ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 9 - 15 ธันวาคม 2565 |
---|---|
ผู้เขียน | พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์ |
เผยแพร่ |
สุรชาติ บำรุงสุข ก็บันทึกความเห็นไปในทางเดียวกัน
“เหตุผลที่ผู้นำทหารบอกแก่นายกฯ ธานินทร์ว่า ผู้ต้องหาฝ่ายกบฏกำลังจะแหกที่คุมขังก็ดูจะเป็นการสร้างเรื่องลวงอย่างมาก เพราะตลอดระยะเวลา 21 วันที่พวกเราเห็น พล.อ.ฉลาดนั้น นึกไม่ออกเลยว่าจะแหกคุกออกไปได้อย่างไร”
“คงต้องไม่ลืมว่า พล.อ.ฉลาดและพวกเราอยู่ในพื้นที่ที่ถูกจัดตั้งขึ้นเป็นแดนพิเศษ ซึ่งในทางภูมิศาสตร์แล้วเป็นพื้นที่ที่อยู่ใจกลางบางขวาง จะต้องฝ่าออกไปไม่รู้กี่ด่านจึงจะออกประตูไปได้ อย่าว่าอะไรเลย แค่ความคิดที่จะออกจากแดนเราไปแดนอื่นก็ยังเป็นไปไม่ได้ เลิกคิดและจินตนาการแบบในภาพยนตร์ได้เลย ยกเว้นจะมีภาพในความคิดแบบภาพยนตร์ดังในอดีตเรื่อง The Great Escape หรือในชื่อภาษาไทยว่า ‘แหกค่ายมฤตยู’ ที่เชลยศึกสัมพันธมิตรพยายามแหกค่ายคุมขังของนาซีออกไปให้ได้”
“แต่ภาพยนตร์กับชีวิตจริงนั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ผมไม่เคยคิดเลยว่าใครจะแหกคุกบางขวางออกไปได้ การกล่าวเช่นนี้จึงไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าการหลอกรัฐบาล แต่รัฐบาลก็ดูจะไม่มีทางเลือกมากนัก และก็เชื่อด้วย”
“ส่วนเรื่องที่ว่าจะมีกองกำลังมาจับตัว ‘บุคคลสำคัญ’ เพื่อต่อรองให้ปล่อยนักโทษในคุกก็เป็นตัวแบบของผู้ก่อการร้ายสากลในขณะนั้น ซึ่งประสบการณ์ในไทยไม่เคยมีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นแต่อย่างใด และหน่วยกำลังเมื่อวางอาวุธและถูกส่งกลับที่ตั้งที่กาญจนบุรีแล้วก็แทบจะเคลื่อนไหวอะไรไม่ได้เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นำในขณะนั้นทั้ง 2 นายและนายทหารอีกส่วนก็ถูกจับกุมคุมขังอยู่ จึงเป็นดังการหลอกนายกฯ ธานินทร์อีกประเด็นหนึ่งไม่แตกต่างกับวาทกรรมแบบ ‘แหกค่ายมฤตยู’ เว้นแต่เรื่องทั้งหมดนี้คือการปิดปาก พล.อ.ฉลาด”
“และขณะเดียวกันก็ยืมมือรัฐบาลใช้มาตรา 21 ขจัดนายทหารที่เป็นคู่แข่งทางการเมืองให้หลุดออกไปจากเวทีการแข่งขันอย่างถาวรโดยไม่มีโอกาสหวนกลับมาเปิดเผยข้อมูลหรือจะกลับเข้าต่อสู้ทางการเมืองได้อีกตลอดไปและตลอดกาล”
ไฟไม่มอดเชื้อ
เหตุการณ์ “กบฏ 26 มีนาคม 2520” ผ่านไป สุรชาติ บำรุงสุข บันทึกสถานการณ์การเมืองไทยต่อไปดังนี้…
“สถานะของรัฐบาลธานินทร์หลังการรัฐประหาร 26 มีนาคม ดูจะทรุดลงมากกว่าจะเข้มแข็ง ข่าวสารต่างๆ ดูจะเป็นไปในทิศทางที่บ่งบอกว่ารัฐบาลน่าจะประสบความยุ่งยากมากขึ้นในอนาคต แม้จะชนะรัฐประหารแต่ก็คุมกองทัพไม่ได้จริง”
