‘พี่จึงเหมือนคนหมดตัว’ : ไปรับจ้างแจวเรือหากินที่พระนคร | ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง

“ถนนมีเรือ แจวพาย มากมายหน้า รับจ้างพา โดยสาร ผ่านไหนได้”(พระยาอรรถศาสตร์, 2501)

 

คนจนในฉากน้ำท่วมพระนคร

หนึ่งในบรรดาเรื่องที่ศึกษาได้ยากในประวัติศาสตร์ไทย คือ เรื่องราวสามัญชนคนธรรมดา เนื่องจากข้อจำกัดของหลักฐาน การถูกมองข้ามไป แต่ในภาพยนตร์น้ำท่วมของแท้ ประกาศวุฒิสาร ไม่แต่เพียงบันทึกชีวิตของผู้คนธรรมดา ความสนุกสนานของการเล่นเรือของหนุ่มสาว เหล่านักการเมืองมาประชุมสภาผู้แทนฯ รวมถึงภาพชายชราที่รับจ้างแจวเรือพาเขาไปถ่ายภาพยนต์ตามที่ต่างๆ

คำถามที่เกิดขึ้นคือ ผู้คนที่แจวเรือรับจ้าง รองรับการเดินทางของชาวเมืองครั้งนั้น พวกเขามาจากไหน

ในบันทึกของเหม เวชกร นักเขียนและจิตรกรเอก ให้ร่องรอยพวกเขา ผู้เป็นชาวนาชาวสวนที่สิ้นเนื้อประดาตัว ขาดรายได้ อพยพพากันเข้ามาทำงานในเมืองไว้ว่า “พวกต่างจังหวัดน้ำท่วมนาท่วมไร่ หมดทางทำมาหากิน จึงหาเรือทุกชนิดเข้ามาทำมาหากินในกรุงเทพฯ ชาวกรุงเทพฯ จึงได้พึ่งพิงเขา” (เหม, 159)

ชายชรารับแจ้งแจวเรือ เมื่อครั้งน้ำท่วมพระนคร 2485

แรงงานอพยพจากชนชนบท

เมื่อสายน้ำไหลบ่าจากภาคเหนือลงมายังภาคกลางได้กวาดเอาเรือกสวนไร่นาและความหวังของชาวนาชาวสวนครั้งนั้นให้ไหลไปตามกระแสน้ำ ดวงหน้าของชาวนาที่เห็นทุกอย่างล่มสลายลงต่อหน้าคงคาดเดาได้ไม่ยาก

ทุ่งนาแถบปทุมธานีเหนือพระนคร “เห็นแต่น้ำกับฟ้า มีต้นไผ่ต้นไม้เป็นเกาะห่างๆ กัน บางแห่งเป็นบุญของเจ้าของนา ยังแลเห็นต้นข้าวพ้นน้ำเขียวเป็นหย่อมๆ บ้านเรือนชาวนา บางแห่งท่วมถึงครึ่งหลัง ควายแรงสำคัญช่วยชาวนา ยืนในน้ำเป็นกลุ่ม บางฝูงควายเหล่านั้นยืนกลางทะเล บางแห่งก็พากันมาอาศัยบนถนน โดยเฉพาะทุ่งรังสิต แลไม่เห็นคันข้าวเลยจนจดขอบฟ้า…” (สามัคคีไทย, 28)

ชีวิตจิตใจของชาวนาที่ผูกพันกับที่ดินแหลกสลายลงเมื่อเห็นผืนนาและบ้านเรือนจมน้ำ พวกเขาจึงอพยพนำเรือของเขาบ่ายหน้าเข้าพระนคร ทิ้งเรือกสวนไร่นาไว้เบื้องหลัง เพื่อหารายได้จุนเจือครอบครัวด้วยการเข้าไปหางานทำรับจ้างแจวเรือรับส่งชาวพระนคร

