60 ปีวิกฤตนิวเคลียร์ (3) เหยี่ยว vs พิราบ | สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ | สุรชาติ บำรุงสุข

 

60 ปีวิกฤตนิวเคลียร์ (3)

เหยี่ยว vs พิราบ

 

“เราสู้แบบตาต่อตา และข้าพเจ้าคิดว่าเพื่อนคนอื่นคงได้แต่นั่งมองตาปริบๆ”

Dean Rusk (รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ 1962)

 

ดังที่กล่าวเปรียบเทียบการตัดสินใจของประธานาธิบดีครุสชอฟในการนำขีปนาวุธพิสัยกลางเข้าประจำการในคิวบานั้น เป็นเสมือนกับการเล่นเกม “รัสเซียนรูเล็ตต์” ที่มีอัตราความเสี่ยงสูงที่จะได้รับชัยชนะ ในอีกด้านก็เสี่ยงอย่างมากที่อาจนำไปสู่สงครามนิวเคลียร์ได้

เข็มมุ่งในทางความคิดที่สำคัญของครุสชอฟคือ เขาจะสร้าง “ความกลัวภัยนิวเคลียร์” ให้แก่ผู้นำอเมริกัน ในแบบที่ผู้นำโซเวียตต้องตกอยู่ภายใต้ความกลัวจากการโจมตีด้วยขีปนาวุธของสหรัฐจากฐานยิงในตุรกี

ประธานาธิบดีครุสชอฟเปรียบการกระทำของตนเป็นเสมือนกับการโยน “ตัวเม่น” ที่มีขนแหลมเต็มไปหมดใส่ “กางเกงของลุงแซม”…

สำนวนคำเปรียบเปรยนี้สะท้อนให้เห็นชุดความคิดของผู้นำโซเวียตอย่างชัดเจนในการตอบโต้ภัยคุกคามนิวเคลียร์ของสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผู้นำรัฐจะต้องตระหนักเสมอคือ การเมืองระหว่างประเทศไม่ใช่เกมที่เล่นโดยรัฐตนเพียงฝ่ายเดียว หากเป็นเกมที่มีรัฐมหาอำนาจฝ่ายตรงข้ามเป็นผู้เล่นอยู่ในเกมนี้ด้วย

ดังนั้น การควบคุมให้เกมเดินไปในทิศทางที่เราต้องการเพียงฝ่ายเดียว ย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะรัฐมหาอำนาจอีกฝ่ายก็อยู่บนกระดานในฐานะผู้เล่นเกมด้วย หรือกล่าวเปรียบเทียบด้วยสำนวนทางยุทธศาสตร์คือ “ข้าศึกก็มีสิทธิ์ออกเสียงด้วย”… ไม่ใช่ฝ่ายเราเท่านั้นที่จะเป็นผู้ออกเสียง

ซึ่งปฏิสัมพันธ์ของรัฐคู่แข่งขันย่อมทำให้เกิดพลวัตของสถานการณ์ และพลวัตเช่นนี้แหละที่ส่งผลให้ผลลัพธ์อาจจะไม่ออกมาอย่างที่เราคาดไว้ในเบื้องต้น

The ExComm!

วันที่ 14 ตุลาคม 1962… เครื่องบินลาดตระเวนถ่ายภาพทางอากาศแบบยู-2 ของสหรัฐขึ้นบินตามปกติ เครื่องบินนี้เป็นเครื่องบินถ่ายภาพทางอากาศสมรรถนะสูง หรืออีกนัยหนึ่งคือ “สายลับทางอากาศ” (spy plane) ซึ่งจะทำการบินในระยะสูงเหนือพื้นที่ของรัฐข้าศึก

และการบินลาดตระเวนในวันนั้น ไม่มีใครคาดว่าจะพบสิ่งผิดปกติอะไร แต่เมื่อเครื่องบินลงและฟิล์มภาพถ่ายทางอากาศถูกล้างออกเพื่อการวิเคราะห์ ภาพที่เห็นกลับเป็นเรื่องที่ทางสหรัฐไม่เคยคาดคิดมาก่อน

ภาพถ่ายทางอากาศจากพื้นที่ด้านตะวันตกของคิวบา เห็นได้ชัดเจนว่ากำลังมีการก่อสร้างฐานยิงขีปนาวุธของโซเวียตในพื้นที่ดังกล่าว