“ดังที่กล่าวแล้วว่าความเปลี่ยนแปลงสำคัญประการหนึ่งของการเมืองไทยในขณะนั้นก็คืออำนาจปืนไม่ได้อยู่กับนายทหารระดับสูงในกองทัพ อำนาจที่แท้จริงอยู่กับนายทหารระดับกลางโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับผู้บังคับการกรมและผู้บังคับกองพันซึ่งอยู่ในฐานะของการเป็นผู้ควบคุมกำลังพลและกำลังอาวุธอย่างแท้จริง และดูเหมือนว่าข้อมูลของนายทหารระดับกลางผู้คุมกำลังที่ส่งตรงถึงที่นั่นก็คือไม่ช้าไม่เกิน 1 ปีได้ออกแน่ ถ้าเอาพวกเรา 26 มีนาคม ออกไปไม่ได้ เขาต้องเข้ามาอยู่กับพวกเราด้วย”
“จากปรากฏการณ์ของข่าวสารที่เข้ามา ซึ่งบางครั้งพี่ๆ เขาเล่าให้พวกเราฟังบ้างก็พอจะบ่งบอกถึงความบอบบางของอนาคตรัฐบาลอยู่พอสมควร อีกทั้งการมาเยี่ยมของนายทหารหลายคนดังปรากฏในบันทึกของ พล.ต.สนั่น ก็เท่ากับบอกว่า พวกเขาไม่ได้กลัวว่าจะมีรายงานถึงรัฐบาลหรือบรรดานายทหารเหล่านี้พอจะคาดได้ว่าชีวิตของรัฐบาลอาจจะอยู่ไม่นานจึงไม่ได้กลัวกับการถูกรายงานแต่อย่างไร”
“สิ่งเหล่านี้สะท้อนภาพความขัดแย้งระหว่างทหารกับรัฐบาลชัดเจนขึ้น”
“ชีวิตและอารมณ์ของนักโทษการเมืองขึ้นอยู่กับเนื้อหาของข่าวสารอยู่มาก วันใดถ้ามีข่าวการล้มของรัฐบาลเข้ามา พวกพี่ๆ ก็ดูจะคึกคักกันเป็นอย่างยิ่ง และหากวันใดที่ไม่มีข่าวอะไร หรือบางทีกลับมีข่าวว่ารัฐบาลเข้มแข็งขึ้น พวกพี่ๆ ก็ดูจะหงอยเหงาอย่างเห็นได้ชัด และยิ่งถ้าวันไหนข่าวดูจะชัดเจนถึงความขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายนอก พี่เหล่านี้ก็ดูจะมั่นใจมากขึ้นถึงการเดินทางที่ใกล้ถึงอิสรภาพมากขึ้น แล้วก็มีคำสัญญาว่า ‘ถ้าออกไปได้จริงก็จะหาหนทางช่วยพวกเราให้ได้’ พี่หนั่นพูดกับผมเสมอว่า ถ้าพี่ออกไปก่อนแล้วก็จะมาเอาพวกเราออกด้วย ผมเองก็ไม่กล้าที่จะฝันมากกับสภาพเช่นนี้ เพราะตระหนักดีว่าสถานะของคดีของพี่ๆ กับของพวกเราแตกต่างกันอย่างมาก จำนวนของข้อหาที่พวกเราถูกตั้งจากฝ่ายรัฐก็มากกว่าของพวกพี่เหล่านั้นเสียอีก และยังพ่วงตามมาด้วยคดีคอมมิวนิสต์ด้วย”
“จากข่าวต่างๆ ที่ทยอยเข้ามาในช่วงหลังๆ ดูจะมีความเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ จนเห็นได้ชัดถึงกำลังใจและความคึกคักของบรรดาพี่ๆ พี่หนั่นดูจะยิ้มได้มากกว่าเพื่อน เช่นเดียวกับพี่บุญเลิศและพี่อัศวินเองก็ส่งเสียงดังกันอย่างสนุกสนานในวงตะกร้อหรือในวงหมากรุกที่พี่มาโนชกับบรรดาพี่ทหารจากกาญจนบุรีก็โขกกันอย่างสนุกสนานไม่แตกต่างกัน”
“ไม่มีอะไรจะเป็นข่าวดีสำหรับนักโทษการเมืองเท่ากับข่าวที่บอกว่ารัฐบาลอาจจะถูกโค่นล้มในเร็ววัน”
หลังเหตุการณ์กบฏ 26 มีนาคม 2520 ผ่านไปเพียง 2 เดือนเศษก็เกิดความพยายามเพื่อล้มรัฐบาลนายกฯ ธานินทร์อีกครั้งหนึ่งเมื่อ 3 มิถุนายน 2520
หน่วยทหารในกรุงเทพฯ
ที่พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี กล่าวว่า เพื่อน จปร.7 ในกรุงเทพฯ ไม่เข้าร่วมกับ พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ ในเหตุการณ์ 26 มีนาคม พ.ศ.2520 นั้น จปร.7 ที่คุมกำลังสำคัญในกรุงเทพฯ มีดังนี้