น้ำท่วมในพระนครนั้น หนักเพียงใด เหมบันทึกไว้ว่า ถ้าผู้อยู่บนฟากฟ้ามองลงมา ก็จะเห็นว่า พวกมนุษย์ที่พื้นดินมีสภาพไม่ผิดกับมดที่เกาะกับกิ่งไม้ลอยไปลอยมา ที่ใดแห้งเขินก็ไปชุลมุนวุ่นวายกันที่นั่น บางแห่งท่วมครึ่งน่อง บางแห่งเลยเข่า บางแห่งน้ำลึกถึงระดับเอวทีเดียว เขาเล่าเสริมว่า ชาวชนบทที่ไร่นาจมน้ำหมดทางทำมาหากิน จึงนำเรือเข้ามาทำมาหากินในพระนคร (เหม, 159)

จากบันทึกของเขาเป็นร่องรอยที่ทำให้ทราบว่า มีการอพยพแรงงานจากจังหวัดข้างเคียงเข้ามาทำงานเป็นแรงงานแจวเรือจ้างในพระนคร

แท้ ตากล้องผู้ถ่ายภาพยนตร์น้ำท่วม เขาเล่าสาเหตุของการถ่ายทำว่า “ระยะที่น้ำท่วมสูงสุด ผมก็มีความคิดอยากถ่ายภาพยนตร์เก็บไว้ดูเล่นเป็นที่ระลึก…ผมจึงได้ฟิล์มมา 3 ม้วน แล้วได้เช่าเรือจ้างของลุงแก่ๆ คนหนึ่ง ชวนพรรคพวกไปด้วย ให้แกพาตระเวนถ่ายเกือบทั่วกรุงเทพฯ…ผมถ่ายภาพยนตร์น้ำท่วมใหญ่ปี พ.ศ.2485 ได้ 3 ม้วน และไม่นึกว่า วันนี้ หนังน้ำท่วมของผมจะกลายเป็นภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ตอนหนึ่งของชาติไปแล้ว” (แท้, 2545, 93-94)

เรือแจวรับจ้างที่ถนนราชดำริ หน้าสวนลุมพินี

สร้างชาติ-ส่งเสริมให้คนไทยทำงาน

นอกจากความยากแค้นจากเรือกสวนไร่นาจมน้ำแล้ว อีกมูลเหตุหนึ่งที่ผลักดันให้ชาวชนบทอพยพเข้ามาในช่วงเวลานั้น คือ ในช่วงเวลานั้น รัฐบาลดำเนินการสร้างชาติด้วยการส่งเสริมให้ประชาชนในชนบทปรับปรุงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ การทำมาหากินที่พึ่งพาตนเองได้มาตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2480 เช่น ทำสวนครัว เลี้ยงสัตว์ ทอผ้า รับจ้างซักรีด ขายก๋วยเตี๋ยว ค้าขายรายย่อย

พร้อมการส่งเสริมให้ทุกคนร่วมกันทำงานเพื่อสร้างชาติ ส่งเสริมให้ผู้คนขยันทำมาหากิน ไม่ปล่อยเวลาทิ้งไปโดยไม่ทำงาน รัฐบาลผลักดัน พ.ร.บ.จัดหางานให้ผู้ไร้อาชีพ 2484 ที่กำหนดว่า ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 50 ปี ที่มิใช่พระภิกษุ ไม่ทุพพลภาพ ต้องมีประกอบอาชีพ หากไม่เช่นนั้นต้องรายงานตัวต่อทางราชการเพื่อให้จัดหางานให้ทำ (อุบล จิระสวัสดิ์, 2517, 212-213)

จากภาพข้างต้น จะเห็นอาชีพแจวเรือจ้างและจูงพาผู้โดยสารไปทำธุระ ไปทำงานดังมีผู้เล่าว่า ช่วงเวลานั้น เขาต้องนั่งเรือจ้างไปทำงาน (ขุนวิจิตรมาตรา, 474) และการเดินทางมาทำงานในพระนครมีความยากลำบาก บางคนต้องนั่งเรือจ้าง ลงเดินสลับขึ้นเรือจ้างเพื่อไปทำงาน (เหม, 160)

