ไมโครไบโอม ปรสิตและจิตศรัทธา | ภาคภูมิ ทรัพย์สุนทร

ภาคภูมิ ทรัพย์สุนทร
จุลินทรีย์ปรสิตอาจอยู่เบื้องหลังพิธีกรรมทางศาสนา เครดิตภาพ ดุสิตตา เดชแก้ว

ตํานานเก่าเล่าว่า ร้อยกว่าปีที่แล้วโรคห่าระบาดหนักจนผู้คนในหมู่บ้านล้มตายลงกว่าครึ่ง

พ่อเฒ่าตรอมใจจากการเสียลูกชายหัวปี และหลบไปขังตัวในถ้ำลึก อดข้าว ดื่มแต่ตาน้ำผุดอยู่หลายวันจนร่างอ่อนแรงแทบสิ้นลม

ครั้นย่างคืนที่สามแกก็เริ่มเห็นนิมิตเป็นดวงไฟจางๆ ยิ่งนานวันแสงยิ่งสุกสว่าง

พอถึงคืนเจ็ดพลันปรากฏร่างเป็นลูกชายที่ล่วงลับ พ่อเฒ่าดีใจจนน้ำตาร่วง แกพูดคุยกับวิญญาณลูกอยู่หลายชั่วยามจึงยอมกลับสู่หมู่บ้าน

เรื่องของพ่อเฒ่าถูกเล่าปากต่อปากไปไกล ชาวบ้านต่างพากันเข้าถ้ำหวังพบญาติมิตรผู้วายชนม์อีกครั้ง

ผู้ที่สำเร็จล้วนแต่ต้องอดอาหาร และดื่มแต่น้ำในถ้ำอย่างน้อยเจ็ดวัน

นอกจากวิญญาณคนตาย บางคนยังได้เห็นนางไม้ ภูตพิทักษ์ถ้ำ และเทวทูตแห่งความตาย ยิ่งกว่านั้นผู้ใกล้ชิดสัมผัสกับคนเคยเห็นนิมิตอีกหลายคนก็ยังได้รับพลังพิเศษนี้ด้วย

ชาวบ้านช่วยกันสร้างศาลเจ้าครอบถ้ำไว้ ส่วนผู้เห็นนิมิตต่างอุทิศตัวเป็นนักบวชคอยต้อนรับช่วยเหลือผู้มาเยือนจากทุกสารทิศ

กว่าร้อยปีที่ผ่านมาผู้คนนับหมื่นเป็นประจักษ์พยานถึงปาฏิหารย์ถ้ำศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้

แต่กว่าร้อยปีที่ผ่านมาไม่มีแม้แต่คนเดียวที่สังเกตเห็นจุลินทรีย์ปรสิตตัวจิ๋วจากน้ำในถ้ำ หลังฟักตัวเจ็ดวัน จุลินทรีย์นี้จะสังเคราะห์โมเลกุลหลอนประสาทผู้ติดเชื้อ ยิ่งจุลินทรีย์นี้ระบาดก็ยิ่งมีคนเห็นนิมิตกันเยอะ

ยิ่งคนเห็นนิมิตเยอะก็ยิ่งแห่กันมาถ้ำหรือสัมผัสนักบวชจนติดเชื้อกันมากขึ้นอีก

 

เรื่องราวข้างต้นได้แรงบันดาลใจมาจาก “Biomeme Hypothesis” ของทีมนักวิจัยชาวรัสเซียนำโดย Alexander Y Panchin แห่ง Institute of Information Transmission Problems ที่กรุงมอสโก สมมุติฐานนี้กล่าวว่าจุลินทรีย์ปรสิตอาจอยู่เบื้องหลังการกำเนิดและสืบทอดของหลายพิธีกรรมทางศาสนาที่เรารู้จัก

สมมุติฐานนี้มาจากข้อสังเกตว่าจุลินทรีย์และปรสิตบางชนิดมีอิทธิพลต่อการรับรู้และพฤติกรรมของโฮสต์