และเมื่อข้อมูลนี้มีความชัดเจน จึงถูกนำเสนอแก่ประธานาธิบดีเคนเนดีในวันที่ 16 ตุลาคม และเห็นได้ชัดว่าสหรัฐนำขีปนาวุธของตนติดตั้งไว้ที่ตุรกีได้สำเร็จเช่นไร วันนี้โซเวียตก็ประสบความสำเร็จในการนำขีปนาวุธของตนมาติดตั้งไว้ที่คิวบาเช่นนั้น

เกมติดตั้งขีปนาวุธที่ “หลังบ้าน” ของอีกฝ่ายหนึ่ง จึงเป็นดังเกม “การพนันนิวเคลียร์” ครั้งใหญ่

ถ้าตุรกีเปรียบเทียบเป็น “หลังบ้าน” ของโซเวียตแล้ว คิวบาก็คือหลังบ้านของสหรัฐ ฉะนั้น ถ้าสหรัฐสามารถติดตั้งขีปนาวุธติดหัวรบนิวเคลียร์ได้ที่ตุรกี โซเวียตจะดำเนินการเช่นเดียวกันที่คิวบา และการดำเนินการเช่นนี้ยังมีนัยถึงการสร้าง “ความเท่าเทียมทางด้านนิวเคลียร์” (nuclear parity) ระหว่างสองรัฐมหาอำนาจใหญ่อีกด้วย เนื่องจากผู้นำมอสโกยอมรับในขณะนั้นว่า อำนาจทางด้านอาวุธนิวเคลียร์ของโซเวียตยังเป็นรองสหรัฐอยู่มาก และต้องหาทางปรับสมดุลดังกล่าวให้ได้

ซึ่งการปรับสมดุลนิวเคลียร์มีความจำเป็นในทางยุทธศาสตร์ เพราะจะทำให้รัฐบาลโซเวียตไม่ตกอยู่ในสภาวะ “นิวเคลียร์แบล๊กเมล์” (nuclear blackmail) อันมีนัยถึงการถูกกดดันด้วยอาวุธนิวเคลียร์จนต้องยอมแพ้

ประธานาธิบดีเคนเนดีรับรู้อย่างดีว่า การจัดการเรื่องนี้ไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะเป็นเรื่องของอาวุธนิวเคลียร์ เขาจึงจัดตั้งคณะทำงานชุดเล็ก ซึ่งรู้จักกันในชื่อของ “ExComm” (The Executive Committee of the National Security Council) คณะทำงานกำหนดระยะเวลาไว้ 2 สัปดาห์ เพราะเชื่อว่าระยะเวลา 14 วันคือกรอบเวลาที่ขีปนาวุธจะสามารถใช้ได้ในทางยุทธการ (ติดตั้งและพร้อมทำการยิง) ซึ่งนับจากนี้แล้ว ทำเนียบขาวต้องพิจารณาถึงทางเลือกที่จะดำเนินการกับอาวุธโซเวียต…

“วิกฤตการณ์จรวดที่คิวบา” ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว

ทางเลือกในการบริหารวิกฤตครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ อย่างแน่นอน นอกจากจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอาวุธนิวเคลียร์โดยตรงแล้ว รัฐมหาอำนาจเองก็ไม่เคยมีประสบการณ์ในการเผชิญกับวิกฤตเช่นนี้มาก่อน

การตัดสินใจของผู้นำรัฐมหาอำนาจทั้งสองฝ่ายจึงมีนัยสำคัญทั้งกับปัญหาสงครามนิวเคลียร์ และกับการเมืองโลกโดยรวม

สภาวะเช่นนี้จึงเสมือนกับการเมืองโลกกำลัง “เดินไต่เส้นลวด” อยู่บนหัวรบนิวเคลียร์ ดังนั้น การตัดสินใจพลาดย่อมหมายถึงความเสี่ยงของการเกิดสงครามนิวเคลียร์อีกด้วย

 

ทางเลือก

สําหรับรัฐมหาอำนาจแล้ว การใช้ทางเลือกด้านทหารเพื่อตอบโต้กับภัยคุกคามแทบจะเป็นเรื่องปกติ ได้แก่

– การใช้กำลังทางอากาศเปิดการโจมตีเป้าหมายที่ต้องการคือ ฐานยิงขีปนาวุธของโซเวียต ซึ่งอำนาจกำลังรบทางอากาศของสหรัฐสามารถจัดการกับเป้าหมายดังกล่าวได้อย่างง่ายดาย และมีการเตรียมการโจมตีทางอากาศไว้ 2,000 เที่ยวบิน แต่ย่อมมีผลสืบเนื่องตามมา เช่น ผู้นำโซเวียตจะใช้เป็นข้ออ้างในการตอบโต้สหรัฐด้วยอาวุธนิวเคลียร์หรือไม่

