได้ว่า หากเราไม่คิดว่าประชาชนทุกคนควรได้รับสวัสดิการที่เท่าเทียมกัน ในฐานะสิทธิพื้นฐาน ค่าใช้จ่ายด้านงบประมาณของเจ้าหน้าที่ที่จะถูกตั้งมาเพื่อพิสูจน์สิทธิ์ จะสูงมากขึ้น และยิ่งทำให้ประสิทธิภาพในการจัดสวัสดิการต่ำลง ดังเช่นกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาเสียค่าจ้างทนายความหลายพันล้านเพื่อติดตามทวงหนี้จากกลุ่มผู้กู้ที่ไม่สามารถจ่ายคืนได้ หรือในช่วงวิกฤตโควิด-19 รัฐบาลเสียงบประมาณในการใช้บุคลากรเพื่อพิสูจน์ว่าสิทธิ์เหล่านี้ได้ถูกส่งตรงสู่ประชาชนมากน้อยเพียงใด แทนที่งบประมาณบุคลากรเหล่านี้จะถูกส่งตรงสู่ความต้องการของประชาชนกลับสูญเสียไปในขั้นตอนเหล่านี้

3. สวัสดิการยิ่งถ้วนหน้า ยิ่งสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกันในสังคม เมื่อสวัสดิการไม่ได้เป็นเพียงแค่เรื่องของคนจน แต่เป็นสวัสดิการสำหรับทุกคน ไม่ว่าคนรวย คนจน ชนชั้นกลาง เมื่อเกิดปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ หรือปัญหาทางสังคมต่างๆ ผู้คนในสังคมจะรู้สึกว่าเราอยู่ในสังคมเดียวกัน และเห็นอกเห็นใจกันมากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับระบบสวัสดิการที่ให้เฉพาะคนจนเมื่อเกิดปัญหาต่างๆ จะเกิดความแตกแยกในสังคมและพยายามหาแพะรับบาป เพราะผู้คนไม่ได้รู้สึกว่าได้เติบโตและถูกอุ้มชูมาในระบบเดียวกัน

ทั้งหมดนี้เป็นลักษณะเบื้องต้นที่ชี้ให้เห็นถึงหลักการพื้นฐานที่ง่ายที่สุดว่า สวัสดิการสำหรับประชาชนนั้นควรยิ่งง่าย เงื่อนไขน้อยสามารถเข้าถึงได้ทั่วไปไม่แบ่งชนชั้น ลักษณะนี้จะทำให้สวัสดิการโดยรวมแล้ว ยิ่งง่ายย่อมยิ่งดีกับประชาชนทั่วไป ไม่เป็นเรื่องที่เลวร้ายหรือทำให้รัฐล่มสลายแต่อย่างใด