แม้อิทธิพลของจุลินทรีย์ในร่างกายจะเป็นที่รู้กันมานานแล้ว แต่ก้าวกระโดดของเทคโนโลยีช่วงหลังๆ ทำให้เราเข้าใจบทบาทของพวกมันได้ลึกซึ้งกว่าเก่ามาก โดยเฉพาะเทคโนโลยีการถอดรหัสพันธุกรรมสมัยใหม่อย่าง Next Generation Sequencing (NGS) ทำให้เราสามารถวัดความต่างและการเปลี่ยนแปลงของสังคมจุลินทรีย์ (microbiome) แม้เพียงเล็กน้อย และไม่ได้จำกัดอยู่แค่จุลินทรีย์ที่เพาะเลี้ยงได้เท่านั้น

นอกจากระบบย่อยอาหาร ภูมิคุ้มกัน และเมแทบอลิซึ่มแล้ว จุลินทรีย์ยังมีผลต่อระบบประสาท การรับรู้ อารมณ์ บุคลิกภาพ การนอนหลับ พฤติกรรมการกิน ฯลฯ ไปจนถึงโรคทางประสาทต่างๆ อย่างโรควิตกกังวล ซึมเศร้า อัลไซเมอร์ ฯลฯ

ปรากฏการณ์ที่สังคมจุลินทรีย์โดยเฉพาะในลำไส้ส่งผลต่อระบบประสาท ถูกเรียกรวมๆ ว่า microbiome gut-brain axis

ปรสิตหลายชนิดสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมโฮสต์
เครดิตภาพ ดุสิตตา เดชแก้ว

ขณะเดียวกันก็มีตัวอย่างมากมายของ “ปรสิต” ที่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมโฮสต์ให้เหมาะต่อการแพร่ระบาดของพวกมันเอง ปรสิตพวกนี้มีตั้งแต่ระดับหนอน/แมลง ลงไปถึงแบคทีเรีย ไวรัส หรือแม้แต่โปรตีนเดี่ยวๆ

หนอนตัวแบน Dicrocoelium dendriticum ทำให้มดปีนขึ้นไปกัดยอดหญ้าค้างไว้ เพิ่มโอกาสที่พวกมันจะเข้าสู่ทางเดินอาหารของวัวควายที่เป็นโฮสต์ลำดับถัดไป

หนอนตัวกลม Spinochrododes telliniii ทำให้ตั๊กแตนกระโดดลงน้ำแหล่งที่อยู่ลำดับต่อไปของหนอนตัวเต็มวัย

ต่อเบียน Glyptapantele sp. ทำให้หนอนผีเสื้อปกป้องรักษาตัวอ่อนของพวกมันหลังจากออกจากโฮสต์แล้ว

โปรโตซัว Toxoplasma gondii ทำให้หนูไม่กลัวแมว เพิ่มโอกาสเข้าสู่แมวผ่านการกิน และแพร่ระบาดสู่โฮสต์อื่นอย่างมนุษย์อีกด้วย

รา Ophicordyceps unilateralis ทำให้มดใกล้ตายกลายไปซอมบี้ปีนขึ้นไปห้อยหัวบนใบไม้สูงๆ ที่แพร่สปอร์ราออกไปไกลๆ

แบคทีเรีย Wolbachia เปลี่ยนพฤติกรรมการผสมพันธุ์ของแมลงและหนอนบางชนิดให้เหมาะกับการกระจายเชื้อ

ไวรัส Barley yellow dwarf ทำให้เพลี้ยย้ายไปดูดน้ำเลี้ยงจากพืชที่ยังไม่ติดเชื้อและขยายพื้นที่การระบาดของไวรัสออกไป

ไวรัสพิษสุนัขบ้า Rabie ทำให้มนุษย์หรือสัตว์ดุร้ายไล่กัดแพร่เชื้อให้ผู้อยู่รอบข้าง

โปรตีนปรสิตในกลุ่มพรีออนอย่าง Kuru เมื่อทำลายสมองจะทำให้เกิดอาการหัวเราะผิดปกติ พิธีกรรมการกินศพผู้ป่วยของชาวพื้นเมืองทำให้พรีออนนี้ระบาดหนักยิ่งขึ้นไปอีก