– การใช้กำลังทางเรือเปิดการระดมยิงชายฝั่งของคิวบา ดังเช่นที่เห็นได้จากตัวแบบของการยกพลขึ้นบกที่หาดนอร์มังดีในปี 1944 และมีการเตรียมกำลังนาวิกโยธิน 25,000 นาย เพื่อเตรียมขึ้นหัวหาดที่คิวบา

– การใช้กำลังทางบกหลังจากการเปิดหัวหาดจากการระดมยิงชายฝั่งคิวบาแล้ว กำลังรบทางบกจะขึ้นฝั่ง และเคลื่อนกำลังเข้ายึดคิวบา มีการเตรียมกำลังทหารบกประมาณ 100,000 นายไว้ที่รัฐฟลอริดา ซึ่งอาจจะปะทะกับกำลังพลของโซเวียตในคิวบา ที่มีจำนวนมากกว่า 40,000 นาย และอาจนำไปสู่สงครามได้

จะเห็นได้จากทางเลือกทางทหารใน 3 ส่วนว่า มีความเสี่ยงที่อาจนำไปสู่สงครามนิวเคลียร์ระหว่างโซเวียตกับสหรัฐได้ เนื่องจากขีปนาวุธของโซเวียตบางส่วนนั้น ได้ติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์แล้ว

ในขณะที่การประเมินของสำนักข่าวกรองกลาง (CIA) ในขณะนั้นยังไม่สามารถยืนยันได้ว่า หัวรบนิวเคลียร์เดินทางมาถึงคิวบาแล้วหรือไม่

แต่ข้อมูลที่ถูกเปิดเผยในภายหลังยืนยันว่า หัวรบของโซเวียตถูกติดตั้งแล้วกับขีปนาวุธบางส่วน ทั้งที่เป็นขีปนาวุธระยะใกล้ (SRBM) และขีปนาวุธระยะกลาง (MRBM)

ดังนั้น การเปิดการยกพลขึ้นบกและใช้กำลังขนาดใหญ่ของสหรัฐในการยึดครองคิวบา ซึ่งกองทัพคิวบาไม่อาจต้านทานการบุกโจมตีของสหรัฐได้ แต่กำลังพลของโซเวียตที่ประจำการในคิวบาจะเข้าร่วมรบกับกองทัพคิวบาอย่างแน่นอน

ในเงื่อนไขเช่นนี้อาจทำให้ผู้นำโซเวียตตัดสินใจใช้อาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธี (tactical nuclear weapons) ในการตอบโต้การบุกที่เกิดขึ้น หรือเป็นการใช้อาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธีเพื่อแลกกับการต้องตกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในสนามรบ (อาจเทียบเคียงได้กับการรุกกลับของกองทัพยูเครน และการถอยร่นของกองทัพรัสเซียในสนามรบที่ยูเครน)

ข้อมูลที่เปิดเผยในภายหลังยังยืนยันถึงคำสั่งในการใช้อาวุธนิวเคลียร์จากผู้นำโซเวียตว่า หากระบบติดต่อสื่อสารระหว่างหน่วยทหารโซเวียตในคิวบากับกองบัญชาการใหญ่ที่มอสโกประสบปัญหา และเกิดการบุกของสหรัฐกระทำต่อคิวบาแล้ว ผู้บังคับบัญชาหน่วยในสนามของกองทัพโซเวียตในคิวบามีอำนาจในการตัดสินใจใช้อาวุธนิวเคลียร์เพื่อตอบโต้การบุกดังกล่าวได้ทันที

ในทางกลับกัน ข้อมูลที่เปิดเผยจากฝ่ายสหรัฐในภายหลังก็ยืนยันถึงการเตรียมบุกขนาดใหญ่เข้ายึดคิวบาด้วย กำลังพลทั้งสามเหล่าทัพของสหรัฐได้รับคำสั่งเตรียมพร้อม และกำลังอีกส่วนที่มีการเตรียมพร้อมคือ กำลังรบนิวเคลียร์

ฉะนั้น ถ้าทำเนียบขาวตัดสินใจเดินไปตามทางเลือกของฝ่ายทหาร ก็คาดการณ์ได้ว่า วิกฤตการณ์ที่คิวบาจะเดินไปสู่สงครามอย่างแน่นอน