พ.ท.มนูญ รูปขจร ผู้บังคับกองพันทหารม้าที่ 4 พ.ท.ชาญบูรณ์ เพ็ญตระกูล ผู้บังคับกองพันที่ 3 กรมทหารราบที่ 1 พ.ท.เชิดศักดิ์ แสงช่วงโชติ ผู้บังคับกองพันบริการ มณฑลทหารบกที่ 1 พ.ท.ธีระวัฒน์ เอมะสุวรรณ ผู้บังคับกองพันที่ 1 กรมทหารราบที่ 11 พ.ท.นานศักดิ์ ข่มไพรี ผู้บังคับกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 1 และ พ.ท.แสงศักดิ์ มังคละศิริ ผู้บังคับกองพันทหารช่างที่ 1
รวมทั้ง พ.ท.พัลลภ ปิ่นมณี ผู้บังคับกองพันที่ 1 กรมทหารราบที่ 19 กาญจนบุรี
นายทหารเหล่านี้ยังคงอยู่ในตำแหน่งสำคัญเมื่อ 3 มิถุนายน 2520
ดีเดย์ 3 มิถุนายน
พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ บันทึกต่อไปว่า…
“ตลอดห้วงของปีพุทธศักราช 2520 เมืองไทยอยู่ภายใต้การบริหารงานของนายกรัฐมนตรีคนที่ 14 ของประเทศ คือ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ที่บริหารประเทศและพยายามนำพารัฐบาลหอยของเขาท่ามกลางความไม่ลงรอยระหว่างตัวเขาเองกับหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินที่ยกอำนาจให้ และท่ามกลางความแตกแยกระหว่างทหารภายในกองทัพ รวมทั้งการไร้ความสามารถของนายทหารชั้นผู้ใหญ่ในการควบคุมกองทัพให้เป็นปึกแผ่น นับเป็นเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้นายทหารระดับคุมกำลังกลุ่มหนึ่งซึ่งต่อมาเป็นที่รู้จักกันในนามกลุ่ม “ยังเติร์ก” ได้รวมตัวกันเพื่อมุ่งมั่นฟื้นฟูเกียรติภูมิและศักดิ์ศรีของกองทัพไทยให้พลิกฟื้นคืนกลับมา”
“นายทหารกลุ่มนี้ไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลกระทำการจับ พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ กับพวก หลังการเจรจาให้วางอาวุธและรับปากจะส่งตัวไปต่างประเทศเหล่านั้น พวกเขาถือว่าเป็นการหักหลัง นอกจากนั้นยังมองว่า รัฐบาลเผด็จการที่ประกาศจะอยู่ 12 ปี ทำให้เกิดความแตกแยกภายในชาติ และนักศึกษาก็หนีเข้าป่ากันมากมาย”
“กลุ่มยังเติร์กเริ่มวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของฝ่ายรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร อย่างรุนแรงและเข้ายื่นหนังสือซึ่งเป็นข้อเสนอให้รัฐบาลต้องปรับปรุงคณะรัฐมนตรีเสียใหม่ โดยเสนอผ่าน พล.อ.เสริม ณ นคร ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น แต่รัฐบาลของนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ไม่สนใจที่จะสนองตอบข้อเรียกร้องของกลุ่มยังเติร์ก”
เมื่อรัฐบาลไม่ตอบสนองข้อเรียกร้อง แผนการยึดอำนาจและจับตัวผู้นำรัฐบาลจึงเกิดขึ้น และกำหนดให้มีการปฏิบัติการในวันที่ 3 มิถุนายน 2520
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022