ไซเบอร์ วอชช์เมน : เหรียญสองด้านของรัฐบาล เมื่อมี “บิ๊กดาต้า” เป็นขุมกำลัง

ช่วงนี้เราอาจได้ยินคำว่า “เอไอ” หรือ “ปัญญาประดิษฐ์” “แพลตฟอร์ม” หรือคำว่า “บิ๊กดาต้า” มาหลายครั้ง ทั้งจากรัฐ (แน่นอนว่าประโคมผ่านสื่อแบบได้ยินกันทุกวี่ทุกวัน) และเอกชนที่ออกมาเปิดเผยถึงการวิจัยเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง เพราะในเวลานี้ มันคือยุคของข้อมูลข่าวสาร และมันกำลังก้าวไปสู่อีกพัฒนาการที่กำลังเสียงดังมากขึ้น นั่นคือ “การปฏิวัติครั้งที่ 4”

เข้าสู่ยุคของ “เอไอและหุ่นยนต์”

เมื่อมามองที่รัฐบาล ซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งของระบบรัฐชาติ ประดิษฐกรรมแห่งชุมชนจินตกรรมรวมหมู่ที่มีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 ก็ต้องการ “บิ๊กดาต้า” เพื่อเข้ามาจัดการความยุ่งยากที่รัฐบาลต้องรับมือ และรัฐบาลหลายประเทศทั่วโลก มีระบบการปกครองที่ไม่ได้เหมือนกันทั้งหมด

แน่นอนว่า รัฐบาลที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย หรือระบบเผด็จการ หรือระบบลูกผสม ย่อมใช้ “บิ๊กดาต้า” เพื่อวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน

“บิ๊กดาต้า” กับระบบการเมืองการปกครอง

การปกครอง บริหารประเทศ นับว่าเป็นงานที่มีข้อมูลมหาศาลมาก ลองนึกภาพดูว่า จะต้องใช้คนมากแค่ไหน กว่าจะจัดการเอกสารจำนวนมากเข้าแฟ้ม และใช้เวลามากแค่ไหน ในการตรวจทาน จัดเก็บ หยิบมาใช้งาน ยอมรับว่ากินเวลามากมาย

ไหนจะพื้นที่เก็บข้อมูลเหล่านี้ หรืออีกนัยหนึ่งคือ ขนาดของตู้เก็บแฟ้ม ห้องเก็บแฟ้ม ใหญ่กว้างแค่ไหนที่จะรองรับข้อมูลประชากร ข้อมูลนักเรียน ข้อมูลบุคลากร ถ้าไม่เก็บในจุดๆ เดียว ก็ต้องกระจายไปที่อื่น

แต่หาก “บิ๊กดาต้า” เข้ามาบริหาร มันจะทำอะไรมากกว่าเก็บข้อมูลเข้าคลังเซิร์ฟเวอร์หรือซูเปอร์คอมพิวเตอร์แน่นอน

และอย่างที่กล่าวไปตอนต้น รัฐบาลที่ปกครองด้วยระบบที่สามารถตรวจสอบได้ ย่อมใช้งาน “บิ๊กดาต้า” บนขีดจำกัดและต้องโปร่งใส แต่ถ้าเป็นรัฐบาลที่ใช้อำนาจโดยมิชอบ ไร้การตรวจสอบ ก็จะใช้ “บิ๊กดาต้า” ในเชิงลับ ขอบเขตกว้างขวางและหาความโปร่งใสได้ยาก เพราะไม่ยอมให้มีการตรวจสอบหรือตรวจสอบโดยไม่รอบด้านจริงๆ

เมื่อรัฐบาลอำนาจนิยม
มี “บิ๊กดาต้า” อยู่ในกำมือ

หนึ่งในเป้าหมายสูงสุดการปกครองแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดนั้นคือ “การควบคุมโดยสิ้นเชิง” นั้นเพื่อเป็นหลักประกันในการครองอำนาจให้อยู่กับกลุ่มตน พรรคพวกตนให้ยาวนานที่สุด

ซึ่ง ณ ตอนนี้มันได้เกิดขึ้นแล้ว อย่างเช่นจีน ที่แม้จะเปิดรับทุนนิยมและการตลาดเสรี นั้นในแง่ของเศรษฐกิจ แต่การเมืองการปกครองยังคงถูกปิดกั้น การเซ็นเซอร์เป็นไปอย่างเข้มข้น ทั้งโทรทัศน์ โทรศัพท์ หรืออินเตอร์เน็ต ก็ถูกดัก คัดกรอง เมื่อพบเห็นอะไรที่ผิดปกติ หรือบ่งชี้ว่าเป็นการคุกคามต่อรัฐบาลและพรรคคอมนิวนิสต์ ก็จะใช้มาตรการระดับต่างๆ เข้าจัดการ