หรือดังที่รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมอเมริกันในขณะนั้นคือ นายแมคนามารา (Robert McNamara) กล่าวในเวลาต่อมาว่า ถ้าทำเนียบขาวเดินไปกับสายเหยี่ยวแล้ว “สงครามนิวเคลียร์จะเริ่มต้นขึ้นบนชายหาดที่คิวบา” อย่างแน่นอน

 

หนทางปฏิบัติที่ท้าทาย

แนวคิดในการบริหารจัดการวิกฤตการณ์จรวดที่คิวบาสะท้อนให้เห็นถึงสำนักคิด 2 ฝ่ายอย่างชัดเจน เพราะหากเลือกที่จะแก้ปัญหาด้วยแนวทางการทหารดัง 3 ทางเลือกในข้างต้น จะเป็นแนวคิดแบบ “สายเหยี่ยว” (the hawks) โดยมีความคิดให้สหรัฐเปิดการโจมตีคิวบา และส่งกำลังเข้าล้มล้างระบอบคอมมิวนิสต์ของคาสโตรให้สิ้นซาก

แนวคิดอีกฝ่ายเห็นต่างที่ต้องการหลีกเลี่ยงการใช้กำลังแก้ปัญหาข้อพิพาทในเวทีระหว่างประเทศ เนื่องจากการใช้กำลังจะนำไปสู่การยกระดับความขัดแย้ง (escalation of crisis) และอาจขยายตัวไปสู่การตอบโต้ด้วยอาวุธนิวเคลียร์ (nuclear retaliation) และพาโลกเข้าสู่สงครามนิวเคลียร์

ดังนั้น “สายพิราบ” (the doves) จึงต้องการใช้มาตรการทางการทูตเป็นเครื่องมือแก้ปัญหา สำนักคิดนี้ไม่เชื่อว่าการใช้มาตรการทางทหารจะทำให้วิกฤตการณ์ที่เกิดคลายตัวออกได้ แต่จะยิ่งทำให้สถานการณ์ยกระดับ (escalation) และจะพารัฐคู่พิพาทเดินเข้าสู่สงครามอย่างหนีไม่พ้น (ไม่แตกต่างกับการยกระดับของวิกฤตที่เกิดก่อนสงครามโลกทั้งสองครั้ง และสุดท้ายแล้วการยกระดับของวิกฤตจึงเป็นดังการเดินขึ้นบันได ที่ขั้นสูงสุดคือ “สงคราม”)

มรดกสำคัญของวิกฤตการณ์จรวดที่คิวบาคือ การนิยามสาย “เหยี่ยว-พิราบ” ในการนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาวิกฤตความมั่นคงระหว่างประเทศ

ฝ่ายกองทัพมักจะเป็น “สายเหยี่ยว” ซึ่งนิยมการใช้มาตรการทางทหาร เพราะเชื่อเป็นพื้นฐานในเบื้องต้นว่า มาตรการนี้จะให้ผลตอบแทนมากที่สุด อันมีนัยถึงการทำลายล้างข้าศึกให้หมด

แต่ก็เห็นได้ชัดว่า ในยุคนิวเคลียร์นั้น โอกาสที่จะทำลายอำนาจการตอบโต้ด้วยอาวุธนิวเคลียร์ (nuclear retaliation) ของฝ่ายตรงข้ามได้ทั้งหมด อาจจะเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ดังจะเห็นได้ว่าแม้สหรัฐจะใช้การโจมตีทางอากาศอย่างเต็มที่ อาวุธนิวเคลียร์ของรัสเซียอาจจะถูกทำลายมากที่สุดถึงร้อยละ 90 แต่อีกร้อยละ 10 ยังอยู่รอด และโจมตีสหรัฐกลับได้

ส่วน “สายพิราบ” ไม่เห็นด้วยกับมาตรการเช่นนี้ เพราะมองว่าเป็นความเสี่ยงและอาจให้ผลตอบแทนด้วยการยกระดับสงคราม สายนี้จึงสนับสนุนการใช้มาตรการทางการทูตเพื่อเป็นเครื่องมือของการแก้วิกฤต ซึ่งรวมถึงการเปิดช่องทางการติดต่อกับผู้นำฝ่ายตรงข้าม กล่าวคือ ควรเปิดการเจรจากับครุสชอฟและคาสโตร

สมมุติถ้าท่านเป็นประธานาธิบดีเคนเนดี ท่านจะเลือกหนทางปฏิบัติเช่นไร?