ดังความทรงจำของผู้พิพากษาท่านหนึ่งบันทึกถึงเรือรับจ้างในพระนครว่า “ถนนมีเรือ แจวพาย มากมายหน้า รับจ้างพา โดยสาร ผ่านไหนได้ มีทั้งเรือ ค้าขาย พายไปมา ดื่นตามใน ท้องถนน ไม่พ้นตา” (พระยาอรรถศาสตร์, 2501)

เรือแจวรับจ้างที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

ความทุกข์ยากของชาวนาชาวสวนจากน้ำท่วมนั้น ละเอียด พิบูลสงคราม แต่งบทกลอน เรื่อง “ชีวิตหยู่ได้ด้วยการต่อสู้” ให้กำลังใจแก่ชาวไทยภาคกลางผู้ร่วมชะตากรรม ลงใน วรรณคดีสาร ตุลาคม 2485 ความว่า

“อีกหย่างหนึ่งเรื่องดินฟ้าและอากาส แสนสามารถขัดขวางหย่างเอกอุ เช่นปีนี้น้ำท่านมาดังพายุ ไหลทูลท่วมบ้านเรือนแลไร่นา แสนสงสารเพื่อนชาวนาแลชาวสวน ต้องปั้นป่วนทุกเข็นเปนหนักหนา มองต้นข้าวมองไม่พบประสบตา มองเคหาเห็นแต่จากหยู่ร่ำไร มองกระบือคู่ร่วมชีวิตเพือนร่วมแรง นอนตีแปลงอยู่น้ำจักทำไหน ทั้งพบปลิงรุมกัดขนาถไจ ทั้งหย้าฟางจะหาไม่มีกิน มองดูต้นผลไม้พาไจเสร้า ไบล่างเน่าลำต้นเน่าเกือบหมดสิ้น ตัดรายได้ประจำปีที่เคยกิน ตัดทรัพย์สินรายได้ไห้คับแค้น นี่เปนความทุกโสกจากโชคร้าย นี่เปนภัยธัมชาติร้ายกาจแสน นี่เปนอุปสัคร้ายในดินแดน นี่เปนความแร้นแค้นแสนทวี” (ท่านผู้หญิงละเอียด, 2540, 331-332)

นอกจากนี้ จอมพล ป.เล่าว่า การประชุมคณะรัฐมนตรีปลายเดือนกันยายน มีมติว่า รัฐบาลจะ “รบกับน้ำ” (สามัคคีไทย, 39) เขากล่าวปราศัยขอบคุณเหล่าข้าราชการที่เข้าช่วยเหลือประชาชนที่เผชิญอุทกภัยอย่างเต็มกำลังว่า “ถ้าฉันมีวาจาสิทธิ์อย่างเรื่องจักรๆ วงส์ๆ ฉันจะเสกมนต์ให้ท่าน นักช่วยสร้างเสิมสิ่งดีเหล่านี้ให้สุขกายสุขใจ จเรินด้วยลาภยสทุกประการ และฉันจะเปลี่ยนชื่อท่านเหล่านี้ไห้มีตำแหน่งเปนข้าราชการช่วยเพื่อมนุสไปสู่แดนสวรรค์ทีเดียว” (40)

แต่ดูเหมือนว่า การรบกับน้ำของรัฐบาลไม่สามารถมีชัยเหนือธรรมชาติได้ เนื่องจากน้ำเหนือยังไหลบ่าลงมาท่วมพื้นที่ราบลุ่มภาคกลางและพระนครอย่างหนัก ทำให้ชาวชนบทที่อาศัยอยู่ข้างเคียงพระนครต่างอพยพพากันเข้ามาเป็นแรงงานในพระนครครั้งนั้น และจากหลักฐานทำให้คนรุ่นหลังทราบว่าคนยากจนในน้ำท่วมครั้งนั้นมีตัวตน

ชายชราแจวเรือรับจ้างที่หน้าสภาผู้แทนฯ ครั้งน้ำท่วม
เรือส่วนตัวและเรือรับจ้างที่หน้าวัดพระแก้ว