ตั้งแต่ลบข้อความ ปิดกั้นการเข้าถึง จนถึงการคุกคามทั้งทางวาจาและทางกายภาพ

ทำให้จีนเป็นแดนสนธยาที่ไร้เสรีภาพ (แม้รัฐบาลจีนจะบอกว่าเราให้สิทธิเสรีภาพประชาชนก็ตามที)

และจีนก็ไม่หยุดที่จะพัฒนาเครื่องมือในการควบคุมกลุ่มคนที่คิดว่าเป็นภัยของประเทศ

อย่างการสร้างแอพพลิเคชั่น ให้ชาวอุยกูร์โหลดเพื่อใช้จับตากิจกรรมต่างๆ แอพพลิเคชั่นในการเผยแพร่อุดมการณ์คอมนิวนิสต์หลายตัว

รวมถึงล่าสุด เมื่อเว็บไซต์ไวล์ด ได้เผยแพร่บทความเมื่อไม่นานมานี้ ที่รัฐบาลจีนดันโครงการที่ชื่อว่า “ระบบสินเชื่อสังคม” ซึ่งจะใช้งานเต็มรูปแบบในปี 2020

หากดูจากชื่อ เราคงคิดว่าคงเป็นฐานข้อมูลประชากรไว้ใช้งานประกันสังคมหรือสินเชื่อธนาคาร

ไม่ใช่ แต่เป็นระบบใหญ่ ที่จะประมวลออกเป็นการจัดเรตติ้งต่างๆ ว่า คนคนนั้นน่าไว้วางใจต่อรัฐบาลจีนหรือไม่

มันคือการสร้างระบบจับตา สอดส่องกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันของจีนกว่า 1.3 พันล้านคน ตั้งแต่ เข้าดูเว็บไซต์อะไร โพสต์ข้อความอะไร อ่านหนังสืออะไร คุยอะไรกับคนอื่นบ้าง และนำข้อมูลดิบที่ได้เหล่านี้มาประมวลและจัดเรตติ้ง ซึ่งส่งผลต่อการเข้ารับการบริการต่างๆ การเข้าเรียนต่อ โอกาสการได้งานทำหรือแม้แต่การออกเดต เรียกว่า มีรัฐบาลยืนบนบ่าคอยมองว่าเราทำอะไรบ้าง

หรือมันก็คือ “บิ๊กบราเธอร์” ในความคิดของออร์เวลที่ทำให้กลายเป็นจริงนั่นเอง

“บิ๊กดาต้า” จึงกลายเป็นที่โปรดปรานของรัฐบาล หากต้องการส่องดูใครซักคน ที่เป็นสมาชิกกลุ่มต่อต้านรัฐบาล แทบไม่ต้องส่งสายสืบ สายข่าวเดินตามทุกฝีก้าว

แต่เชื่อมต่อข้อมูลเข้ากับอินเตอร์เน็ต หรือโซเชียลเน็ตเวิร์กที่คนคนนั้นใช้งานโดยที่เจ้าตัวไม่รู้ว่าถูกรัฐบาลมอนิเตอร์อยู่

รัฐบาลจะใช้ข้อมูลจำนวนมากที่ดักเก็บมาได้ ทำการประมวลผล ถ้าคนคนนั้นมีแนวโน้มจะทำอะไรต่อต้านรัฐบาลหรือเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ก็จะส่งเจ้าหน้าที่ไปถึงหน้าประตูบ้านทันที

นี่จึงเป็นสิ่งที่น่ากังวลต่อประชาชนที่ต้องการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นต่อชีวิตหรือปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศ ในสังคมที่ดำรงชีวิตอยู่ หากจะพูดอะไรก็ไม่สามารถพูดได้อย่างเต็มที่นัก เพราะเกิดความหวาดกลัวและระแวงว่า ถ้อยคำใดจะเป็นอันตรายต่อชีวิตและเสรีภาพของตัวเองบ้าง

และนั่นคือสิ่งที่รัฐบาลอำนาจนิยมเบ็ดเสร็จต้องการ “ความสงบด้วยการทำให้หวาดกลัว”

 