พฤติกรรมสัตว์ที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของปรสิตเหล่านี้แทบไม่มีประโยชน์เชิงวิวัฒนาการกับสัตว์ที่เป็นโฮสต์เลย อาจจะเป็นโทษด้วยซ้ำในหลายกรณี การมีอยู่ของปรสิตเป็นคำอธิบายว่าทำไมพฤติกรรมเหล่านี้ยังคงอยู่ได้

biomeme hypothesis ว่าด้วยการส่งเสริมกันและกันของพิธีกรรมศาสนาและปรสิตในไมโครไบโอม
เครดิตภาพ ดุสิตตา เดชแก้ว

Panchin ตั้งข้อสังเกตว่าพฤติกรรมแปลกๆ ที่มนุษย์เราทั่วโลกทำในศาสนาหรือลัทธิต่างๆ ก็อาจจะมีลักษณะแบบนี้คือ ตัวมันเองไม่ได้มีประโยชน์อะไรโดยตรงกับการอยู่รอดและส่งถ่ายเผ่าพันธุ์มนุษย์ แต่ว่ามีปรสิตบางชนิดอยู่เบื้องหลัง

Panchin เรียกสิ่งนี้ว่า “biomeme” มาจากคำว่า “bio” หมายถึงการส่งทางพันธุกรรมด้วยกลไกชีววิทยาของปรสิต กับคำว่า “meme” หมายถึงการส่งถ่ายพฤติกรรมในพิธีกรรมความเชื่อผ่านการสื่อสารระหว่างมนุษย์ในสังคม สองสิ่งนี้พึ่งพาอาศัยกันและกัน

หลายพิธีกรรมศาสนาส่งเสริมการแพร่กระจายของปรสิต เช่น การรวมตัวกันในที่แออัด การสัมผัสใกล้ชิด การจับมือ การโอบกอด การจุมพิต การใช้ภาชนะร่วม ตลอดจนการมีอยู่ของนักบวช วัตถุมงคลหรือเทวสถานที่ผู้มีจิตศรัทธาจากทุกสารทิศหลั่งไหลกันมาลูบคำสัมผัส การมีอยู่ของแม่น้ำ/บึง/บ่อศักดิ์สิทธิ์อันเป็นศูนย์รวมที่ผู้คนมาอาบ ดื่ม กิน ฯลฯ นอกจากนี้ ยังมีพิธีกรรมที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของเราอ่อนแอลง ไวต่อการรับปรสิตมากขึ้น เช่น การทรมานตนเอง อดอาหาร โบยตีทิ่มแทงร่างกายด้วยวัตถุแหลมคม ฯลฯ

ในทางกลับกันฤทธิ์ต่อระบบประสาทของปรสิตก็อาจส่งเสริมให้คนเข้าสู่ลัทธิศาสนาและประกอบพิธีกรรมมากขึ้น ตั้งแต่อาการป่วยไข้ทางกายและจิต ความต้องการเข้าหาคนหมู่มาก ไปจนถึงการแสดงพฤติกรรมและการรับรู้ที่มักถูกตีความว่าเป็นปรากฏการณ์ทางจิตวิญญาณ เช่น ชักเกร็ง เปลี่ยนบุคลิก หัวเราะหรือร้องไห้ผิดปกติ เห็นภาพหลอน หูแว่ว ได้กลิ่นแปลกๆ ฯลฯ

พิธีกรรมส่งเสริมการแพร่กระจายของปรสิต ส่วนปรสิตก็ส่งเสริมให้คนเข้าสู่พิธีกรรม กลายเป็นระบบป้อนกลับเชิงบวก (positive feedback) ที่ทำให้ทั้งปรสิตและพิธีกรรมคงอยู่และแพร่กระจายมากขึ้นเรื่อยๆ

 