“บิ๊กดาต้า” ในมือรัฐบาลประชาธิปไตย

หากการปกครองในระบอบประชาธิปไตย นั้นจุดหมายสูงสุดคือ ชีวิตประชาชนจำนวนมาก “บิ๊กดาต้า” ได้เข้ามามีบทบาทรองรับทุกกิจกรรมของประชาชนที่อาศัยอยู่ ตั้งแต่ด้านสาธารณสุข การขนส่ง ประกันสังคม จนถึงบ้านเรือนและการศึกษา

แต่ถึงอย่างนั้น ประชาธิปไตยของแต่ละประเทศก็มีดีกรีต่างกัน อย่างที่ทุกคนเห็นในตลอดทศวรรษที่ผ่านมา

ตัวอย่างที่ชัดที่สุด คงหนีไม่พ้นสหรัฐอเมริกา ที่ใช้ “บิ๊กดาต้า” ในงานความมั่นคงอย่างเข้มข้นที่สุด และเพิ่มมากขึ้นหลังเหตุการณ์ 11 กันยา มีการจัดตั้งโครงการเพื่อสอดส่องความเคลื่อนไหวทางข้อมูลเพื่อป้องกันภัยการก่อการร้าย

อย่าง ปริซึ่ม (PRISM) ซึ่งจะทำการตักตวงข้อมูลพื้นฐานจากโครงข่ายที่รัฐบาลได้มีข้อตกลงกับบริษัทเอกชนผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต บริษัทไอที รวมถึงบริษัทด้านดิจิตอลแพลตฟอร์ม ซึ่งข้อมูลมหาศาลถูกกักเก็บไว้ในคลังศูนย์ข้อมูลที่อยู่ในความดูแลของรัฐบาลสหรัฐ

แต่แล้วเมื่อปี 2013 ความลับนี้ก็แตกออก พร้อมกับการปรากฏตัวของ นายเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน อดีตเจ้าหน้าที่ข่าวกรองที่ทำงานอยู่ในโครงการดังกล่าว

ตอนนั้นทำให้นายสโนว์เดนถูกตีตราว่าเป็นผู้ทรยศต่อชาติ แลกกับการทำให้สังคมตื่นตัวครั้งใหญ่ว่าชีวิตประจำวันของตัวเอง ทุกสิ่งที่พูดและแสดงออก ถูกรัฐบาลสอดส่อง กักเก็บทั้งที่ไม่ได้มีท่าทีเป็นภัยระดับที่เป็นผู้ก่อการร้าย อาจแค่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายนั้น ไม่ชอบตัวรัฐมนตรีหรือประธานาธิบดีคนนี้

สิ่งที่ตามมา ทำให้เกิดการตรวจสอบกันขนานใหญ่ทั้งในสหรัฐและหลายประเทศในยุโรป มีการแก้ไขกฎหมายในการสอดส่องข้อมูลให้มีความระวังมากขึ้น มีความโปร่งใสมากขึ้น เรื่องที่เคยถูกเก็บเป็นความลับในอดีตก็ถูกออกมาเปิดเผยสู่สาธารณะในเวลานี้มากขึ้น

 

นี่คือกลไกที่แสดงให้เห็นถึงการใช้ “บิ๊กดาต้า” จะต้องตั้งอยู่บนความรับผิดชอบ ที่ควรใช้เพื่อส่งเสริมชีวิตของประชาชน ไม่ใช่เพื่อเอาไปคุกคาม

สิ่งที่ยกมานี้ เป็นเพียงกรณีศึกษา เพื่อให้ทุกคนตระหนักว่า เทคโนโลยี “บิ๊กดาต้า” มันเป็นเหรียญสองด้าน เมื่อใครใช้งานก็ต้องมองให้กว้างและลึก ไม่ใช่เชื่อแต่ว่าจะใช้บิ๊กดาต้าโดยไม่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพ โดยที่ไม่เฉลียวใจว่า พวกเขาอาจทำมากกว่าที่บอกไว้ก็เป็นได้

ยิ่งมีคำกล่าวที่ว่า “คนคนนั้นเป็นคนอย่างไร ให้ดูเวลาที่มีอำนาจอยู่ในมือ”

เรายิ่งควรระวังและส่งเสียงให้ดัง เพื่อปกป้องและหวงแหนเสรีภาพที่ให้เราแสดงออก และบอกว่าเราคือผู้มีชีวิต

ส่วนคำถามที่ว่า ทำไมเสรีภาพจึงสำคัญกับเรา ผู้เขียนคงตอบได้ว่า

เพราะ “เสรีภาพไม่ใช่สิ่งที่จะถูกหยิบยื่นให้ แต่ต้องไขว่คว้ามา” (Freedom is not given – it is taken)