Biomeme Hypothesis นำมาสู่คำทำนาย (prediction) ที่ทดสอบได้หลายข้อ

ข้อแรก microbiome ในหมู่ผู้เข้าร่วมพิธีกรรมศาสนาอย่างสม่ำเสมอจะแตกต่างจากผู้ที่ไม่ค่อยได้เข้าร่วมอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อศึกษาเพิ่มเติมถึงจุลินทรีย์ส่วนที่ต่างต้องพบกลไกที่ส่งอิทธิพลต่อพฤติกรรม/การรับรู้

ข้อสอง แนวโน้มการเข้าร่วมพิธีกรรมศาสนาจะแปรผันไปทางเดียวกัน (positively associated) กับความบกพร่องของระบบภูมิคุ้มกัน ไม่ว่าจะจากโรคติดเชื้ออื่นๆ ปัจจัยสิ่งแวดล้อมหรือพันธุกรรม

ข้อสาม แนวโน้มการร่วมพิธีกรรมศาสนาจะแปรผันไปทางตรงข้าม (negatively associated) กับเวชกรรมบางอย่าง เช่น การใช้ยาปฏิชีวนะ

ข้อสี่ พฤติกรรมการเข้าร่วมพิธีกรรมศาสนาจะเปลี่ยนไปถ้าผู้เข้าร่วมเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหาร (ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อ microbiome)

ข้อห้า จุลินทรีย์ที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการเข้าร่วมพิธีกรรมศาสนาควรจะถูกพบได้บนพื้นผิววัตถุหรือสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบพิธีกรรมนั้นๆ

สมมุติฐานนี้ถูกนำเสนอตั้งแต่ปี 2014 ได้รับข้อวิพากษ์ไปในทางบวกจากนักวิจัยระดับแนวหน้า อย่าง Rob Knight (ศาสตราจารย์จาก University of California, San Diego และผู้ริเริ่มโครงการ Earth Microbiome), Dan Graur (ศาสตราจารย์ด้านวิวัฒนาการระดับโมเลกุลจาก University of Texas, Houston) และ Eugene Koonin (นักวิจัยอาวุโสด้านวิวัฒนาการและชีวสารสนเทศศาสตร์จาก National Institute of Health) แต่ก็ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่าสมมุติฐานควรต้องลงรายละเอียดมากกว่านี้เพื่อให้การทดสอบทำได้จริง

อีกประเด็นคือในโลกนี้มีศาสนาและลัทธิต่างๆ เป็นพันๆ แบบ แต่ละแบบก็มีพิธีกรรมเฉพาะตัวอีกหลายอย่าง บางอย่างอาจจะไม่เกี่ยวกับปรสิตใน microbiome เลย บางอย่างปรสิตอาจจะมีผลเต็มที่ และบางอย่างอาจจะมีผลระดับกลางๆ

ดังนั้น การสำรวจความสัมพันธ์ระหว่าง microbiome กับพิธีกรรมน่าจะต้องทำในกลุ่มตัวอย่างที่ใหญ่พอให้เห็นเทรนด์ว่าแท้จริงแล้วมันมีอิทธิพลต่อพิธีกรรมในบริบทต่างๆ มากขนาดไหน

 

จนถึงปัจจุบันนี้ยังไม่มีรายงานการทดสอบสมมุติฐานดังกล่าว แต่ถ้าวันหนึ่งเราพิสูจน์ได้ว่า Biomeme Hypothesis เป็นจริงจะมีผลกระทบมหาศาล สะเทือนทั้งวงการวิทยาศาสตร์ ศาสนา มานุษยวิทยา ฯลฯ

ลองจินตนาการว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าเรารู้ว่าพิธีกรรมและนิมิตปาฏิหาริย์ของลัทธิหรือศาสนาใหญ่ๆ กำเนิดขึ้นจากเพียงความสัมพันธ์ปรสิต-โฮสต์ระหว่างเรากับจุลินทรีย์เล็กจิ๋วที่มองไม่เห็น

พิธีกรรมจะดำเนินต่อไปหรือไม่?

ความเชื่อและแนวปฏิบัติที่นิยามตัวตนของคนนับล้านจะคงอยู่หรือไม่?

บางทีเราอาจไม่กล้าพอจะหาคำตอบ

อ้างอิง

https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/24990702/